ลึกกว่าดราม่า ‘ปรากฏการณ์ #แตงโม’ เมื่อสังคมไม่เงียบ

การแสดงครั้งสุดท้ายในละคร ‘คุณชาย’ ทางช่อง one ซึ่งยังถ่ายทำไม่จบ

#แตงโม

คือแฮชแท็กในข่าวสารที่สังคมไทยให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ สื่อหลัก สื่อออนไลน์ ไอจี ทวิตเตอร์ เพจดัง เฟซบุ๊ก ไลน์กรุ๊ป ฯลฯ คือหลากช่องทางการติดตามที่อัพเดตกันนาทีต่อนาที

มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อสันนิษฐาน จนถึงขั้นเฟคนิวส์ที่ต้องเช็กซ้ำ

โศกนาฏกรรมของดาราสาว แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ที่ตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาท่ามกลางข้อสงสัยมากมายกลายเป็นเสมือนวาระแห่งชาติในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

นักสืบโซเชียลทำงานอย่างแข็งขัน สื่อมวลชนก็ทำงานหนัก ผู้บริโภคข่าวเกาะติดไถทวิตเตอร์ตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงก่อนเข้านอน

กรมสุขภาพอีกทั้งนักจิตวิทยาชื่อดังถึงขนาดต้องออกมาแจ้งเตือนพร้อมให้คำแนะนำในการเสพข่าวไม่ให้ดำดิ่งถึงขั้นส่งผลกระทบต่อภาวะเครียด

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้ร่วมวิเคราะห์ในแง่มุมวิชาการ

Advertisement

ย้อนไปในช่วงค่ำของวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา รายการ Mirror Mirror! สะท้อน ตอน #แตงโม ผ่านมายาคติของสังคมไทย ของ อั๋น ภูวนาท คุนผลิน พิธีกร-ดีเจดัง เชิญ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เกียวโต และ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการโหนกระแสเป็นแขกรับเชิญ

มีประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง

คลิปสุดท้ายบนเรือก่อนเกิดโศกนาฏกรรม แตงโม ร้องเพลง ‘จากนี้ไปจนนิรันดร์’ กลายเป็นอีกประเด็นที่นักสืบโซเชียลตั้งข้อสงสัยเสียงชายปริศนา ส่งผลให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ระบุว่าจะมีการสอบหลักฐานดังกล่าวด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักมานุษยวิทยาติง ‘สื่อ’
เป็นเวทีให้สังคมเขียน ‘นิยายนักสืบ’

เริ่มที่ รศ.ดร.ยุกติ แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งมองว่า สิ่งที่สนใจคือสังคมกำลังเกิดอะไรขึ้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ส่วนตัวมองว่าสังคมไทยมีคำว่า “ดราม่า” คือภาวะที่ทำให้ปรากฏการณ์หนึ่งกลายเป็นเหมือนละคร คำในเชิงวิเคราะห์คือเป็นเรื่องเล่า (Narrative) หรือการสร้างเรื่องเล่าเรื่องปะติดปะต่อเรื่องราวซึ่งเป็นวิธีแบบนิยายนักสืบ สังคมกำลังร่วมเขียนนิยายนักสืบ โดยมีสื่อมวลชนเป็นเวที หรือช่องทางให้คนเขียนนิยายนักสืบ พอเรื่องอยู่ในโซเชียลมีเดีย สังคมที่อยู่ในโลกออนไลน์ยิ่งเป็นพื้นที่ที่เห็นกันมากขึ้น แทนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นการคุยในวงเล็กๆ นึกถึงช่องทางประเภทจอยลดาที่เป็นแอพพลิเคชั่นในการจำลองเขียนนิยายในลักษณะที่เป็นแชตรูม ตอนนี้สังคมไทยได้สร้างแชตรูมขนาดใหญ่ ไม่มีพรมแดนระหว่างโซเชียลมีเดียกับสื่อกระแสหลัก

“ตอนนี้มันไหลมากันหมดเลย พรมแดนนี้หายไปหลังจากโควิด-19 ด้วย และวิธีที่คนสนทนากันใช้วิธีการสร้างแบบนิยายนักสืบผ่านช่องทางขนาดใหญ่ คิดว่ามีการเรียนรู้ทั้ง 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือสังคมควรจะเรียนรู้ และสื่อมวลชนควรจะมีกรอบ หรือขอบเขตบางอย่าง ประคับประคองไม่ให้เรื่องแบบนี้กลายเป็นดราม่ามากขนาดนี้ อีกด้านหนึ่งคือผู้ที่เป็นคนรับผิดชอบหลักในยวดยานต่างๆ เช่น ที่ผ่านมามีเรื่องอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ขี่รถชน คนรับผิดชอบคือคนเดียว

