หลากนิยาม ‘หนึ่งชีวิต…คำนึง’ รวมงานเขียนคุณภาพ รางวัล ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’

“หนึ่งชีวิตคำนึง บางคนก็อาจจะคิดถึงตัวเอง บางคนอาจจะคิดถึงครอบครัว คิดถึงสังคม บางคนอาจจะนึกถึงมนุษยชาติ เมื่อเราคิด เราก็ได้ทบทวน เราคิด เราจะคอมเมนต์ เราจะโพสต์ เราก็คิด ความคิดเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความดีงามอย่างน้อยการไตร่ตรอง นี่คือที่มาที่ไปของการเลือกหัวข้อนี้”

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช

นี่คือคำกล่าวของ บาทหลวง อนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ต่อการนิยามหัวข้อการประกวดงานเขียนในพิธีมอบรางวัล ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ ‘หนึ่งชีวิตคำนึง’

เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นที่รู้จักในนามปากกา ‘อุชเชนี’ มีผลงานที่ทรงคุณค่าด้านวรรณศิลป์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ เช่น ‘ขอบฟ้าขลิบทอง’ ‘ดาวผ่องนภาดิน’ หรือความเรียงร้อยแก้ว ‘เพียงแค่เม็ดทราย’ ในนามปากกา ‘นิด นรารักษ์’ อุชเชนี ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ใน พ.ศ.2536

Advertisement

รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนีก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2560 โดยสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ร่วมกับสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ ประกวดวรรณกรรมรางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” โดยคัดสรรงานเขียนที่มีเนื้อหาและลักษณะตามเกณฑ์ที่กำหนดจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั่วประเทศเพื่อพิจารณาตัดสินมอบรางวัลแก่นักเขียนที่มีคุณภาพ โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 807 ผลงานจากทั่วประเทศ เป็นกลอนสุภาพ 385 ผลงาน และความเรียง 422 ผลงาน

ผู้ได้รับโล่รางวัล ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’ ครั้งที่ 5 และโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ 12 มกราคม ที่ผ่านมา

เหนือจริงผสมวิทยาศาสตร์

โลกที่เปรียบเหมือนพิพิธภัณฑ์ สู่‘บทกวีที่ไม่ซ้ำใคร’

Advertisement

พจนาถ พจนาพิทักษ์ นักแต่งเพลงรายการโทรทัศน์และรายการสารคดี ผู้ชนะเลิศ รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 5 ประเภทกลอนสุภาพ ระดับประชาชน ในผลงาน ‘ห้วงคำนึงของนักแล่นเรือใบ (ขณะผ่านไปในพิพิธภัณฑ์ร้างกลางชีวิต)’ เล่าถึงที่มาที่ไปในการวางโครงเรื่องเขียนบทกวีของตนว่า
คอนเซ็ปต์ในการเขียนแตกต่างจากบทกวีอื่นและไม่น่าจะมีใครนึกถึง

“ผมเขียนบทกวีมาหลายปีเลยคิดว่าจะทำให้แตกต่างจากคนอื่นที่ส่งประกวดอย่างไรบ้าง ก็เลยวางคอนเซ็ปต์ที่คิดว่าไม่น่ามีใครนึกถึงคืองานที่มีความเหนือความจริงและผสมความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการพูดถึงห้วงคำนึงของตัวละครตัวหนึ่งที่ข้ามเส้นมิติเวลากลับมาสำรวจโลกซึ่งล่มสลายไปแล้ว โดยชื่อผลงานก็บอกอยู่แล้วว่า ‘ห้วงคำนึงของนักแล่นเรือใบ (ขณะผ่านไปในพิพิธภัณฑ์ร้างกลางชีวิต)’ ผมใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์เป็นการย่อส่วนแทนโลกทั้งหมด ในบทกวีจะพูดถึงช่วงเวลาต่างๆ อย่างย่นย่อเท่าที่กรอบการประกวดจะกำหนดไว้ ตอนเขียน ต้องบอกว่าผมนึกเป็นภาพยนตร์ การแบ่งตอนแต่ละตอนก็คือตัดฉาก 1-4 โดยไม่เรียงลำดับเวลา เป็นเหมือนงานจิ๊กซอว์ที่ต้องนำมาปะติดปะต่อเองจึงเป็นงานชิ้นนี้ขึ้นมา” พจนาถอธิบาย

หนังสือรวมผลงานที่ได้รับรางวัล ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’ ครั้งที่ 5

