18 คน 11 ห้อง นำร่อง (หาร) ‘คนละครึ่ง’ นวัตกรรมใหม่เพื่อคนไร้บ้าน (หน้าใหม่) ได้มีบ้าน

หัวลำโพงคือหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่มีคนไร้บ้านอาศัยพักพิง

“เราต้องเชื่อมั่นศักยภาพคนในพื้นที่สาธารณะและให้โอกาสเขาตั้งหลักชีวิต”

คือถ้อยคำสำคัญของ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

บ่งบอกหลักการอันเป็นที่มาของแผนงานนำร่อง “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” ในรูปแบบที่อาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นการช่วย “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านได้มีบ้าน คล้ายๆ โครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาล

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ ช่วย “หาร” ไม่ใช่การจ่ายให้ทั้งหมด ภายใต้เหตุและผลที่น่าฟัง ท่ามกลางสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่ดึงกราฟ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

หนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่คนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครนิยมปักหมุด คือ “หัวลำโพง”

ล่าสุด แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมือง ร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ลงพื้นที่โดยมีอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพงอันงดงามเป็นฉากหลัง

นั่งจับเข่าพูดคุยกลุ่มคนไร้บ้านนำร่องหน้าใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยให้มั่นคงปลอดภัย และพัฒนาทักษะอาชีพที่สัมพันธ์กับความถนัด เน้นการ “ตั้งตัว” ของคนไร้บ้านหน้าใหม่ให้กลับมาหยัดยืนอีกครั้ง

Advertisement

⦁เชื่อใจ ให้โอกาส คีย์เวิร์ดสำคัญช่วย‘คนในพื้นที่สาธารณะ’

ภรณี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ฉายภาพกว้างให้เห็นแจ่มชัดว่า การดูแลคนไร้บ้านทั้งแบบถาวรและหน้าใหม่มีกระทรวง พม. ดำเนินงานเป็นหลัก โดย สสส. ร่วมสนับสนุนในส่วนของนวัตกรรม ต่างๆ เพื่อให้ พม. เลือกรับและนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย

“สสส.สนับสนุนตรงไปที่ภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ ซึ่งทำงานเชิงลึก เป็นทางเลือกให้กระทรวง พม.ที่เข้าไปหนุนเสริมระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน การมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตรการเดิมอาจไม่เพียงพอ เราจึงพยายามทบทวน ค้นหาวิธีการทั้งจากโมเดลต่างประเทศ และประเมินความเป็นไปได้ในไทย

ทั่วโลก แม้ประเทศที่เจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่น อเมริกา ก็มีคนออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ การสร้างทางเลือกให้กับความหลากหลายเป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสนใจว่านอกจากการที่ พม.จะพาคนกลุ่มนี้ไปอยู่ในศูนย์คนไร้ที่พึ่งแล้ว ยังมีทางเลือกอะไรได้อีกบ้าง เพราะบางคนไม่อยากไป เนื่องจากอยู่ไกลจากแหล่งประกอบอาชีพ หลายคนเก็บขยะ หาของเก่า รับจ้างอยู่ในเมือง โมเดลคนละครึ่งซึ่งเราเริ่มต้นนำร่องที่หัวลำโพงจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น เพราะคนไร้บ้านคุ้นชินกับพื้นที่ และมีที่พักราคาถูกในย่านนี้” ผอ.ภรณีเล่า ก่อนอธิบายต่อไปว่าที่พักดังกล่าว แม้ราคาไม่สูงแต่ด้วยความไม่แน่นอนของรายได้ คนกลุ่มนี้จึงไม่สามารถจ่ายได้เองอย่างต่อเนื่อง

การลงพื้นที่ย่านหัวลำโพงโดยแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมือง, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม., สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

“ถ้าให้เขาจ่ายเองเดือนละ 2-3 พันบาท ก็ไม่สามารถจ่ายได้ต่อเนื่อง ต้องถูกไล่ออกมาเพราะรายได้ไม่พอ ทำให้เขาต้องออกไปอยู่ข้างถนน ยิ่งทำให้เขาเป็นคนไร้บ้านถาวรมากขึ้น การทำให้เขาได้มีที่พักแม้จะเป็นที่พักราคาถูกก่อนในเบื้องต้น จะยังทำให้คนกลุ่มนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ มีสังคม มีที่อยู่ ไม่ได้กลายเป็นคนเร่ร่อน จึงมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้อีก เมื่อมีอาหาร ที่อยู่อาศัย อาชีพต้องตามมา ส่วนสิทธิและสวัสดิการ ทาง พม.ดำเนินการอยู่แล้ว”

⦁60-60 (ส่วนเกิน) คนละครึ่ง เพื่อกองทุนขยายโอกาส

เมื่อถามว่า “คนละครึ่ง” ที่ว่านี้ มีหลักดำเนินการอย่างไร และทำไมไม่จ่ายให้ทั้งหมด แบบไม่หาร?

