365 Days after…1 ปีแห่งการไม่ยอมจำนน บันทึกศิลปินหลังรัฐประหารเมียนมา

รัฐประหารเมียนมา คือประเด็นใหญ่ระดับโลกตลอดปี 2564

ความสูญเสียภาคประชาชนเกิดขึ้นอย่างไม่อาจประเมินได้ครบถ้วน ชาวเมียนมาบาดเจ็บล้มตาย

เลือดสีแดงฉานนองแผ่นดินแห่งทะเลเจดีย์ทองอร่าม

1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครบรอบ 1 ปีแห่งการต่อสู้ของผู้คนที่ยืนยันและยืนหยัดถึงการ ‘ไม่ยอมจำนน’ ต่ออำนาจอยุติธรรม

Advertisement
หมวกนิรภัย หน้ากากกันแก๊ส จัดแสดงร่วมกับภาพถ่ายชาวเมียนมา

 

มูลนิธิเสมสิกขาลัย จัดนิทรรศการเนื่องในวันคล้ายวันเปิดศึกระหว่างกองทัพกับประชาชนชาวเมียนมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งถูกใช้ในการแสดงออกทางการเมืองของคนไทย

Red lines and White flowers โดย ชุมพล คำวรรณะ

‘365 Days after…’ หรือ ‘365 วันต่อมา…’ คือบันทึกเหตุการณ์ ความรู้สึก และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 365 วันผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพเขียน ภาพถ่าย และภาพยนตร์สั้น จากศิลปินพม่า ไทย และฝรั่งเศส เช่น Daung, Kyar Pauk, Nyan Soe, Susanna Chan, Wai Sandar, Zion, Leila Macaire and Mo Mo, Fox, Lily’s Mom, ชุมพล คำวรรณะ, พายัพ แก้วเกร็ด, ประสาท นิรันดรประเสริฐ, เมธิชัย เตียวนะ และวิชัย จันทวาโร

Advertisement

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน จับกุมตัว ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และแกนนำพรรคหลายราย ประกาศสภาวะฉุกเฉิน 1 ปี อ้างเหตุทุจริตจากผลการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2563 ที่เอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี ชนะขาด

รายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา หรือ AAPP องค์กรสิทธิมนุษยชน รายงานผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมระบุว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดจำนวน 1,507 ราย ถูกจับกุม 11,902 ราย ถูกออกหมายจับ 1,972 ราย และสถิติล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,560 ราย ถูกจับกุม 12,228 ราย และถูกออกหมายจับ 1,973 ราย

ผลงาน พายัพ แก้วเกร็ด

1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาเกือบทั่วประเทศประท้วงเงียบ ต่อต้านการรัฐประหารด้วยการไม่ออกจากบ้าน ไม่นำสินค้าออกไปขายตามตลาด ขณะที่เวลา 01.00 น. ของวันเดียวกัน ทหารรัฐบาลเมียนมาส่งเครื่องบินโจมตีค่ายของทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่บริเวณเมืองผาปู รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งแม่น้ำสาละวิน ทำให้สำนักงาน 2 แห่งถูกทำลายด้วยลูกระเบิด

ตอกย้ำความเลวร้ายของรัฐเผด็จการรวมถึงหลายกรณี ถือเป็นสูญเสียที่น่าสลดใจและเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทั่วโลกจับตามอง

แม้จะถูกคุกคาม แต่ชาวเมียนมายังไม่ยอมแพ้และต่อสู้ด้วยวิธีต่างๆ หนึ่งในวิธีการแสดงออกทางความคิดผ่านศิลปะที่ยังคงเติบโตแม้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอันต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ

นิทรรศการครั้งนี้ มากมายด้วยงานศิลปะสะท้อนความกล้าหาญของผู้คนที่ไม่ยอมโอนอ่อนต่ออำนาจเผด็จการ อาทิ ผลงานของ Daung หรือ ดาง์ว นักแสดงชาวเมียนมาซึ่งกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมวาดภาพแนวนามธรรมที่ขายออกแล้วเกือบทุกภาพ

ผลงาน ชื่อ အထဲ Inside ข้างในของนักแสดงชาวเมียนมา
ผลงาน ဒြပ် หรือ Tangible ของนักแสดงเมียนมา (จำหน่ายแล้ว)
ผลงานของ Nyan Soe ศิลปินชาวเมียนมา

สำหรับผลงานที่โดดเด่นโดนใจผู้จัดงานจนถูกเลือกเป็นภาพโปรโมตนิทรรศการคือผลงานของ Nyan Soe ศิลปินชาวเมียนมาที่ถ่ายทอดภาพผู้หญิงมัดผมทัดดอกไม้ชูสามนิ้วขณะถูกปืนจ่อ

ด้านศิลปินไทย อย่าง ชุมพล คำวรรณะ ใช้สีน้ำมันสร้างสรรค์บนผืนผ้าใบ ถ่ายทอดภาพผู้คนที่ถูกกดขี่โดยอำนาจเผด็จการ พร้อมสอดแทรกสัญญะการให้กำลังใจกับชาวเมียนมาด้วยรูปดอกไม้ที่เบ่งบานสวยงาม

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ได้รับความสนใจหลัง รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายปมค้ามนุษย์โรฮีนจา

ข้าวเปล่า พริก 2 เม็ด อาหารของชาวเมียนมาผู้ฝึกอาวุธในป่าเพื่อสู้เผด็จการ (ภาพจาก FOX)

 

 

 

 

 

 

“ข้าวคนละสองกำมือ พริกคนละสองเม็ด น้ำนิดเดียว” คือข้อมูลที่อิงอิงจากคำปากคำของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศออสเตรเลียในวันนี้

เนื่องด้วยข้อความดังกล่าว ไปสอดคล้องกับภาพถ่ายส่วนหนึ่งในนิทรรศการซึ่งบอกเล่าความเป็นอยู่ของผู้ที่ต้องหลบหนีไปฝึกการใช้อาวุธในป่าหลังกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงกวาดล้างผู้ต่อต้านอย่างหนัก

มูลนิธิเสมสิกขาลัย ระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า สงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมานั้นส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมา และยังมีความเกี่ยวเนื่องกับสังคมโดยรอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่กองทัพพม่าใช้ความรุนแรงกวาดล้างชาวโรฮีนจาเมื่อปี 2555 จนมีผู้ลี้ภัยหนีตายมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จนกระทั่งมาถึงปี 2564 ที่กองทัพพม่าก่อรัฐประหาร และมีชาวเมียนมาต้องหนีภัยมาอีกครั้ง พวกเขายังถูกแสวงผลประโยชน์ไม่ต่างจากเดิมนัก

แม้ว่าจะเป็นคนละเหตุการณ์ แต่เชื่อว่าประชาชนผู้ถูกกระทำต่างเจ็บปวดกับความโหดร้ายอำมหิตเหมือนกัน

——–

3 วันสุดท้าย นิทรรศการ ‘365 Days after…’

 

 

 

 

วันนี้ ถึง 27 กุมภาพันธ์ ชมได้ที่ห้อง 104 และโถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ

วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ ชมนิทรรศการภาพถ่ายที่ Foreign Correspondents’ Club of Thailand-FCCT อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ชิดลม กรุงเทพฯ

รายได้จากการจำหน่ายผลงานจะสนับสนุนศิลปินและช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามในเมียนมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image