ฟังเลคเชอร์ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อดีตนักข่าวสู่อาจารย์สอนข่าว เมื่อรัฐไฟเขียว#ตีทะเบียนสื่อ?

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับกรณี ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อ ครม.กดปุ่ม “ไฟเขียว” ผ่านร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางเมื่อ พ.ศ.2560 เกิดการรณรงค์คัดค้านด้วยสโลแกน “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” ดังปรากฏในหน้าเว็บไซต์ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” พร้อมบทความโดย “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดภาพมาในวันนี้ บรรยากาศโดยรวมเงียบงัน นับว่าผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่คาใจในเนื้อหาเหมือนดังเช่น 5 ปีก่อน หลังผ่านกระบวนการปรับแก้ไข หรืออะไรก็ตามแต่
มีเพียง “คอมเมนต์” ไม่เห็นพ้องจากปัจเจกบุคคลในวงการสื่อ วงเสวนาถกปมที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) และจดหมายเปิดผนึกที่เผยแพร่ผ่านเพจ “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย” หรือ DemAll เรื่อง “ข้อห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ” พร้อมกลุ่มองค์กร นักข่าว นักวิชาการและคนในวงการสื่อรวมแล้ว 69 รายชื่อ ร่วมลงนาม

หนึ่งในนั้นคือ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ผู้อยู่ในวงการข่าวมานานกว่า 30 ปี ทั้งในบทบาท “นักข่าว” สายการเมือง จนถึงบทบาทนักวิชาการในฐานะอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

“ผิดตั้งแต่ต้น หาข้อดีไม่เจอ”

คือข้อสรุปเบื้องต้นที่มีต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวจากมุมมองของ “อาจารย์แดง” ของนักศึกษา “เจซี” (Journalism and Mass communication) ซึ่งจัดคิวหลังจบการสอนออนไลน์และออนไซต์มานั่งสนทนาในประเด็นต่างๆ ทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เสรีภาพสื่อ คนรุ่นใหม่กับวงการข่าว ฯลฯ พร้อมบอกเล่าทั้งจากมุมมองของอาจารย์ อดีตผู้สื่อข่าว และประชาชนผู้เสพข่าว

อะไรคือปัญหาหลักของ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน?
จริงๆ เขาพยายามมาหลายปีแล้วจนกระทั่งวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของเรื่องยื่น พ.ร.บ.ควบคุมสื่อเข้าไปแล้วผ่านมติ ครม.เป็นที่เรียบร้อย จนนำมาถึงวันนี้ที่มีคนตั้งคำถาม หรือแม้แต่ตัวเองในฐานะที่เป็นนักวิชาการสื่อก็สนใจติดตามข่าวสาร และจากที่เคยเป็นนักข่าวมาก่อนจนวันนี้เป็นผู้สอนในวิชาข่าว และขณะเดียวกันก็เป็นผู้บริโภคข่าวแบบเข้มข้น เรามองว่าน่าเป็นห่วง สถานการณ์สื่อวันนี้มันถึงเวลาแล้วหรือที่ต้องรับเงินสนับสนุนจากรัฐ

Advertisement

รัฐในที่นี้คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อรับเงินมา มั่นใจหรือว่าจะมีเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง ถึงแม้วันนี้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่ยังมีมาตรา 44 หลายๆ ครั้งนายกฯก็ส่งสัญญาณว่าเรายังอยู่ในภาวะไม่ปกติ ยังต้องขอความร่วมมือซึ่งมีคำที่ขีดเส้นใต้ตลอดเวลาว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้น จึงไม่มั่นใจว่าเมื่อเรารับเงินเขาแล้วจะมีการขอความร่วมมือมาในรูปแบบไหนอีก การที่เรารับเงินปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท เข้าใจว่าองค์กรวิชาชีพสื่อที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับคนทำสื่อต้องใช้เงิน แต่เราจำเป็นต้องรับเงินจากรัฐหรือไม่

ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ตั้งคำถามถึงกรรมการวิชาชีพ ประเด็นสำคัญคืออะไร?
คณะกรรมการจริยธรรมสื่อที่จะเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ชุดนี้ ที่ถือว่าคือรูปธรรมที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ สัดส่วนของคณะกรรมการแบ่งเป็น 3 ส่วน เมื่อเป็นเลขคี่ดูเหมือนว่าเวลาถกเถียงกันจะมีตัวกลางเกิดขึ้น โดยตรรกะนั้นดูโอเคมาก และแบ่งเป็นในส่วนของตัวแทนคนทำสื่อ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน เมื่อพูดถึงผู้ทรงคุณวุฒิจะดูมีความเชี่ยวชาญและจะต้องปกป้องผลประโยชน์ในเรื่องนั้นๆ ก็ดูเหมือนแฟร์นะ 5 ต่อ 5 เท่ากัน แต่มีตัวแปรเข้ามาอีกคือ บอกว่าเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องอย่าลืมว่ากองทุนก็คือคนของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้รัฐเหมือนกัน เราเลยตั้งข้อสังเกตว่า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐ

คิดว่าทำไมความตื่นตัวของคนวงการสื่อ โดยเฉพาะหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ‘แผ่ว’ ลงในกรณี พ.ร.บ.คุมสื่อ?
ความอ่อนแอของคนทำสื่อทุกวันนี้เกิดขึ้นจากการจัดการของรัฐในหลายๆ มิติหรือไม่ ความอ่อนแอตรงนั้นมันเกิดขึ้นทั้งในเชิงนโยบายขององค์กรที่ต้องทำให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอดด้วย จึงไม่อยากที่จะเป็นปัญหากับรัฐ และรัฐก็บอกด้วยว่าบ้านเมืองเรายังไม่ปกติก็กลัวเรื่อง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่รัฐนำมาจัดการมากมาย
เราว่านักข่าวหรือคนทำสื่อก็เหมือนต้องประกอบวิชาชีพตัวเอง หรือพูดภาษาบ้านๆ ก็คือทำมาหากิน เขาก็กลายเป็นฟันเฟืองที่ต้องเป็นหนูปั่นจักรวิ่งปั่นข่าวทุกวัน ในภาวะที่ข่าวต้องแข่งกับเวลาแล้วนโยบายของแต่ละองค์กรก็ต้องไม่ตกข่าว ต้องทันทีทันใด ดังนั้นบทบาทที่จะทำให้กับพื้นที่ของตัวเอง ปกป้องบ้านของตัวเอง จะทำให้นิเวศข่าวหรือสภาพแวดล้อมของตัวเองดีก็เลยยาก โดยเฉพาะตั้งแต่เป็นดิจิทัลแล้วองค์กรสื่อเดิมที่ประมูลช่องมา ท้ายที่สุดอยู่รอดไม่ได้ก็กลายเป็นนักธุรกิจเจ้าใหญ่ๆ เข้ามา อุดมการณ์เพื่อสังคมแผ่ว ขณะเดียวกันเขาก็คงไม่อยากเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ หรือจนกระทั่งเกิด พ.ร.บ.ควบคุมสื่อนี้ก็ยังมีการรวมกันอยู่นะ ล่าสุดมีการล่า มีการร่าง และให้คนลงชื่อ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธเลยกับ พ.ร.บ.นี้ แต่ควรจะต้องมีการแก้ไขเนื้อหาสาระ เพราะท้ายที่สุดแล้วมันหมายถึงบ้านของเขา บทบาทหน้าที่ของเขา อุดมการณ์ของเขา และย่อมหมายถึงสิทธิ เสรีภาพ ในการสื่อสารของประชาชน ตรงนี้สำคัญมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จริยธรรมของสื่อในอดีตและปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ใครกำหนด และใครกำกับ?
สมัยก่อนคนที่จะกำกับคนทำสื่อก็คือองค์กรต้นสังกัด จะมีสองอย่างคือการกำกับตัวเอง ตัวคนทำสื่อหรือนักข่าวต้องมีจริยธรรมกำกับตัวเอง ขณะเดียวกันองค์กรที่เราสังกัดก็เป็นตัวกำกับเรา อย่างที่สองก็คือการกำกับกันเอง ดังนั้นองค์กรแต่ละองค์กรที่เป็นสื่อก็จะอยู่ภายใต้องค์กรวิชาชีพ มีสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในส่วนของโทรทัศน์ก็จะมีสมาคมวิทยุโทรทัศน์ หรือมีสภาเกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์ สมมุติว่ามีสื่อหรือองค์กรไหนที่ทำผิดจริยธรรมก็มีการร้องเรียนเข้าไปและจะมีคณะกรรมการจริยธรรมในการตรวจสอบ แต่เราก็จะได้ยินตลอดคือคำว่าเสือกระดาษ ดูน่ากลัวแต่ก็เป็นแค่กระดาษมันขย้ำไม่ได้ ไม่สามารถทำให้เราบาดเจ็บได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วหลายๆ กรณีที่ถูกร้องเรียนก็เงียบหายไป ตรงนี้ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราบอกว่าสื่อไม่มีปัญหานะ สื่อก็ถูกตั้งคำถามและถูกร้องเรียน เมื่อก่อนมีการกำกับตั้งแต่กฎหมาย ก็คือรัฐกำกับโดยออกกฎหมาย การกำกับกันเองโดยสื่อ แต่มีการกำกับอีกอย่างหนึ่งก็คือการกำกับโดยสังคม

