มองตะวันออก ส่องตะวันตก ในวันที่โลกสบตา ‘โอมิครอน’

มองตะวันออก ส่องตะวันตก ในวันที่โลกสบตา ‘โอมิครอน’
โอมิครอน คือตัวเร่งยอดติดเชื้อรายใหม่ในอินเดีย สถิติวันเดียวพุ่ง 1.79 แสนราย

ยังคงเป็นวาระแห่งโลก

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ล่าสุดผุดสายพันธุ์ใหม่ในนาม ‘โอมิครอน’ ออกมาอาละวาด

แม้เพียงไม่นาน แต่ระบาดไวมาก

ทว่า มนุษยชาติยังใจชื้นได้ในระดับหนึ่งเมื่อข้อมูลแจ่มชัดถึงการ ‘ไม่รุนแรง’ ของอาการ

Advertisement

ยอดผู้ถูกคร่าชีวิตด้วยสายพันธุ์ที่ว่านี้ก็นับว่าน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ความประมาทย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ถูก

จึงยังต้องเฝ้าระวังตนเองและคนรอบข้างอย่างเคร่งครัดกันต่อไป

Advertisement

ยังไม่นับ ‘ลูกผสม’ ระหว่าง ‘เดลต้า’ กับ ‘โอมิครอน’ ในชื่อ ‘เดลตาครอน’ ที่ ลีโอไนดอส โคสไตรคิส ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยไซปรัส ยืนยันว่าการค้นพบเป็นของจริง หลังผู้เชี่ยวชาญทั้งจากองค์การอนามัยโลก และนักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพียงการปนเปื้อนในห้องแล็บเท่านั้น

‘ทีมข่าวต่างประเทศ’ มติชน เกาะติดความเคลื่อนไหวแบบไม่คลาดสายตา ดังที่ประมวลมาให้เห็นภาพกว้างใน 1 สัปดาห์นี้ไปพร้อมๆ กัน

มหาวิทยาลัยไซปรัส ยืนยันพบ ‘เดลตาครอน’ ลูกผสม ‘เดลต้า’ กับ ‘โอมิครอน’ ไม่ใช่การปนเปื้อนในห้องแล็บ

เข้มไว้ก่อน โอมิครอนมาแล้ว

‘นครเทียนจิน’ ลุยตรวจประชากร 14 ล้าน รอบ 2

แม้ตรวจเจอผู้ติดเชื้อโอมิครอนไม่มากแต่อย่างใด ทว่า นครเทียนจินทางตอนเหนือของจีนก็สั่งตรวจหาเชื้อโควิดในประชากรทั้ง 14 ล้านคนของเมืองเป็นรอบที่ 2 หลังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 97 คน โดยยังไม่ทราบชัดเจนว่าต้นตอของการแพร่ระบาด เชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่ทำให้ไวรัสโอมิครอนกระจายออกไปโดยไม่เจตนาเนื่องจากไม่แสดงอาการ

สำนักงานควบคุมและป้องกันโควิด-19 ของนครเทียนจิน ระบุว่า ทุกคนที่ได้รับการตรวจพบว่ามีผลเป็นบวกในการตรวจสอบครั้งก่อนพบว่าติดเชื้อโอมิครอนทั้งสิ้น โดยปัจจุบันมีชาวจีนมากกว่า 20 ล้านคน ที่ตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ หลังจากหลายเมืองได้ประกาศคุมเข้มห้ามการเดินทางออกนอกเคหสถานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่ แม้จะตระหนักว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของท้องถิ่นก็ตาม

ทั้งนี้ นครเทียนจินอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งซึ่งกำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ เพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเทียนจิน ได้มีการสั่งระงับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงและการเดินทางอื่นๆ ระหว่างนครเทียนจินกับกรุงปักกิ่งทันที ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบซัพพลายเชน รวมถึงการขนส่งอาหารมายังเทียนจินด้วย

นครเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน ลุยตรวจประชากร 14 ล้าน รอบ 2 หลังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 97 ราย โดยไม่ทราบต้นตอ

