ถ้าเธออ่านข้อความนี้ได้ แปลว่ายังหายใจอยู่ #อย่าปัดตก ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดย ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย

ภาพมุมสูงจากตึกในกรุงเทพฯ เห็นฝุ่นละอองในอากาศ มลพิษที่ต้องร่วมกันแก้ไข

‘มลพิษทางอากาศ’ คือปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขไม่ได้สักที โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5

เสวนามากมายเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปี ในที่สุด ก้าวย่างสำคัญก็เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เมื่อภาคประชาชนรวมตัวผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด (Draft Thai CAN Clean Air Act) พร้อมประกาศนำ 24,000 รายชื่อที่รวบรวมผ่านเว็บไซต์ของเครือข่ายอากาศสะอาดเข้าสู่รัฐสภาในวันที่ 21 มกราคมนี้

เสวนา ‘ของขวัญให้ลูกหลาน คือ อากาศสะอาด’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

‘อากาศสะอาดคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และคืองานเร่งด่วน ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เราอยากขอร้องให้คุณช่วยเราลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในลมหายใจ การต่อสู้ของเราจะไร้กำลัง หากคุณไม่ช่วยเราตะโกนส่งเสียงให้รัฐอย่าปัดตก’

คือข้อความจาก ‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ ที่ต้องการสื่อสารถึงสังคมไทย

Advertisement

แม้ปิดรับลงชื่อผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา แต่ยังมีช่องทางให้ร่วมแสดงออกถึงเจตนารมณ์ผ่านเว็บไซต์ Chang.org โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มกราคม มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วถึง 42,034 คน

ย้อนกลับไประหว่างวันที่ 8-9 มกราคม เครือข่ายอากาศสะอาด (Thailand CAN) จัดเสวนา ‘ของขวัญให้ลูกหลาน คือ อากาศสะอาด’ พร้อมนิทรรศการ What If Exhibition ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

มากมายด้วยประเด็นน่าสนใจ ทั้งในประเด็นของกระบวนการและขบวนการขับเคลื่อนอากาศสะอาด รวมถึงเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด

Advertisement

10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มี‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักกิจกรรมทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดประเด็นที่ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.อากาศที่สามารถรองรับเรื่องมลพิษทางอากาศได้ พ.ร.บ.ฉบับของเครือข่ายอากาศสะอาดพยายามที่จะเข้าไปแก้ไขอย่างบูรณาการ ขณะที่ วีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยยอมรับว่า ‘มันเป็นเรื่องยาก’ เพราะเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้าง

“เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามร่าง พ.ร.บ.เพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างตามบริบทของประเทศไทย ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่านเราจะได้อากาศสะอาด มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนให้ความสำคัญ” วีณารินย้ำ

ด้าน รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด กล่าวว่า ใน 10 ปีข้างหน้า หากมีหรือไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด อาจไม่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว แต่จะค่อยๆ มีตัวชี้วัดบางอย่างเพิ่มมากขึ้น เช่น แทนที่จะมีแต่ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index (AQI) ตัวเลขสำหรับแสดงค่าอย่างง่ายที่แปลงมาจากค่าการตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศอย่างเดียว อาจจะมีดัชนีวัดคุณภาพอากาศและสุขภาพหรือ Air Quality and Health Index (AQHI) ซึ่ง Health คือตัวบ่งบอกว่ามีการส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรด้วย และแม้ พ.ร.บ.นี้จะถูกปัดตกก็จะเป็นแรงผลักดันต่อไปในอนาคตเรื่อยๆ เพื่อรอให้สังคมตื่นตัวและพร้อมส่งเสริมอย่างเต็มที่

ดร.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ว่าปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศมีประเด็นอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบต่ออนาคตของคนรุ่นลูก คนรุ่นใหม่ เช่น ความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจกลายเป็นโรคประจำตัวของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสุขภาพมักถูกมองว่าเป็นเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่ปัญหาสุขภาพจำนวนมากเกิดจากโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะโครงสร้างของการพัฒนา ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าเป็นมุมมองแพทย์ทางสังคม และจะเห็นได้ว่าอิทธิพลทางการเมืองโดยเฉพาะอิทธิพลของการพัฒนา ที่มองประชาชนเหมือนทหารที่ไปรบแล้วเสียชีวิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

อากาศคือทรัพยากร
พีเอ็ม 2.5 ทำเสียหาย 1.67 ล้านล้าน

ไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น อากาศยังมีผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า อากาศสะอาดเป็นทรัพยากรที่จำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจได้กำไรแต่ผู้คนแย่ลง เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน มลพิษทางอากาศได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับสังคมไทยอย่างมาก โดยธนาคารโลกได้คิดความเสียหายของประเทศไทยอยู่ที่ 4% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ 1 ล้านล้านบาท และค่าเสียโอกาสอื่นๆ เช่น การเจ็บป่วยค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังค้นพบว่าความเสียหายของครัวเรือนไทยรวมถึงต้นทุนอื่นๆ ของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีมูลค่าเสียหายถึง 1.67 ล้านล้านบาท ทำให้มีผลกระทบธุรกิจเป็นวงกว้าง แต่รัฐมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาชั่วคราว ทั้งที่ในความจริงเป็นปัญหาประจำและต่อเนื่อง รัฐจึงต้องเข้าใจบริบทและความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

