อาศรมมิวสิค : วงปล่อยแก่ ตัวเราคือหมอที่ดีที่สุดของเรา เปลี่ยนความแก่ให้เป็นพลัง

ปล่อยแก่ ชื่อละครตลก เป็นละครพูดปนละครร้อง ศิลปินคณะนายบัว วิเศษกุล ที่นครศรีธรรมราช แสดงรับเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในคืนวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2452 บันทึกไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้

อาการปล่อยแก่ หมายถึง การบอกให้ลูกหลานรู้ว่าอย่าได้ถือสาอะไรกับคนแก่ โปรดเปิดโอกาสให้คนแก่ได้ปล่อยแก่สักที การปล่อยแก่เป็นวันที่ได้รับการยกเว้นจากขนบ
ที่มีมาก่อน คนแก่ได้รักษาความแก่เอาไว้กับตัว เมื่อรู้สึกว่าแก่แล้ว ก็ต้องสงวนกิริยาเพื่อให้เด็กรุ่นหลังนับถือว่าเป็นคนแก่ คนแก่เป็นผู้เฒ่าของชุมชน คนแก่ตกอยู่ในสภาพไร้อารมณ์ ไร้ศักยภาพ หมดลาภยศสรรเสริญ ลดละทั้งรูปรสกลิ่นเสียง เบื่อโลก เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต เบื่ออารมณ์ เบื่อคน เบื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน คนแก่
จึงตกอยู่ในสภาพแก่มะพร้าวเฒ่ามะละกอ แก่แล้วแก่เลย และอยู่รอวันตาย

ความแก่เป็นโรค อารมณ์การปล่อยแก่ต้องการบอกว่า คนแก่ยังมีชีวิต มีอารมณ์ ยังมีความรู้สึก ยังมีความสนุก ชีวิตยังมีความหวัง หวังว่าจะมีชีวิตที่ดี แม้จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนนัก แต่คนแก่ก็ยังต้องการความรักความอบอุ่น การปล่อยแก่จึงเป็นพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับความเป็นคนแก่ เพื่อจะสลัดความแก่ออกไป และต้องการให้คนแก่มีความรู้สึกกระชุ่มกระชวยเข้ามาแทน

ปล่อยแก่ เป็นชื่อวงขับร้องประสานเสียงของคนแก่ นำเอาอารมณ์ความรู้สึก ความรักความผูกพัน ความสนุกสนาน และความมีชีวิตชีวา ถ่ายทอดออกมาผ่านการร้องเพลง เพื่อให้คนแก่มีชีวิตที่จะช่วยตนเองได้ อยู่ด้วยตัวเองได้ วงปล่อยแก่เป็นวิธีการใช้ดนตรีเพื่อบำบัดรักษาโรคคนแก่

Advertisement

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดตั้งวงขับร้องประสานเสียงวงปล่อยแก่ เมื่อ พ.ศ.2562 เพื่อให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้มีโอกาสร้องเพลงที่ชอบ มีเพื่อนร่วมร้องเพลง ร้องเพลงแล้วมีคนฟัง เพื่อสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับคนแก่ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนแก่ให้มีสุขภาพกาย จิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกที่ดี พัฒนาคนแก่ให้มีสังคม มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต สร้างบรรยากาศการมีเพื่อนที่รู้จักและรู้ใจ ได้ร้องเพลงร่วมสมัย เพื่อช่วยบำรุงจิตใจให้คนแก่มีความสุข

การร้องเพลงได้รักษาโรคต่างๆ ความจำเสื่อม ขี้ลืม เครียด ซึมเศร้า เหงา ว้าเหว่ เพลงเป็นเพื่อนในยามเหงา การร้องเพลงเป็นโอกาสให้คนแก่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับคนอื่น ทำให้มีจิตใจเบิกบาน เลือดสูบฉีด หน้าตาอิ่มเอิบสดใส เพลงเป็นสื่อเชื่อมให้คนแก่ได้เจอกัน การร้องเพลงจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่สั่งการให้อวัยวะทำงาน เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้ช่วยเกิดระบบการไหลเวียนของธาตุต่างๆ ในร่างกายทั้งดินน้ำลมไฟให้เคลื่อนไหวและกระตุ้นให้อวัยวะในร่างกายทำงาน

การร้องเพลงจะช่วยลดปัญหาของคนแก่ ลดภาระการดูแลคนแก่ ใช้ดนตรีบำบัดกับคนแก่ เพื่อจะช่วยตัวคนแก่เองและช่วยลดความเจ็บป่วย เป็นทางเลือกที่จะทดแทนการใช้ยารักษาอาการของบางโรค ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศให้คนแก่มีชีวิตชีวาและทำให้คนแก่มีชีวิตอย่างมีความหวัง

