สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขอม กับ เขมร เทียบเคียงคำว่าสยามกับไทย

ขอม กับ เขมร

เทียบเคียงคำว่าสยามกับไทย

ขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติสนิทของกษัตริย์กัมพูชา คนในขบวนเหล่านี้ต่อไปก็กลายตนเป็นคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ขวา) ขบวนเสียมกุก หรือชาวสยาม (ซ้าย) ขบวนละโว้ คือขอม (ภาพสลักราว พ.. 1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด)

ขอมกับเขมรต่างกันหรือเหมือนกัน? Songsak Hayachanta ถามผ่านเฟซบุ๊กรายการทอดน่องท่องเที่ยว ตอนพลังลาวชาวอีสาน เมื่อปีที่แล้ววันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564

Advertisement

เรื่องนี้ต้องเทียบเคียงสยามกับไทย บรรดาคำเหล่านี้ไม่ใช่ชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งมีลักษณะหลากหลายที่คล้ายคลึงกัน ครั้นนานไปทั้งหมดก็กลายตนเป็นคนไทยในรัฐอยุธยา

ขอม

ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นไม่มีชนชาติขอมในโลก แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.. 1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

Advertisement

[เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์ (ปรับปรุงใหม่จากข้อเขียนนานมากแล้วของ ม... คึกฤทธิ์ ปราโมช)]

เขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม และไม่มีคำว่าขอมในเขมร แต่รู้ภายหลังว่าถูกไทยเรียกขอม

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) ครั้นขอมละโว้อโยธยา กลายตนเป็นคนไทยในรัฐอยุธยา คำว่าขอมก็ถูกขยายสมัยหลังเลื่อนไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามจะถูกเรียกขอมทั้งนั้น ไม่ว่ามอญ, เขมร, มลายู, ลาว, จีน, จาม หรือไทย ฯลฯ เมื่อนับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วสังกัดรัฐละโว้อโยธยา และอาณาจักรกัมพูชา

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า ขอมคือเขมร และ ขอมไม่ใช่เขมร

กรณีขอมไม่ใช่เขมร มีเหตุจากการเมืองสมัยใหม่ลัทธิชาตินิยมช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เพื่อแสดงว่าไทยเป็นเจ้าของ บรรดาคนชั้นนำไทยปลุกระดมว่าขอมสร้างปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่ใช่เขมร แต่ในทางวิชาการสากลคนทั้งโลกไม่เชื่อคนชั้นนำไทย

สยาม

สยาม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อพื้นที่หรือดินแดนที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ ครั้นสมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

ไทยเป็นชาวสยาม แต่สยามไม่ใช่คนไทย เพียงแต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เรียกกลุ่มคนที่เกิดและมีหลักแหล่งอยู่ดินแดนสยามว่าชาวสยามโดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา แต่ชาวสยามมักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไตไท (ซึ่งสมัยโบราณเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญเขมร, ชวามลายู, ไตไท ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันท์เป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่าพวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก, สยามก๊ก เมื่อเรือน พ.. 1650 (มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด) ส่วนชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม

สยามมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้นเกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขาและบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม เช่น หนองหานที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น (ปรับปรุงจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2519)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image