‘มารีญา’ ร่วมผลักดันแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม

มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 หรือท็อป 5 มิสยูนิเวิร์ส 2017 กล่าวในฐานะ SOS Earth ถึงประเด็นไฟป่าทางภาคเหนือที่ว่ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 2-6 ขวบ ในพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศ โดยมีผลกระทบต่อสมอง มีส่วนในการลดความฉลาด หรือไอคิว SOS Earth จึงได้ร่วมมือกับกลุ่ม ‘เชียงใหม่อ่าน’ เพื่อสมทบทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในภาคเหนือกับโครงการ Love4air กับ SOS Earth และ Social Giver มากกว่า 600 ศูนย์

กฎหมายสิ่งแวดล้อมเก่า 30 ปี
ไม่ทันท่วงทีปัญหาใหม่ เสนอตั้ง อ.อ.ส.ส.

ด้าน ผศ.ธนาชัย สุนทรอนันตชัย รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สมาชิกทีมร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ลงลึกถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยที่ใช้มาแล้ว 30 ปี ไม่ทันท่วงทีต่อปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

“กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยคือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าครบรอบ 30 ปี แต่ปัจจุบันปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการออกกฎหมายชั่วคราวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ปัญหาคือไม่มีการควบคุมการทำงานระหว่างองค์กร ซึ่งการบริหารดูแลควรมีกรรมการมาเกี่ยวข้อง เพราะรัฐใช้การบริหารแบบบนลงล่าง ทำให้ขาดกระบวนการจัดการกับประชาสังคม ความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องอากาศที่มีสาเหตุแตกต่างกันไป อีกทั้งอากาศไม่มีขอบเขตชัดเจนในเขตพื้นที่การปกครอง ทำให้การใช้อำนาจจัดการในเชิงกฎหมายขององค์การส่วนท้องถิ่นอย่างเดียวไม่สามารถทำได้

พ.ร.บ.นี้จึงเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมนโยบายที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอากาศสะอาด เสนอ องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (อ.อ.ส.ส.) เพื่อเป็นระดับในการทำงานเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การรวมอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น และมองไปถึงในระดับจังหวัด ที่ต้องมีคณะกรรมการเฉพาะพื้นที่ด้วย ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงานเชิงระบบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีการลงโทษและจูงใจ เช่น ในมาตรา 100 ที่มีระบบฝากไว้ได้คืน คือมาตรการในการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้รับโอนสินค้าใดๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่จะได้เงินคืนเมื่อนำสินค้านั้นๆ มาคืน หรือนำไปกำจัดตามเงื่อนไข” ผศ.ธนาชัยอธิบาย

รัฐปกปิดข้อมูลไม่ได้ เสนอร่างไม่ใช่เส้นชัย
เป้าหมายคือ‘ประชาชนส่งเสียงดังที่สุด’

แม้จะเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อนำมาซึ่งอากาศสะอาดกันอย่างเต็มที่ แต่เสนอชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.อาจไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในมุมมองของ ณัฐดนัย นาจันทร์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“ปัจจุบันกระบวนการกฎหมายของไทยเป็นประเภทที่ไม่นำไปสู่การออกเสียงประชามติ ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าประชาชนเสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายไปแล้วแต่สุดท้ายประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินให้กฎหมายนั้นนำมาใช้ได้ การเสนอชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.อาจไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่เป้าหมายคือการทำให้ประชาชนส่งเสียงดังมากที่สุด” ณัฐดนัยกล่าว

ในขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงประเด็นที่รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่ผ่านมาคือการปกปิด เพราะกลัวประชาชนแตกตื่น

“พื้นที่อุตสาหกรรมที่มีกลิ่นรุนแรง 3 แห่งคือ แม่เมาะ ลำปาง ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนมาบตาพุด จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรสาคร มีค่าสารไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็งที่เกินมาตรฐาน รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม การแก้ไขของรัฐคือการปกปิดปัญหา เพราะกลัวประชาชนแตกตื่น โดยเฉพาะเรื่องสารมะเร็งในระยอง แต่ถ้ามี พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะมีการแก้ปัญหา มีเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล ถ้า พ.ร.บ.นี้มีการประกาศใช้จะมีการจัดทำบัญชีรายชื่อการกำเนิดมลพิษอากาศ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยไม่มีข้อมูลส่วนนี้ และการเกิดคณะกรรมการระดับพื้นที่ที่เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ” เพ็ญโฉมกล่าว

นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมขับเคลื่อนเพื่ออากาศสะอาดของลูกหลานในวันพรุ่งนี้

ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดและประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ สมทบทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศให้เด็กๆ ทางภาคเหนือได้ที่ www.socialgiver.com/en

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image