วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เลือก ‘โจทย์ยาก’ พงศาวดารผสานกำลังภายใน ร่าย‘คนจรดาบ’

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เลือก‘โจทย์ยาก’พงศาวดารผสานกำลังภายใน ร่าย‘คนจรดาบ’

‘อาทิตย์อัสดง ณ ขอบฟ้าประจิมทิศ ฉายแสงสีแดงปานโลหิตประหนึ่งเปนลางว่า อีกมิช้านานจักบังเกิดเภทภัยครั้งใหญ่หลวง เปนเหตุให้ทั้งแผ่นดินแดงฉานไปด้วยเลือด’

ฉากเปิดเรื่องสุดคลาสสิกตามแบบฉบับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ใน คนจรดาบ นิยาย 548 หน้า ของผู้กำกับหนังไทยเรื่องแรกที่เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อปี 2544 อย่าง ฟ้าทะลายโจร

นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อจากการเป็นมือเขียนบทในภาพยนตร์คุณภาพอย่าง เปนชู้กับผี อินทรีแดง และนางนาก ที่กวาดรางวัลจากหลายเวที ล่าสุด นั่งเก้าอี้กำกับ The Whole Truth ปริศนารูหลอน ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ชวนให้ผู้ชมตีความไปในทิศทางหลากหลาย

วันนี้ วิศิษฏ์ มาในอีกบทบาท นั่นคือ ‘นักเขียน’ ผู้ร่ายนิยายที่ผสมผสานกลิ่นอายพงศาวดารแบบไทยและกำลังภายในแบบจีน

Advertisement

นำผู้อ่านลิ้มรสภาษาที่สะกดอย่างโบราณน่าค้นหา เริ่มต้นด้วย‘กราวพากย์’ พร้อมร้อยกรองบูชาครูก่อนเริ่มปฐมเหตุคดีฆาตกรรมลอบสังหารเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีและการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ผู้มีรอยแผลเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวกลางหว่างคิ้ว คือกุญแจของเรื่องนี้

‘ความบังอาจ’ คือคำที่ วิศิษฏ์ ตั้งใจเลือกใช้อธิบายเหตุผลของการเริ่มต้นจรดปากการ่ายผลงานชิ้นนี้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2534 ด้วยความ ‘อยากอ่าน’ แต่ยังไม่มีใครเขียน ‘นิยายกำลังภายในแบบไทย’ จึงตัดสินใจสร้าง ‘วรรณกรรมนักเลงท่ายาก’ ด้วยตัวเอง

เขียนๆ หยุดๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ จนกาลเวลาผ่านล่วงไปถึง 30 ปี

สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2565 ออกแบบปกโดย นักรบ มูลมานัส (สั่งซื้อ คนจรดาบ คลิกที่นี่)

เมื่อไม่นานมานี้ ในเสวนา ‘กำลังภายใน พงศาวดารและวรรณกรรมนักเลง คนจรดาบ’ ส่วนหนึ่งของงาน Matichon Book Launch 9 เล่ม ก้าวต่อไปของ สำนักพิมพ์มติชน ณ The Marshal Social Cafe ประดิพัทธ์ 13

วิศิษฏ์ จับไมค์เผยเบื้องลึกเบื้องหลัง ตั้งแต่อักษรตัวแรกจนถึงตัวสุดท้ายซึ่งมีประเด็นน่าสนใจมากมาย

“ผมขโมยจากคนจรดาบมาใช้ในหลายจุด เช่น พระเอกในหนังเรื่องฟ้าทะลายโจรมีแผลเป็นที่หน้า และภาษาในเรื่องนางนากที่เป็นแบบพงศาวดาร” คือส่วนหนึ่งของเรื่องที่ไม่เคยรู้

และจากนี้ คือเนื้อหาจากเสวนาดังกล่าวที่มากมายด้วยเรื่องราว กว่าจะเป็น ‘คนจรดาบ’