ตัวอย่างบางส่วนจากผลงาน ‘ห้วงคำนึงของนักแล่นเรือใบ (ขณะผ่านไปในพิพิธภัณฑ์ร้างกลางชีวิต)’ ความตอนหนึ่งว่า

…“ศิลาแห่งการบิดเบือนเกลื่อนชายฝั่ง

สงครามพาคนไปยัง ที่ฝันสลาย

อารยธรรมแล้วเล่าเข้าท้าทาย

กับสัจจะอันตราย ให้ทบทวน

กลางกระจกแห่งความนานไกล

ส่องผนังวิหารไหม้ไฟทั่วถ้วน

รูปสลัก แตกหัก น่าใคร่ครวญ

ผงฝุ่น ฟุ้งอวล จารึกหินปูน

แล่นเรือใบผ่านพิพิธภัณฑ์

ร้าง, สร้างไม่เสร็จนั้นพลันสาบสูญ

จิ๊กซอว์หายไป ไม่สมบูรณ์

แต่เสน่ห์กลับเพียบพูน ด้วยเรื่องราว”…

ประกาศนียบัตรและโล่รางวัล ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’

‘อุชเชนี’กวีของคนรักบทกวี

นอกจากนี้ พจนาถยังเล่าถึงเหตุผลในการส่งผลงานเข้าประกวดเวทีนี้ซึ่งตนเพิ่งทราบว่ามีรางวัลอุชเชนีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาและคิดว่าน่าสนใจ บวกกับชื่อของอุชเชนีเป็นชื่อกวีที่คนรักบทกวีส่วนใหญ่รวมถึงตนค่อนข้างชื่นชอบและชื่นชม โดยเฉพาะผลงาน ‘ขอบฟ้าขลิบทอง’ ซึ่งเป็นชิ้นที่โด่งดัง

“เวลาเราพูดถึงคนเขียนกลอนในยุคก่อนจะมีความลึกซึ้งหรือสะเทือนใจอย่างไรก็ตาม แต่มักมีกลิ่นอายหรือถ้อยคำเก่าๆ ถ้าพูดตรงๆ คือมีความเชยปนอยู่ แต่งานของอุชเชนี ผมคิดว่าไม่เชยทั้งการใช้ภาษาและทั้งทัศนคติที่เขียน ขนาดไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ยังรู้สึกว่าคนนี้เจ๋ง

เมื่อรู้ว่าได้รางวัลชนะเลิศก็ดีใจมากๆ แต่อีกความรู้สึกคือดีใจที่คณะกรรมการเปิดใจให้เพราะงานของผมเป็นงานที่อ่านแล้วค่อนข้างเข้าใจยาก ตีความยาก คือคณะกรรมการท่านอ่านได้อยู่แล้วแต่ไม่แน่ใจว่าจะรับการเป็นงานที่มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างออกไปได้หรือเปล่า เมื่อได้รางวัลชนะเลิศโดยส่วนตัวคือคารวะท่านคณะกรรมการเลยที่เปิดใจให้งานซึ่งน่าจะแตกต่างจากขนบของความรู้สึกที่ว่าเวลาอ่านกวีแล้วต้องซาบซึ้ง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกเซอร์ไพรส์มากๆ” พจนาถกล่าว

ส่งบทกวีสัมผัสใจ

บั้นปลายชีวิต‘คุณยาย’ผ่านตัวอักษร

อีกหนึ่งเจ้าของผลงานน่าสนใจมากด้วยการครองรางวัลประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียนถึง 3 ปีซ้อน คือ

ศรินยานันท์ จันทร์รุ่ง ซึ่งเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องผ่านบทกวี ว่าตนเลือกเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคุณยายคนหนึ่งที่อยู่กับลูกหลานในบั้นปลายชีวิต

ศรินยานันท์ จันทร์รุ่ง ขึ้นอ่านบทกวีบนเวทีเป็นปีที่ 3 ในฐานะผู้ครองรางวัลชนะเลิศประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียน

“บทกวีพูดถึงชีวิตของคุณยายคนหนึ่ง มีทั้งฉากที่คุณยายมองดูหลานๆ เล่นกัน หนูอยากถ่ายทอดเรื่องราวแบบนี้ออกมาเป็นบทกวี ซึ่งบาทหลวงอนุชารู้สึกว่าบทกวีของหนูสัมผัสถึงใจคนได้จริงๆ ตอนได้ขึ้นไปอ่านบทกวีบนเวที คิดแค่ว่าอยากให้บทกวีของหนูได้ไปถึงใจคนฟัง อยากให้คนฟังแล้วเขารู้สึกแบบเดียวกับหนู” ศรินยานันท์เล่า