ปิดโรงเรียนยาวตรุษจีน ฮ่องกง

จ่อลงดาบ คาเธ่ย์แปซิฟิก ลูกเรือหนีกักตัว ทำโอมิครอนระบาด

ขยับมาที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง แคร์รี หล่ำ เปิดเผยว่า สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก กำลังถูกสอบสวนว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือไม่ และจะมีการดำเนินคดีในทันทีหากมีพยานหลักฐานครบถ้วนบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในฮ่องกง มีต้นตอมาจากพนักงานของสายการบินแห่งนี้

ในขณะเดียวกัน ก็ประกาศสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาทุกแห่งในฮ่องกงทั้งหมดไปจนหลังเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยฮ่องกงดำเนินยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์เช่นเดียวกับจีน ที่มุ่งทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ ทำให้ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคแห่งนี้ต้องตัดขาดจากจีนแผ่นดินใหญ่และโลกภายนอกเป็นส่วนใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นผลมาจากลูกเรือของสายการบินคาเธ่ย์ที่ฝ่าฝืนมาตรการกักตัวที่บ้าน ส่งผลให้ทางการฮ่องกงต้องเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการจำกัดการเดินทางที่เข้มข้นอยู่แล้วให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในฮ่องกงเป็นอย่างมาก

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การถูกวิพากษ์ว่าล้มเหลวในการที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยยังมีประชาชนเพียงแค่ 62% เท่านั้นของประชากรทั้งหมดที่ฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่ฮ่องกงมีวัคซีนมากเพียงพอ นั่นส่งผลให้ฮ่องกงเป็นดินแดนที่มีการฉีดวัคซีนน้อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว 39 แห่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยอยู่เหนือเพียงลัตเวียและสโลวะเกียเท่านั้น

พุ่งสูงสุดรอบ 4 เดือน

‘โตเกียว-โอซากา’ หลังปะทะ ‘โอมิครอน’

สำหรับแดนอาทิตย์อุทัย ก็มีประเด็นน่าสนใจ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา โดยสูงสุดในรอบ 4 เดือนในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงโตเกียวและนครโอซากา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงโตเกียวในหนึ่งวันอยู่ที่ 2,198 คน ขณะที่ในนครโอซากาอยู่ที่ 1,711 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับหนึ่งวันก่อนหน้า ทั้งยังเป็นการเพิ่มขึ้นในหนึ่งวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนปีก่อน

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นก็พุ่งทะลุ 1 แสนรายเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในหนึ่งวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน เป็นต้นมา

ฮิโรคาสุ มัตซูโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า พบไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นแล้ว

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงโตเกียว-โอซากา ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน

โอมิครอน ตัวเร่งยอดติดเชื้อรายใหม่ใน ‘อินเดีย’

วันเดียวพุ่ง 1.79 แสนราย

อีกหนึ่งประเทศฝั่งตะวันออกที่ต้องหยิบปากกามาขีดเส้นใต้ คือ ชมพูทวีป ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ให้กับบุคลากรด่านหน้า กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางแล้ว ขณะที่การแพร่ระบาดของของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวเร่งให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดียพุ่งขึ้นเกือบ 8 เท่า

ท่ามกลางรายงานล่าสุดว่า อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในวันดียวกันนี้ 179,723 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงนิวเดลี นครมุมไบ และเมืองโกลกาตา ที่เชื้อโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักแทนสายพันธุ์เดลต้า และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในวันเดียวกันนี้อีก 146 ราย ส่งผลให้อินเดียมียอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 483,936 ราย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับในช่วงที่เชื้อกลายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในอินเดียก่อนหน้านี้ ที่มีผู้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์

เจ้าหน้าที่ทางการอินเดียระบุว่า ผู้ติดเชื้อในหลายเมืองใหญ่ในการระบาดล่าสุด ยังไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและสามารถรักษาตัวที่บ้านจนหายดีขึ้นได้โดยเร็ว

คาดถึงจุดพีค ‘อังกฤษ-อเมริกา’