ในปัจจุบันเมื่อโลกออนไลน์ไม่พอใจการทำงานของสื่อ มีการติดแฮชแท็ก #แบน…(ชื่อสำนักข่าว)… แล้วในอดีตสังคมแสดงออกอย่างไร?
สมมุติว่ามีกรณีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวที่ถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม ไปลงข่าวที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคหนึ่ง ก็จะมีการบอยคอตเกิดขึ้นโดยประชาชนในภูมิภาคนั้น ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น เป็นต้น
ถ้าถามว่าเมื่อก่อนการกำกับโดยสังคมเข้มแข็งหรือไม่ ก็ไม่ได้เข้มแข็งเท่าตอนนี้ เพราะ ณ วันนี้ การกำกับโดยสังคมเข้มแข็งกว่า ในขณะที่สื่อทีวีถามว่าสมัยก่อนทำอะไรได้มากหรือไม่ ก็ไม่มาก เขามีรูปแบบการเล่าเรื่องของเขา จะเป็นลักษณะของการแจ้งให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ให้คนรู้เท่าทัน แต่การตรวจสอบหรือการทำข่าวเชิงสอบสวน มีไม่มาก

บทบาทสื่อในยุคอนาล็อกกับยุคดิจิทัลที่นอกจากการรายงานข่าวเหมือนเดิม สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคืออะไร ในยุคที่มีคำกล่าวว่า ‘ใครๆ ก็เป็นสื่อได้’?
ตั้งแต่เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนไป จะเห็นว่าสื่อขยายไปมาก พื้นที่การรายงานข่าวมหาศาล ดังนั้น ภูมิทัศน์สื่อจึงเปลี่ยนคนทำข่าว สื่อและองค์กรสื่อมีการแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดสื่ออิสระ หรือสื่อภาคพลเมือง
ถ้าหากคุณไม่ทำมากขึ้นจากเดิมในวันนี้ใครๆ ก็สื่อสารได้ เมื่อคุณมีเทคโนโลยีการสื่อสาร คุณมีแค่มือถือ มีคอนเทนต์ มีข้อมูล มีข้อเท็จจริงคุณก็สามารถที่จะรายงานได้ เพราะฉะนั้นสื่อวิชาชีพต้องทำมากกว่านั้น บทบาทวันนี้สื่อไม่ใช่แค่รายงานแล้ว สื่อจะต้องทำให้เรื่องๆ หนึ่งเป็นวาระสาธารณะ จนกระทั่งกลายเป็นวาระเชิงนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม นั่นคือบทบาทสื่อที่เป็นสื่อวิชาชีพต้องทำมากขึ้นจากเดิม
ความคาดหวังของคน ของสังคมต่อสื่อวิชาชีพจะมากขึ้น ความคาดหวังที่เราอยากจะเห็นอะไร เราอาจอยากจะเห็นข่าวที่เป็นในเชิงสืบสวนสอบสวน ข่าวที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือบทบาทที่เป็นพื้นฐานเลยคือบทบาทของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ซึ่งบทบาทของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ณ วันนี้คืออะไร สำคัญมาก ถ้าเราไปดูเรื่องของความเป็น Watch Dog จะเห็นเลยว่าก็คือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