ภรณี ตอบว่าตอนนี้คนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐคงไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณแบบฟรีให้กับทุกคน แต่จะให้คนที่ตั้งใจประกอบอาชีพ และมีความยากลำบากจริงๆ เรื่องที่อยู่อาศัยก่อน อีกทั้งต้องยินดีเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรกไปจนจบ

“การให้โอกาส และความเชื่อมั่นในศักยภาพ คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่นำมาสู่รูปแบบการแชร์ค่าที่อยู่อาศัยระหว่างภาครัฐ สสส. และคนไร้บ้าน การสมทบค่าที่อยู่อาศัยก็ถูกพูดคุยปรับรายละเอียดเยอะ ในตอนแรกอาจพูดเพียงแค่ 50-50 ก่อน แต่ในภายหลังขยับเป็น 60-60 คือ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจ่าย 60 เปอร์เซ็นต์ให้คนไร้บ้าน ส่วนที่เกินจาก 100 ไป คือ 20 เปอร์เซ็นต์ เราจะนำไปจัดตั้งกองทุนเพื่อขยายโอกาสในการทำที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าโครงการในเฟสแรก และเข้าไปนำเงินนี้ไปใช้ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้โอกาสด้านอาชีพต่อยอดเรื่องอื่นๆ ด้วย จึงต้องมีกองทุนคนไร้บ้านให้เขาบริหารจัดการกันเองอีก 20 เปอร์เซ็นต์”

สำหรับการคัดเลือกคนเข้าร่วมโครงการ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติว่าเป็นคนไร้บ้านจริงๆ เบื้องต้น จึงเริ่มในกลุ่มเล็กๆ แต่ในระยะยาวจะขยายแนวทางนี้ให้ครอบคลุมคนให้มากขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ละเอียดขึ้น โอกาสที่จะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จ ก็ต้องขึ้นกับความร่วมมือของหลายภาคส่วน”

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. จับเข่านั่งล้อมวงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมโครงการในย่านหัวลำโพง

⦁‘รัฐ เอ็นจีโอ ภาควิชาการ’ เปลี่ยนชั้นเชิงการทำงานสู่พาร์ตเนอร์ระยะยาว

ประเด็นเรื่องการคัดสรรกลุ่มคนไร้บ้านเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า โครงการนี้เหมาะกับคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่งอยู่ในสถานะดังกล่าวไม่ถึง 10 ปี ยังไม่ได้รับความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตสาธารณะจากการไร้บ้าน เพราะหากยิ่งอยู่ไร้บ้านมานาน มีผลศึกษาทางวิชาการว่ามีความจำเป็นที่ต้องฟื้นฟูในเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะสุขภาพทางจิต

“การทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเริ่มมีโควิด-19 และรุนแรงขึ้น จึงพัฒนาโมเดลที่อาจจะเรียกชื่อเล่นได้ว่า คนละครึ่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่อยู่อาศัยทางเลือกสำหรับคนไร้บ้าน ทรัพยากรในการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย จะมาจาก 3 ทาง ทางแรกคือจากคนไร้บ้าน คือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะสมทบเปอร์เซ็นต์ที่เกินจากครึ่งหนึ่งไว้ ที่เกินจะเข้ากองทุนกลางซึ่งจะช่วยหมุนเวียนกลับไป ทางที่ 2 มาจากภาคเอกชน ซึ่งภายใน 1-2 เดือนนี้จะมีแคมเปญระดมทุน และทางที่ 3 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะเข้ามาสนับสนุน

สำหรับทางกระทรวง พม. ทางเอ็นจีโอจะมาช่วยในการทำงานในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องอาชีพเรื่องการเข้าถึงงานและรายได้ก็จะทำให้คนที่เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวของตัวเองได้และเป็นการพิสูจน์ว่าคนไร้บ้านเป็นคนที่มีศักยภาพ และลบภาพที่มีต่อคนไร้บ้านจำนวนมากของคนไทย”

อนรรฆ เผยว่า โมเดลนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงชั้นเชิงของการทำงานของภาครัฐกับกลุ่มเปราะบางที่ส่งสัญญาณบวก

“ภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอ ของประชาสังคม ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐอาจจะมีข้อจำกัดหลายเรื่องที่ทำไม่ได้ ซึ่งตอนนี้หลายเรื่องทางภาคเอกชน เอ็นจีโอทำได้ดีกว่าเพราะใกล้ชิดกับประชากรกลุ่มเปราะบาง และมีความคล่องตัวมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่ามีการปรับบทบาท สิ่งนี้จะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในการทำงานภาครัฐกับภาคประชาชนเกิดขึ้นจริง สามารถเป็นพาร์ตเนอร์กันได้จริงในระยะยาว”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

⦁18 คน 11 ห้อง นำร่องผลักดันนโยบายของพรุ่งนี้

ปิดท้ายด้วยข้อมูลของ สมพร หารพรม หรือ “โด่ง” จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งเล่าลงลึกในรายละเอียดว่า โมเดลนี้ยังอยู่ในช่วงการนำร่องที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเพื่อผลักดันเป็นนโยบายในอนาคต โดยมีผู้ร่วมโครงการในขณะนี้ 18 ราย 11 ห้องพัก ทั้งแบบอยู่คนเดียว และเป็นครอบครัว

