‘ไม่อยากกลับมาล็อกดาวน์’ ส่องสปอตไลต์ ‘ถนนข้าวสาร’ กลางความหวาดหวั่นโอมิครอน

ถนนข้าวสาร
แฟ้มภาพ

เปิดประเทศได้เพียงไม่นาน

‘โอมิครอน’ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ถือกำเนิดในช่วงปลายปี 2564 ก็เดินทางมาถึง

เทศกาลฉลองปีใหม่ 2565 มีขึ้นพร้อมๆ กับความเข้มงวดในมาตรการ

แม้ในคืนข้ามปี เคาต์ดาวน์ 31 ธันวาคม ต่อเนื่อง 1 มกราคม 2565 จะมีภาพของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อแถวยาวเหยียดเพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนก่อนเข้าสถานบันเทิงบนถนนข้าวสาร

Advertisement

แต่เพียงผ่านพ้นแค่ 1 คืน ย่านดังกล่าวก็กลับมาหงอยเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ไม่อาจเทียบได้กับช่วงปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มก็ถือว่าน่าหวาดหวั่นในสายตาผู้ประกอบการที่ผวาภาวะล็อกดาวน์ซ้ำรอยเดิม

โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลล่าสุดในวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดเดินทางไปท่องเที่ยวยังถนนข้าวสารในช่วงปีใหม่ถึง 10 คน

ไม่อยากกลับมาล็อกดาวน์ ส่องสปอตไลต์‘ถนนข้าวสาร’ กลางความหวาดหวั่นโอมิครอน
สตรีทฟู๊ด แต่คนค้าขายหวั่นใจโอมิครอนเสี่ยงล็อกดาวน์อีกรอบ

คัดกรองเข้ม เคาต์ดาวน์นักเที่ยวพุ่ง คาดหลังมกราคมตัวเลขหดอีก

Advertisement

บรรยากาศช่วงค่ำบนถนนข้าวสารในช่วงหยุดยาวเนื่องในเทศกาลปีใหม่ มีการตั้งจุดตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน หากใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มจะมีบริการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดยมีค่าใช้จ่าย 100 บาท สองข้างทางมีร้านอาหารเปิดเป็นจำนวนมาก ผู้เข้ามาใช้บริการผับ บาร์ และร้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ หลายร้านมีการเปิดเพลงและสาดส่องไฟสร้างบรรยากาศ พนักงานของร้านยืนเชิญชวนลูกค้า แต่นับว่ายังมีลูกค้าไม่มากนัก

สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ย้อนเล่าภาพรวมของผู้เข้าใช้บริการในช่วงเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564-1 มกราคม 2565 และมาตรการที่ใช้ในการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการในช่วงที่ผ่านมา ว่าภาพประมาณการของนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการที่ถนนข้าวสารเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม คาดว่าตกราว 5,000-7,000 คน

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม เริ่มน้อยลง เมื่อพิจารณาจากตัวเลขรายได้น่าจะเหลือประมาณ 3,000-4,000 คน

โชว์หลักฐานฉีดวัคซีนก่อนเข้าสู่ถนนข้าวสาร

สำหรับมาตรการคัดกรองก่อนเข้าใช้บริการซึ่งมีมาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนปีที่แล้ว เดิมทีใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม หรือได้รับเพียงเข็มเดียวจะต้องทำการสวอบ (Swab) ก่อนเข้าพื้นที่ เพราะฉะนั้นทุกคนที่เข้าถนนข้าวสารจะถูกตรวจเข้ม พนักงานและผู้ประกอบการทุกร้านอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ต้อง
สวอบ และรายงานผลให้กับทางสำนักงานเขตพระนครรับทราบ

“วันที่ 31 ธันวาคม เนื่องจากเป็นวันเคาต์ดาวน์ เราพยายามจะเข้มงวดมากขึ้น จริงๆ แล้วตั้งใจว่าจะสวอบทุกคนไม่ว่าจะได้รับวัคซีนครบหรือยังไม่ได้รับวัคซีน แต่เนื่องจากมีคนจำนวนมากและกำลังคนในการทำงานไม่พอ จึงต้องปล่อยไป กลับไปใช้มาตรการเดิม

ถ้าพูดถึงนักท่องเที่ยวเราเริ่มเห็นที่เข้ามาประมาณต้นเดือนธันวาคม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่คำว่าเพิ่ม เราดูจากสายตาประมาณ 300-400 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวันก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราคาดหวังว่าหลังเดือนมกราคมตัวเลขน่าจะหายไป เพราะมีการยกเลิก Test&Go” สง่ากล่าว

