อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัย

อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัย

อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัย

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมงานกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำงานวิจัยต่อยอดการนำเพลงและดนตรีที่อยู่ในท้องถิ่นมาเรียบเรียงเสียงใหม่ บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โครงการต่อยอดได้วางไว้ 5 เมือง คือ สุโขทัย เชียงแสน สกลนคร เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่าจะไปทำงานร่วมกัน โดยมีความเชื่อว่า “ดนตรีและเสียงเพลงเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ของสังคมที่มีชีวิต”

สุโขทัยเป็นเมืองสำคัญที่มีหลักฐานทางโบราณคดี มีศาสนสถานทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา มีศิลาจารึก “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” มีกษัตริย์ครองเมืองเป็นเอกเทศอย่างน้อย 215 ปี มีกษัตริย์ชื่อพระร่วง ในที่นี้คือพ่อขุนรามคำแหงและพระมหาธรรมราชาลิไท พ่อขุนรามคำแหงนั้นทรงมีพระปรีชาสามารถรวบรวมบ้านพี่เมืองน้องใกล้เคียงเข้ามาเป็นปึกแผ่น มีตำนานการประดิษฐ์อักษรไทย

พระร่วงเป็นผู้ที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยี อาศัยความรู้การทำชะลอมด้วยไม้ไผ่ นำมายาด้วยขี้ชัน มีน้ำหนักเบา ใส่น้ำได้ไม่รั่ว สามารถขนน้ำได้จากที่ไกล สุโขทัยเป็นพื้นที่ดอนไม่มีแหล่งน้ำ ต้องสร้างแหล่งน้ำเพื่อไว้กินไว้ใช้ ประชาชนชาวสุโขทัยจึงต้องขุดสระน้ำ สร้างทะเลสาบโดยใช้แรงงานคนขุดเพื่อกักเก็บน้ำ

Advertisement

อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัยเพลงและดนตรีที่สุโขทัย ประกอบด้วยวัฒนธรรมเพลงเขมร มอญ พม่า ลัวะ ลาว เพลงชนเผ่า และยังมีเพลงที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อการยกย่องให้สุโขทัยเป็นราชธานี ได้จัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย โดยกรมศิลปากร ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2522 มีศิลปินผู้รักท้องถิ่น ประดิษฐ์ระบำสุโขทัย ระบำประทีปทอง ระบำเบญจรงค์ ระบำกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ระบำกมุทนพมาศ ระบำข้าวตอกพระร่วง ระบำโคมประทีปสุโขทัย ระบำลีลาลาย ระบำทอซิ่นตีนจก ระบำสังคโลก ระบำเทวีศรีสัชนาลัย ระบำมรดกโลก ฟ้อนตะคัน รำมังคละเภรี หน่อเจียซอ ระบำศรีศวายะ มีเพลงพื้นบ้าน เพลงฉุยฉายเข้าวัด เพลงกล่อมลูก และเพลงสำเนียงสุโขทัย

สุโขทัยตั้งอยู่บนตะเข็บชายขอบทั้งภาษาและวัฒนธรรม พื้นที่ตะเข็บติดอยู่กับภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน สำเนียงพูดชาวสุโขทัยปะปนสำเนียงภาษาเหนือและสำเนียงภาคกลาง พื้นที่อำเภอศรีสำโรงเหนือขึ้นไปที่สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย สำเนียงพูดกระเดียดไปทางภาษาเหนือ ส่วนจากอำเภอศรีสำโรงลงมาทางใต้พูดสำเนียงออกไปทางภาคกลาง ฟังจากทำนองร้องเพลงกล่อมลูก พระสวด เพลงพื้นบ้าน จะมีสำเนียงพิเศษเรียกว่า “เหน่อสุโขทัย” คำว่า เหน่อ หมายถึงสำเนียงที่เปลี่ยนเพี้ยนไปจากสำเนียงของภาษากลาง

Advertisement

เพลงสุโขทัยที่แต่งขึ้นใหม่โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวสุโขทัย อาทิ เพลงรุ่งอรุณแห่งความสุข เพลงลูกพ่อขุน โดยศิลปินแห่งชาติ ชินกร ไกรลาศ (พ.ศ.2542) ใช้ทำนองเพลงพื้นบ้าน เพลงลอยกระทงสุโขทัย เพลงรำโทนตามน้อง สาวสุโขทัย สายน้ำ-สายสวาท สุโขทัยเมืองงาม คนสุโขทัย เพลงคนโขทัย โดยศิลปินโย่ง พวง นงค์ เพลงพื้นบ้านขอทาน โดยประทีป สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2563) เพลงเหล่านี้ร้องสำเนียงเหน่อสุโขทัย

อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัยสุโขทัยมีสายสัมพันธ์กับเจ้าเมืองทางเหนือมาก่อน พระร่วง พญางำเมือง พญาเม็งราย สามกษัตริย์ผู้ร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองน่านเคยร่วมสร้างวัดในสุโขทัย ได้พระธาตุพระพิมพ์กลับไปก่อสร้างพระธาตุแช่แห้ง กองคาราวานสุโขทัยค้าขายขึ้นไปไกลถึงหลวงพระบาง ไปถึงสิบสองปันนา มีคนยวนพวกลาวพุงดำเป็นคนเหนือที่ชอบรอยสักที่ขาสูงถึงเอว เดินข้ามเขาลงห้วยขนสินค้าไปขายทางทิศตะวันตก จะผ่านเข้าอาณาจักรมอญเพื่อออกทะเล จากเมืองตากไปเมืองเมาะลำเลิงออกอ่าวเมาะตะมะ เมื่อศูนย์อำนาจเปลี่ยนไปอยู่ที่พุกาม คาราวานสินค้าก็เดินทางไปผ่านเมืองสะเทิมเข้าพุกาม

ราชาธิราชพงศาวดารมอญพูดถึงมะกะโท ซึ่งเคยเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงสุโขทัยสมัยพระร่วงเป็นกษัตริย์ เป็นหลักฐานบอกว่าสุโขทัยมีความสัมพันธ์กับมอญ และมีวัฒนธรรมมอญ เพลงมอญ เครื่องดนตรีมอญ รวมทั้งมีวงปี่พาทย์มอญปะปนร่วมอยู่ในสุโขทัยด้วย

สุโขทัยมีความอุดมสมบูรณ์ มีการค้าขายรุ่งเรือง มีโบราณสถานที่สวยงาม การบูรณะของเมืองโบราณศรีสัชนาลัยและสุโขทัย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2534 กำแพงเมืองที่เหลืออยู่สมบูรณ์และแข็งแรง การสร้างเวทีแสดงโขน ละคร ระบำสุโขทัย ในพื้นที่เมืองเก่า การจัดเทศกาลลอยกระทง การจัดวันของ “พ่อขุน” ในวันที่ 17 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.2531 การสร้างสุโขทัยให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวและมีกิจกรรมรองรับ

บันทึกของนักสำรวจอดีตเจ้ากรมแผนที่ ระหว่าง พ.ศ.2424-2436 พูดถึงเพลงที่ได้ยินจากวงปี่พาทย์ ที่เมืองพิชัย อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองสุโขทัย

“คณะเราเร่งเดินทางต่อไปถึงเมืองพิชัย (ในจังหวัดอุตรดิตถ์) ที่นี่พวกเราได้ฟังดนตรีของชาวสยามที่ข้าพเจ้าชื่นชอบเสมอ เสียงระฆังเตือนใจให้ข้าพเจ้าระลึกถึงเสียงของน้ำตก ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกแปลกที่ได้ยินเพลงแยงกี้ดูเดิ้ล (Yankee Doodle) เพลงเวตฟอร์เดอะเวกอน (Wait for the Wagon) ซึ่งบรรเลงโดยเครื่องดนตรีของชาวสยาม” ข้อนี้ยังสงสัย เรื่องเครื่องดนตรีสยามนั้น หมายถึงเครื่องดนตรี หรือวงดนตรีแบบไหนบ้างก็สงสัยอยู่ อาจจะเป็นวงปี่พาทย์ วงป้าดก้อง วงตุ๊บเก่ง วงมังคละเภรี หรือวงสะล้อซอซึง วงพื้นบ้านเมืองเหนือ

การสำรวจพื้นที่สยามของเจมส์ แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthey) ชาวอังกฤษ มีชีวิตระหว่างปี พ.ศ.2396-2462 เป็นอดีตเจ้ากรมแผนที่คนแรกของสยาม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2428 ในรัชกาลที่ 5