นอกจากนี้ ศรินยานันท์ยังเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเริ่มเขียนบทกวีของตนเองและเล่าถึงหัวข้อในการเขียนที่ตนได้รับรางวัลมาถึง 3 ปีซ้อน

“ในปีแรกที่ส่งประกวดคือไปเจองานนี้จากรุ่นพี่ที่แชร์ผ่านเฟซบุ๊กเลยจุดประกาย ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าอยากฝึกเขียนบทกวี ปีนั้นเขียนเกี่ยวกับเรื่องชีวิตเหมือนกัน เป็นหัวข้อ ‘ที่ใดมีชีวิตที่นั่นมีความหวัง’ แล้วได้รางวัลชนะเลิศมามันใหญ่มากสำหรับเด็ก ม.3 ตอนนั้น ปีต่อมาเป็นหัวข้อ ‘อยู่เพื่ออะไร’ เลยเขียนอีกซึ่งเขียนเรื่องคุณแม่ ซึ่งปีนั้นหนูกับคุณแม่ก็ผ่านอะไรกันมามากเลยทำให้เราอยากเขียนถึงแม่ พอมาถึงปีนี้หนูรู้สึกว่าอยากส่งเป็นปีสุดท้ายเพราะปีหน้าหนูอยู่ ม.6 แล้วอาจจะไม่มีเวลาเขียน ปีนี้จึงอยากทำให้เต็มที่ที่สุดและผลก็ออกมาตามที่หวังค่ะ” ศรินยานันท์กล่าว

ตัวอย่างบางส่วนจากผลงาน‘ในห้วงคำนึง’ ดังนี้

…“เรียกลูกสาวเป็นลูกมือถือของส่ง

ค่อยบรรจงต้มพะแนงทำแกงคั่ว

ผัดผัก ลาบ ต้มยำ ส้มตำนัว

ลูกส่ายหัว บอกแม่ขา อย่าทำเยอะ

สั่งหลานหลานเลิกเล่นมากินข้าว

แล้วบ่นยาวเมื่อเห็นเหม็นตัวเหนอะ

คุณยายไถ่ไปพลางล้างดินเลอะ

ก่อนตามไปเช็ดรอยเปรอะดวงหน้าน้อย”…

พจนาถ พจนาพิทักษ์ นักแต่งเพลงสารคดีดัง ขึ้นรับรางวัลชนะเลิศประเภทกลอนสุภาพ ระดับประชาชน จาก พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี

ความเรียงแห่งโศกนาฏกรรม

สงครามแห่งเยรูซาเลม

ด้าน ฮีดายะห์ เบ็ญโกบ นักเรียนมัธยมปลายผู้ได้รับทั้งรางวัลชนะเลิศ ประเภทความเรียง และรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทกลอนสุภาพ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนความเรียงของตนและเรื่องราวของผลงานที่ส่งเข้าประกวดซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงและสงคราม

“จริงๆ หนูเริ่มศึกษาการเขียนความเรียงมาได้สักพักแล้ว เพราะความเรียงเป็นงานสารคดีประเภทหนึ่งที่มีความน่าสนใจที่เหนือกว่าการเขียนเรียงความตรงที่ว่าสามารถสรรค์สร้างเรื่องราว ตัวละคร ฉาก บรรยากาศ การสอดแทรกแนวคิดที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่านได้คล้ายๆ กับงานประเภทบันเทิงคดี ซึ่งนับเป็นเสน่ห์งานวรรณศิลป์ที่เด็กๆ สามารถฝึกเขียนกันได้ สำหรับความเรียงเรื่อง ‘คำนึงอันนิรันดร์’ หนูต้องการสะท้อนปัญหาความรุนแรงในพื้นที่แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเยรูซาเลมที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยเล่าเรื่องผ่านชะตากรรมตัวละครผู้น่าสงสารอย่าง เซล่า ที่ถวิลหาสันติภาพตราบจนลมหายใจสุดท้ายแห่งชีวิต จึงคิดว่ามวลรวมของสารที่สื่อคงสอดคล้องกับโจทย์ ‘หนึ่งชีวิตคำนึง’ ของปีนี้ค่ะ” ฮีดายะห์เล่า

ฮีดายะห์ เบ็ญโกบ ผู้ครองสองรางวัลในงาน ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’ ครั้งที่ 5