ผู้ป่วยโอมิครอนรายใหม่จ่อลดฮวบ

ลัดฟ้าไปดูสถานการณ์ในฝั่งตะวันตกกันบ้าง โดยขณะที่โลกตะวันออก ติดโอมิครอนพุ่งปรี๊ด ทว่า นักวิทยาศาสตร์เห็นสัญญาณว่าการแพร่ระบาดอันน่าตกใจของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในอังกฤษ และอเมริกา ถึงจุดสูงสุดไปแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้อาจเห็นการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในทั้งสองประเทศดังกล่าว

เหตุผลสำคัญคือ โอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ไม่เหลือผู้คนที่จะติดเชื้ออีก เพราะการแพร่ระบาดทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงเดือนครึ่งหลัง ตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้

ดร.อาลี มอคดัด อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สถิติการแพทย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงรวดเร็วพอๆ กับตอนที่มันเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มีรูปแบบการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ได้รับความเชื่อถือและมีอิทธิพลสูง โดยมอคดัดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่าการติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.2 ล้านคน ในวันที่ 19 มกราคมนี้ ก่อนที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกคนที่อาจติดเชื้อได้พากันติดเชื้อไปทั้งหมดแล้ว

ขณะที่ในอังกฤษ ข้อมูลของรัฐบาลชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ได้ลดลงเหลือเฉลี่ย 140,000 คนต่อวัน เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ได้พุ่งสูงไปมากกว่า 200,000 คนต่อวัน ในช่วงต้นเดือนมกราคม

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้อังกฤษจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ อาทิ ทางตะวันตกเฉียงใต้และทางตอนกลางฝั่งตะวันตกของประเทศ แต่การแพร่ระบาดในกรุงลอนดอนน่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้ว

ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดความหวังว่า อังกฤษและสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ นั่นคือการแพร่ระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นราวหนึ่งเดือน ซึ่งดันให้สถิติผู้ติดเชื้อพุ่งสู่ระดับสูงสุด ก่อนที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระนั้นก็ดีความแตกต่างคืออังกฤษมีประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักในช่วงฤดูหนาวมากกว่าซึ่งอาจทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงออกมาเตือนว่าขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในระยะต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากการแพร่ระบาดหนักของโอมิครอนเกิดขึ้นเพียงในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา และยังคงต้องจับตาดูช่วงเวลาในอีกหลายสัปดาห์และอีกหลายเดือนต่อจากนี้ ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับระบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

คาดการณ์ว่าอังกฤษ-อเมริกา ผู้ป่วยโอมิครอนรายใหม่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผ่านจุดพีคมาแล้ว

คลื่นลูกใหม่ อนามัยโลก ฟันธง ภายใน 2 เดือน

ยุโรปเกินครึ่งติดโอมิครอนแน่

ตัดภาพมายังองค์การอนามัยโลก ที่ออกมาระบุว่าคนมากกว่าครึ่งของยุโรปกำลังจะติดไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนภายในไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า หากอัตราการติดเชื้อรายใหม่ยังเป็นไปในทิศทางปัจจุบัน

ดร.ฮานส์ คลุ้ก ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก เตือนว่าโอมิครอนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพคลื่นลูกใหม่ที่พัดกระหน่ำตั้งแต่ตะวันออกไปถึงตะวันตกทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป

“ภายใต้อัตราการติดเชื้อในปัจจุบัน สถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพคาดการณ์ว่าประชากรในยุโรปมากกว่า 50% จะติดโอมิครอนภายใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า” คลุ้กกล่าว

ทั้งนี้ ภูมิภาคยุโรปภายใต้คำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกประกอบด้วย 53 ประเทศ/เขตแดน ซึ่งรวมถึงบางส่วนในเอเชียกลาง ซึ่งคลุ้กระบุว่า ปัจจุบันมี 50 ประเทศ/เขตแดน ที่พบโอมิครอนแล้ว

จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลก 26 ประเทศ/เขตแดน รายงานพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประชากรเพียงกว่า 1% แต่เมื่อวันที่ 10 มกราคม ภูมิภาคยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 7 ล้านคน แค่เพียงสัปดาห์แรกของปีนี้

เร็วเกินเรียกโควิดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’

