‘วันเด็ก’ (ที่เด็กไทย) ไม่เหมือนเดิม

“รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”

คําขวัญวันเด็ก 2565 จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เสาร์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา คือวันเด็กแห่งชาติ ในปีนี้ที่กิจกรรมหลักๆ ถูกยกเลิกไปเพราะการมาทักทายของ ‘โอมิครอน’ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่ ‘ลุงตู่’ เปิดตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ให้หนูๆ ลองนั่งเก้าอี้นายกฯ พร้อมพูดคุยโดยมีเนื้อหาสังเขปว่า

‘ขอให้ทุกคนมีความฝัน ตั้งใจทำ ตั้งเป้าหมายในอนาคต ค้นหาสิ่งที่ชอบ กตัญญูบิดามารดา เพื่อเป็นหนึ่งในพลังการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าด้วยกัน’

Advertisement

ผกก.สน.ปทุมวันเข้าพูดคุยกับกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ขณะแจกคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนหน้าสถานศึกษาชื่อดัง (ภาพจากเพจ‘นักเรียนเลว’)

ในวันเดียวกัน เยาวชนกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน พ.ศ. …’ ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ‘นักเรียนเลว’ มุ่งหวังรื้อถอน #อำนาจนิยมในโรงเรียนที่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีอยู่จริง

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2564 ยังมีการแจก ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ โดยระดมทุนการพิมพ์จากภาคประชาชน

Advertisement

ยังไม่นับการเรียกร้องสิทธิผ่านการชุมนุมนับครั้งไม่ถ้วนของกลุ่มเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อส่งเสียงสะท้อนปมปัญหามากมาย หลากหลาย และหยั่งรากลึกในสถานศึกษามาอย่างยาวนาน

ในวันเด็กปีนี้ ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จากคณะก้าวหน้า ยังตั้งคำถามด้วยว่า

‘ทำไมสิทธิเด็กจึงไม่เคยอยู่ในสมการวันเด็ก?’

ความตอนหนึ่งว่า

‘กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติไทยสะท้อนค่านิยมที่ผู้ใหญ่ต้องการยัดเยียดให้เด็ก มากกว่าจะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ออกมาแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องดูแลสิทธิของเด็ก และทำให้เด็กได้เติบโตตามแนวทางที่พวกเขาต้องการ

เกิดอะไรขึ้นกับวันเด็กของไทย…และต่างประเทศมีแนวปฏิบัติในการฉลองวันเด็กเหมือนกับเราหรือไม่’

เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบและการแก้ไขเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเก่า

หนึ่งในคำขวัญวันเด็กที่เด็กๆเขียนเอง จากเวปไซต์ mappalearning.co

สร้างประวัติศาสตร์

ร่างกฎหมาย ‘ฉบับแรก’ โดย ‘นักเรียนไทย’

‘ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่าหลายสิบปี ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในสถานศึกษายังคงเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรและเป็นระบบ โดยมีระบอบอำนาจนิยมคอยสนับสนุน เด็กไทยต้องบอบช้ำมานานซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ จนมาถึงรุ่นเรา และพวกเราก็กำลังค่อยๆ ถูกกลืนเข้าไปในวงจรอุบาทว์นี้จนหาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้เสียที ซ้ำร้าย ผู้ที่มีหน้าที่ มีอำนาจแก้ไขปัญหานี้ก็ไม่เคยแก้ไขอะไร และไม่เคยฟังเสียงของเด็กไทยเลย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหักกรงล้อแห่งปัญหานี้ เพราะไม่ใช่แค่เราที่ถูกทำร้าย แต่คืออนาคตของเราและชีวิตของเด็กไทยในรุ่นต่อๆ ไป’

คือถ้อยแถลงจากเพจ ‘นักเรียนเลว’ ถึงหลักการและเหตุผลในการลุกขึ้นมาเดินหน้าร่าง ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน พ.ศ. …’

โดยย้ำชัดพร้อมให้ประชาชนได้ทำความรู้จักและร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

คาดหวังสร้างสังคมโรงเรียนเวอร์ชั่นใหม่ที่สดใสเพื่อการเติบโตอย่างปลอดภัยและมีความสุข

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญแบ่งออกเป็น
3 หมวด ได้แก่

เนื้อหาเข้มข้นใน ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ แจกฟรีโดยมีผู้ขอรับกว่า 3 หมื่นเล่ม

หมวด 1 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน กล่าวถึงการประกันสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และเสรีภาพการแสดงออกของผู้เรียน โดย
จะต้องไม่มีผู้ใดเข้าไปแทรกแซงหรือชักนำจนทำให้เกิดการลิดรอน หรือเสียไปซึ่งสิทธิทางเสรีภาพนั้น

หมวด 2 ว่าด้วยสภาพแวดล้อมและเสรีภาพของสถานศึกษา กล่าวถึงแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยที่ผู้เรียนพึงมี และความเหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมในการเรียนรู้และการเติบโตของผู้เรียน รวมไปถึงความเหมาะสมด้านระยะเวลาการพักผ่อนที่ผู้เรียนควรได้รับ

หมวด 3 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้เรียน กล่าวถึงการเรียกร้องด้านสิทธิในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนของตัวผู้เรียนเอง หรือการสนับสนุนให้มีการชุมนุมได้อย่างเสรีในสถานศึกษาเพื่อเป็นการเปิดกว้างการแสดงออกทางความคิด ตลอดจนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในระเบียบการบริหาร ตลอดจนหลักสูตรที่ผู้เรียนมีความสนใจ

