เปิดเบื้องหลัง กว่าจะเป็น‘สยามพิมพการ’ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

“อยากให้งานอย่างสยามพิมพการเป็นตัวอย่างที่ผลักดันให้การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ขยายออกไป”
เป็นคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไม่เพียงในฐานะนักประวัติศาสตร์ หากแต่บทบาทสำคัญคือ การเป็นหัวหน้าคณะทำงานประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ.2548 ครั้งยังนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กุมบังเหียนงานค้นคว้าทางวิชาการโดยมีทีมงานในนาม ‘คณะวิจัย’ เกือบ 10 ราย ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยอิสระ ข้าราชการ ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาโท

พร้อมด้วยผู้ช่วยนาม ปรามินทร์ เครือทอง อันโด่งดังในบรรณพิภพ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อย่าง ประยุกต์ บุนนาค ผู้มีผลงานเขียนด้านประวัติศาสตร์มากมาย

เสร็จสมบูรณ์อย่างสง่างาม ออกจากแท่นพิมพ์ สู่มือผู้อ่าน ชั้นหนังสือ และห้องสมุด มีชื่อปรากฏบนปกอย่างงดงามว่า ‘สยามพิมพการ’ ขึ้นแท่นหนึ่งในเล่มคลาสสิกที่การันตีด้วยตรา ‘มติชน’

Advertisement

เกือบ 2 ทศวรรษถัดมา ในพุทธศักราช 2565 เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้าไปอีกหลายขั้น ในวันที่โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิต

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
‘สยามพิมพการ’ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2548 ไอเดียเริ่มต้นจาก ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

‘สำนักพิมพ์มติชน’ นำผลงานอมตะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง เพิ่มเติม ‘คำบอกเล่า’ จากบรรณาธิการเล่มเมื่อ 17 ปีก่อน นั่นคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในประเด็น ‘พลังของข้อมูลความรู้จากการพิมพ์’ และ ‘ดัชนีค้นคำ’ ที่จัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาค้นคว้า

พร้อมให้ซื้อหาเพื่อทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านการพิมพ์ไปด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ย้อนเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้ามารับหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานเมื่อ 17 ปีที่แล้วว่า ได้รับการชักชวนโดย สุจิตต์ ซึ่งเตรียมทีมวิจัยไว้ให้เรียบร้อยแล้ว หน้าที่หลักคือการ ‘ดูภาพรวม’ ของงานที่ค้นคว้ามาอย่างเจาะลึก

“สุจิตต์ถามว่าว่างไหม มาช่วยทำหน่อย ผมบอกเอาสิ เราชอบพวกหนังสือ และหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่แล้ว มาถึงก็เจอทีมพร้อมหน้ากันหมดทุกคน เหมือนทำเกือบเสร็จแล้ว ผมไม่ต้องทำอะไร สุจิตต์บอกว่า ผมไม่ต้องทำน่ะถูกแล้ว เพราะให้มาช่วยดูภาพรวม พอเห็นข้อมูลแล้วตื่นเต้นมาก ทั้งหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์สมัยพระนารายณ์ หนังสือคริสตังว่าด้วยตราชูเที่ยงธรรม เผลอๆ กรุงสยามอาจเป็นแหล่งแรกๆ ในอุษาคเนย์ที่ความเจริญเข้าถึงง่าย เช่น โรงเรียน หรือการพิมพ์ หนังสืออะไรต่างๆ ที่เข้ามา เรารับหมดเลย เราไม่เถียงด้วยว่าเอามาพิมพ์อะไร แลกกันสอนภาษาอังกฤษให้พระอ่าน อย่างนี้ฝรั่งก็ชอบ ซึ่งหลายเรื่องผมเองก็ไม่เคยรู้ ข้อมูลขนาดนี้ในประเทศที่ก้าวหน้าพัฒนาแล้ว สามารถเป็นนิยายเล่มใหญ่ สร้างเป็นหนัง เป็นอะไรต่างๆ ได้เลย ซอฟต์
เพาเวอร์มันก็เริ่มจากตรงนี้แหละ แต่สำหรับเราไปไม่ถึง” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศเล่า ก่อนให้เครดิตคณะทำงานว่าแต่ละท่านล้วนเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง

“พอบอกว่าอยากได้อะไร สัปดาห์เดียวเขาก็หามาได้แล้ว เราก็มานั่งดู มาค้นต่อ” เล่าไปยิ้มไปในความทรงจำที่ยังแจ่มชัดแม้ผ่านมานานเกือบ 20 ปี

จากมุมมองในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน ‘สยาม พิมพการ’ เมื่อสอบถามมุมมองในฐานะ ‘นักประวัติศาสตร์’ ก็ได้คำตอบว่า ในหนังสือสยามพิมพการ มีทั้งบทที่เล่าประวัติ จนถึงการ ‘วิเคราะห์’ ด้วยชั้นเชิงที่ไม่ใช่ตำราน่าเบื่ออันประกอบขึ้นเพียงข้อมูลดิบ