ขณะเดียวกันยวดยานที่มีคนโดยสารด้วยหลายคน คนขับรถจะต้องมีความรับผิดชอบต่อคนที่นั่งอยู่แค่ไหน ใบขับขี่รถโดยสารสาธารณะจะต้องมีอายุเท่าไหร่ และความรับผิดชอบอะไรบ้าง และเรือ ถ้ามีคนตกลงไปในน้ำ เขาควรจะทำอะไรและทำตามได้แค่ไหน จริงจังกับมันได้แค่ไหน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

 

ครั้งเข้าประกวด ‘มิสทีนไทยแลนด์’ ก่อนเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว
(ภาพจากเฟซบุ๊ก โอที รัฐธนินท์ จิรวัฒน์โภคิน เพื่อนสมัยเรียนมัธยม)

อย่าส่งเสียงแค่ #แตงโม
สังหาร-อุ้มหายไม่เป็นธรรมเพียบ

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวต่อไปว่า ในสังคมไทยยังมีผู้ถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรม ถูกอุ้มฆ่า จึงอยากให้ตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงไม่สนใจเช่นเดียวกัน

“อยากให้มาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเรื่องที่ดราม่าเหมือนกันที่มีเงื่อนงำเยอะแยะและเกี่ยวกับความยุติธรรมด้วยเหมือนกัน หรืออาจจะชัดเจนกว่านี้อีก ในเรื่องที่ผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมเราไม่สนใจเรื่องนั้นบ้าง ทำไมเรามาสนใจเรื่องนี้

“เรามีคำตอบว่าแตงโมเป็นคนดัง เป็นคนสำคัญ แต่ว่าสิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมเราเป็นอะไรกันแน่ ถึงปล่อยปละให้คนตายมากกว่านี้ ที่เขาโดนอุ้ม โดนสังหารไม่เป็นธรรมต่างๆ ท้ายที่สุดคือการที่เราเรียกคนนั้นคนนี้ว่าไฮโซ เป็นเพราะว่าเราสนใจแค่คนที่อยู่ในสถานะที่สูงส่ง แล้วเรารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษอย่างนั้นหรือไม่ มีหลายคนที่เราไม่สนใจ เรื่องนี้สะท้อนสังคมที่ไม่ได้ดูดายกับคนจริงๆ แต่ว่าสนใจแค่คนบางคน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว พร้อมเล่าว่า เคยให้ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน มาบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ความเงียบ

“การที่สังคมเงียบกับเรื่องมากมายแต่ตอนนี้เราส่งเสียงกันแบบระเบ็งเซ็งแซ่เกี่ยวกับแตงโม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนเสียชีวิตไปคนหนึ่งและสังคมให้ความสนใจ แสดงให้เห็นว่าสังคมก็แคร์ แต่ว่าถามตัวเองว่ามีใครบ้างที่เราแคร์และใครบ้างที่เราไม่แคร์ ใครบ้างที่เราส่งเสียงกับใครบ้างที่เราเงียบ และเรื่องที่เงียบมีเรื่องอะไรอีก ความเงียบเหล่านั้นได้บอกถึงสังคมสั่งสมปัญหาอะไรไว้ เรื่องที่ถูกทำให้พูดไม่ได้ เรื่องที่ทำให้เราต้องเงียบต่างๆ โศกนาฏกรรมที่เกิดกับคนมากมายที่ไม่ได้ถูกพูด อยากย้อนกับสังคมโดยรวมอย่างนี้” อาจารย์สังคมวิทยาทิ้งท้าย

นักข่าวตามไขปม เพราะราชการไม่มีคำตอบ?