ฮีดายะห์ได้เล่าถึงสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้ตนส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งมาจากความรักและศรัทธาในงานของอุชเชนี เธอเล่าว่าเพราะอุชเชนีคือกวีของกวีที่คนรักตัวอักษรนับถือเป็นดังแสงตะวันแห่งวงการวรรณศิลป์ร่วมสมัยของสยามประเทศ ประกอบกับหัวข้อการประกวดในปี 2564 มีความน่าสนใจ และสามารถตีความได้อย่างกว้างขวางหลากหลาย

“สุดท้ายสำหรับหนูการเขียนความเรียงและกลอนสุภาพ มีความยากง่ายที่แตกต่างกัน สำหรับกลอนสุภาพเป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่มีรูปแบบจำเพาะและจำกัดด้วยจำนวนคำ แต่ความหมายต้องตีความได้มากกว่าคำที่ใช้ การเขียนจึงต้องพิถีพิถันเท่าที่เราจะสามารถทำได้ สำหรับหนูคิดว่าการเขียนกลอนยากกว่าค่ะ เพราะหนูเพิ่งฝึกเขียนอย่างจริงจังได้เพียงไม่นาน เมื่อพูดถึงความเรียงหนูคิดว่าความยากอยู่ที่การเลือกประเด็น การเริ่มต้นเรื่องให้น่าสนใจการดำเนินเรื่องที่ราบรื่น ตลอดจนสรุปจบทิ้งท้ายให้ประทับใจ ซึ่งแนวโศกนาฏกรรมเป็นรูปแบบที่หนูชอบเขียนมากที่สุดค่ะ” ฮีดายะห์กล่าว

ตัวอย่างบางส่วนจากผลงาน ‘คำนึงอันนิรันดร์’

“นับเป็นห้วงเวลายาวนานกว่าเจ็ดสิบสองชั่วโมงแล้วที่ไม่มีโครได้ยินหรือรับรู้ถึงสัญญาณชีพอันแผ่วบางของ ‘เซล่า’ หนึ่งในเด็กสาวผู้เคราะห์ร้ายใต้ซากปรักหักพังที่กองพะเนินอันเป็นผลมาจากอานุภาพของแรงระเบิดซึ่งถูกระดมยิงอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายตรงข้าม…ท่ามกลางความโกลาหลแห่งมิคสัญญียุคอันยืดเยื้อ การมาถึงของอาวุธหนักเพียงชั่วพริบตาเดียว พลันถล่มทลายวิถีชีวิตและอาคารบ้านเรือนแถบย่านเมืองโบราณที่เคยอ่าตระการด้วยอารยธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานจนแทบหมดสิ้น สิ่งที่ยังคงพอหลงเหลืออยู่ ณ เวลานี้ก็คือความสิ้นหวัง การพลัดพรากจากลา คราบน้ำตาจากความโศกาอาดูร รวมทั้งธารโลหิตจากบรรดาผู้บาดเจ็บและเศษชิ้นส่วนร่างกายของเด็กน้อย-พลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ยังคงไหลหลั่งถั่งทันแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์”…

…“ขณะที่ทุกๆ ความพยายามของหน่วยกู้ภัยใกล้จะบรรลุผล ไม่ไกลไปจากตรงนี้มากนัก-เสียงกัมปนาทและแรงสะเทือนไหวจากระเบิดทำลายล้างลูกใหม่ได้เข้ามาสร้างความหายนะขึ้นอีกครั้ง พร้อมกันนั้น… แสงสุดท้ายก็ได้อำลาโลกไปอย่างสมบูรณ์ พระจันทร์สีเงินแขวนเสี้ยวบางๆ อยู่เหนือนภากาศเวิ้งเวหาดารดาษด้วยระยับแสงแห่งดวงดาว กระแสลมหนาวโชยพัดมาปกคลุมมาตุภูมิแห่งความเศร้าโศกอีกครั้งครา ทั้งยังได้พัดพา ‘ลมหายใจสุดท้าย’ และ ‘ห้วงคำนึง’ อันแสนบริสุทธิ์แห่ง ‘เธอ’ ไป ตราบชั่วนิรันดร์”

โดยฮีดายะห์ได้ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงเพื่อนเยาวชนทุกคนว่า

“การอ่านและการเขียนมีความสำคัญมาก เป็นต้นทุนอันทรงพลังเพื่อก้าวไปสู่อนาคตอันงดงาม”

พรสุดา คำมุงคุณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image