คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : พญานาคกับแลนด์มาร์กริมแม่น้ำ

ดูเหมือนว่าการสร้างรูปจำลองพญานาคจะกลายเป็นเทรนด์ฮิตของอำเภอและจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้วยตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคที่มีมาอย่างยาวนาน และตำนานที่แต่งขึ้นใหม่จากปากของพระเกจิอาจารย์หรือร่างทรงหมอผีที่เป็นที่นับถือกันในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ รูปจำลองพญานาคที่สร้างขึ้นยังถูกโปรโมตให้เป็นแลนด์มาร์ก แหล่งท่องเที่ยวที่แขกไปใครมาต้องมาแวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

การสร้างรูปจำลองพญานาคดังกล่าวมักจะมาพร้อมกับพิธีกรรมบวงสรวงใหญ่โต และการแต่งเรื่องราวประกอบอิงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นระหว่างสร้าง และสุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นการบนบานขอเลขดีเลขเด็ดจากเจ้าพ่อเจ้าแม่พญานาคเป็นสำคัญ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บูชาห้ามลบหลู่ไปอีกอย่าง

ในบางครั้งตำนานที่สร้างใหม่ก็ผสมผสานเอามาจากเรื่องราวดั้งเดิมดัดแปลง หรือเกิดขึ้นจากเพลง ภาพยนตร์ หรือละครที่เป็นที่นิยม ดังเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง “นาคี” ซึ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เป็นที่นิยมกันทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว ดัดแปลงตำนานอีสานและตำนานลาวหลายเรื่องผสมกัน จนทำให้ผู้ติดตามชมต้องตามหาสถานที่ท่องเที่ยวจากในละครเพื่อตามรอยตัวเอกกันยกใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจน่าเอาอย่าง

เรื่องราวของ “นาคี” นั้นมีบางส่วนกล่าวถึง “มรุกขนคร” อันเป็นเมืองเก่าแก่ยุคขอมต่อจากอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ และมีตำนานเล่าขานเรื่องความรักของนางนาคีกับเจ้าชายหนุ่ม ซึ่งโครงเรื่องไปคล้ายกับเรื่องผาแดงนางไอ่แต่สลับเพศกัน และเจ้าอาวาสของวัดได้พบนิมิตเกี่ยวกับพญานาคนี้ นำมาบอกศรัทธาบริจาคสร้างเป็นองค์พญานาคขนาดใหญ่ที่ จ.นครพนม ก่อนที่ละครจะถ่ายทำและฉายไม่นาน

Advertisement

หลังจาก จ.นครพนม ก่อสร้างรูปจำลองพญานาคได้ไม่นาน ทางเทศบาลเมืองหนองคายก็ได้มีแผนสร้างทางเดินเลียบริมแม่น้ำโขง และรูปจำลองเจ้าพ่อพญานาคขึ้นมาเช่นกัน โดยจะใช้ทั้งงบประมาณภาครัฐของเทศบาลเพื่อสร้างทางเดินริมตลิ่ง และใช้การเรี่ยไรเงินตามกำลังศรัทธาเพื่อสร้างองค์พญานาค อีกทั้งที่ อ.โพนพิสัย รวมถึงที่ จ.บึงกาฬ อันเป็นดินแดนบั้งไฟของพญานาคก็มีแนวคิดจะสร้างพญานาคองค์ใหญ่ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของเมือง

ไม่นานมานี้ แถวไม่ไกลจากบ้านผู้เขียนที่ ต.ปะโค และ ต.เวียงคุก อ.เมือง จ.หนองคาย มีงานสมโภชบวงสรวงพ่อปู่ปทุมนาคราชเป็นการใหญ่ โดยอ้างร่างทรงว่าให้บูชาแล้วจะเป็นมงคลแก่บ้านเมือง แต่ทว่าในตำนานโบราณดั้งเดิม ต.ปะโคนั้นชื่อเดิมคือเมืองพะโค หรือพระโค เคยเป็นที่ตั้งคอกพระโคของกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ เมื่อ 300 ปีก่อน มีพระธาตุเขี้ยวฝางประดิษฐานและมีพระโคอุสุภราชศิลาอาสน์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน

ความเชื่อถือศรัทธานั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่นำเอางบประมาณจากภาษีส่วนรวมไปใช้ก่อสร้างส่งเสริมความงมงาย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย หากทุกชุมชนท้องถิ่นริมแม่น้ำโขงจะเลียนแบบสร้างองค์พญานาคที่จินตนาการขึ้นมาใหม่เองหมด จนหลงลืมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ของตนซึ่งเคยนับถือบูชาปกปักรักษามาแต่โบราณไป ได้แต่ทำใจว่าความเชื่อความนับถือย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง เป็นเรื่องแต่งให้นับถือมาแต่ละยุคเท่านั้น

Advertisement

แต่จะสร้างพญานาคบูชาอย่างไร ก็อยากให้ระลึกว่า พญานาคนั้นเป็นที่นับถือบูชา เนื่องจากเหล่าพญานาคดำรงในศีลในธรรมและเคารพต่อธรรมะขององค์พระพุทธเจ้า เป็นผู้รักษาและบำรุงพระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ ดุจเมื่อครั้งพญามุจลินท์นาคราชแผ่พังพานปกป้องพระเศียรของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ หาใช่บูชาอิทธิฤทธิ์ใบ้หวยหรือบันดาลให้ร่ำรวยด้วยกำลังของพญานาคตามตำนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มี “คน” เป็นผู้แต่งสร้างให้เกิดขึ้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image