ประวัติศาสตร์คือโลกแฟนตาซี-เรื่องที่อยากอ่าน แต่ไม่มีใครเขียน

อยากเขียนมานานตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่เลือกโจทย์ยากไปสักนิดหนึ่ง อยากเขียนนิยายเกี่ยวกับกำลังภายใน แต่ไม่ได้อยากให้เป็นกำลังภายในเพราะคนจะคิดว่าเป็นแบบโกวเล้ง คนจรดาบไม่ได้มีเรื่องลมปราณ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟันดาบต่อสู้ อย่างของจีนก็มีสำนักบู๊ลิ้มในเรื่องดาบมังกรหยก ยุทธจักรของญี่ปุ่นก็เป็นมุซาชิ ทางอเมริกาก็เป็นคาวบอย เราก็มานั่งนึกว่าของไทยมีไหม ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เช่น ผลงานของไม้ เมืองเดิม อย่าง แผลเก่า, บางระจัน, แสนแสบ และขุนศึก ผลงานของสุจิตต์ วงษ์เทศ เช่น ประดาบก็เลือดเดือด และผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่องคนดีศรีอยุธยา เล่มนี้ชอบมาก แต่รู้สึกว่ายังเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นแนวรักชาติ

ผมอยากได้แนวโกวเล้งหรือกิมย้งที่พูดถึงชาวบ้าน ลึกซึ้งในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ราชาชาตินิยม ไม่ใช่พงศาวดารที่เขียนถึงชนชั้นผู้นำ การแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐ อยากอ่าน แต่สงสัยว่าทำไมไม่มีคนเขียนให้อ่านสักที เลยคิดว่างั้นลองเขียนดูไหม ก็เป็นความบังอาจ นั่นคือสาเหตุที่ใช้เวลา 30 ปีกว่าจะเขียนจนจบ มันยาก เป็นนิยายทดลองว่าผู้อ่านจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน

ส่วนตัวชอบอ่านพงศาวดารยุคอยุธยา ซึ่งเป็นช่วงที่พีคมาก มีการฆ่าฟันแย่งชิงสมบัติรัฐประหารกันตลอดเวลาจนไม่รู้ใครเป็นใคร คิดว่าประวัติศาสตร์เป็นโลกที่แฟนตาซี เหนือจริง เช่น การฆ่าคนประหาร 7 ชั่วโคตร คนเราจะโหดกันได้ขนาดนั้นเลยเหรอ โลกในอดีตเป็นจินตนาการที่น่าเขียนถึง อะไรก็ดูเป็นไปได้หมด คนเกิดมายอมรับว่าเราไม่มีอิสระ ทาสที่หนีการสักเลกแม่งเป็นพวกชู 3 นิ้วแถวนี้เปล่า (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้ยิ่งใหญ่มาก เหมือนเป็นคนที่มาก่อนกาล

ทางแพร่ง เขียนต่อ หรือพอแค่นี้? 30 ปีกว่าจะ ‘อวสานต์’

เรื่องนี้หลังจากเริ่มเขียน เคยถูกทิ้งไว้ยาว เคยมีโครงค่อนข้างสมบูรณ์เห็นภาพแล้ว เขียนลายมือลงกระดาษเป็นเรื่องย่อทุกตอนเพราะในสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่ปีหนึ่งน้ำท่วมใหญ่ที่บ้านจังหวัดปทุมธานี แล้วต้นฉบับหาย ตอนนั้นตัดสินใจว่าเลิกเขียนดีกว่า แต่ยังเสียดายอยู่ จึงกลับมาเขียนแบบจำเรื่องเดิมไม่ได้ ก็เลยมั่วใหม่ขึ้นมาซึ่งเรื่องเดิมอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ (หัวเราะ)

