คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : คำถามเปลี่ยน คำตอบก็เปลี่ยน ปฏิกิริยาตอบสนองก็เปลี่ยน

“เวลาหัวหน้าตามงานเขาก็มาตามกับพี่ทั้งที่ไม่ใช่งานของพี่ พี่ก็ไม่อยากไปเถียงอะไรเพราะเขามาพูดแว้ดๆ ข้างหู พอทำงานให้ก็มาว่าเรา ว่าถ้าไม่ใช่งานของเราทำไมไม่บอกแต่แรก ก็มาแว้ดๆ แบบนี้ใครจะกล้าบอก”

คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งถูกหัวหน้าบังคับให้มาพบจิตแพทย์เพราะขาดงานบ่อยๆ และหน้าหงิกหน้างอตอนทำงานค่ะ หัวหน้าบอกว่าทุกคนในที่ทำงานเอือมระอาเธอแล้วแต่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ยังทำตัวมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ จนวุ่นวายไปหมดทั้งออฟฟิศ

“หมอฟังดูเหมือนสื่อสารไม่เข้าใจกันใช่ไหมคะ หัวหน้าไม่รู้ว่าสั่งงานผิดคนแต่คุณก็ไม่บอก”

“ถ้าเขาไม่พูดแว้ดๆ ก็คงบอกค่ะ”

Advertisement

“แว้ดๆ นี่เป็นยังไงคะ”

“ก็มาทำเสียงเหมือนหงุดหงิดใส่นะค่ะ หน้าตาเขาก็หงุดหงิดแต่เขาไม่รู้ตัว ทำหน้าตาแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากพูดด้วย”

ฟังแล้วก็ยังไม่เชื่อทีเดียวค่ะ เพราะฟังดูเหมือนหนังคนละม้วนกับที่หัวหน้าเล่า หัวหน้าบอกว่าตัวเองพยายามพูดดีและใจเย็นแล้วแต่ลูกน้องต่างหากที่ทำมึนตึง มีอะไรก็ดื้อเงียบ ทำตาขวางใส่ทุกคน พอบอกอะไรก็หงุดหงิดใส่ ฟังแบบนี้หลายท่านจะคิดว่าต้องมีใครสักคนพูดไม่จริงใช่ไหมคะแต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ไม่มีคนโกหกหรอกค่ะ ทุกคนพูดจริงแต่เลือกพูดเฉพาะเรื่องดีๆ ของตัวเองและเรื่องร้ายๆ ของคนอื่นเพื่อสนับสนุนข้อสันนิษฐานของตน นอกจากกรองเอาเฉพาะบางเรื่องมาเล่าแล้วยังตีความภาพที่เห็นไปในทางที่สนับสนุนความไม่ดีของอีกฝ่าด้วย เช่น เห็นหัวหน้าฝ่ายสั่งงานผิดคน ก็คิดว่าหัวหน้ารู้อยู่แล้วแต่ลูกน้องคนอื่นไม่ทำงาน งานเลยมาตกกับคนที่ขยันอย่างตัวเอง เป็นการตีความเพื่อยืนยันความไม่ดีของหัวหน้าและความดีของตัวเอง ส่วนหัวหน้าก็บอกว่าเขาพยายามเปิดใจคุยแล้วแต่อีกฝ่ายต่างหากที่เอาแต่เงียบแล้วทำหน้าหงุดหงิดใส่เหมือนไม่พอใจหัวหน้าตลอดเวลา ก็เป็นการตีความเข้าข้างความใจกว้างของตัวเองและกล่าวโทษอีกฝ่ายเช่นกัน

เรื่องตีความในทางร้ายไม่มีการ์ตูนเรื่องไหนนำเสนอได้ดีไปกว่า Handa-kun แอนิเมชั่นภาคเสริมจากเรื่อง Barakamon ที่เพิ่งจบซีซั่นที่ผ่านมา “ฮันดะ” เด็กหนุ่มมัธยมปลายผู้มีพรสวรรค์ด้านการเขียนอักษรซึ่งเป็นงานศิลป์ชั้นสูง เขาเป็นคนหน้าตาดีและเรียนเก่งแต่กลับไม่มีเพื่อนเพราะทุกคนเฝ้ามองห่างๆ เหมือนฮันดะเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ฮันดะไม่คิดจะถามเรื่องไม่มีเพื่อนของตัวเอง ได้แต่ตีความไปเองว่าทุกคนเกลียดเขา มีแค่ “คาวาฟุจิ” คนเดียวที่ชอบเข้ามาคลุกคลีกับฮันดะและสนุกกับการแกล้งฮันดะเสียด้วยซ้ำ คาวาฟุจิเห็นว่าฮันดะมองโลกในแง่ร้ายเสมอ ถ้าไม่พูดตรงๆ เห็นจะไม่เข้าใจจึงต้องพูดตรงๆ ว่าเราเป็นเพื่อนกันนะแต่ฮันดะก็ตีความไปว่าคาวาฟุจิเห็นใจคนที่โดนคว่ำบาตรอย่างเขา ฮันดะจึงบอกไปว่าอย่าเป็นเพื่อนกับเขาเลย ไปคบคนอื่นเถอะ เดี๋ยวคาวาฟุจิจะโดนเกลียดไปด้วย กระทั่งฉากสุดท้ายในงานวัฒนธรรมซึ่งทุกคนเชิดชูฮันดะด้วนการสร้างตุ๊กตาเป่าลมรูปฮันดะขนาดใหญ่แต่บังเอิญเกิดไฟไหม้ขึ้นโดยไม่คาดคิดก็ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจให้ฮันดะว่าทุกคนเกลียดเขาจริงถึงขนาดเผาตุ๊กตาโชว์