Advertisement

ปี พ.ศ.2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สนับสนุนจัดวงปล่อยแก่เพิ่มขึ้นใน 5 เมือง คือ ที่ยะลา ลำปาง ราชบุรี เชียงใหม่ และอุดรธานี วงร้องเพลงของคนแก่ที่ตั้งขึ้นเพื่อทดลองและใช้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนสังคมเมือง เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนานโยบายชาติสำหรับคนแก่ต่อไป เป้าหมายเพื่อให้คนแก่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถย้อมใจให้คนแก่รู้สึกว่าตนยังมีคุณค่าทั้งตัวเองและมีคุณค่าต่อคนอื่นด้วย

ดนตรีเป็นยารักษาโรค หมอผีในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ใช้ดนตรีในการรักษาโรคมานานแล้ว โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่มีหลักฐานทางวัฒนธรรม มีความเชื่อว่าดนตรีมีอำนาจ ดนตรีช่วยขจัดโรคภัยได้ ดนตรีช่วยขจัดความกลัว ดนตรีสามารถสร้างความอบอุ่นให้กับจิตใจ เพราะความป่วยไข้ถือเป็น “ผี” จำพวกหนึ่ง เมื่อผีเข้าไปสิงสู่อยู่ในร่างกายมนุษย์ จึงทำให้ร่างกายเจ็บป่วย ครั้นเอาเสียงดนตรีไปบำบัดความเจ็บป่วย ทำให้เสียงดังๆ เพื่อให้ผีหนีหายออกจากร่างไป ร่างกายก็เข้าสู่ภาวะปรกติ คือหายป่วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า “ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน”

ธรรมชาติมนุษย์มีความกลัวเป็นพื้นฐาน ยิ่งมีความเงียบเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความกลัวมากขึ้นเท่านั้น เสียงดนตรีมีความไพเราะและมีเสียงดัง ทำให้คนรู้สึกหายจากความกลัว จิตใจมนุษย์ที่ปราศจากความกลัวคือเมื่อความกลัวได้ออกจากจิตใจไปแล้ว ความกล้าหาญและความเชื่อมั่นก็จะเข้ามาแทนที่

เสียงคือพลังงาน เสียงคืออำนาจ เสียงเป็นพลังงานที่มีอำนาจ พลังเสียงทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวทำเกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา การพัฒนาทำให้เกิดความเจริญ เสียงดนตรีจึงเป็นอุปกรณ์ของผู้นำ ผู้นำต้องอาศัยอำนาจเพื่อใช้ในการปกครอง ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีอำนาจ จึงเป็นผู้กำกับในการใช้เสียง เสียงเป็นอุปกรณ์การปกครอง เสียงสร้างพลังและสร้างความเจริญ

เสียงดนตรีมีความไพเราะ ผู้นำทางจิตวิญญาณ หมอผี นักบวช ผู้นำทางศาสนา ใช้ดนตรีในการปกครอง ผู้นำทางปัญญา ผู้มีความรู้ ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่มีกำลังมากกว่าผู้อื่น ผู้นำทางเทคโนโลยี ผู้มีวิสัยทัศน์ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้เสียงในการเปลี่ยนแปลง ใช้ดนตรีเพื่อสร้างความสามัคคีของปวงชน ใช้พลังของเสียงเพื่อรวบรวมผู้คนให้เป็นพวกเดียวกัน

เสียงที่กระด้างจะหนวกหู เสียงที่ไม่มีระเบียบจะหยาบ ไม่มีความไพเราะ นำไปใช้เพื่อจะแยกฝูงชนออกจากกัน อาทิ เสียงรถหวอขอให้หลีกทาง เสียงเตือนภัย แผ่นดินไหว
ไฟไหม้ ตึกถล่ม เสียงเตือนภัย เสียงยิงจรวด เสียงระเบิด ทำให้คนตกใจกลัววิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด

ข้อมูล (มกราคมปี 2564) คนแก่ของไทยที่อายุเกิน 60 ปี เกือบ 13 ล้านคน อีก 10 ปี จะมีคนแก่เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนคนแก่ที่สูง คุณสมบัติคนแก่คือ ผู้ที่เกษียณจากการทำงาน ไม่ได้ทำงาน ไม่มีอาชีพ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย หากจะมีงานทำก็เป็นงานที่ไม่สร้างรายได้ พวกงานอาสาสมัครหรืองานเพื่อการบำบัดรักษา

คนแก่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ลงทุนใดๆ คนแก่จึงต้องกินบุญเก่า เป็นภาระให้ลูกหลานรับผิดชอบเลี้ยงดู เป็นภาระของรัฐที่ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีพ เสียค่าใช้ในการดูแลรักษา มีรายจ่ายอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะตาย ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บเอาไว้ อาจจะต้องใช้จ่ายหมดไปกับการดูแลรักษา คือการเก็บเงินเอาไว้ให้หมอ