อีกประเด็นต้องจับจ้อง คือการที่มีกระแสว่าโควิดกำลังจะเป็นโรคเฉพาะถิ่นแบบเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะหลังการระบาดของโอมิครอน ดังที่

เปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีสเปน ระบุว่า อาจถึงเวลาแล้วที่เราควรเปลี่ยนวิธีติดตามพัฒนาการของโควิด-19 มาใช้วิธีเดียวกับที่เราติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัด เพราะความรุนแรงของอาการและการเสียชีวิตลดลง

การเปลี่ยนแปลงไปใช้วิธีดังกล่าวยังหมายความว่า เราจะรับมือกับโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นแทนที่จะเป็นโรคระบาดเช่นในปัจจุบัน โดยจะไม่มีการบันทึกจำนวนผู้ติดเชื้อ และยังไม่มีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้แสดงอาการของโรค

ทันใดนั้น แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ต้องออกมาแตะเบรกอย่างแรงว่า

‘นั่นเป็นวิธีที่ผิดอย่างยิ่ง’ เพราะการประกาศให้โรคใดๆ เป็นโรคประจำถิ่น จำเป็นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจะต้องคงที่และสามารถคาดเดาได้มากกว่านี้

สมอลวูดกล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก และไวรัสก็ยังกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นตามมา เรายังไม่ถึงจุดที่จะเรียกมันว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้

“มันอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อถึงเวลา แต่ถ้าจะชี้ว่ามันจะเป็นโรคประจำถิ่นในปี 2565 ก็ยังคงยากที่จะพูดได้ในขณะนี้” สมอลวูดกล่าว

มีนาฯ มาแน่!

วัคซีนต้านโอมิครอน จากไฟเซอร์

ปิดท้ายด้วยประเด็นวัคซีนต้านไวรัสกลายพันธุ์อย่างโอมิครอนโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า อัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอของบริษัทไฟเซอร์ เปิดเผยว่าวัคซีนต้านโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะจะพร้อมใช้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยขณะนี้ทางบริษัทได้เริ่มผลิตวัคซีนตัวดังกล่าวแล้ว

บูร์ลากล่าวว่า วัคซีนที่ว่านี้สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนต้านโอมิครอนนั้นจำเป็นหรือไม่ และจะถูกใช้อย่างไร แต่จะมีวัคซีนบางส่วนที่พร้อมใช้แน่นอน เนื่องจากหลายประเทศอยากให้วัคซีนพร้อมใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ความหวังในตอนนี้คือหวังที่จะมีวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีขึ้น เพราะการป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและการป่วยหนักก็เป็นไปได้แล้ว ด้วยวัคซีนที่มีในปัจจุบัน เมื่อฉีดครบ 3 โดส” บูร์ลากล่าว

ส่วนวัคซีนเข็ม 4 ซีอีโอไฟเซอร์บอกว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจำเป็นหรือไม่ แต่ไฟเซอร์จะทำการวิจัยเผื่อในกรณีที่เข็มที่ 4 จำเป็น โดยประเทศอิสราเอลที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และบุคลากรทางการแพทย์แล้วนั้นพบว่าวัคซีนเข็มที่ 4 ช่วยเพิ่มแอนติบอดีสำหรับต้านไวรัสได้ 5 เท่า หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ไป 1 สัปดาห์

ขณะเดียวกัน แอนโทนี ฟาวซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับต้านเชื้อโอมิครอนโดยเฉพาะ เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ใช้ในปัจจุบันทำงานได้ดีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลในสถานการณ์จริงของสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนแบบแสดงอาการเพียง 10% หลังจากฉีดวัคซีนวัคซีนเข็ม 2 ราว 20 สัปดาห์ อ้างอิงจากผลศึกษาของหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม วัคซีนสองเข็มแรกยังสามารถป้องกันการป่วยหนักได้ดี ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการสูงสุด 75%

นี่คือสถานการณ์ในรอบสัปดาห์ที่โลกยังต้องจับตาในวันซึ่งโควิดยังอยู่คู่มนุษยชาติในฐานะ ‘โรคระบาด’ แห่งศตวรรษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image