แท็งก์ความคิด : สู่ศักยภาพใหม่

แท็งก์ความคิด : สู่ศักยภาพใหม่

แท็งก์ความคิด : สู่ศักยภาพใหม่

อ่านฉบับพิเศษมติชนเนื่องในวันเกิดขึ้นปีที่ 45
หน้าท้ายพบชื่อ สันติธาร เสถียรไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษบอกกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ

น่ารับฟัง

ดร.สันติธาร เป็นประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea limited (บริษัทแม่ การีนา ช้อปปี้ ซีมันนี่)

Advertisement

ดร.สันติธาร มองว่า ปี 2565 เศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องปรับสมดุล

เรียกว่า The Great Rebalancing

เพียงแต่ขณะนี้โลกยังเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอยู่ การปรับสมดุลจึงยังค่อยเป็นค่อยไป

Advertisement

แต่ถ้าโรคระบาดจางหายไป เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะดังกล่าว

ประเด็นที่ ดร.สันติธารบอกไว้ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับ

ทบทวนอดีต มองปัจจุบัน เพื่อก้าวไปในอนาคต

สำหรับประเทศไทย ดร.สันติธารได้ย้อนอดีต พบว่ามี 3 บาดแผลทางเศรษฐกิจ

แผลแรก เกิดจากการท่องเที่ยวที่เจอโควิด-19 พ่นพิษใส่จนขยับไม่ออก

แผลที่สอง เกิดจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเข้าไปแล้ว

แผลที่สาม เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ

ขณะเดียวกัน ดร.สันติธารยังบอกว่า กระแสของโลกก็มี 3 กระแส

หนึ่ง คือ การมาของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าที่คิด

สอง คือ เศรษฐกิจที่ต้องยืนอยู่บนมิติเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ
ธรรมาภิบาล

หรือ ESG (Environmental Social Governance)

และ สาม คือ การมาถึงของเศรษฐกิจเอเชีย โดยกระแสโลก 2 กระแสที่กล่าวถึงข้างต้น กำลังเกิดขึ้นในเอเชีย

ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะที่จีน แต่ชาติอื่นๆ ก็มีลักษณะเติบโตเช่นกัน

กลับมาอ่านบทสัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่นั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย

เป็นบทสัมภาษณ์ในฉบับพิเศษวันเกิดมติชนเหมือนกัน แต่อยู่หน้าที่ 2

รับทราบว่ารัฐบาลเองมีแนวทางการดำเนินการ

การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตในรูปแบบเดิมก็ต้องทำให้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันการต่อเติมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ก็ต้องทำ

นายสุพัฒนพงษ์เห็นว่าประเทศไทยในปี 2565 ต้องเปลี่ยน

เบื้องต้น ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนใน 3 เรื่อง

หนึ่ง คือ เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล

สอง คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม

และ สาม คือ เรื่องการดึงคนผู้มีความสามารถเข้ามาพำนักระยะยาวในไทย

นี่คือ 3 แนวทางที่จะต่อยอดการขับเคลื่อนประเทศ

รายละเอียดของแนวทางทั้ง 3 จะเร่งให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้ง 3 เรื่องที่ตั้งใจทำ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้า

ทั้งดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ

ถ้าไทยดึงดูดทั้งทุนในและทุนนอกเข้ามาทำธุรกิจที่โลกยุคใหม่ต้องการได้

ถ้าไทยดึงดูดแรงงานผู้มีความสามารถมาแสดงฝีมือและฝึกฝนให้คนในประเทศได้มากขึ้น

ถ้าไทยสร้างเสริมศักยภาพเดิมให้เกิดศักยภาพใหม่ขึ้นมาได้

สามารถรองรับวิถีใหม่ สามารถตอบรับธุรกิจแนวใหม่ได้

โอกาสที่ไทยจะไปต่อในโลกยุคใหม่ก็มีสูง

ยิ่งสร้างศักยภาพใหม่ได้เร็วแค่ไหน โอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาชาติ ก็ยิ่งมีมากขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์บอกว่า เพียงแค่จุดประกายให้เกิดการเริ่มต้นขึ้นมาได้

ความเจริญงอกงามต่างๆ ที่ต้องการเห็นจะปรากฏตามติดมา

หนังสือพิมพ์มติชนต้องการเห็นสิ่งดีงามปรากฏขึ้นในประเทศ

แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 จะยังไม่สงบ แต่สดับฟังจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ประเทศชาติยังมีหวัง

สายพันธุ์โอมิครอนแม้จะแพร่ระบาดเร็ว แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า

นี่แสดงว่าโรคมีแนวโน้มว่าอ่อนฤทธิ์ลง

แต่อย่าประมาทด้วยการปฏิเสธวัคซีน เพราะวัคซีนคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงของเชื้อถดถอย

สุดท้ายคือการตระเตรียมระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง

ทั้งคน ทั้งยา ทั้งโรงพยาบาล ต้องพร้อม

คาดการณ์ระยะเวลาไตรมาสแรกของปี 2565 หวังว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะเข้าสู่ “ขาลง”

ระหว่างนี้หากเจอะเจอสายพันธุ์ใหม่ค่อยว่ากันอีกที

แต่ขณะนี้ ถ้าสาธารณสุขมั่นใจว่าพร้อม ผู้คนฉีดวัคซีนและป้องกันตัวตามมาตรฐาน คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยสบู่ และอื่นๆ

เช่นเดียวกับองค์กร ร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดกิจการต่างๆ ดำเนินไปตามครรลองเพื่อการปลอดโรค

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ยังดำเนินต่อไปได้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องกระทำควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การตระเตรียมศักยภาพของประเทศไทยให้มีความพร้อม

พร้อมที่จะก้าวไปในโลกวิถีใหม่

พร้อมจะใช้ศักยภาพใหม่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ปี 2565 ไทยจึงมีการบ้านเพิ่มเติม

นั่นคือ การสร้างศักยภาพใหม่ให้เกิดขึ้น

ทั้งศักยภาพของตนเอง ขององค์กร และของประเทศชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image