หารือ ‘นับหนึ่งใหม่’
จับตา ‘โอมิครอน’ หลังหยุดยาว

ส่วนประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มกราคม มียอดสะสม 2,062 ราย นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร บอกว่า กำลังมีการหารือที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ปิดถนนข้าวสารเพื่อทำความสะอาด และตรวจคัดกรองผู้ประกอบการ รวมถึงพนักงานทุกคน

“โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเรากลัวครับ เพราะเราไม่อยากกลับมาล็อกดาวน์ วันนี้เพิ่งหารือกับทางผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนครว่าถนนข้าวสารจะหยุด 3-4 วันหลังจากปีใหม่ เนื่องจากในช่วงปีใหม่เรารับคนค่อนข้างมาก จึงอยากจะปิดธุรกิจทั้งหมด ทำการสวอบให้กับพนักงาน เริ่มนับหนึ่งใหม่เพื่อให้ถนนสะอาดและชัดเจนว่าผู้ประกอบการทุกคนไม่มีเชื้อ

ตอนนี้ยังเป็นการหารือกันอยู่ ยังไม่มีการเคาะ ผมคิดว่าถ้ามันระบาดมากขึ้นอาจจะต้องกลับมาทำการสวอบ
ทุกคน เพราะอย่างอื่นเราไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คิดว่าค่อนข้างเข้มข้นแล้ว เดิมทีถนนข้าวสารเป็นถนนสาธารณะ ซึ่งทางสมาคมผู้ประกอบการเองก็ขออนุญาตทางผู้อำนวยการเขตพระนครว่าขอทำการสวอบหน้าถนน ไม่ทำหน้าร้านแต่ละร้าน ซึ่งทาง ผอ.เขตก็อนุญาต และเราก็คิดว่าเข้มงวดมากพอแล้ว ส่วนของโอมิครอนวันนี้ก็ต้องดูว่าหลังปีใหม่อีก 5-7 วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นอย่างไรซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวลว่าจะมีการระบาดมากขึ้น” สง่าเล่า

ลูกจ้าง-คนค้าขายหวั่นใจ‘ร้านปิด’อีกรอบ
หาทางรอดผ่าน‘ออนไลน์’

ด้านผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก และพนักงานเสิร์ฟที่ถนนข้าวสาร บอกเล่าความเห็นหลากหลายในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้าในช่วงปีใหม่ และการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเกิดขึ้น

‘ยุ’หญิงชาวเมียนมา เผย‘ไม่มีอาชีพอื่นแล้วขายเคบับอย่างเดียว’

ยุ หญิงชาวพม่า แม่ค้าขายเคบับ เล่าว่า ช่วงปีใหม่มีลูกค้าชาวต่างชาติมาซื้อเยอะ โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์

“ช่วงนี้คนเดินเยอะอยู่ค่ะ วันเสาร์อาทิตย์คนเยอะรายได้ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน วันธรรมดาจะประมาณ 2,000-3,000 บาท ลูกค้ามีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โควิดก็กลัวค่ะ ถ้าติดขึ้นมาก็หยุดขาย เราไม่มีอาชีพอื่นแล้วด้วย ขายของอย่างเดียว” ยุกล่าว

ปัทมาวรรณ ปานแดง พนักงานเสิร์ฟร้านอาหารเกาหลีเคยตกงานเป็นปีเพราะโควิด

ปัทมาวรรณ ปานแดง พนักงานเสิร์ฟร้านอาหารเกาหลี เล่าถึงบรรยากาศในช่วงหลังวันสิ้นปีว่ามีลูกค้าน้อยลง และส่วนมากจะเป็นคนต่างชาติมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ ยังกลัวว่าหากเกิดการระบาดของโควิด-19 อีก ร้านจะถูกปิดอีกครั้ง

“หลังจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา คนไม่ค่อยเยอะค่ะ ส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติ คนไทยไม่ค่อยมีแล้ว ที่มีโควิดระบาดเราก็กลัวร้านโดนปิดอีกรอบ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยโดนปิดและหยุดไปนานเป็นปีๆ ตอนนั้นเป็นพนักงานเสิร์ฟของเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง” ปัทมาวรรณเล่าถึงความกังวลใจ

ในขณะที่ ชรินทร์ วินิจสรณ์ เจ้าของร้านขายของที่ระลึกและของชำร่วย เล่าว่า ชาวต่างชาติเข้ามาที่ถนนข้าวสารจำนวนมากในช่วงวันคริสต์มาส และเริ่มลดลงหลังจากนั้น กระทั่งในช่วงปีใหม่เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากขึ้น เรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ทางร้านมีความเข้มงวดมากพอ แต่ถ้าหากต้องมีการปิดร้าน ตนก็สามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพราะเคยต้องปรับตัวมาแล้วหลังโควิดระบาดรอบก่อนหน้า

