รู้ไว้10ปัจจัยเสี่ยง หยุดเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง ต้องพบกับปัญหาที่แทบไม่ต่างกันคือ “คนไข้ล้น” บางแห่งทางเดินถูกใช้เป็นที่พักคนไข้

จากข้อมูลของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย บอกว่าในแต่ละปีมีคนไข้เข้ารับบริการในห้องฉุกเฉิน เฉลี่ยมากกว่า 25 ล้านคน/ปี ทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงประชากรเกือบ “ครึ่งประเทศ” เคย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” โดยส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิตหรือพิการกะทันหัน

แต่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้นสามารถป้องกันได้ ทั้งโรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน”

Advertisement

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เกริ่นนำว่า ปัจจุบันประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรังเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละกว่า 25 ล้านคน/ปี ในจำนวนนี้ผู้ป่วย

จำนวนมากต้องเสียชีวิตและพิการ ซึ่งอัตราผู้ป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากอุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหัวใจเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดในสมอง ฯลฯ

หลายสาเหตุสามารถป้องกันได้ โครงการนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือหากมีโรคประจำตัวก็สามารถควบคุมได้

Advertisement

โดยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ก็สามารถหยุดยั้งอาการไม่ให้กำเริบจนถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการถาวร โดยจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ และสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

“ทำอย่างไรให้ตัวเลข 25 ล้านคนลดลง เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น แม้จะได้รับการรักษาที่ดี แต่ก็มีการเสียชีวิตหรือพิการถาวรเกิดขึ้น โครงการนี้จึงมุ่งลดการเกิดเหตุ เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ ระหว่างรอทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือ”

เพราะแค่ดูแลตัวเองและคนใกล้ตัว ก็สามารถลดความเสี่ยงไปหลายโรค

(จากซ้าย) รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ , นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา, ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล และศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
(จากซ้าย) รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา, ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล และ ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย อธิบายต่อไปว่า สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับต้นๆ คือ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โดยองค์การอนามัยโลก รายงานว่าร้อยละ 68 การเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกเกิดจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง 10 ประการ คือ กรรมพันธุ์ เพศ อายุ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ป้องกันได้ด้วยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ ลดปัจจัยเสี่ยง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

“หลายอย่างป้องกันได้ เช่น โรคอ้วนเป็นสาเหตุร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 13-14 อวัยวะ หรือการตายบนท้องถนนของคนไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงลิเบียเท่านั้น… เมื่อป้องกันได้ ผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะลดลง”

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า เป้าหมายการทำงานของ สสส. คือ สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มองว่าบุคลากรที่คลุกคลีกับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้ดีที่สุด

“ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งมีคนไข้ล้นห้อง บางคนอยู่ในห้องฉุกเฉิน 1-2 วันก็ยังไม่สามารถย้ายไปพักฟื้นได้เพราะไม่มีเตียงว่าง ขณะที่ผู้ป่วยในก็ย้ายออกไม่ได้ ถ้าประเทศไทยยังเป็นแบบนี้ต่อไปไม่น่าจะไปรอด

“ส่วนใหญ่แล้วเราจะแก้ไขที่ปลายเหตุคือเมื่อต้องไปหาหมอ ซึ่งมันไม่เพียงพอ – โครงการจะให้ความรู้ว่าหากเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร ป้องกันการป่วยฉุกเฉินอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วยเลย

“วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ไม่ต้องรอให้เจ็บหนักจึงคิดแก้ไข ทั้งนี้ หลายโรคมีการตายฉับพลัน เช่นกรณีการเสียชีวิตของคุณบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคนคิดว่าป้องกันไม่ได้หรือ อะไรคือปัจจัยตั้งต้นและปัจจัยกระตุ้น เราจะมีการให้ข้อมูลในส่วนนี้ด้วย”

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถีอธิบายว่า โครงการนี้มียุทธศาสตร์การดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1) การระดมสมองและเชื่อมประสาน สนับสนุนและอุดช่องโหว่ด้านงานฉุกเฉินเพื่อเติมเต็มการบริหาร 2) การจัดทำคู่มือสื่อแนะนำหลักสูตร ระบบปฏิบัติการและการรวบรวมข้อมูล เพื่อกระจายไปยังเครือข่ายต่างๆ 3) พัฒนาเครื่องมือ บุคลากร และเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การขยายผลและแก้ปัญหาต่อไป และ 4) สร้างความยั่งยืนของการส่งเสริมป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เป้าหมายสำคัญของโครงการคือ การสร้างต้นแบบหลายๆ ด้าน เช่น หลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา ในการป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งข้อเสนอและนโยบายที่ประสบผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

“ทำอย่างไรให้คน 1 คนไม่มีโรคประจำตัว หากทำได้ถือว่าวิเศษมาก โดย สสส.มองว่าโครงการนี้จะอยู่ในรูปแบบเฮลท์ เอดูเคชั่น เซ็นเตอร์ คือศูนย์ที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในด้านสุขภาพ ทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการบรรจุความรู้ใกล้ตัวเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยคาดหวังว่าจะส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลง”

เช่นที่ รพ.ราชวิถีมีผู้ป่วยฉุกเฉินเฉลี่ยวันละ 200-250 ราย โดยจะมีจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเที่ยงคืน

สุพัฒศิริ ทศพรพิทักษ์กุล พยาบาลวิชาชีพชํานาญการ หัวหน้าตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.ราชวิถีบอกว่า ผู้ป่วยที่เข้ามาส่วนใหญ่มีอาการหายใจไม่ออก หรือหยุดหายใจจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ และอุบัติเหตุบางส่วน เมื่อมาถึงจะมีการคัดกรองผู้ป่วยว่าอาการหนัก-เบาอย่างไร จากนั้นแยกผู้ป่วยวิกฤตไปรักษาก่อน

“มองว่าหากดำเนินโครงการนี้แล้วตัวเลขของผู้ป่วยฉุกเฉินน่าจะลดลง ซึ่งคงต้องให้ผ่านไประยะหนึ่งก่อน เพราะโครงการนี้เน้นที่การรักษาสุขภาพซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

“หากทำได้จริง จะเป็นผลดีต่อคนไทยและประเทศไทยแน่นอน” สุพัฒศิริทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image