‘สื่ออิสระ’ มีบทบาทชัดเจนมากในการชุมนุมทางการเมืองช่วงปีที่ผ่านมา หลายครั้งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ขอดูบัตรสื่อ และโดนคดีมาแล้ว หาก พ.ร.บ.คุมสื่อ บังคับใช้จะส่งผลอย่างไรบ้างกับสื่อกลุ่มนี้?
ถูกจัดการแน่นอน รัฐพยายามจะจัดการกับสื่ออิสระโดยการถามหาบัตรที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ กรณีที่เกิดขึ้นคือการลงไปทำข่าวในพื้นที่ดินแดง แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาพูดว่าถ้านักข่าวที่จะอยู่ในพื้นที่เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนดในภาวะฉุกเฉินจะต้องมีบัตรของกรมประชาสัมพันธ์
ตอนที่ได้ยินประเด็นนี้ ในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นนักข่าว 6 ปี ไม่เคยมีบัตรกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งชีวิตเคยมีบัตรมติชน บัตรเข้าทำเนียบรัฐบาลและสภา จริงๆ แล้วกรมประชาสัมพันธ์ก็มีบทบาทในการกำกับสื่อ แต่วันหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพบอกว่าใครๆ ก็สื่อสารได้ ดังนั้น ใบผู้ประกาศก็หมดความหมายไป ในตอนหลังก็มีความพยายามที่จะให้มีใบผู้ประกาศ นี่คือการกำกับอีกแบบหนึ่ง การกำกับเสรีภาพในการสื่อสาร กรณีที่ดินแดงนั่นคือการกำกับโดยการที่จะกีดกันใครบางคนหรือกลุ่มบางกลุ่มไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น
สื่ออิสระ ไม่มีต้นสังกัด เขากำกับตัวเอง กำกับด้วยบทบาทหน้าที่ของเขา ด้วยผลงานของเขา ถามว่าเขามีตัวตนไหม เราเห็นสื่ออิสระทุกคนก็มีตัวตนของเขา ในยุคนี้ทุกคนต่างมีตัวตนของตัวเอง โดยทุกคนถูกกำกับจากสังคมอยู่แล้ว