ด้าน หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรโหนกระแส กล่าวว่า รู้สึกเริ่มสับสนในหลายๆ ทาง สังคมเริ่มตีประเด็นว่ามีหลักฐานตรงนี้ตรงนั้น สุดท้ายตอนนี้เป็นสื่อที่วิ่งไปตามแก้เอง เช่น กรณีเรื่องไฟสะพานพระราม 8 ไม่มีคำตอบจากราชการเลย สุดท้ายสื่อต้องวิ่งไปถามเองว่าเกิดอะไรขึ้น ประชาชนถึงได้ทราบว่าไม่ใช่แบบนี้ รวมถึงมีเรื่องเรือที่จอดใกล้สะพานพระราม 8 เวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่า เป็นเรือลำเดียวกันกับที่แตงโมและคณะจอดอยู่ ซึ่งความจริงต้องเป็น 4 ทุ่ม สื่อต้องไปตามพิสูจน์อีกว่าไม่ใช่ลำเดียวกัน แต่เป็นเรือคนละแบบกัน เชื่อว่าประชาชนทุกคนกำลังรอว่าตำรวจจะแถลงความคืบหน้า ก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าที่เรารู้เลย บางคนอาจจะมองว่าสื่อไปชี้นำหรือไม่ ในอีกมุมหนึ่งมองว่าสื่อพยายามแก้ปมของสังคมว่าสังคมสงสัยอะไร สื่อไปตามให้ เพราะสุดท้ายก็ยังไม่มีความชัดเจน

สื่อมวลชนรุมล้อมบันทึกเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายร่าง แตงโม นิดา หลังพบศพใกล้ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

 

 

“ล่าสุด มีประเด็นที่แตงโมถูกกระติกหลอกไปเพื่อไปรับงานเอ็น มีระดับบิ๊กเปิดโรงแรมอยู่ จะพาไปแต่แตงโมไม่รู้ตัวอะไรแบบนี้ออกมาเยอะมาก ในขณะที่ตำรวจออกมาแถลงบ้าง เช่น ตัดประเด็นฆาตกรรมทิ้งเอาประเด็นเรื่องอุบัติเหตุถึงจะเกิดความชัดเจน สื่อมีส่วนชี้นำและวิ่งหาความจริง เพราะถ้าสื่อไม่วิ่งแล้วสังคมก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป และประเด็นคือ 5 คนนี้ ยังไม่ได้ถูกพิพากษาเลย แต่เขามีความผิดไปแล้ว เรื่องนี้ถ้ามีการพิสูจน์และแถลงจากตำรวจได้เร็วเท่าไร ทุกอย่างจบเร็วเท่านั้น

“ผมพูดออกสื่อไปว่าอย่าไปโจมตีเด็ก อย่านำภาพเด็กมาเปิดเผย เพราะอย่างน้อยเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร พูดแค่นี้ก็มีคนคิดว่ากรรชัยกำลังเข้าข้างกระติกใช่ไหม ผมต้องด่ากระติกใช่ไหมถึงจะได้รับคำชม ซึ่งตอนนี้กระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้มีการตัดสินเลย เพราะฉะนั้น ในทางข้อกฎหมายเขายังบริสุทธิ์อยู่ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามายด์เซตของกระติกในการตอบคำถามก็พังทลายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงถูกเป็นเชลยสังคม ส่วนเรื่องโรเบิร์ตกับปอก็มีเรื่องความรวยเข้ามาเกี่ยวข้อง” กรรชัยกล่าว

โซเชียลสืบ-พิพากษา
เพราะไม่วางใจกระบวนการกฎหมาย?

สำหรับ รศ.ดร.ปวิน นักวิชาการชื่อดัง วิเคราะห์ว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและแปลก ไม่เคยเห็นอะไรที่ใหญ่ขนาดนี้ ทั้งน่าสะพรึงในเวลาเดียวกัน ตนมีกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื่องจากมีคนจำนวนมากจึงต้องการอยากทดสอบอะไรบางอย่าง เพราะส่วนหนึ่งของงานที่ทำคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย จึงอยากใช้กรณีของแตงโมมาเป็นแบบทดสอบ อยากลองวัดว่าความเห็นสาธารณะโซเชียลมีเดียเห็นอย่างไรต่อเรื่องของแตงโม เห็นไปในทิศทางไหน และอะไรเป็นแรงจูงใจให้แต่ละคนหันไปในทิศทางที่ตัวเองคิดอยู่ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

