ดูหนัง ฟังเรื่องจริง ‘ร่างทรง’ ‘การจัดการผี’ที่ ‘ผู้หญิง’ คือคำตอบ

ดูหนัง ฟังเรื่องจริง ‘ร่างทรง’ ‘การจัดการผี’ที่‘ผู้หญิง’คือคำตอบ

“พวกเราเชื่อว่า สิ่งเหนือธรรมชาติทุกอย่าง จะเรียกว่าผีหมดเลย ไม่ใช่แค่วิญญาณคนตายอย่างเดียว เราเชื่อว่ามีผีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในบ้าน ตามป่าตามเขา ต้นไม้ ตามไร่ตามนา มีผีอยู่ในนั้นทั้งหมดเลย”

-ป้านิ่ม-

จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’

ผลงานกำกับของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ถ่ายทอดความเชื่อเรื่องร่างทรงในบริบทสังคมไทย
สร้างประเด็นถกเถียงมากมายทั้งในมุมมองของความบันเทิงที่ว่ากันว่า ใครชอบ ก็ชอบมาก ใครไม่ชอบ ก็วิพากษ์หนัก แบ่งฝ่ายชัดเจนอย่างน่าสนใจให้คิดต่อ
ท่ามกลางการตีความของคนดูในหลากหลายทิศทาง ประเด็นที่ชวนให้เจาะลึก คือเรื่องราวของความเชื่อเรื่อง ‘ผีๆ’ ที่มีมาอย่างยาวนาน

Advertisement
หมอผีหาสาเหตุที่มิ้งมีวิญญาณร้ายเข้าสิง (ภาพจาก GDH)
ผู้คนฟ้อนรำ ร้องเพลง บวงสรวงย่าบาหยัน (ภาพจาก GDH)

เทศกาลเสวนาภาพยนตร์อุษาคเนย์ ประจำปี 2565 ในรูปแบบออนไลน์เมื่อไม่กี่วันมานี้ โดย ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ไม่ตกเทรนด์ มาในธีม ‘ศรัทธาและความเชื่อร่วมในอุษาคเนย์’

ผศ.ดร.วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล (ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

ผศ.ดร.วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ผู้ลงสนามวิจัยเรื่องร่างทรงในจังหวัดชัยภูมิ เล่าประสบการณ์เจาะลึกร่างทรงในพหุจักรวาลความเชื่อ ชวนตีความหนังในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง

รักษาโรค หาของหาย ทำนายดวง
สื่อสาร‘ผี’หน้าที่หลัก‘ร่างทรง’ทั่วโลก

Advertisement

ผศ.ดร.วิศิษย์ เปิดประเด็นว่า โลกของการบูชานับถือแบบร่างทรง มีจุดประสงค์เพื่อ ‘บำบัดทุกข์บำรุงสุข’ ช่วยเหลือผู้คนในด้านสุขภาวะเป็นหลักคล้ายคลึงกันทั้งโลก

“ร่างทรงระบบดั้งเดิมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแอฟริกัน วัฒนธรรมมองโกเลีย ละตินอเมริกา ล้วนเริ่มต้นจากการรักษาโรค หน้าที่หลักของผู้ประกอบพิธีกรรมคือการเป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขในการรักษาโรค หาของหาย ทำนายดวง นี่คือพื้นฐานหลักที่มีร่วมกัน”

ส่วนร่างทรงในไทย ผศ.ดร.วิศิษย์บอกว่า ได้ลงพื้นที่ศึกษา ณ ศาลเจ้าพ่อพะยาแล ซึ่งในทุกวันจะมีเครือข่ายร่างทรงรวมตัวกันฟ้อนรำ มาถวายของจำนวนเป็นร้อยเป็นพันคน มีเพศ อายุ และวัยที่แตกต่างกัน มีผู้ชาย มีวัยรุ่น หรือมีกลุ่มเพศทางเลือกที่มาเป็นตัวละครหลักในการขับเคลื่อนความเชื่อเหล่านี้มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“กลุ่ม LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นตัวละครสำคัญที่มาขับเคลื่อนความเชื่อแบบทรงเจ้าเข้าผี โดยพิธีจะมีการฟ้อนรำ บวงสรวงเจ้าพ่อ อย่างเช่นในร่างทรงที่มีการฟ้อนรำ เขาบอกว่ายิ่งฟ้อนรำมากยิ่งได้พลังมาก ยิ่งฟ้อนรำสวยยิ่งฟ้อนรำนานแสดงว่าเคารพท่านมาก และเมื่อพูดถึงผู้ประกอบพิธีกรรมในพื้นถิ่นจะมีหลายชื่อด้วยกัน เช่น หมอธรรม หมอลำ หมอทรง หมอมอ (หมอดู) หมอเส้น (หมอจับเส้น) หมอสมุนไพร หมอธรรม ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่เคยบวชมาก่อนและใช้ความรู้ตัวบทมนตราในศาสนาพุทธ เอามาไล่ผีหรือประกอบพิธีกรรม อันดับที่ 2 คือหมอลำ โดยเขาจะเรียกตัวเองว่าหมอลำทรง ร้องเพลง ขับลำนำประกอบเพื่อรักษาโรค สื่อสารกับผี ขออนุญาตผี แลกเปลี่ยนกับผี” อาจารย์ มรภ.จันทรเกษมอธิบาย

