จาก กุมภา ถึง พฤษภา จาก รสช. ถึง รัฐบาลประยุทธ์ 31 ปี เข็มนาฬิกาเดินถอยหลัง

จาก กุมภา ถึง พฤษภา จาก รสช. ถึง รัฐบาลประยุทธ์ 31 ปี เข็มนาฬิกาเดินถอยหลัง
กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินในเหตุการณ์พฤษภา 35 (ภาพจากเว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

ประกาศชัดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าจะจัดใหญ่ให้โลกจำเหมือนกรณีกวางจู เกาหลีใต้ สำหรับงาน ‘30 ปี พฤษภาประชาธรรม’ โดย กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โดยจะมีกิจกรรมต่อเนื่องและลากยาวไปถึงวาระ 90 ปี ประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน เรียกร้องชำระประวัติศาสตร์ อัดแน่นวงเสวนาวิชาการ และดึงสากลเข้าร่วม

ล่าสุด มีการเปิดเวที ‘ถอดบทเรียนการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ จาก รสช.ถึงเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 35 บทบาททหารกับการเมืองไทย’ ณ ห้องประชุม ศ.ดร.ประสาท หลักศิลา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) เมื่อวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันคล้ายวันรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 หรือเมื่อ 31 ปีก่อน ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เป็นคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

22 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำมาสู่ความโกลาหลของการเมือง สังคม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในวันนี้

เนื้อหาเสวนาเข้มข้นทั้งประเด็นย้อนอดีตและสถานการณ์ปัจจุบันอันเกี่ยวโยงกันอย่างไม่อาจแยกได้

Advertisement

กาลเวลาคือผู้ชนะ เจ้าของประเทศคนต่อไปคือ ‘คนรุ่นใหม่’

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เปิดงานเล่าหัวอกคนเป็นพ่อผู้สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า ตนไม่ใช่นักเคลื่อนไหวแต่สูญเสียลูกชายคนเล็กไปในวัย 20 ปี มันเจ็บปวดมากที่สุด เราตัดสินใจว่าเราจะอโหสิให้ เพราะถ้าจากโลกนี้ไปด้วยความโกรธแค้น นอนตายไปก็ไม่มีความสุข ถ้าเราพกความแค้นเอาไว้ โดยไม่อโหสิกรรมความแค้นก็จะวนเวียนอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐประหารไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

“ตลอดเวลา 30 ปี ผมฝันและหวังและตั้งใจอยากเห็นประเทศไทย พัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยประชาชนอยู่ดีกินดีอยู่อย่างด้วยสันติสงบสุข แต่มาทุกวันนี้ยังไม่เห็นแต่ก็ยังมีความหวังเพราะเห็นคนรุ่นใหม่ก็พยายามที่จะไล่ผู้สืบทอดอำนาจ ขอให้ทหารสังวรตัวเองและสำนึกได้ว่าท่านไม่ใช่ผู้ชนะ กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะ ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจยอมรับความจริงว่าคนที่จะเป็นเจ้าของประเทศต่อไปก็คือคนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนรุ่นเราที่ต้องโรยราไป” อดุลย์เปิดใจ

Advertisement

ด้าน นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล เครือข่ายหมอในเหตุการณ์พฤษภา 35 กล่าวว่า ถ้าต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด คือต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงคือเรื่องที่ดี แต่ต้องออกแบบอย่างชาญฉลาด จึงจะไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือด

เช่นเดียวกับ ความเห็นของ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2534 ที่บอกว่า บทเรียนครั้งนั้นกระทบมาถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่ารัฐประหารคือ หายนะทางประชาธิปไตย จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้สังคมไทยมีรัฐประหารขึ้นอีก พร้อมแนะว่าควรมีการออกระเบียบในการเลือกตั้งกันเอง มีการจัดการงบประมาณกันเองให้การกระจายอำนาจไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่อำนาจจากส่วนกลางหรือมหาดไทยมาคุม

พอกันที! รัฐประหาร วอนประยุทธ์ บอกรุ่นน้อง เลิกยึดอำนาจ-ยุ่งการเมือง

สำหรับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2535 มาพร้อมข้อมูลแน่นเช่นเคย โดยเล่าว่า ในช่วงนั้น คนไม่เชื่อว่าจะมีการยึดอำนาจอีกแล้ว ในปี 2533-2534 ยังมีหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ‘ลาทีรัฐประหาร’ และไม่มีใครเชื่อว่าทหารจะนำปืนมายิงประชาชน เราไม่เชื่อว่าจะเกิด แต่ก็เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

