คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ธุรกิจใหม่สัญชาติไทย

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ธุรกิจใหม่สัญชาติไทย

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ธุรกิจใหม่สัญชาติไทย

เวทีสัมมนา สู่ศักยภาพใหม่ Thailand 2022Ž ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดขึ้นเนื่องในโอกาสดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 45 ฟังแล้วสนุก

งานครั้งนี้มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ

มี นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรยายพิเศษ

Advertisement

แล้วมีวงเสวนาที่มีตัวจริงเสียงจริงจากผู้ประกอบการธุรกิจใหม่มานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ทั้ง ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ทั้ง ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea Thailand และ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด

Advertisement

สรุปได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการเติบโตด้านเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลต้องการ ภาครัฐพร้อมสนับสนุน ภาคเอกชนก็เริ่มลงทุนแล้ว

ปตท.แม้จะเป็นบริษัทใหญ่ที่ตั้งมานานก็ยังปรับตัว

จัดกลุ่มธุรกิจของ ปตท. ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิม กลุ่มธุรกิจปัจจุบัน และกลุ่มธุรกิจในอนาคต

เรียกย่อๆ ว่า Old-New-Now

ธุรกิจใหม่ที่ ปตท.เดินเครื่อง เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เช่น ธุรกิจที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ธุรกิจไบโอเทคโนโลยี ธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล

ขณะที่ ดร.ศรุตกับนายจิรายุสนั้น ทำธุรกิจในโลกดิจิทัล

บริษัท Sea ประเทศไทย ทำ Shopee ทำ Games และ Esports มีเป้าหมาย ทำอีโคซิสเต็มให้เติบโตในประเทศไทย

การทำให้สำเร็จไม่น่าจะยาก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง

แต่สิ่งที่ขาดคือ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล รวมถึงทักษะดิจิทัลที่เป็นความพร้อมเข้าสู่โลกอนาคต

บริษัท Sea ประเทศไทย ซึ่งดูแล Garena Shopee และ AirPay ได้ยกตัวอย่างการเติบโตของเอสเอ็มอีที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการขาย โดยพบว่ามีกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้เข้ามาในโลกดิจิทัล

เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร ต้องทำให้แปรรูป และนำสินค้าขายผ่านโลกออนไลน์ให้มากขึ้น

ส่วนนายจิรายุสนั้น มองธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับโลกใหม่จริงๆ

บิทคับมองว่าตัวเองเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเว็บ 3.0

ขยายความว่า โดยทั่วไปทุกประเทศจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นทางด่วน เป็นธนาคาร เป็นตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ในโลกออนไลน์ ในยุค 1.0 มีโมเด็มที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ ไปรเวตเซิร์ฟเวอร์ พอยุค 2.0 มีการพัฒนานำเอา คลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้แทนไปรเวตเซิร์ฟเวอร์ และโทรศัพท์มือถือมาแทนคอมพิวเตอร์

เมื่อมาถึงยุค 3.0 มีเอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที

น่าสังเกตว่าบริษัทที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในยุคต่างๆ ไม่ใช่บริษัทของไทย

บิทคับผลักดันตัวเองให้เป็นบริษัทคนไทยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเว็บ 3.0 นี้

ขณะที่ ดร.บุรณินบอกว่า ในโลกดิจิทัลถือเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 5-6 พันล้านคน

ดังนั้น ธุรกิจใหม่จึงต้องไม่มองเฉพาะประเทศไทย

วงเสวนามองว่า เมื่อมีธุรกิจใหม่ มีตลาดใหม่ และต้องวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ กฎหมายกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริม หรือกีดขวาง

หากต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจ ต้องหันไปดูกฎระเบียบว่าเอื้อต่อการปรับตัวหรือไม่

เช่นเดียวกับฝีมือแรงงานที่ต้องสอดคล้องกับธุรกิจใหม่เหล่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับไบโอเทคโนโลยี เกี่ยวกับดิจิทัล หรือเกี่ยวกับสิ่งใดๆ

ทุกธุรกิจต้องการแรงงานที่เชี่ยวชาญในธุรกิจที่กำลังผลักดันอยู่

แต่เท่าที่ฟังผู้ประกอบการพูด ทราบว่าแรงงานเช่นว่านั้นหายากมาก

ความต้องการดังกล่าวทำให้รัฐบาลพยายามดึงคนจากทั่วโลกที่มีความสามารถเข้ามา

ระหว่างนี้กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เองก็ควรเตรียมการ

ฝึกฝนให้คนมีฝีมือและความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับธุรกิจใหม่

การสนองความต้องการธุรกิจใหม่ ทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งเรื่องแรงงาน คือ แรงหนุนธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น

งานสัมมนาครั้งนี้ทำให้ทุกคนมองเห็นอนาคต

มองเห็นวิธีการก้าวเดินไปในอนาคต

มองเห็นตลาดใหม่ในโลกดิจิทัล มองเห็นธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

มองเห็นแล้วว่าโอกาสความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้น

เพียงแค่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันสร้างศักยภาพใหม่ให้เกิดขึ้น

สร้างศักยภาพใหม่ให้ตนเอง สร้างศักยภาพใหม่ให้องค์กร

ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ไปข้างหน้า

ขับเคลื่อนธุรกิจของคนไทย ธุรกิจสัญชาติไทยก้าวเดินไปอย่างมั่นใจ

ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image