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘ร่างทรง’ จากการลงพื้นที่ภาคสนามที่จังหวัดชัยภูมิ โดย ผศ.ดร.วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล

หมอธรรม หมอลำ ขับออก-โอบรับ ‘การจัดการผี’ที่แตกต่าง

จากนั้น ลงลึกถึงวิธีการ ‘จัดการผี’ ของระบบ ‘หมอธรรม’ ซึ่งอิงความเชื่อจากศาสนาพุทธ ซึ่งต้องกำจัดกิเลส ต้องทำให้บริสุทธิ์ ต้อง ‘ขับ’ สิ่งที่ ‘เป็นอื่น’ ออกจากร่างกายมนุษย์
ในขณะที่ ‘หมอลำทรง’ ดังเช่นตัวละครร่างทรง ‘ย่าบาหยัน’ ในภาพยนตร์นั้น จะทำการฟ้อนรำเพื่อ ‘อ่อย’ ซึ่งแปลว่าอ้อนวอน เอาอกเอาใจ
สะท้อนวัฒนธรรมอีสานที่พร้อม ‘โอบรับ’ ความ ‘เป็นอื่น’

“สังคมอีสานถือเป็นสังคมที่เปิดมากในทุกระดับทั้งความเชื่อ ผู้คน อาหาร และดนตรีต่างๆ เหมือนกับร่างทรงที่โอบรับความเป็นอื่น เพราะฉะนั้นถ้าผีจะยอมมาอยู่ด้วย แล้วยอมรับมาก็จะดีขึ้น ในหนังจะเห็นว่ามีย่าบาหยันเป็นองค์ประธานเป็นรูปเคารพหลัก ในจังหวัดชัยภูมิก็มีเยอะมาก เช่น องค์ตื้อ วัดศิลาอาสน์ ภูพระ และปู่ด้วง ย่าดี ซึ่งย่าดีชวนให้คิดถึงย่าบาหยันมาก ปู่ด้วง ย่าดีเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริงๆ เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าเป็นย่าที่เจ็บป่วยมาก่อน และได้ไปเรียนวิชาวิเศษกับปู่ด้วง และนั่งสมาธิ มีจิตใจธรรมะ และลำแคน ร้องเพลงเพราะ ต่อมาก็เป็นต้นแบบของหมอลำทรง ในสายลำทรงก็จะถือย่าดีเป็นองค์หลัก” ผศ.ดร.วิศิษย์ ฉายภาพจากข้อมูลในภาคสนามทาบทับเรื่องราวบนแผ่นฟิล์ม

‘เรียกขวัญ’โยงกาย-ใจในห้วง‘เปลี่ยนผ่าน’

นวัตกรรมตอบโจทย์คนอีสาน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการรักษาโรคดังที่เกริ่นมาข้างต้นว่าเป็นภาระหน้าที่พื้นฐานของร่างทรงทั่วโลก สำหรับอุษาเคนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ ที่ยังคงเด่นชัดในภาคอีสาน ร่างทรง หมอลำทรง อย่างย่าบาหยันในภาพยนตร์คือ ผู้มีบทบาทโดดเด่นมาก
“หมอลำทรงแบบย่าบาหยันมีบทบาท และโดดเด่นมาก เพราะการรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยแล้วไปหาหมอตามคลินิกปกติแต่รู้สึก ไม่แล้วใจ กล่าวคือการป่วยไม่ใช่แค่เรื่องทางกาย และการป่วยไม่ได้อยู่แค่คนป่วยอย่างปัจเจกนั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยของครอบครัว ความเจ็บป่วยของสังคมรวมถึงชุมชนด้วย ดังนั้นหน้าที่หลักของหมอลำทรงก็เป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ เชื่อมโยงร่างกายที่ประสบความเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่ของพยาธิสภาพ การเป็นโรค หรือการเปลี่ยนผ่านแรงปะทะทางสังคม เช่น คนอีสานไปทำงานต่างถิ่น ไปอยู่โรงงาน ไปต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็ต้องเรียกขวัญ ดังนั้นหน้าที่ของหมอลำทรงที่มีเสียงเพลงประกอบเป็นหลัก จึงเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้คนที่กลับบ้านรู้สึกว่าถึงบ้านแล้ว” ผศ.ดร.วิศิษย์เล่า