ในฐานะอดีตนักข่าว จนถึงอาจารย์สอนนักข่าวในอนาคต มองพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ต่อวงการข่าวยุคต่างๆ อย่างน้อยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?
ตอนลาออกจากการเป็นนักข่าวเมื่อปี 2539 แล้วไปเรียนปริญญาโทที่นิวยอร์ก ใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก 5 ปี กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใน พ.ศ.2543 ยุคนั้นคนยังอยากเป็นนักข่าว แต่พอสอนไปช่วงหนึ่งเริ่มเห็นว่าเด็กไม่ค่อยอยากเป็นนักข่าว หรือถ้าอยากเป็นคนทำสื่อก็จะสนใจทางด้านบันเทิงมากกว่า
แต่พอ 5 ปีหลังได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นเด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น เราชอบบอกว่าคนรุ่นใหม่โลกของเขาวนอยู่แต่แค่ตัวเอง เราปฏิเสธเลยนะ นั่นคุณยังไม่รู้จักคนรุ่นใหม่จริง เพราะคุณไม่ได้ฟังให้ลึกๆ กับสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่ ตรงจุดนี้เรากลับมองว่าสังคมกำลังจะได้นักข่าว เราจะได้เด็กรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ ใน 2-3 ปีนี้ บางสำนักข่าวกล้านำเสนอในข่าวที่สื่อไม่กล้าทำ เห็นนักข่าวรุ่นใหม่ๆ บางคนที่มีความรู้ในเรื่องที่เขากำลังรายงานข่าวและมีทักษะที่ดี
จุดเปลี่ยนคือในปี 2563 เด็กรุ่นปัจจุบันสนใจข่าวสารมากขึ้น เมื่อก่อนเราบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจข่าว ท้ายสุดเรากำลังมองแบบฉาบฉวยมากๆ ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่การเมืองเข้มข้นและเยาวชนเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ เราพบว่าเริ่มมีนักศึกษาสนใจเป็นนักข่าวมากขึ้น

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผันตัวจากนักข่าวสายการเมืองมาเป็นอาจารย์วารสารศาสตร์เต็มตัวคืออะไร?
นั่นคือความตั้งใจ แต่ก็ไม่ได้เบื่ออาชีพนักข่าว ทุกวันนี้เวลาอ่านข่าว เวลาฟังนักข่าวสัมภาษณ์ เราก็จะคิดว่าทำไมไม่ถามคำถามนี้ ยังมีไฟอยู่เต็มที่ แค่เปลี่ยนบทบาทตัวเองเพราะเมื่อทำข่าวถึงจุดๆ หนึ่งมันมีความเบื่อเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็น Passion ของตัวเองอยู่แล้วที่จะไปหาความรู้อีกมิติหนึ่งเพื่อมาเติมเต็ม ถ้าอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงเราไม่จำเป็นต้องทำแค่บทบาทความเป็นนักข่าวอย่างเดียวก็ได้ ในบทบาทของคนสอนข่าวที่จะผลิตบุคลากร ผลิตนักข่าวออกไปตรงนี้สำคัญมาก
สำหรับตัวเองมองว่าไม่ใช่ใครก็เป็นอาจารย์สอนข่าวได้ คุณจะมากางตำราแล้วว่าตามตำราสอนมันเป็นไปไม่ได้ เถียง 1,000% เลยเพราะมันไม่มีสูตรสำเร็จ มันขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ข้างใน ขึ้นอยู่กับทักษะ แล้วถ้าคุณเป็นอาจารย์ผู้สอนข่าวที่ไม่เคยมีทักษะเรื่องข่าวเลย คุณจะไม่เข้าใจเพราะคุณไม่เคยผ่านการทำข่าวมาก่อน