เพลงแยงกี้ดูเดิ้ล (Yankee Doodle) เพลงเวตฟอร์เดอะเวกอน (Wait for the Wagon) เป็นเพลงเกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองของอเมริกัน รุ่นเดียวกับเพลงแบตเทิลครายออฟฟรีดัม (Battle Cry of Freedom) เพลงที่มีทำนองเดียวกับเพลงเวนเดอะเซนต์โกมาร์ชิ่งอิน (When the saints go marching in) ที่สำคัญคือ เพลงมาร์ชิ่งทรูจอร์เจีย (Marching Through Georgia) วงปี่พาทย์นำทำนองมาใส่เนื้อใหม่เรียกว่าเพลงคุณหลวง

“คุณหลวง คุณหลวง อยู่กระทรวงยุทธนา เงินเดือนไม่มีสักบาท เฟิร์สคลาสเสียเต็มประดา”

เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่เล่นร้องกันระหว่างสงครามกลางเมือง (พ.ศ.2404-2408) เข้ามาเมืองไทยโดยผ่านนักดนตรี 2 คนที่เคยเป็นนักดนตรีในสงครามกลางเมืองอเมริกา คือ จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit) เข้ามาเป็นครูสอนแตรวงที่วังหน้า (พ.ศ.2410-2452) ไมเคิล ฟุสโก (Michael Fusco) เข้ามาปี พ.ศ.2420-2445 เป็นครูแตรวงที่วังหลวง และเป็นหัวหน้าวงสำหรับการเต้นรำที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจขายเหล้าฝรั่งที่โรงแรมบางกอก (Bangkok Hotel)

เพลงฝรั่งแพร่หลายผ่านนักดนตรีวงปี่พาทย์ เพราะครูดนตรีฝรั่งได้สอนนักดนตรีวงปี่พาทย์ให้ฝึกเป็นทหารเป่าแตร ทำให้นักดนตรีวงปี่พาทย์ได้ทั้งแตรและปี่พาทย์ พัฒนาเป็นแตรวงเล่นทั้งเพลงฝรั่งและเพลงไทย

เพิ่งจะพบเพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 ซึ่งหายไปจากระบบการศึกษา สรรเสริญถวายไชยมงคล เป็นเพลงที่ไมเคิล ฟุสโก แต่งถวาย เชื่อว่าประพันธ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2420-2431 ขณะนั้นยังไม่มีเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ชัดเจน กล่าวคือ เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้มีทำนองเฉพาะ และไม่มีเนื้อร้องเฉพาะ เมื่อใช้เพลงบรรเลงรับเสด็จก็ถือว่าเป็นเพลงเกียรติยศหรือเพลงสรรเสริญพระบารมี

อาศรมมิวสิก : เพลงและดนตรีที่สุโขทัย

เพลงที่พบว่ามีความพิเศษคือ เพลงกาเหว่า เป็นเพลงเหน่อสุโขทัย เป็นเพลงกล่อมลูกมีอยู่ในภาคกลาง แต่ทำนองที่สุโขทัยนั้นไพเราะ และวิจิตรพิสดารกว่าของอยุธยา โดยเฉพาะการเอื้อนที่ไพเราะยิ่ง แต่เป็นการเอื้อนสำเนียงแบบสุโขทัย

เพลงอื่นๆ ที่เลือกไปแสดงเป็นเพลงที่มีทำนองโบราณ เพลงขอม ใส่ทำนองเพลงเทพทอง เพลงคนไทย ทำนองเพลงเทพทอง เพลงเครือญาติ ใช้ทำนองเพลงลาวเฉียง เพลงเดินทาง ใช้ทำนองเพลงกระต่ายเต้น เขียนเนื้อโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยการก่อกวนทางปัญญา ที่สื่อสารผ่านบทเพลง

ตั้งใจจะนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าไปแสดงที่เมืองสุโขทัย เวทีข้างวัดมหาธาตุ เพื่อร่วมฉลอง 30 ปี สุโขทัยเมืองมรดกโลก โดยร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย บันทึกรายการเพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2565 ช่วงเวลา 17.00-18.30 น. แสดงเพลงที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุโขทัย เปิดให้เข้าชมฟรี มีเก้าอี้จำกัด ที่เหลือสามารถปูเสื่อนั่งฟังเพลงจากบริเวณรอบๆ ไปถึงดงตาล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image