จะเห็นว่าต่อให้สถานการณ์ดีแค่ไหน ถ้าใจมีอคติหรือไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้วก็สามารถตีความไปในทางร้ายได้เสมอ ในทางกลับกันคนรักกันก็อาจมองให้ดีเกินจริงจนมองข้ามความเป็นจริงในด้านร้ายๆ ก็ได้ ดังนั้นถ้าเราบังคับมุมมองหรือการตีความของคนอื่นไม่ได้ เราเริ่มจากการเลือกคำพูดของเราให้ดีเสียก่อนก็ได้ค่ะ

การศึกษาหนึ่งของ University of East Anglia (UEA) ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกคำพูดแต่ทำให้เราเห็นความสำคัญของคำพูดกับการตีความ การศึกษานี้เป็นการทำซ้ำการศึกษาที่เคยมีมาก่อนอีกครั้งหนึ่งแต่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในรายละเอียด การศึกษาก่อนหน้านี้บอกว่าเด็กเล็กกับผู้ใหญ่ตัดสินใจไม่เหมือนกันโดยเด็กเล็กมักตัดสินใจโดยคิดถึงผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง เช่น เจตนาไม่ดีแต่ผลออกมาดีก็ไม่เป็นไร ในระหว่างที่ผู้ใหญ่ซึ่งมีสมมุติฐานว่าพัฒนาการด้านคุณธรรมดีแล้วมักตัดสินใจโดยคำนึงถึงเจตนามากกว่า เช่น มีความตั้งใจอยากช่วยแต่อาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจทำให้ผลออกมาไม่ดีก็ไม่เป็นไร ผู้วิจัยลองทบทวนดูและเห็นว่าคำถามที่ใช้ถามเด็กอาจจะทำให้เด็กตอบไปทางนั้นมากกว่าที่จะสรุปว่าพัฒนาการทางคุณธรรมของเด็กยังไม่ดีจึงลองเปลี่ยนคำถามจากเดิม “เป็นเรื่องที่โอเคไหม ถ้าอีธานจะโยนแมลงมุมตัวโตให้คริส การโยนแมลงมุมให้คริสดีหรือไม่ดีอย่างไร เป็นเรื่องดี/ไม่ดีมากๆ หรือแค่เล็กน้อยหรือก็โอเค” เปลี่ยนคำถามใหม่เป็น “อีธานดี ไม่ดี หรือก็โอเค ดี/ไม่ดีคืออย่างไร เป็นเรื่องดี/ไม่ดีมากๆ หรือแค่เล็กน้อยหรือก็โอเค” ซึ่งเปลี่ยนช่วงต้นของคำถามจากเน้นไปที่คำถามว่า “พฤติกรรมนี้ดี/ไม่ดี” เป็น “คนนี้ดี/ไม่ดี” ผลพบว่าไม่มีความแตกต่างของคำตอบในเด็กกับผู้ใหญ่แล้ว งานวิจัยนี้ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเด็กกับผู้ใหญ่ตอบคำถามด้านคุณธรรมต่างกันจริงหรือไม่ แต่เขาพบว่าการปรับคำถามเพียงเล็กน้อย คำตอบก็เปลี่ยนไปแล้ว

ดังนั้น การตีความเจตนาของผู้ตอบบางครั้งก็ขึ้นกับคำถามด้วย ถ้าคำถามผิด คำตอบที่ออกมาก็ย่อมผิดไปด้วย ถ้าเราตั้งใจถามเพื่อให้เขาตอบไม่ดี เขาก็จะตอบไม่ดี ซึ่งทำให้เราทึกทักเอาว่าเขาเป็นคนไม่ดี เช่นเดียวกันถ้าเราทำหน้าหงุดหงิดใส่เขา เขาก็จะทำหน้าหงุดหงิดใส่เรา แล้วเราก็จะทึกทักเอาว่าเขาเป็นคนขี้หงุดหงิดทั้งที่ต้นเหตุอาจจะเกิดจากจุดเริ่มต้นที่ตัวเราเองก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image