ภาษาไท-ไตใน “โซเมีย” ดึงดูดคนกลายตนเป็นไทย

ภาษาไท-ไตใน “โซเมีย” ดึงดูดคนกลายตนเป็นไทย

ภาษาไทไตใน “โซเมีย”

ดึงดูดคนกลายตนเป็นไทย

แผนที่แสดงการกระจายของตระกูลภาษาไทไต หรือ ไทกะได ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป

Advertisement

คนพูดตระกูลภาษาไทกะได ที่อยู่กวางสี ประเทศจีน, แถวรัฐอัสสัม อินเดีย, แถวเดียนเบียนฟู เวียดนาม อยากให้อธิบายและวิเคราะห์เพราะสงสัยมานาน” Dowrat Pinta ส่งคำถามผ่านเพจรายการทอดน่องท่องเที่ยว

วิเคราะห์อะไร? ไม่ได้ถามมา และถึงถามมาก็วิเคราะห์ไม่ได้ เพราะไม่ฉลาดขนาดนั้น แต่บอกเล่าข้อมูลย่อๆ ได้ดังนี้

1. ตระกูลภาษาไทกะได หรือไทไต (ต้นตอรากเหง้าภาษาไทยในประเทศไทย) มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว ต่อมาแพร่กระจายทั่วบริเวณ “โซเมีย” เป็นที่ราบสูงทางตอนใต้ของจีน ราว 2,500 ปีมาแล้ว ซึ่งรวมดินแดนลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวินพรหมบุตร, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

2. หลักแหล่งดั้งเดิมของตระกูลภาษาไทไต (หรือ ไทกะได) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เมื่อเทียบปัจจุบันคือชุมชนชาวจ้วงผู้ไท ได้แก่ มณฑลกวางสีของจีน เป็นหลักแหล่งของชาวจ้วง (พูดไทไต) ต่อเนื่องหลักแหล่งของชาวผู้ไท (พูดไทไต) ทางภาคเหนือของเวียดนาม (บริเวณวัฒนธรรมดงเซินซาหวิ่น) มีศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อยู่เมืองแถน (คือเมืองเดียนเบียนฟู)

3. ภาษาไทไต มีประสิทธิภาพในการเป็นภาษากลาง เพราะง่ายต่อความเข้าใจ (เมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ สมัยนั้น) ดังนั้นภาษาไทไต จึงเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีป แล้วแพร่กระจายตามเส้นทางการค้าจากแหล่งเดิมทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนผ่านลุ่มน้ำโขงไปทางตะวันตก ถึงลุ่มน้ำสาละวินพรหมบุตร และไปทางตะวันตกเฉียงใต้ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

4. คนพูดตระกูลภาษาไทไต ออกเสียงของคำว่าไท, ไทย ต่างกันเป็น 2 สำเนียง คือ ไท และ ไต โดยสรุปจากหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2519 หน้า 549-550) ดังนี้

(1.) พวกใช้เสียงตรง คือ ท เป็น ท. ออกสำเนียง ไท ว่า ไท ได้แก่ ชาวไทย ภาคกลาง, ภาคอีสาน, ภาคใต้ ชาวลาว ลาวเหนือ, ลาวกลาง, ลาวใต้ ชาวผู้ไท สิบสองจุไท เวียดนามเหนือ

(2.) พวกใช้เสียงต่าง คือ ท เป็น ต. ออกสำเนียง ไท ว่า ไต ได้แก่ ชาวไทยภาคเหนือ, ชาวลื้อ สิบสองพันนา ในจีน, และแขวงพงสาลี ในลาว, ชาวไทใหญ่ ใน พม่า รวมถึงชาวอัสสัมในอินเดีย เรื่องนี้จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่า “ภาษาของเขาใช้ ต (non-aspirated หรือ สิถิล) แทนเสียง ท (aspirated หรือ ธนิต) หมดเกือบทุกคำ เช่น ทาง เป็น ตาง, ทาน เป็น ตาน, ท้าว เป็น ต้าว ฯลฯ”

[ผู้ไท หรือไทดำ ลุ่มน้ำแดงดำ ในเวียดนามปัจจุบัน มีทั้งสองพวกผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน ได้แก่ พวกใช้เสียงตรง ออกสำเนียงไทว่า ไท และพวกใช้เสียงต่าง ออกสำเนียงไทว่า ไต]

ภาษาไทไต (ไทกะได) มีพลังดึงดูดคนพูดภาษาอื่นๆ เปลี่ยนไปพูดภาษาไทไต พบหลักฐานจำนวนมากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พวกพูดมลายู, พูดมอญ, พูดเขมร ฯลฯ เปลี่ยนไปพูดไทไต แล้วกลายตนเป็นไทยเก่าสุดในรัฐอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image