“หลังจากวันที่ 31 ธ.ค. คนไทยจะเยอะในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ถ้าเป็นชาวต่างชาติก็เยอะขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์มาส แต่พอหลังคริสต์มาสก็จะดาวน์ลงนิดหนึ่ง พอปีใหม่ก็กลับเข้ามาในระดับหนึ่ง เรื่องโรคระบาดพ่อค้าแม่ค้าในข้าวสารระวังตัวกันมากขึ้น เตรียมตัวกันมากขึ้น แต่จากที่พูดคุยกับชาวต่างชาติก็ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าเขากลัว แต่ตัวเราเองเราก็ต้องระมัดระวังขึ้น เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ

ส่วนเทศกิจหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีนโยบายอยู่แล้ว สำหรับถนนข้าวสารคือเขาจะมาตรวจ อย่างพวกร้านอาหารก็มีการจัดให้เว้นระยะห่าง อย่างทางร้านเราก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าไหร่ เพราะว่ามันเว้นระยะห่างอยู่แล้ว และเราก็ป้องกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ต่างชาติก็ใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคน เราก็สังเกตดูอาการว่ามีคนป่วยไหม แต่ถ้าต้องมีการปิดร้านผมก็มีเพจเฟซบุ๊ก มีช่องทางการขายออนไลน์อยู่แล้วจากที่เคยปิดมา คือเมื่อก่อนเราก็ไม่ได้ทำอะไรตรงนี้เท่าไหร่ แต่พอก่อนหน้านี้ที่ปิดร้านเราก็ขายออนไลน์ แล้วก็มีลูกค้าประจำ ก็เปลี่ยนไปเอาตัวรอดอีกทางหนึ่ง” ชรินทร์กล่าว

ศุภกร-เพชรนอก-เข็นรถผลไม้ขายหน้าวัดชนะสงคราม

ด้านพ่อค้าขายผลไม้อย่าง ศุภกร เพชรนอก บอกว่า ในช่วงปีใหม่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาจากเดิมเล็กน้อย ลูกค้าส่วนใหญ่คือคนไทย จากนี้ไปแม้โควิดระบาดอีกระลอก หรือโอมิครอนแผลงฤทธิ์ ก็ยังคงต้องขายต่อไปโดยใช้วิธีตื่นเช้าออกมาขายให้มีรายได้มากขึ้น

“ผมจะขายอยู่แถวหน้าวัดชนะสงคราม ถนนข้าวสารครับ ช่วงนี้ช่วงปีใหม่ก็มีต่างชาติมาซื้อเยอะอยู่นะ แต่ส่วนมากก็เป็นคนไทย รายได้ตอนช่วงก่อนกับหลังมีโควิดต่างกันเยอะมาก ถ้าโควิดระบาดอีกก็คงต้องขายแบบนี้แหละ แต่ตื่นเช้าขึ้นหน่อย ออกมาขายเร็วขึ้น จะได้มีเวลาขายนานๆ หน่อย” พ่อค้าผลไม้ยิ้มสู้

เสียงจาก‘ตุ๊กตุ๊กข้าวสาร’
ไม่ได้สักบาทก็ต้องออกมาขับ

อีกหนึ่งอาชีพที่คุ้นตาในย่านถนนข้าวสาร คือคนขับรถสามล้อรับจ้าง หรือ ‘ตุ๊กตุ๊ก’

ประยุทธ์ พาหา ‘ตุ๊กตุ๊กข้าวสาร’

ประยุทธ์ พาหา ชายวัยกลางคน คนขับตุ๊กตุ๊กที่สแตนด์บายรอรับลูกค้า ณ ย่านดังกล่าวเป็นประจำ บอกว่า ช่วงปิดประเทศหาเงินได้วันละ 80-100 บาท บางวันไม่ได้เลย พอเปิดประเทศก็เริ่มกลับมามีรายได้ โดยส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ปกติก็อยู่แถวถนนข้าวสารนี่แหละครับ ช่วงปีใหม่ก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ มีเยอะกว่าตอนที่ยังไม่เปิดประเทศ วันหนึ่งได้ 3-4 เที่ยว และเป็นชาวต่างชาติ ประมาณ 600-700 บาท ส่วนใหญ่วัยรุ่นคนไทยจะขึ้นแท็กซี่มากกว่า ก่อนเปิดกับหลังเปิดประเทศรายได้ต่างกันมากเลยครับ เมื่อก่อนนี่วันหนึ่งได้ 80-100 บาท บางวันไม่ได้เลย เรื่องโควิดถ้ามีล็อกดาวน์อีกก็เรียบร้อยเลย แต่ต่อให้ได้มากหรือน้อยก็ต้องออกมาขับรถเหมือนเดิม” นี่คือเสียงจากใจลุงประยุทธ์ ตุ๊กตุ๊กข้าวสารที่ย้ำชัดๆ อีกครั้งว่า

ถึงแม้ไม่ได้เงินสักบาทก็ต้องออกมาขับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image