รศ.ดร.ปวิน กล่าวว่า หลายวันที่ผ่านมาตนได้เขาไปยุ่งเกี่ยวประเด็น หรืออาจจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘ปั่น’ ก็ว่าได้ เช่น ตอนนี้มีคนประณามกระติกเยอะมาก ประณามทั้งที่คนพวกนี้ไม่รู้จักกระติกเลย ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ แต่พอฟังที่เขาพูดมาแล้วรู้สึกไม่พอใจ อคติ ไม่ชอบกระติก

“ผมเข้าไปวัดดูว่าถ้าเกิดพูดอะไรที่เป็นเชิงลบกับกระติก คนจะคิดกับผมอย่างไร ปรากฏว่าคนสนับสนุนผมในการพูดเชิงลบกับกระติก 99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดเปลี่ยนเป็นชมกระติก อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อสรุปคือภาพ ความคิดนี้ล้นหลามมาก สถานการณ์กำลังวาดภาพคนอยู่ในเหตุการณ์มีภาพแบบนั้น

“สิ่งที่แย่มากคือภาพไม่เปลี่ยนแล้ว คนที่อยู่บนเรือทั้งหมดตอนนี้มีความผิดทั้งหมดแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินเลย ความเห็นสาธารณะทำให้เป็นการพิพากษาคนไปแล้ว หรือว่าเราไม่มีความเชื่อมั่นในวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าเราเชื่อกระบวนการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมของเรา เราไม่ต้องฟังความคิดเห็นสาธารณะมากเท่าไร แต่ที่ผ่านมาอึมครึมมาก และที่ผ่านมาไม่ใช่เคสแรก ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายตัวแทนของเราค่อนข้างอ่อนแอ คนจึงตัดตรงนั้นทิ้งไปในแง่มุมด้านกฎหมายและมาเริ่มสืบสวนกันเอง” รศ.ดร.ปวินกล่าว

ชีวิตหลากรสของดาราสาว
สู่ดราม่า-โศกนาฏกรรม

ชีวิตหลากรสชาติและการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงวัยของแตงโมอยู่ในความรับรู้ของสังคมไทยสร้างความผูกพันและจับความสนใจของผู้คน (ภาพเมื่อครั้งไหว้ขอโทษบิดาขณะแถลงข่าวที่ รพ.หลังกินยานอนหลับเกินขนาดและกรีดข้อมือ)

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ รศ.ปวินมองว่านี่เป็นเรื่องที่ผูกติดกับดราม่ามาก เพราะเกี่ยวกับชีวิตของแตงโม ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าถ้าเป็นชีวิตคนอื่นที่ไม่ใช่แตงโม คือชีวิตแตงโมดันมีหลายรส มีทั้งผิดหวัง มันโรลเลอร์โคสเตอร์ จึงไม่แปลกใจเลยที่บริบทของแตงโมถึงสามารถจับความสนใจ

“ทุกคนโตมาและเห็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในชีวิตเขา ตั้งแต่ผิดหวังไม่สมหวังในความรัก และเรื่องของการเมืองด้วยหลังจากนั้นก็ตาสว่างจากการเมือง และในที่สุดก็พบรักแท้ มีเรื่องของอุบัติเหตุ เรื่องการต้องการฆ่าตัวตาย มีทั้งหมดและปิดท้ายด้วยโศกนาฏกรรม

ผมคิดว่าทุกคนตอนนี้โดนสะกดจิตหมู่ และหลักสะกดจิตหมู่นำด้วยหลักศีลธรรมด้วยซ้ำ หลักศีลธรรมคือพูดว่าแตงโมไม่ได้แล้ว ณ ขณะนี้ต่อให้แตงโมทำอะไรในอดีต ไม่ต้องไปถึงคำว่าวิจารณ์แตงโมไม่ได้ แม้แต่พูดถึงแตงโมต้องระวังด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความเกี่ยวข้องกับการเมืองของเขาในอดีต ซึ่งตอนนี้อาจจะพูดไม่ได้ เพราะหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทุกคนถูกสะกดจิตหมู่ หมายความว่าทุกคนต้องคิดคล้ายๆ กัน และต้องคิดในแง่บวกด้วย” รศ.ดร.ปวินวิเคราะห์

เป็นอีกประเด็นต้องติดตาม ไม่เพียงความคืบหน้าทางคดี หากแต่รวมถึงแง่มุมของปรากฏการณ์ที่สะท้อนปมลึกของปัญหาหลายประการในโครงสร้างสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image