หนังผี(ไทย)ทำไมต้องเป็นหญิง? ร่างทรงก็เช่นกัน

นักวิชาการท่านนี้ ยังชวนให้ร่วมกันตั้งข้อสังเกตว่า หนังผี (ไทย) ส่วนใหญ่มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง ซึ่งสะท้อนระบบความเชื่อในวัฒนธรรมอุษาคเนย์

“สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยก่อนสืบสายตระกูลโดยลูกผู้หญิงเป็นหลัก เป็นวัฒนธรรมที่มีผู้หญิงเป็นตัวขับเคลื่อน ที่นาและบ้านส่วนใหญ่มักจะตกเป็นของลูกสาว วัฒนธรรมบ้านเรา ผู้ชายจะแต่งเข้าบ้านผู้หญิงเพื่อไปเป็นแรงงาน ไปเป็นลูกเขย ไปเป็นฝ่ายผลิตที่ดูแลทรัพย์สินของผู้หญิง

มีคำหนึ่งในอีสานคือ ของรักษา เป็นความเชื่อที่ว่า ในแต่ละตระกูลมีของที่ปกปักรักษาต่อๆ กันมา และแน่นอนว่าเชื่อมด้วยสายเครือผู้หญิงเป็นหลัก แต่บ้านนี้อาจจะอยู่กับหมอธรรม บ้านนั้นอาจอยู่กับหมอลำ ดังนั้นจะเห็นว่าการส่งทอดของรักษา หนึ่งในนั้นก็คือผี นอกจากนี้ ร่างทรงเป็นปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับศิลปะการแสดง ผู้หญิงมีร่างกายที่สามารถแสดงออกซึ่งเสียงเพลง บทเพลง การรำได้ดีกว่าผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นแม่ เมีย ลูก เป็นประชากรที่อยู่ติดบ้าน ใช้ชีวิตในอาณาบริเวณบ้านเป็นหลัก ผู้หญิงจึงเสมือนเป็นคนที่พร้อมจะรับเป็นร่างทรง เหมาะกับการเป็นช่องทาง เป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างผีกับคน”

ย่าบาหยัน จากภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง

พุทธ คริสต์ พราหมณ์ ผี ศาสนาไหนก็หนีไม่พ้น?

อีกหนึ่งคำถามน่าสนใจคือ หากตัวละคร ‘มิ้ง’ นางเอกของเรื่องหันไปนับถือศาสนาอื่นใดที่ดูเหมือนจะ ‘ไกล’ จากความเชื่อพื้นเมืองแบบไทยๆ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะหนีพ้นจากการเป็น ‘ร่างทรง’ ได้หรือไม่?

“มิ้งเป็นตัวละครที่อยู่ในหลากหลายจักรวาล เพราะมิ้งก็เข้าไปอยู่ในจักรวาลของศาสนาคริสต์ด้วยความคิดที่ว่าเมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นร่างทรง แต่ไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ไม่สามารถหนีร่างทรงได้ ร่างทรงเป็นได้ทุกศาสนา พระเยซูเป็นบุคคลที่เหมาะมากในการเป็นองค์ประธานในร่างทรง เพราะทรงเป็นพลังแห่งการรักษาโรค ความเมตตากรุณา ในวัฒนธรรมมาเล-มลายูก็มีเรื่องทรงเจ้าเข้าผีเหมือนกัน ในงานวิชาการสังคมวิทยาในวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับศาสนาโลก ศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธ มีการซ้อนทับของระบบความเชื่อการทรงเจ้าเข้าผี การนับถือผีอยู่ตลอดเวลา” ผศ.ดร.วิศิษย์วิเคราะห์ ก่อนไปถึงประเด็นที่ว่า การเข้าร่างทรงคือการเฉลิมฉลองความเป็นหญิง แต่ในหนังจะพบว่ามีการทำให้มิ้งเป็น ‘วัตถุทางเพศ’

“ทุนวัฒนธรรมที่ควรเอามาบริหารจัดการให้มากขึ้น คือความเป็นหญิง และความมุ่งหมายหลักของระบบร่างทรงคือ การรักษา แต่เส้นเรื่องในหนังค่อนข้างเห็นเลยว่าตัวละครผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกกระทำ อาจจะในสังคมชายเป็นใหญ่ มีความซ้อนทับระหว่างความเชื่อกับชีวิตของตัวละครหลัก หลายคนตีความว่ามิ้งอาจถูกล่วงละเมิดหรือไม่ มีปัญหาความสัมพันธ์กับพี่ชายและลุง มีหลากหลายความเชื่อซ้อนทับกันมากมาย

ทำให้เกิดการตีความว่าชะตาชีวิตคนคนหนึ่งเกิดจากอะไรกันแน่ เกิดจากพลังทางสังคมที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ของผู้คน หรือเกิดจากผีเท่านั้น”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image