จุดที่จะทิ้งหรือจะเดินหน้าต่อ มาคิดว่าถ้าเดินหน้าต่อก็ใช้เวลาเยอะและต้องมุ่งมั่นมากขึ้นเพราะงานเราเยอะ แต่ตัดสินใจกลับมาเขียนต่อเพราะเสียดาย เนื่องจากเขียนไปครึ่งหนึ่งแล้ว เลยมาหาสุลักษณ์ บุนปาน บก.บริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นเพื่อนเก่า เอามาให้ดูว่าพอได้ไหม ถ้าได้ก็เขียนต่อ ถ้าไม่ได้ก็โยนทิ้งตอนนั้น พัลลภ สามสี บก.สำนักพิมพ์มติชนขณะนั้นเป็นคนตามจิกตามทวงงาน ถัดมาอีกหลาย บก.จนถึงมณฑล ประภากรเกียรติ มาตามทวงต่อ ช่วงที่ผมลืมๆ ไปแล้ว เขาก็จะมาถาม เป็นไงบ้างพี่ 2-3 ปี เกรงใจ เลยเขียนจนจบ ตอนจบทั้งแบบเดิมและแบบใหม่เหมือนกัน ระหว่างทางจำไม่ได้ แต่รายละเอียดใกล้เคียง

อิงประวัติศาสตร์ แต่ ‘ปรุงเยอะ’น้องใหม่กำลังภายใน ‘แบบไทยๆ’

เมื่อเขียนจบความรู้สึกก็คือ มันด้นมาได้จนถึงบัดนี้ หลังจากเกือบจะโดนฆ่าตายไปหลายรอบ รู้สึกว่า กูได้จบสักที ไม่เรียกว่าโล่งจะดีกว่า เพราะมันหนักใจไปอีกแบบ มติชนจะเจ๊งไหม จะมีคนซื้อถึง 20 เล่มไหม ตัวเองต้องไปช่วยเขาซื้อ นี่สั่งไป 20 เล่ม ถ้ายอดขายขึ้นมาโห 20 เล่มแล้ว กูเอง (หัวเราะ) เอาไปแจกเพื่อนฝูง ถ้าเขียนจบก่อนหน้านี้ ซึ่งยังเป็นยุคที่คนยังอ่านหนังสืออยู่ เรายังพอลุ้น แต่ตอนนี้เป็นช่วงเวลายากของหนังสือ ยิ่งหน้าตาแบบนี้ แบบที่ถ้าไม่ถูกบังคับก็ไม่อ่าน แต่ขอให้อดทนไปสักบทหนึ่ง คือทนไปนิดเดียวแล้วจะลื่นเลย ถามหลายคนแล้วเป็นอย่างนั้น แต่หลายคนที่ว่าก็เป็นหน้าม้าหมด เลยเชื่อไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) ต้องลองดูเอง

เล่มนี้หนาสุดตั้งแต่เคยเขียนมา เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ แบบพอให้อ้างอิงถึง ไม่ได้ค้นคว้าอย่างละเอียด มีการแต่งเติมปรุงเยอะ ถ้าเทียบกับกำลังภายในเราก็สู้เขาไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นล่ำเป็นสันเหมือนของโกวเล้ง กิมย้ง ของเราไม่ได้ลึกซึ้งเท่า เรื่องนี้เรียกว่าเป็นน้องใหม่แบบไทย ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้ลองแล้ว แต่ถ้ามันพอไปได้ มีคนอยากจะเขียนต่อ ซึ่งคิดว่าไม่มี อย่างน้อยวันหนึ่งอาจจะมีคนบอกว่า มีเล่มนี้นะแล้วแม่งก็เลิกไปเลย ก็จารึกไว้ อ่านแล้วไม่ชอบอะไร ก็ยินดีน้อมรับคำวิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องแรกที่เขียน

ภาษาพงศาวดาร แต่ไม่ 100%จำแลงเป็นนิยาย ‘อ่านเอาสนุก’

