คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ต้นแบบผู้นำท้องถิ่น

เคยไปเมืองลับแลมาแล้วหรือยัง

เมืองลับแลมีตำนานแต่โบราณเล่าว่า หนุ่มเมืองทุ่งยั้งคนหนึ่งเดินหลงป่า

พบเห็นสาวงามออกจากเมืองลับแล โดยซ่อนกุญแจเข้าเมืองไว้

หนุ่มคนนั้นจึงแอบขโมยกุญแจไว้แล้วใช้เล่ห์กลอุบายเกี้ยวพาราสีจนสาวหลง

Advertisement

ยอมพาชายหนุ่มไปอยู่กินเป็นสามีภรรยาในเมืองลับแล

เมืองลับแลได้ชื่อว่าเป็นเมืองลี้ลับ คนภายนอกยากจะเข้าไปภายในได้

ผู้คนในเมืองลับแลมีคุณธรรม ถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นนิจ

Advertisement

ไม่เคยกล่าววาจาเป็นเท็จ

ชายหนุ่มเมืองทุ่งยั้งกับสาวเมืองลับแลอยู่ด้วยกันจนมีลูก

กระทั่งวันหนึ่ง สาวไม่อยู่ ปล่อยให้หนุ่มเฝ้าบ้านเลี้ยงลูก

ลูกก็ร้องหาแม่ ผู้เป็นพ่อไม่รู้ทำอย่างไรจึงโกหกลูกว่าแม่มาแล้ว

ชาวเมืองลับแลรู้ข่าวว่าโกหก จึงขับไล่หนุ่มผู้นั้นออกจากเมือง

ฝ่ายสาวก็อาวรณ์ ก่อนหนุ่มเมืองทุ่งยั้งจะถูกเนรเทศก็หยิบของฝากใส่ย่ามให้

กำชับว่า อย่าเปิดดูระหว่างทาง

แต่หนุ่มคนนั้นก็ทนความอยากรู้ไม่ได้ ระหว่างทางเปิดห่อออกดู พบว่าเป็นผงขมิ้น

เห็นว่าไม่มีค่าอะไรจึงเททิ้งไป เหลือแต่เศษๆ ติดย่าม

เมื่อชายหนุ่มกลับถึงเมือง พบญาติก็เล่าเรื่องให้ฟัง ญาติถามหาหลักฐาน

ชายหนุ่มหยิบย่ามมาโชว์ผงขมิ้น พบว่าผงขมิ้นที่เคยเห็นได้กลายเป็นทองคำมีค่า

โอ้…เจ้าหนุ่มทิ้งทองไประหว่างทางทั้งห่อ

เมื่อรู้ความจริง เกิดความเสียดายจึงชวนเพื่อนไปหาทองตามรายทาง

แต่ก็ไม่พบ..และไม่มีใครพบทางเข้าเมืองลับแลอีกเลย

ฟังตำนานเมืองลับแลแล้วรู้สึกมหัศจรรย์

ส่วนเรื่องจริงแท้นั้นพบว่า เมืองลับแลนั้นเมื่อสมัยสุโขทัยเรียกว่า “ศรีพนมมาศทุ่งยั้ง”

เพราะเป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองทุ่งยั้ง

ต่อมาในยุคอยุธยาเริ่มต้น คำบอกเล่าผู้เฒ่าผู้แก่ว่ากันว่า ชาวเมืองศรีพนมมาศถูกกวาดต้อนไปอยุธยา ทำให้เมืองศรีพนมมาศร้าง

กระทั่งกาลเวลาเคลื่อนสู่ยุคอยุธยาตอนปลาย ชาวไทยวนอพยพจากเชียงแสนเข้ามาอยู่ที่ศรีพนมมาศ

แล้ววัฒนธรรมเชียงแสนก็ปักหลักอยู่ ณ ที่นั่น

ว่ากันว่า ช่วงที่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้งร้างนั้น ได้เกิดป่าทึบรกขึ้น พอถึงเวลาบ่ายเย็น พระอาทิตย์จะลับเร็ว เพราะต้นไม้บดบัง