เปิดคู่มือ‘เอาตัวรอดในโรงเรียน’ ของมันต้องมี

เมื่อนักเรียนยุคนี้ยังถูกละเมิดสิทธิ

ระหว่างการผลักดันพระราชบัญญัติข้างต้น การใช้ชีวิตในโรงเรียน รวมถึงการเรียนออนไลน์ยังต้องดำเนินต่อไป แม้อาจไม่ใช่ทุกคน
ทุกห้องเรียน และทุกโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเลวร้าย ทว่า
การเรียนรู้สิทธิของตัวเองไว้ล่วงหน้าคือสิ่งสำคัญ

‘นักเรียนเลว’ จึงผลิต ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ หนังสือที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของนักเรียน พร้อมวิธีการปกป้องสิทธิของตัวเอง เพื่อส่งต่อให้ถึงมือเด็กไทยทั่วประเทศผ่านโครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา

ลงพื้นที่แจกฟรีไปแล้วหลายโรงเรียนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีรายงานว่ายังบังคับนักเรียน ‘ตัดผมสั้น’ โดยมีการลงโทษผู้ละเมิดกฎ ทั้งที่ตามหลักการ ระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกโดยกระทรวงศึกษาธิการไปนานแล้ว

แม้ภาพประกอบและชื่อบนโปรยปก อาจฟังคล้ายสไตล์ ‘เสียดสี’ ทว่า เนื้อหาภายในคู่มือเล่มนี้เข้มข้น ชัดเจน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตั้งแต่บทที่ 1 ‘สิทธิที่เรามี’ จนถึงวิธีช่วยเพื่อนที่ถูกละเมิด, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษา พ.ศ.2548 และอีกมากมาย

นำเสนอด้วยภาพ และภาษากระชับเข้าใจง่าย อาทิ

‘บังคับ ข่มขู่ให้นักเรียนทำในสิ่งที่ไม่ยินยอม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309’

‘ล่วงละเมิดทางเพศเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277-279’

‘ยึดหรือริบสิ่งของแล้วไม่คืน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352’

‘ลงโทษด้วยความรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295’
เป็นต้น

#หนูขอเขียน ‘เด็กชอบของขวัญ มากกว่าคำขวัญ’

อีกประเด็นน่าสนใจที่เกิดขึ้นในวันเด็กปีนี้คือ ‘คำขวัญวันเด็ก’ ที่ ‘เด็กเขียนเอง’ ดังปรากฏในเพจและเว็บไซต์ ‘mappa’ https://mappalearning.co ที่มี ‘แม่บี’ มิรา ชัยมหาวงศ์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เพื่อเป็น
แพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อว่า ‘การเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สร้างได้จากทุกสิ่ง ง่ายบ้าง ยากบ้าง แต่ทำได้จริง และสุดท้ายเราคือเจ้าของความรู้นั้นเอง’

บทความชื่อ “หนูขอเขียน” คำขวัญที่เด็กๆ เขียนเอง โดย กรกนก สุเทศ และ กมลชนก แก้วก่า ในเว็บไซต์ดังกล่าว เปิดเผยคำขวัญจากเด็กตั้งแต่วัย 4 ขวบครึ่ง 7 ขวบ 8 ขวบ และเยาวชนอายุ 20 ปี ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดน่าสนใจ น่ารัก และน่าฉุกคิดไปพร้อมๆ กัน

‘ถ้าผู้ใหญ่ใจดุ ก็อยากให้ปรับปรุงตัวเอง’

เด็กหญิง ณนญ เตชธิวัฒน์ อายุ 4.5 ขวบ

‘สนุกนานก็ไม่ดี ผู้ใหญ่อาจไม่ชอบ เด็กต้องพักทำที่ไม่สนุกบ้าง’

เด็กชาย เมฆา สุวีรานนท์ (ก้อนเมฆ) อายุ 7 ขวบ

คำขวัญนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เรียนออนไลน์ นอนกลางวัน ผู้ใหญ่ชอบให้ทำหรือให้กินแต่ของมีประโยชน์ คือสิ่งที่ไม่สนุก ส่วนเรื่องสนุกของก้อนเมฆ คือ

“อยากให้ผู้ใหญ่เล่นด้วย”

‘เด็กชอบของขวัญ มากกว่าคำขวัญ’

คือคำขวัญคมกริบบีบหัวใจ จาก เด็กชาย วายุ สุวีรานนท์ (สายลม) ลูกชาย ‘แม่จั่น’ ชนิดา สุวีรานนท์ วัย 7 ขวบเช่นกัน

‘ผู้ใหญ่ตัวใหญ่ไปหน่อย แต่เด็กไม่ตัวเล็กไป’

เด็กหญิง แสงอาทิตย์ โภคสวัสดิ์ (นิม) อายุ 8 ขวบ

ปิดท้ายด้วยคำขวัญจาก ‘วิว’ มุกริน ทิมดี เยาวชนอายุ 20 ปี อดีตประธานนักเรียนสมัยมัธยมศึกษาปีที่ 3

ความว่า

‘เด็กจะดีได้ ถ้าผู้ใหญ่เป็นผู้นำ’

โดยบอกเหตุผลไว้ในบทความดังกล่าวว่า “ถ้าผู้นำไม่มีศักยภาพ เค้าก็เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง”

เป็นวันเด็กที่เด็กไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image