รูปแบบเป็นภาษาพงศาวดาร แต่ไม่ 100% พงศาวดารจะมึนหัวกว่านี้ มีการสะกดไม่เหมือนปัจจุบันเยอะ ที่สำคัญ ตรวจทานกับทาง บก.แล้วยังมีจุดลักลั่นอยู่ เป็นนิยายที่คนตรวจปวดหัวที่สุด ไม่รู้ว่าอันไหนถูก อันไหนผิด แล้วความที่เขียนมา 30 ปี เขียนไปหยุดไป 5 ปีก็มี กลับมาอีกทีจำไม่ได้ คราวนั้นสะกดอย่างนี้ คราวนี้สะกดอีกแบบ สุดท้ายตัดสินใจว่าบางจุดให้ปล่อยลักลั่นไป เพราะในพงศาวดารจริงๆ ก็ลักลั่นหลายจุด เนื่องจากคัดลอกกันด้วยลายมือ คนคัดคนละคนก็เพี้ยนไปอีกอย่าง เลยช่างมัน

ผมพยายามจำแลงและคลี่คลายให้อ่านง่าย ย่อยง่าย เพียงแต่มีรูปแบบบางอย่างที่ทำให้ได้รสชาติปลอมๆ ของพงศาวดารจำแลง เหมือนของ ยาขอบ ซึ่งเขาตั้งใจให้เหมือนประหนึ่งว่าอ่านพงศาวดาร แต่จริงๆ คือนิยายล้วนเลย ผู้ชนะสิบทิศมาจากประวัติศาสตร์แค่7 บรรทัด เขียนไปได้ตั้ง 20 กว่าเล่ม เก่งมาก ผมก็ชอบ

นอกจากนี้ยังใช้วิธีแต่งเป็นกลอนให้กลอนพาเราไป ได้ส่วนที่วิลิศมาหรากว่า ถ้ากลอนลงตัวสวยงามแล้วก็ไม่ต้องบรรยายเยอะ เหมือนเอาศิลปะเข้ามาช่วย กลอนพวกนี้ ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็เหมือนใช้ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ต้องมีหลากหลายไม่ใช่มีอันเดียววนทั้งเรื่อง

หยิบยืมคาวบอย ‘คนจรม้า’มาเป็น ‘คนจรดาบ’

ที่มาของชื่อเรื่อง ใครอ่านหนังสือเก่าเยอะจะรู้ว่า ประมูล อุณหธูป ซึ่งแปลนิยายคาวบอย จะเรียกคาวบอยว่าคนจรม้า ได้ภาพของผู้ชายโดดเดี่ยวแบบหนังสือของเซอร์จิโอ เลโอเน ปรมาจารย์หนังคาวบอยที่เร่ร่อนไปกับม้าตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ได้โรแมนติกเลย มันโหดมาก รู้สึกว่าเขาบัญญัติคำได้สวย เลยยืมมา

 

ฟันดาบ ศึกษาแต่ไม่ยึดติดขอ ‘โม้ให้เหนือจริง’

เกิดมาผมไม่เคยฟันดาบ ไม่เคยจับดาบ พูดตามตรงคือไม่รู้เรื่องดาบเลยและตัดสินใจว่าไม่รู้ดีกว่า ในเมื่อเป็นจินตนาการ พอเราไปซีเรียส ไปศึกษาดาบมากๆ ก็จะติดกับตรงนั้น จะคิดว่าอันนั้นผิด อันนี้ไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นฟันดาบธรรมดา เราเลยโม้ใหม่ จินตนาการและความโม้จะช่วยให้สนุกเกินจริง เพราะกำลังภายในเขาก็โม้อยู่แล้ว เรียกว่าโม้ให้เหนือจริงจนกระทั่งได้ผลลัพธ์อะไรบางอย่างมากกว่าฟันดาบตามหลักการ เราค้นคว้าเพื่อให้มันสนุกนิดหน่อย แต่ไม่ยึดติดกับมันมาก

ถามว่าหนังประวัติศาสตร์ไทยที่ใส่เสื้อเกราะรบกันมันจริงไหม ประเทศนี้อากาศร้อน ใส่เกราะเหล็กคงได้สุกก่อน หรือในความเป็นจริง การที่คนคนหนึ่งจะชนะคนเป็นร้อยๆ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นมุขปาฐะที่ทำให้เรื่องลื่นขึ้น

 