“ความรู้เหล่านี้มันท้าทายทุกเรื่องเลย ท้าทายเราว่า แน่จริงเอาภาพใหญ่มาให้หมดสิ หรือภาพเล็กแต่มันโยงถึงภาพใหญ่ ซึ่งจะทำให้การเรียนประวัติศาสตร์มันตื่นเต้นและการตีความจะไม่ใช่ทื่อๆ เหมือนกับคนอ่านประวัติศาสตร์หน้าเดียว อยากให้งานอย่างสยามพิมพการ
เป็นตัวอย่างที่ผลักดันให้การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์มันขยายไป ความเข้าใจประวัติศาสตร์ต้องไม่หยุดแค่นี้ มันต้องทำให้เข้าใจถึงสภาพบ้านเมือง สภาพสังคม ชีวิต ภูมิปัญญาของคนอยุธยา คนรัตนโกสินทร์ จึงยินดีมากที่มีการตีพิมพ์สยามพิมพการใหม่อีกครั้ง” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ทิ้งท้าย

จากการทำงานอย่างเข้มข้นในอดีต ยุคที่เครือมติชนสร้างสรรค์ผลงานมากมายที่เข้าขั้นงานวิจัย รวบรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตผลิตหนังสือเล่มรวมถึงพจนานุกรมฉบับมติชนที่กลายเป็นตำนาน

ตัดภาพมาในปัจจุบัน พูดคุยกับ มณฑล ประภากรเกียรติ รักษาการรองผู้อำนวยการและผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ที่บอกเล่ากระบวนการทำงานในยุคใหม่ ปรับโฉม สยามพิมพการ จากเล่มคลาสสิกให้ร่วมสมัย

“กระบวนการออกแบบปก เราตีโจทย์ว่าสยาม
พิมพการคือหนังสือคลาสสิก หนังสือที่เป็นตัวตนของคนในวงการคนทำหนังสือ รวมถึงตัวตนของมติชนด้วย จึงมองว่ารูปเล่มควรเป็นปกแข็ง ควรเป็นพรีเมียม ควรเป็นหนังสือที่มีความทนทาน เก็บสะสมอนุรักษ์และนำไปเป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับทุกคนที่สนใจ

ในปีที่ผ่านมาเราพยายามที่มองหาหนังสือคลาสสิก
ที่เคยพิมพ์แล้วขาดตลาดไปนาน ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากนักอ่าน เป็นหนังสือที่นักอ่านมองหามาโดยตลอด แต่ไม่ตีพิมพ์ซ้ำสักที ที่ผ่านมาเราก็นำหนังสือคลาสสิกมาพิมพ์อยู่เป็นระยะ เช่น ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ของ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และกบฏ รศ.130 สยามพิมพการก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ทำต่อเนื่องมา

ถ้าใครมองหาเรื่องของประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย ประวัติศาสตร์การทำหนังสือพิมพ์ การทำหนังสือเล่ม หรือการพิมพ์เอกสารต่างๆ โดยสามัญชน เล่มนี้มีสมบูรณ์ทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องของการพิมพ์อย่างเดียว แต่คือการประกอบสร้างความรู้เพราะเมื่อก่อนความรู้ถูกผูกติดอยู่กับชนชั้นสูง สยามพิมพการ
จะทำให้เข้าใจถึงการสร้างความรู้โดยสามัญชนที่ใช้แพลตฟอร์มของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นตัวกลางสยาม
พิมพการ เป็นงานวิจัยที่รวบรวมไว้หมดแล้ว” รักษาการรองผู้อำนวยการและผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กล่าว

สนใจ ‘สยามพิมพการ’ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.matichonbook.com/ โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360 FB : Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน

สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

หนังสืออันทรงคุณค่าซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และตำนานของ “คนทำหนังสือ” ที่จะช่วยฉายฉากประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทยให้แจ่มชัดขึ้น

ภายใต้งานออกแบบและเทคนิคงานพิมพ์ที่สวยงาม เพิ่มความแข็งแรงด้วยรูปเล่มเย็บกี่สันโค้งปกแข็ง ผู้อ่านจะได้พบกับเนื้อหาที่เข้มข้นชวนติดตาม เติมเต็มความสมบูรณ์ด้วยดัชนีค้นคำที่จัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาค้นคว้ายิ่งขึ้น และคำบอกเล่าอันทรงคุณค่าจากสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ

หนังสือประวัติศาสตร์การพิมพ์อันยิ่งใหญ่เล่มนี้ เพียบพร้อมไปด้วยข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมโดยผู้เชี่ยวชาญ และเรียบเรียงใหม่เป็นประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ภาค ดังต่อไปนี้

1.ประวัติการพิมพ์ – เล่าเรื่องราวประวัติเทคโนโลยีการพิมพ์, ประวัติการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย, ประวัตินิตยสารในประเทศไทย และประวัติสำนักพิมพ์ในประเทศไทย

2.บทวิเคราะห์ “ชาติไทยในสิ่งพิมพ์” ว่าด้วยบทบาทของบุคคล สังคม ที่มีผลกระทบต่อการพิมพ์ในยุคเริ่มแรกของไทย – นำเสนอเรื่องการพิมพ์ในสังคมไทยช่วงแรกเริ่ม โดยเฉพาะเมื่อการพิมพ์ยังอยู่ในมือของชนชั้นสูง

3.จาก “ประพันธ์สาส์น” ถึง “มติชน” – บอกเล่าการเดินทางของ “มติชน” ตั้งแต่การก่อตั้ง “ประชาชาติ” ก่อนหยั่งรากแข็งแรงในฐานะ “มติชน”
ปัจจุบัน

4.ภาคผนวก – รวบรวมรายชื่อหัวหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 7 ภาพถ่ายหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ไทยสมัยต่างๆ ตลอดจนตารางเปรียบเทียบเทคโนโลยีการพิมพ์และการแพร่หลายการพิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 


 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image