เปิดแผนยึดล้านนา ‘เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว’ เล่า “กว่าไทยจะเป็นไทยในวันนี้”

ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเหมือนในเพลงชาติ

ดินแดนที่เป็นอาณาเขตประเทศไทยในปัจจุบัน หลอมรวมรัฐโบราณในอดีตจนเป็นปึกแผ่น

หนึ่งในนั้นคือ “ล้านนา” ผืนแผ่นดินทางตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์อันหลากหลาย

ความคิดความเชื่อที่แตกต่าง มีจารีต กฎหมาย ภาษา อักษร และเจ้าผู้ครองนครของตน

Advertisement

เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงมีแนวคิดผนวกล้านนากับ “สยาม” ต้องผ่านกระบวนการมากมาย โดยส่วนใหญ่มองว่า หลังปราบกบฏเงี้ยวใน พ.ศ.2445 ล้านนาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ สงบราบคาบ

หากแต่ในความจริง เป็นเช่นนั้นแน่หรือ ?

ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ตั้งคำถามสำคัญนี้ พร้อมเดินหน้าค้นหาอย่างไม่หยุดยั้งเป็นวลาถึง 3 ปี ก่อนจะออกมาเป็น วิทยานิพนธ์หนา 450 หน้า เรื่อง “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417-2476” คว้าปริญญาเอกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2553

Advertisement

แล้วกลายเป็นหนังสือน่าจับตาในชื่อ “เปิดแผนยึดล้านนา” โดยสำนักพิมพ์มติชน เปิดตัวสดๆร้อนๆในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เรียกเสียงฮือฮาด้วยเอกสารที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน

ยิ่งกว่านั้น คือมุมมองอันเฉียบคม ซึ่งอธิบายถึงช่วงเวลาสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากความสัมพันธ์แบบรัฐจารีตมาสู่รัฐสมัยใหม่

เปิดแผนยึดล้านนา

ทำไมสนใจประวัติศาสตร์ล้านนา ถึงขนาดทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

ตอนจบปริญญาโทจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แล้วเรียนปริญญาโทอีกใบที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เรียนรูปแบบศิลปะต่างๆ และเรียนรู้การทำวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งตัวเองสนใจ แต่ก็เกิดคำถามลึกๆว่า เวลาพูดถึงศิลปะ ทำไมไม่มีมนุษย์ พอไปเรียนต่อปริญญาเอกที่จุฬา ฯ รู้สึกสนใจล้านนา ซึ่งพอไปแตะแล้วปรากฏว่ามีงานวิจัยเยอะมาก อาจารย์ไปทบทวนวรรณกรรมมาใหม่ ทั้งงานของนักวิชาการตะวันตกและนักวิชาการไทย เพื่อหาข้อบกพร่องที่ยังขาดคำอธิบาย จุดหักเหคือเรื่องราวในช่วงหลังกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ซึ่งเหมือนทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย แต่จริงๆแล้วสยามได้แต่อำนาจการปกครองเท่านั้น เพราะคนในล้านนามีการใช้ชีวิต มีเศรษฐกิจที่ไม่สัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือไม่รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับกรุงเทพฯ

เป็นคนกรุงเทพฯ ตอนศึกษาห่วงเรื่องอคติหรือไม่

ตัวเองเกิดที่กรุงเทพฯ ก็จริง แต่พ่อเป็นคนนครศรีธรรมราช แม่เป็นคนโคราช ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างในวิธีคิดบางอย่าง และเนื่องจากเป็นมือใหม่ ไม่เคยสัมผัสการทำงานในสายประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงเดินตามข้อมูลที่ค้นพบ พูดได้ว่าเขียนโดยปราศจากอคติ ก็แค่เล่าเรื่องตามที่หลักฐานปรากฏ