นานวันเข้า คนแก่ก็จะช่วยตัวเองไม่ได้ หากจะต้องอยู่นานและมีชีวิตที่ยืนยาว ก็เป็นภาระของผู้เลี้ยงดู คนแก่จะตายเร็วหรือตายช้า มีเรื่องที่จะต้องจ่ายเงินตลอดเวลา ต้องเสียเงินให้คนที่ดูแล เสียเวลาคนทำงาน คนแก่ไม่สร้างรายได้ ในที่สุดคนแก่ก็คือผู้ที่เป็นภาระของสังคม

แม้คนแก่จะได้สร้างคุณูปการไว้กับสังคมมาทั้งชีวิต แต่วันหนึ่งเมื่อคนต้องแก่ สิ่งที่ตามมาก็คือการช่วยตัวเองไม่ได้ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนแก่สามารถช่วยตัวเองให้มากที่สุดและอยู่ได้นานที่สุด หากคนแก่สามารถทำงานจนตายคาโต๊ะได้โดยไม่เป็นภาระกับใคร เป็นการประหยัดค่าเลี้ยงดูรักษามหาศาล สังคมที่สามารถทำให้คนแก่
ช่วยตัวเองได้มากที่สุด สังคมนั้นจะเจริญและร่ำรวย เพราะไม่ต้องแบกภาระคนแก่

คนแก่ 1 คน ใช้เงินดูแลรักษา ค่าตอบแทนคนเลี้ยงดู ค่ารักษาพยาบาล 12,000 บาทต่อเดือน เป็น 144,000 บาทต่อปี หากมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน ต้องใช้เงิน 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งครอบครัวและรัฐจะต้องรับผิดชอบ

การร้องเพลงเป็นการออกกำลังกายจากภายใน เปล่งเสียงครั้งหนึ่งทำให้สมองต้องคิดสั่งการ หูต้องฟังเสียงดนตรี ต้องร้องและฟังจังหวะ ปอดหายใจเต็มที่เพื่อรองรับการกลั้นลมหายใจขณะที่เปล่งเสียง กระเพาะทำหน้าที่ย่อยอาหารได้เร็วขึ้น กระดูกในร่างกายได้ขยับ ยืนหลังตรงเมื่อร้องเพลง กระบังลมจะทำหน้าที่ช่วยให้หายใจได้ลึกยาว ตามองโน้ตเพลงดูผู้ควบคุมวง จัดระเบียบดูความพร้อมเพรียง ปากได้เปล่งเสียงให้ถูกภาษา หัวใจเต้นเร็วขึ้น
หัวใจสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น ลำไส้ได้ยืดขยาย ตับได้ทำงาน ผิวหนังมีรูขุมขนทำให้ลมผ่าน กล้ามเนื้อขยายออก ร้องเพลงแล้วรู้สึกว่าขนลุก รู้สึกว่ามีความสุข

การร้องเพลงทำให้ฮอร์โมน (Hormone) ทำงาน เกิดความเคลื่อนไหวเป็นตัวนำสารเคมีกลุ่มเซลล์หนึ่งไปยังอีกกลุ่มเซลล์หนึ่ง ฮอร์โมนจะถูกปล่อยโดยตรงไปยังกระแสเลือด เพื่อจะช่วยกระตุ้นจุดที่ดี ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุดร้าย ซึ่งเป็นการบำบัดและรักษาในเวลาเดียวกัน

เมื่อ 40-50 ปีก่อน บ้านไหนหรือชุมชนใดมีคนแก่ ประหนึ่งว่ามีทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ผู้คนล้อมหน้าล้อมหลัง คนแก่คือผู้เฒ่า ถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญใหญ่ ใครได้พบกับผู้เฒ่าประดุจได้พบผู้มีบุญ สามารถกราบไหว้ผู้เฒ่าดุจไหว้พระ คนแก่มีผู้คนเคารพนับถือเป็นที่พึ่งของชุมชน เมื่อชุมชนมีปัญหาก็สามารถปรึกษาผู้เฒ่าได้ ทำให้ชีวิตของ “พ่อเฒ่าและแม่เฒ่า” มีความหมาย

ปัจจุบันเปลี่ยนไป บ้านไหนมีคนแก่กลายเป็นภาระของครอบครัว คนแก่ถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ความรู้ของคนแก่กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ คนแก่กลายเป็นคนที่อยู่อย่างไร้ค่า เป็นคนที่เหงาและว้าเหว่ ไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สิน คนแก่ตกเป็นภาระในการเลี้ยงดู คนแก่ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครเอาใจใส่ คนแก่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนแก่ตกอยู่อย่างยถากรรม

วงปล่อยแก่ เป็นอุปกรณ์เพื่อทดลองในการรักษาและบำบัดคนแก่ ทำคนแก่ให้มีพลัง เพราะว่าการเล่นดนตรี การร้องเพลง เป็นความบันเทิงที่ทำให้มีความสุข แถมยังเป็นการดูแลรักษาคนแก่ให้อายุยืนด้วย

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image