⦁ในวันที่สื่อแข่งขันกันอย่างหนัก ทั้งสื่อหลัก โทรทัศน์ นสพ. สำนักข่าวออนไลน์ จะสร้างสมดุลอย่างไร ระหว่างยอดคลิก ยอดไลค์ กับ ‘ข่าวคุณภาพ’
เข้าใจว่าวันนี้ธุรกิจสื่ออยู่ยากมาก เห็นใจ ทุกคนทำงานหนักมาก ทั้งเพื่อน ทั้งรุ่นพี่สมัยเป็นนักข่าว จนกระทั่งมาถึงลูกศิษย์ตัวเองที่อยู่ในวงการข่าวมากมายหลายเจนเนอเรชั่น ทุกคนบ่นหมดว่าเหนื่อยมากจนถึงเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ก็ต้องพูดกลับไปหาเจ้าของสื่อ อยากโยนกลับไปที่คนผลิตข่าว ก็ต้องมีจริยธรรม เรื่องกำไรเข้าใจ แต่ความรับผิดชอบสังคมสำคัญมากๆ สื่อยังคงทรงพลัง ยังเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ยังเป็นตัวกำหนดวาระข่าวสารของสังคม ดังนั้น คลิกเบตเลิกทำเถอะ ขอชื่นชมองค์กรที่ไม่ทำ อยากขอร้องในฐานะผู้บริโภคข่าวว่าข่าวดราม่าน้อยลงก็ดี มันกระตุ้นความร้อนของสังคม บ่มเพาะความขัดแย้งและความรุนแรง
ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้บริโภคข่าวและทั้งๆ ที่ตัวเองเคยเป็นนักข่าวมาก่อน จนวันนี้เป็นคนสอนข่าว ก็ตกเป็นเหยื่อของคลิกเบต และข่าวดราม่า เพราะมันกระตุ้นอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณค่าข่าวคุณค่าหนึ่งเหมือนกัน และบางทีมีเรื่องของความใกล้ตัว ผู้รับสารวันนี้ คนในสังคมวันนี้ต้องรู้เท่าทันสื่อและต้องรู้เท่าทันตัวเองด้วย ทั้งอคติของตัวเองที่ชอบหรือเกลียด สังเกตไหมว่าไม่ว่าจะเป็นคลิกเบต เฟคนิวส์ หรือข่าวดราม่านั้น ล้วนแต่มีเรื่องของอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นในฝั่งของคนบริโภคข่าว ต้องมีสติมากๆ

มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำเตือนเมื่อไม่กี่วันมานี้จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนว่า ‘ขณะนี้พลังโซเชียลรุนแรง ต้องมีวิจารณญาณว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง ดีหรือไม่ดี อันไหนควรอ่านหรือไม่ควรอ่าน ไม่อยากให้สร้างความขัดแย้งไปเรื่อยๆ อันนี้คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อประเทศ’?
(หัวเราะ) ก็ดีนะ ก็จริงอย่างที่ว่า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทันนายกฯด้วย รู้เท่าทันรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะวันนี้ใครๆ ก็สื่อสารได้ ต้องฝากท่านนายกฯด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งสำคัญคืออยากให้ท่านนายกฯสนับสนุนเรื่องการรู้เท่าทัน รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันสื่ออย่างจริงจัง ติดตั้งความรู้ ติดตั้งทักษะอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้สิ่งที่ท่านนายกฯกำลังแจ้งเตือนบอกกล่าวกับประชาชนไทยนั้นยั่งยืน

‘ปฏิรูปสื่อ-ต้านเฟคนิวส์’ ฟังขึ้นหรือไม่ ในการดำเนินการใดๆ ที่ดูเหมือนจงใจควบคุมสื่อ?
ไม่ปฏิเสธนะว่ามีสื่อที่นำเสนอเฟคนิวส์ แต่มีแบบหลายระดับ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ ความน่าเชื่อถือก็ลดน้อยลง เพราะมันมีการตรวจสอบจากสังคมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวมากๆ คือเมื่อรัฐนิยามคำว่าเฟคนิวส์ มันคือการที่สื่อกำลังให้ข้อมูลที่แตกต่างจากรัฐ เฟคนิวส์คือข่าวปลอม คือข้อมูลที่ผิด อันตรายที่สุดคือข้อมูลที่จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อหวังผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ทำร้ายคนอื่น แต่เมื่อสื่อกำลังนำเสนอข่าวโดยเฉพาะที่ผ่านมาคือเรื่องวัคซีน

เมื่อให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันกับรัฐ ไม่ได้หมายความว่าคือเฟคนิวส์ แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ให้นั้นถ้าแตกต่างจากรัฐกลายเป็นรัฐตีตราว่ามันคือเฟคนิวส์.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image