ล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เปิดเส้นทาง‘พระแก้วมรกต’ ก่อนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

 

เปิดทริปแรกของปีสำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ เดือนมกราคม พุทธศักราช 2565 กันที่ศาลาท่าน้ำวัดแดงธรรมชาติ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ในตอนเข้มข้นอย่าง ‘การเมืองเรื่องพระแก้วมรกต ฝีมือช่างลาวโยนก ไม่อินเดีย’ ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ ชวนแฟนานุแฟนให้ร่วมทอดน่องพร้อมกันในวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคมนี้ เวลา 2 ทุ่มตรงเช่นเคย ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ มติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี

อดีตสองกุมารสยามแย้มว่า เหตุผลที่เลือกเดินทางมายังวัดแดงธรรมชาติ เพราะฝั่งตรงข้ามของวัดคือจุดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำขบวนเรือมารับพระแก้วมรกต โดยรู้จักในชื่อ ‘สนามบินน้ำ’ เพราะเป็นจุดขึ้นลงของเครื่องบินโดยสาร

นี่คือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่อาจถูกหลงลืมไป

Advertisement
พระแก้วมรกตทรงเครื่อง 3 ฤดู ภาพวาดบนผืนผ้าที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้คณะราชทูตสยามเชิญไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระราชวังฟงแตนโบล

“ตรงข้ามวัดแดงธรรมชาติ คือ กระทรวงพาณิชย์ เหนือขึ้นไปมีวัดตำหนักใต้ ระหว่างวัดตำหนักใต้กับกระทรวงพาณิชย์มีคลอง 1 สาย เรียกว่า คลองบางธรณี ซึ่งสมัยพระเจ้าตากเรียกว่าย่านบางธรณี มีในหมายรับสั่งว่าทรงจัดขบวนเรือมารับพระแก้วมรกตที่วัดบางธรณี ชื่อบางธรณี ฟังดูคล้ายเป็นชื่อใหม่ แต่แท้จริงแล้วเป็นชื่อเก่า ขอชวนให้มาร่วมกันคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าได้ชื่อมาจาก พระแม่ธรณีบีบมวยผม และเดิมคือบางพระแม่ธรณี

ส่วนบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์เรียกตำบลบางกระสอ ยังหาคำแปลไม่ได้ เจอแต่คำว่า กระสือ ส่วน สอ คำเดียว ภาษาเขมรแปลว่า ขาว วัดในแถบนี้ ส่วนใหญ่เก่าแก่ไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดบางธรณีเป็นวัดเก่าแก่ วัดชมพูเวก ก็เป็นวัดสมัยอยุธยา 2 ฝั่งน้ำเจ้าพระยาในแถบนี้มีวัดเรียงรายตามลำดับ ย่านนี้จึงสำคัญ”ขรรค์ชัย-สุจิตต์เล่าความเป็นมา

สำหรับประเด็นพระแก้วมรกต วิทยากรอาวุโสย้ำว่า ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางศาสนา-การเมือง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารไม่ขาดแคลน สร้างด้วยฝีมือช่างลาวโยนก ไม่ใช่ช่างอินเดีย

Advertisement
พระแก้วมรกต ภาพลายเส้นในหนังสือ The land of the White Elephant ของ Frank Vincent ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2416

พระแก้วมรกตเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ลังกาใหม่’ หมายพุทธศาสนาสืบตรงจากอินเดีย ขณะที่ พระพุทธสิหิงค์ คือสัญลักษณ์ของ ‘ลังกาเก่า’ หมายถึงพุทธศาสนาสืบจากลังกา

ลงลึกไปกว่านั้นในด้านศิลปกรรม นับเป็นฝีมือช่างเชียงราย-พะเยา ในช่วงราว พ.ศ.1900

พบครั้งแรกเมื่อเจดีย์ที่เมืองเชียงรายถูกฟ้าผ่า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

‘เมื่อพุทธศักราช 1979 ปี คริสต์ศักราช 1436 ปี พระแก้วมรกตองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ภาพลายเส้น โดย เดอลาปอร์ท เขียนเมื่อ พ.ศ.2409

ครั้งนั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั้งองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปวัดแห่งหนึ่ง

แต่นั้นไป 2 เดือน 3 เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นั้นกะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะต่อออกไปทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็นและทราบความว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วแท่งทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดี ไม่บุบสลาย คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่นๆ ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย’

ครั้นต่อมา พระเจ้าสามฝั่งแกน แห่งเชียงใหม่ อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงรายไปเชียงใหม่โดยหลังช้างแต่ไม่สำเร็จ เพราะ ‘ช้าง’ วิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง จึงต้องพักประดิษฐานไว้ที่เมืองลำปาง

กระทั่งรัชกาล พระเจ้าติโลกราช อัญเชิญจากเมืองลำปางไปเชียงใหม่อีกครั้ง ประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง นานถึง 85 ปี

แผนที่แสดงบริเวณบางธรณี ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ จุดที่พระเจ้าตากสินทรงนำขบวนเรือมารับพระแก้วมรกต

จากนั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งล้านช้าง เมื่อครองนครเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปยังหลวงพระบางหลายพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2095 หนึ่งในนั้นคือ พระแก้วมรกต ซึ่งต่อมามีการอัญเชิญไปยังเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ.2107 แล้วประดิษฐานอยู่นานถึง 215 ปี

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา) ตีได้เมืองเวียงจันทน์ เชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2322

พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตาก เสด็จมารับ ณ ‘บางธรณี’ มีการสมโภชตั้งแต่ท่าเจ้าสนุก, สามโคก, บางธรณี จนถึงวัดอรุณราชวรารามและวัดโพธิ์ ริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา โดยประดิษฐานไว้ชั่วคราวในโรงพระแก้วมรกต ที่วัดอรุณฯ

แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดแดงธรรมชาติ เมืองนนทบุรี ใกล้บางธรณี

ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังขบวนแห่พระแก้วมรกตและพระบางเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ ประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430

ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงเทพฯ แล้วสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานใน พ.ศ.2327 สืบมาถึงปัจจุบัน

กลายเป็นพระพุทธรูปคุ้มครองปกปักกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนทุกวันนี้

ถามว่า เหตุใดพระแก้วมรกตจึงได้รับความศรัทธาสูงมากแม้ไม่ใช่พระแก้วเพียงองค์เดียวของประเทศ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมวิเคราะห์ว่า มีเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ 1.เพราะสร้างจากหินสีเขียว แกะเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ไม่มีบุบสลาย ต่างจากพระแก้วองค์อื่นๆ เช่น พระแก้วขาว สร้างจากหินสีขาว 2.ตำนานพระแก้วมรกต ยิ่งสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เพิ่มมากขึ้น

รายละเอียดลึกซึ้ง ชวนตื่นตะลึงไปกับประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องศาสนาผ่านองค์พระพุทธรูปสำคัญยังมีอีกมากมาย อย่าลืมรับชมไปพร้อมๆ กันในอีก 48 ชั่วโมงข้างหน้า

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image