คอลัมน์แท็งก์ความคิด : อนาคตเกษตรกร

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : อนาคตเกษตรกร

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : อนาคตเกษตรกร

ภายในงานสัมมนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า” ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พูดหลายเรื่องน่าสนใจ

การประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิดนั้นก็เรื่องหนึ่ง

แต่อีกเรื่องหนึ่งคืออนาคตของเกษตรกรไทย

Advertisement

สรุปได้ว่า นายจุรินทร์มองว่าสินค้าการเกษตรไทยนั้นมีแนวทางต่อยอด

ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปผนึก แล้วผลักดันให้เกิดไบโออีโคโนมีขึ้นมา

ขณะเดียวกันก็สามารถสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” จากการเกษตร และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว

Advertisement

ทั้งหมดเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร นอกเหนือจากการขายพืชผลทางการเกษตรที่ดำเนินการอยู่แล้ว

ขณะที่การดำเนินการต่อยอดดังกล่าว กำลังขับเคลื่อนแนวทางการให้หลักประกันเกษตรกรก็ยังดำรงอยู่

การประกันรายได้ถือเป็นการให้หลักประกัน

หลักประกันเกษตรกรนี้ จะได้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรขายสินค้าได้น้อยกว่าราคาที่กำหนด

แต่ถ้าเกษตรกรขายสินค้าได้มากกว่าราคากำหนด รัฐบาลก็ไม่ต้องให้เงินประกันรายได้

ภายในงานสัมมนา นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในบอกว่า นอกจากการประกันรายได้แล้ว

ภาครัฐยังได้ดำเนินการ “คู่ขนาน” เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายของได้

ใช้หลัก ดีมานด์-ซัพพลาย นี่แหละเป็นกลไกจัดการ

เพราะผลผลิตพืชผลทางการเกษตรที่ออกมา บางห้วงเวลากระจุกตัวมาก

เมื่อสินค้ามากกว่าความต้องการ ราคาก็ตก

จึงต้องใช้วิธีการต่างๆ มาบริหารพืชผล

เช่น เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตอนที่ข้าวล้นตลาด แล้วค่อยๆ ทยอยขายตอนข้าวขาดตลาด

หรือการใช้กลไกภาษีนำเข้าช่วยบริหารจัดการปริมาณพืชคาร์โบไฮเดรต เป็นต้น

การใช้วิธี “คู่ขนาน” ไปกับ “ประกันรายได้” ทำให้เกษตรกรมีเงินจุนเจือครอบครัว

โชคดีที่ปีนี้ราคาพืชเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยเฉพาะปาล์มราคาพุ่งไปแตะสูงสุด 12 บาท

ขณะที่ราคายางพาราก็ขายได้ราคา ทำให้เกษตรกรอยู่ได้

อีกช่วงเวลาหนึ่งในงานสัมมนา เป็นเวทีเสวนาที่ชวนตัวแทนเกษตรกรมานั่งพูดคุย มีอธิบดีกรมการค้าภายในร่วมอยู่ด้วย

ฟังรวมๆ แล้ว ทุกคนยังต้องการนโยบายประกันรายได้เพื่อเป็นหลักประกันชีวิต

แต่เป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็น คือ พืชผลที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ขณะเดียวกันหากพืชผลที่เพาะปลูกสามารถหารายได้อื่นๆ เพิ่มได้ก็น่าสนใจ

อาทิ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ที่มองว่า นอกเหนือจากการขายยางพาราตามปกติแล้ว สวนยางพารายังเหมาะสำหรับการหารายได้จาก “คาร์บอนเครดิต”

ต่อไปป่ายางอาจจะกลายเป็นรายได้ให้ชาวสวนตามแนวโน้มนิยมสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เรื่องการแลกเปลี่ยน การใช้เหรียญดิจิทัล ก็เป็นอีกทางเลือกที่ผู้ว่าการการยางฯกำลังดำเนินการ

หรือไอเดียของ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกร จ.นครราชสีมา ที่มองว่าไทยมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพมากกว่าประเทศอื่น

ไทยผลิตข้าวโพดหัวเเข็ง เม็ดสีส้ม เมื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงไก่ ทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพ เนื้อสีสวย และรสชาติธรรมชาติ

นายเติมศักดิ์ยังสนับสนุนหลัก Green Economy โมเดล BCG ที่ประกอบด้วย Bio Circular และ Green Economy

เน้นวัตถุดิบที่ใส่ใจสิ่งเเวดล้อม อาหารปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของโลก

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ชื่นชมนโยบายประกันรายได้ไม่ขาดปาก

ชาวนาเองก็พยายามแบ่งโซนการปลูกข้าว และยังประสานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อกำหนดราคาข้าว

แต่สิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือ ยังคงเป็นเรื่องราคาปุ๋ยและยาฉีดที่พุ่งสูง

ขณะที่ นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าราคาปาล์มน้ำมันในขณะนี้สูงกว่าเดิมมาก

จากราคาประกัน 4 บาท ปีนี้พุ่งสูงสุด 12 บาท ทำให้ชาวสวนปาล์มมีรายได้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการ

วงสัมมนาได้ข้อสรุปร่วมกันว่า อาชีพเกษตรกรยังเป็นอาชีพที่สำคัญ

ทุกคนมองว่าพืชการเกษตรนั้นมีอนาคต แต่ต้องบริหารจัดการ ต้องมีหลักประกัน และมีการต่อยอด

โดยเฉพาะการต่อยอดที่ทำให้พืชเกษตรไทยตอบสนองตลาด

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะอาดปลอดภัย และเติมเต็มคุณภาพที่แตกต่างจากคู่แข่งขัน

ทั้งหมดนี้คืออนาคตของพืชเกษตร

อนาคตที่นายจุรินทร์ตั้งเป้าหมายเอาไว้ให้พืชเกษตรเป็นสินค้ามูลค่าสูง

แนวทางดังกล่าว หากประสบผล ย่อมทำให้เกษตรกรและประเทศชาติมีรายได้เพิ่ม

ภาพที่ฉายให้เห็นบนเวทีสัมมนาหากผลักดันให้เป็นรูปธรรม ย่อมทำให้เกษตรกรมีความหวัง

เพียงแต่หนทางสู่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือ

ร่วมมือกันเพื่อศักยภาพทางการเกษตรของไทย

ทำให้พืชผลทางการเกษตรกลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่โลกต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image