“พอกันทีได้หรือไม่สำหรับการรัฐประหาร ขอบอกทุกฝ่าย เพราะจะโทษแค่ทหารนักการเมืองก็ไม่ได้ ต้องโทษนักธุรกิจจำนวนมาก ที่ชอบยัดเงินใต้โต๊ะให้ตัวเองได้งานชอบจ่ายเงินทอน เพื่อให้ตัวเองได้โครงการเป็นสาเหตุสำคัญ ของการรัฐประหารด้วย ดังนั้น ประชาชนก็ต้องช่วยกันสรุปบทเรียนว่าจากนี้ไป ถ้ามีประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน มีการตรวจสอบมีความโปร่งใส” ผศ.ดร.ปริญญากล่าวก่อนฉายภาพการเมืองไทยในวันนี้ ว่าจะกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็คงไม่ง่าย เพราะจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะครบวาระ คือในเดือนพฤษภาคม 2567 เราจะอยู่กับ ส.ว.ที่เลือกนายก และเลือกองค์กรอิสระ เลือกศาลรัฐธรรมนูญและผลที่เกิดจากเลือกเอาไว้แล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง เราต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญที่แย่กว่า ปี 2534 ไปหลายเท่า เพราะกลไกที่สืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.

“การรัฐประหารไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แม้เราจะเห็นต่างกัน หรือขัดแย้งกันก็ต้องว่ากันไปตามกติกา ไม่ใช่ไปเชิญทหารมาปฏิวัติ เพราะปฏิวัติแล้วเขาก็ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ ฉะนั้น การโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เคยมีการปฏิวัติครั้งใดแล้วได้มาซึ่งประชาธิปไตย และจำนวนที่ดีขึ้นเลยสักครั้งเดียวมีแต่แย่ลง อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีที่เคยบอกว่า ขอเวลาอีกไม่นานความสุขจะกลับคืนมา ไม่ทราบว่า ณ วันนี้มันคืออะไรเรามีแต่สังคมที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น เจ้าสัวก็ยิ่งรวยขึ้นยิ่งปฏิวัติยิ่งแตกแยก นายกรัฐมนตรีช่วยกรุณาบอกรุ่นน้องของท่านในกองทัพได้หรือไม่ว่า ให้เลิกทำและกองทัพก็ช่วยพูดชัดๆ ได้หรือไม่ว่า จากนี้ไปไม่ทำรัฐประหารแล้ว อย่าพูดแค่ทหารอาชีพไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เพราะพูดทีไรยึดอำนาจทุกที กองทัพสัญญาได้หรือไม่” อดีตเลขาธิการ สนนท.ในวันนั้น อาจารย์ธรรมศาสตร์ในวันนี้ถามทิ้งท้าย

เข็มนาฬิกาไทยเดินถอยหลัง เมื่อไหร่กองทัพจะทันโลก

ในขณะที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อดีตแกนนำนักศึกษา ม.รามคำแหง วิเคราะห์ว่า จากเหตุการณ์พฤษภา 35 ทหารเข็ดหลาบยาวนานมากถึง 14 ปี ก่อนจะเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 ตลอด 30 กว่าปีมานี้ ประเทศยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรายังไม่เคยได้ประชาธิปไตยจริงๆ แม้แต่วันเดียว

จตุพร พรหมพันธุ์

“การที่ ผศ.ดร.ปริญญาเสนอให้ทหารสัญญาว่าจะไม่รัฐประหาร คิดว่า เจรจาให้เสือกินมังสวิรัติให้ได้ก่อน ค่อยบอกให้ทหารไม่ปฏิวัติ รัฐธรรมนูญ 2560 เลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าฉบับใดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับเคยร่าง รัฐธรรมนูญนี้ ออกแบบไว้ฉีกเท่านั้น ออกแบบเพื่อ 3 ป.เท่านั้น คนอื่นไม่สามารถบริหารได้ หากคนไทยยังเป็นเช่นนี้ ไม่เรียนรู้ที่จะต่อสู้ ต่อต้านการรัฐประหาร ปัญหาของประเทศจะหนักและใหญ่กว่าเดิม” จตุพรฟันธง

ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม แนะว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง เปลี่ยนระบบคุณค่าของตัวเองและต้องเชื่อว่าสิ่งที่ถูกต้องในท้ายที่สุดจะต้องชนะ ขณะที่ส่วนราชการก็ต้องเปลี่ยนโดยเฉพาะราชการที่มีอำนาจหรือกระบอกปืน ยิ่งต้องเปลี่ยน

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในปากเหวของการล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในท้ายที่สุดถ้ายังปฏิวัติทุก 4 ปี ตั้งแต่ 2475 หากเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ไม่มีทางพัฒนาตัวเองได้ แล้วยังถอยหลังโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ถูกแทรกแซงตลอดเวลาด้วยการรัฐประหาร” ปรีดาชี้

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา ถ้าวิเคราะห์จาก ปี 2535 มาเปรียบเทียบกับปี 2565 นอกจากเข็มนาฬิกาประชาธิปไตยจะหยุดเดินแล้ว ยังเดินถอยหลังด้วยซ้ำไป เพราะนอกจากเรื่องรัฐประหาร มีคนคิดว่าไม่น่าจะมีอีกแล้ว แต่พอผ่านมา 30 ปี กับเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิม รวมทั้งในเรื่องของรัฐธรรมนูญ หลายคนคิดว่า พอเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 หลายคนก็คงคิดว่า ไม่มีอีกแล้ว การเขียนแล้วธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการสืบทอดอำนาจ แต่กลไกที่พยามสืบทอดอำนาจกลับมีมากขึ้น ดูได้จากกลไกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปรียบเสมือนว่าเป็นอาวุธลับที่ คสช. ยังไม่ได้นำมาใช้

“รัฐประหารเป็นการแทรกแซงการเมืองที่ชัดที่สุด อยากให้รัฐธรรนูญแก้ไขให้กองทัพตรวจสอบได้และโปร่งใสเทียบเท่ากับหน่วยงานราชการอื่น ทำอย่างไรให้กองทัพเท่าทันโลก หยุดมายาคติที่ว่าทำอย่างไรให้กองทัพผูกขาดความมั่นคง จึงขอเสนอ 4 ท. ที่จะช่วยปฏิรูปกองทัพ ไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก ว่า 1.ประชาชนต้องเท่าทันกองทัพ ทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน 2.กองทัพต้องเท่าทันโลก มีความมืออาชีพมากขึ้น 3.อาชีพทหาร ต้องเท่าเทียมกับอาชีพอื่น 4.ทำให้ทหารมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน” ไอติมเสนอแนะ

เสนอ ‘โรงเรียนการเมือง’ เลี่ยงความรุนแรง อย่าใช้แค่ความรู้สึก

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งข้อเสนอ โดย ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-net) อดีต ครป. ในเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่เสนอให้มี ‘โรงเรียนการเมือง’ เพื่อให้สังคมรู้เท่าทัน ไม่ใช่การใช้แค่อารมณ์ความรู้สึก

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

“พัฒนาการของการขับเคลื่อนภาคประชาชนมีมายาวนานและต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นลูกคลื่นให้เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 เหตุการณ์ดังกล่าวเราเสียใจและไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก บทเรียนสำคัญคือเราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พอรัฐบาลโต้ตอบมา เราก็โต้ตอบกลับไป ขณะที่ผู้ชุมนุมเองไม่มีความพร้อมและไม่มีความเข้าใจ เป็นลักษณะอารมณ์พาไป มากกว่าพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก

จึงอยากเสนอว่าเรามีโรงเรียนการเมืองได้หรือไม่ โดยทำทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะส่วนกลาง ก็จะไม่เป็นเรื่องของอารมณ์อย่างเดียวที่พามวลชนออกมาเพราะความไม่พอใจ ทำอย่างไรให้สังคมรู้เท่าทันเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ หากทำได้ก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างสันติวิธี ขณะที่การปะทะ การใช้ความรุนแรงที่ผ่านมาก็ต้องสรุปบทเรียน” ลัดดาวัลย์กล่าว พร้อมย้ำว่าสังคมไทยต้องก้าวไปพร้อมการเรียนรู้

เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image