ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
หนังสือเล่มนี้ชื่อยาวเหยียด
“สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย”
เป็นหนังสือเล่มหนา แต่พอเปิดไปอ่านแล้วสนุก
ได้ความรู้ ได้ความบันเทิง เสริมเติมประสบการณ์ให้ผู้อ่านที่ยังไม่รู้
ส่วนผู้ที่อยู่ร่วมกับเหตุการณ์ ถือเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำอันมีค่า
หนังสือเล่มนี้ มี “ขรรค์ชัย บุนปาน” เป็นบรรณาธิการอำนวยการ
มี “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เป็นบรรณาธิการ
สุจิตต์เขียนไว้ในหนังสือถึงการทำหนังสือเล่มโตเล่มนี้
“ต้นปี 2547 ขรรค์ชัย บอกกับผมว่าน่าจะชำระสะสางเรื่องราวความเป็นมาพื้นฐานเกี่ยวกับการพิมพ์ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกจนถึงสมัยปัจจุบัน เช่น โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ และหนังสือพิมพ์
“จากนั้นผมได้เริ่มทบทวนวรรณกรรมด้วยการสำรวจและอ่านเอกสารงานค้นคว้าวิจัยเท่าที่หาได้เกี่ยวกับการพิมพ์ในไทย ขณะเดียวกันปรึกษาหารือสอบถามผู้สันทัดโดยตรงด้านนี้
“ทำให้รู้ว่าข้อมูลมีมาก และการทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นไม่ง่าย ซึ่งเกินกำลังและเกินสติปัญญาที่จะทำคนเดียวได้
“ผมจึงต้องชวนและเชิญ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ว่า หลังงานสอนจากมหาวิทยาลัยแล้ว ให้ช่วยเป็นแกนนำร่วมกับ ปรามินทร์ เครือทอง (เสรีชนนักค้นคว้า) ทำวิจัยศึกษาค้นคว้าตรวจสอบเรื่องราวการพิมพ์ในประเทศไทย และรวบรวมเรียบเรียงเป็นต้นฉบับ
“โดยชักชวนนักค้นคว้าวิจัยอีกจำนวนหนึ่งร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งล้วนมีประสบการณ์แข็งแรงด้านนี้มาก่อนทั้งนั้น
“ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทยมีหลายด้านหลายมิติที่ต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไปอีกมาก เพื่อการเรียนรู้รอบด้าน รู้เขา รู้เรา รู้โลก”
นั่นคือข้อเขียนของสุจิตต์เมื่อธันวาคม 2564
เป็นข้อความบ่งบอกความตั้งใจนำเสนอความรู้ “หลายด้านหลายมิติ” เข้าไปในเล่ม
ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว สามารถสัมผัสเรื่องราวการพิมพ์ในหลายมิติ
อ่านแล้วได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ มองเห็นพัฒนาด้านการพิมพ์
สัมผัสถึงการเติบโตของการพิมพ์ในไทย นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรื่อยมาจนถึงยุคของหมอบรัดเลย์ ชาวอเมริกันที่เข้ามาสยามในสมัยรัชกาลที่ 4
การออกหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสมัยรัชกาลที่ 6
อ่านแล้วมองเห็นพัฒนาการธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยด้วย
ทั้งโรงพิมพ์ การรับจ้างพิมพ์ การจำหน่ายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่ม
พร้อมกันนั้น ยังได้ซึมซับอุดมการณ์ของคนทำหนังสือ
อาทิ นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ อิศรา อมันตกุล
รวมไปถึงนักคิด นักเขียน นักแปล ที่คุ้นชื่อ
อาทิ ป.อินทรปาลิต ไม้ เมืองเดิม มาลัย ชูพินิจ มนัส จรรยงค์ ว.ณ เมืองลุง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในหนังสือยังเอ่ยถึงที่มาของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ก่อนหนังสือพิมพ์มติชนรายวันจะดำเนินการ คณะผู้ทำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เคยทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติมาก่อน
หัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” นี้ คณะนักหนังสือพิมพ์ได้รับประทานอนุญาตจาก พล.ต.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
หนังสือพิมพ์ประชาชาติสมัย พล.ต.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์นั้น ปรากฏขึ้นเมื่อกันยายน 2475 ในฐานะ “หนังสือพิมพ์รายวัน”
ยึดมั่นในครรลองประชาธิปไตย
พอมาถึงปี 2517 หนังสือพิมพ์ประชาชาติปรากฏในบรรณพิภพอีกครั้งในฐานะ “หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์”
ครั้งนั้น ผู้ดำเนินการ ได้แก่ ม.ร.ว.สุนิดา บุณยรัตพันธุ์ สุทธิชัย หยุ่น ขรรค์ชัย บุนปาน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และสุจิตต์ วงษ์เทศ
หลังจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ดำเนินการได้เพียง 9 เดือน ทีมงานชุดเดิมก็ทำคลอดหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 2519 หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ต้องยุติลงด้วยคำสั่งคณะปฏิวัติ
ช่วงนั้นประเทศไทยห้ามทำหนังสือแนวการเมือง ชาวคณะหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันจึงเลี่ยงไปทำหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจชื่อ “เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์” เมื่อกุมภาพันธ์ 2520
กระทั่งปี 2521 คณะปฏิวัติชุดใหม่อนุญาตให้ทำหนังสือพิมพ์แนวการเมืองได้ แต่ยังไม่ให้ใช้หัวหนังสือพิมพ์เดิม ที่ถูกปิดไปเมื่อปี 2519
ชาวคณะหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันจึงเปิดหนังสือพิมพ์มติชนรายวันขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521
วันที่ 9 มกราคมจึงเป็นวันเกิดมติชน
นี่คือบางส่วนของเนื้อหาจากหนังสือ “สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย”
เป็นเพียงเนื้อหาเล็กๆ จากเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการพิมพ์ของไทยภายในเล่ม
เนื้อหาหนังสือกว่า 700 หน้า แม้มองว่าเล่มหนา
แต่เพียงแค่เริ่มต้นอ่าน หลายคนหยุดไม่ได้ เพราะตัวอักษรทำให้หลงเพลินอยู่ในโลกแห่งการพิมพ์ของไทย
หลงเพลินกับเนื้อหาภายในหนังสือที่ชื่อ “สยามพิมพการฯ”
นฤตย์ เสกธีระ