ช่วงนี้เองที่มีผู้เรียกเมืองนี้ว่า “ลับแลง” โดยคำว่า “แลง” แปลว่า เร็ว

ต่อมา สำเนียงเพี้ยนไปเป็น “เมืองลับแล”

ข้อมูลเหล่านี้ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบ

ใครแวะเวียนไปจะพบพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่กว้าง มีบ้านไม้เรือนไทยใหญ่ บรรจุเนื้อหาความเป็นมาของลับแลให้ได้ซึมซับ

แต่ชื่อเทศบาล “ศรีพนมมาศ” นี้มิได้มาจากชื่อเมืองเก่านะ

เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ เป็นชื่อที่ได้มาจากชื่อของ “พระศรีพนมมาศ” ผู้ว่าราชการเมืองลับแล สมัยรัชกาลที่ 5

พระศรีพนมมาศ ชื่อเดิมว่า นายฮึดหยก หรือนายทองอิน มีเชื้อสายชาวจีน ต้นตระกูลมาจากเมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม

พระศรีพนมมาศเกิดที่เมืองลับแล

แรกๆ ทำการค้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายอากรสุรา เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน

พ.ศ.2444 รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งให้เป็น “ขุนพิศาลจีนะกิจ” เนื่องจากทรงทราบว่าเป็นคนดี ราษฎรรัก

ต่อมา ขุนพิศาลจีนะกิจได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีพนมมาศ” ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลับแล

และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีพนมมาศ” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2451

หลังจากนั้นได้เป็นนายอำเภอเมืองพิชัย และช่วยผู้ว่าราชการเมืองพิชัย

กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็น “เกษตรมณฑลพิษณุโลก” ในที่สุด

อ่านประวัติ พระศรีพนมมาศ แล้วมาสะดุดตรงที่ผลงานที่ได้ทำไว้ให้เมืองลับแล

นั่นคือ การสร้างถนน สร้างฝาย และวางระบบชลประทาน โดยไม่พึ่งงบประมาณแผ่นดิน

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่พึ่งงบประมาณแผ่นดิน

ถนนที่สร้างนั้น สร้างเพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ 5 และได้รับพระราชทานนามว่า “ถนนอินใจมี”

นอกจากนี้ ยังมีการวางผังเมืองและตัดถนนอีกหลายสาย เช่น ถนนสายลับแล-หัวดง ถนนสายลับแล-พระแท่นศิลาอาสน์-ทุ่งยั้ง

สร้างฝายร่วม 30 ฝาย และวางระบบชลประทานให้แก่อำเภอลับแลเป็นคนแรก

ด้านการศึกษา ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์

ด้านเกษตรกรรม ริเริ่มให้ชาวบ้านปลูกทุเรียน ลางสาด ซึ่งนำพันธุ์มาจากทางใต้

ด้านอุตสาหกรรม สอนให้ชาวบ้านทำไม้กวาดตองกง

ถือได้ว่าพระศรีพนมมาศเป็นนักพัฒนาตัวยง

ข้อน่าสังเกตคือ พระศรีพนมมาศเป็นคนในท้องถิ่น ใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่น

และพัฒนาท้องถิ่นตัวเองจนเจริญวัฒนา

เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม จนทุกอย่างก้าวหน้า และสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

สมแล้วที่ชื่อ “ศรีพนมมาศ” กลายเป็นชื่อเทศบาลตำบล

เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ปัจจุบันมี นายเจษฎา ศรุติสุต เป็นนายกเทศมนตรี

สืบทอดเจตนารมณ์ของคนรุ่นปู่ทวด

สืบทอดต้นแบบนักปกครองท้องถิ่น

อยู่กับชาวบ้าน ร่วมมือกับชาวบ้าน

พัฒนาบ้านเกิดของชาวบ้าน ซึ่งก็คือบ้านเกิดของตัวเองให้สถาพรยั่งยืนตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image