 

ชุมชนสลักหิน มีห้องเช่ารายวันราคาถูกที่โครงการนำร่อง ‘คนละครึ่ง’ ร่วมจ่ายค่าเช่าให้คนไร้บ้านหน้าใหม่

ห้องพักทั้งหมดอยู่ใน 3 จุดหลักของย่านหัวลำโพง ได้แก่ 1.ซอยวัดดวงแข 2.ชุมชนสลักหิน 3.พื้นที่ฝั่งตรงข้ามคลองผดุงกรุงเกษม

“ห้องพักมี 3 ลักษณะ คือ 1.บ้านเป็นหลังที่ถูกซอยเป็นห้องในซอยวัดดวงแข 2.ที่พักกึ่งห้องแถวแบ่งเช่าในซอยสลักหิน สองจุดนี้ห่างกันไม่ถึง 500 เมตร ลักษณะห้องเช่าก็คล้ายกันคือการเอาบ้านหรือห้องแถวมาแบ่งเป็นห้องเล็ก และ 3.ห้องพักกึ่งอพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้ามคลองผดุงกรุงเกษม” โด่งอธิบาย พร้อมเล่าถึงเรื่องราวที่ช่วยให้มองเห็นถึงภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่ร่วมโครงการได้ดียิ่งขึ้น

“เดิมพี่น้องคนไร้บ้านเขาก็เช่าอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเป็นการเช่าตามศักยภาพ เมื่อมีงาน มีเงิน ก็เช่าเป็นรายวัน เช่น ในซอยวัดดวงแขมี 2 ราคา คือ 3 วัน 200 บาท กับวันละ 60 บาท ส่วนในซอยสลักหิน มักเป็นรายเดือน ก่อนเริ่มโครงการ เราไปคุยกับเจ้าของบ้านไว้ก่อน เขาเองก็อยากได้ค่าเช่าอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีระบบจัดการอย่างไรให้มีรายได้ทุกวัน ที่ผ่านมาเขาต้องเก็บทุกวันเพราะไม่เสี่ยง แต่พอมีโครงการเข้าไป ก็เป็นการการันตีว่าได้เค่าเช่าแน่ๆ

โครงการของเราไปคุยกับผู้ประกอบการว่าจะสมทบเป็นรายเดือน ส่วนพี่น้อง ถ้าสะดวกจ่ายเป็นรายวันก็แล้วแต่เขา แต่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด”

ซอยวัดดวงแข มีห้องเช่าวันละ 60 บาทและ 3 วัน 200 บาทซึ่งกลุ่มเปราะบางเช่าตามสถานการณ์การเงิน ก่อนมีนวัตกรรมที่หลายภาคส่วนร่วมมือช่วยหาร ‘คนละครึ่ง’

⦁ติดตามผล 1 เดือนตอบโจทย์ เล็งขยายพื้นที่ ย้ำ ‘ศักดิ์ศรี-การมีส่วนร่วม’

สำหรับกรอบเวลาดำเนินโครงการนำร่อง โด่ง สมพร บอกว่า หลังจากเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เมื่อลงไปติดตามสอบถามความเป็นอยู่ ส่วนใหญ่เปิดใจตรงกันว่า ทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนทำงานเพียงเพื่อที่ให้เงินพอจ่ายค่าเช่าห้องทั้งหมด ดังนั้น เงินที่ลงแรงหามา ก็สามารถเก็บส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในเดือนต่อๆ ไปได้

“หลักการแรกที่คุยกับพี่น้องก่อนเริ่มโครงการ เราไม่อยากให้เป็นการทำงานโดยสงเคราะห์ทั้งหมด อย่างน้อยต้องให้เขามีศักดิ์ศรีในการมีส่วนร่วมจัดการที่อยู่อาศัยของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะตอบโจทย์สังคมค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาว่า ถ้าไม่สนับสนุนทั้งหมดจะมีระบบการจัดการอย่างไร ที่จะทำให้เขาอยู่รอด และสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ด้วย เลยเป็นที่มาของการแชร์จ่ายร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตก็ต้องคิดเรื่องของกองทุนที่พี่น้องต้องสมทบด้วยอย่างน้อยวางเป้าไว้ว่า 3-6 เดือน ขยับให้เขามีที่อยู่อาศัยมากขึ้น”

ส่วนทิศทางในอนาคต ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกล่าวว่า วางแผนไว้ 2 ส่วน

“ส่วนแรก จากหัวลำโพงเป็นการนำร่อง เราก็จะประเมินเพื่อขยับขยายในพื้นที่ซึ่งมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ คือขยับพื้นที่ออกไปด้วย

ส่วนที่ 2 คิดว่าจะทำให้เป็นนโยบายโดยรัฐเข้ามามีส่วนร่วมแบบเต็มตัว นี่ก็เป็นเรื่องของอนาคต” โด่ง สมพรทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง

เป็นอีกหนึ่งโมเดลน่าจับตาและร่วมลุ้นให้เดินหน้าอย่างมั่นคง เพื่อคนไร้บ้านที่อยากมีบ้าน โดยคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในฐานะสมาชิกของสังคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image