ความคิดเปลี่ยน ถ้อยคำเปลี่ยนโละ ‘พม่า’เป็น ‘อังวะ’ ยกเล่ม

ยอมรับว่าเมื่อก่อนถูกฝังความคิดเรื่องชาตินิยมแบบเดิมๆ แรกเริ่มไม่ได้คิดอะไรมาก ยังตามพวกที่ครอบมาว่าพม่าเป็นศัตรู ผ่านมาสัก 30 ปี ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป เราไม่ได้เปลี่ยนเรื่องให้ชนชาตินี้เป็นพระเอก แต่อยากใส่มิติของความเป็นคน ความรู้สึก เหตุและผลของการกระทำ สิ่งที่เขาทำ ฝั่งเราอาจมองว่าเลว แต่อีกฝ่ายอาจมองว่านี่คือหน้าที่ ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง เลยคุยกับกอง บก.ว่าขอเปลี่ยนคำว่าพม่าทั้งหมดเป็นอังวะ ส่วนชนชาติเรียกว่าพุกาม

สร้างเป็น ‘หนัง’ ไม่ได้ ? ความท้าทายของนายทุน ‘กล้าเสี่ยงก็เอา’

นิยายเรื่องนี้ตัวละครเอกเป็นตำรวจกองปราบ เขามีหน้าที่จับผู้ร้ายให้ได้ แรงผลักดันคือหน้าที่ และการเอาตัวรอด ส่วนการโยงไปยังความรักชาติไม่มี เพราะยุคนั้นยังไม่มีชาติ มีแต่อาณาจักร เจ้านาย บุญคุณ เป็นนิยายอ่านเอาสนุก จริงๆ มันคือเรื่องสืบสวนการฆาตกรรมที่เกิดในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีเทคโนโลยี

โดยส่วนตัว คิดว่าเรื่องนี้ทำเป็นหนังไม่ได้ เพราะว่ามันซ่อนตัวละครโดยใช้ภาษาเป็นตัวซ่อน ถ้าเรื่องนี้ได้ทำเป็นหนัง ก็เป็นความท้าทายของนายทุนที่ต้องกล้าเสี่ยง กูเจ๊งมาทุกเรื่อง มึงเสี่ยงก็เอา พูดตามตรงว่าทำเป็นละคร ทำเป็นหนังก็ธรรมดา มีหนังสือหลายประเภทที่ทำเป็นหนังไม่ได้ ผมเคยอ่านโอตสึ อิจิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นจะใช้วิธีซ่อนฆาตกรด้วยการเปลี่ยนสรรพนาม ในบทนี้เป็นฉัน จากเดิมที่เขาพูดถึงเป็นบุคคลที่ 3 ในการเป็นฉัน แล้วเรายังคิดว่าตัวละครฉันยังเป็นตัวบรรยายเดิม แต่ปรากฏว่าสักพักเราอ่านจนจบถึงรู้ว่าตัวฉันคือฆาตกร อย่างนี้พี่ทำหนังอย่างไร อันนี้เป็นกลวิธีให้อ่านเท่านั้น สนุกตอนอ่าน มันพาเราหลง

ภาค 2 ต้องชาติหน้า ‘วรรณกรรมแบบนี้ผมคงเขียนอีกไม่ไหวแล้ว’

วรรณกรรมแบบนี้ผมคงเขียนอีกไม่ไหวแล้ว และมันเป็นเรื่องที่ 1.ไม่น่าจะป๊อปพอที่จะมีต่อได้ 2.เราก็แก่แล้ว อาจจะเขียนไม่ไหว ตลอด 30 ปีก็…(หัวเราะ)…ตายก่อน

โอกาสมีภาค 2 ก็ชาติหน้าถ้าความจำยังอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ผู้กำกับหนังดังทุ่ม 30 ปี ร่าย ‘คนจรดาบ’ ใช้สำนวนพงศาวดารยกเล่ม! เผยคนตรวจปวดหัว ทวงต้นฉบับ 3 ปี เขียนจบเพราะเกรงใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image