วิทยานิพนธ์เล่มใหญ่ ปรับอย่างไรให้คนทั่วไปอ่านง่าย

ความที่หนังสือเล่มนี้มาจากวิทยานิพนธ์หนา 450 หน้า ร้อยละ 90 ใช้หลักฐานเอกสารลายลักษณ์อักษรที่มาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ส่วนข้อมูลจากการสัมภาษณ์ที่นำมาใช้มีน้อยมาก แค่ 3-4 ท่าน เช่น เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง คุณจรินทร์ เบน คุณซิวเฮียง โจลานันท์ ดังนั้น พอเอามาปรับเพื่อตีพิมพ์ โจทย์คือ ต้องทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย ทำอย่างไรจะย่อยให้กระชับ ตอนคุยกับกอง บก. เขามีโจทย์ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่เกิน 150 หน้า ต่อรองไปมา สำนักพิมพ์อนุญาตให้ 180 – 200 หน้า คนเขียนก็เป็นพวกเสียดายข้อมูล พยายามใส่ทุกอย่าง สุดท้ายเลยใช้วิธีรวบประเด็น และตัดโควทให้กระชับ จะได้ไม่เยิ่นเย้อมาก

ความทุ่มเทต่องานชิ้นนี้

กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ใช้เวลา 3 ปี เอกสารสมัย ร.4-ร.7 อ่านจากไมโครฟิล์ม เลยต้องเข้าหอจดหมายเหตุทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น 8 โมงครึ่งนี่มาตอกบัตรแล้ว (หัวเราะ) จากนั้นกลับบ้านแกะลายมือตัวเองพิมพ์ลงใน notebook ตั้งแต่ 6 โมงถึง 3 ทุ่ม เก็บข้อมูลไว้เป็นไฟล์ จนวันหนึ่งอาจารย์ที่อักษร จุฬา ฯ ถามว่าลงมือเขียนวิทยานิพนธ์หรือยัง เหลือเวลาแค่ปีเดียว เราบอกยังอ่านเอกสารไม่หมดเลย อาจารย์ตอบว่า ไม่มีทางหรอกที่จะอ่านหมด เพราะฉะนั้น ให้เริ่มเขียนได้เลย เมื่อเราอ่านเอกสารมากพอ จากที่พิมพ์เก็บไว้ จะเห็นประเด็นความเชื่อมโยงบางอย่าง

เอกสารเหล่านั้นบอกอะไรเราบ้าง

บอกเรื่องราวของผู้คนที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งชนชั้นนำสยาม พระสงฆ์ รวมทั้งเจ้านายและไพร่ในล้านนา เอกสารที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือ หนังสืองานศพ ซึ่งเป็นบันทึกคุณูปการของผู้เสียชีวิตว่ามีบทบาทอย่างไร ตอนรับราชการทำอะไรบ้าง เรื่องพวกนี้ไม่มีในเอกสารของรัฐ แต่ช่วยเสริมให้งานสะท้อนถึงการมีชีวิตของคนจริงๆ

ประวัติศาสตร์มันจะมีเสน่ห์ตรงที่ช่วยฉายภาพให้เราเห็นผู้คนและการใช้ชีวิตของพวกเขา แต่ประวัติศาสตร์ในตำรารวมทั้งการเรียนการสอนบ้านเราไม่น่าสนใจ เพราะมีแต่วีรกรรมขุนนางและชนชั้นนำ ขาดการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ มองไม่เห็นว่าผู้คนคิดอะไรอยู่ ชาวบ้านปรับตัวอย่างไร ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันมีไหม เรื่องแบบนี้ในตำราไม่มี สมัยตัวเองเรียนหนังสือระดับประถมหรือมัธยม ไม่พูดถึง 14 ตุลา 16 ด้วยซ้ำ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวอาจเพราะความขัดแย้งทางการเมือง เลยไม่มีพื้นที่ในการพูด

มีอุปสรรคหรือจุดอ่อนในการศึกษาหรือไม่

ตัวเองอ่านตัวเมือง หรืออักษรธรรมล้านนาไม่ได้ หลักฐานจึงมาจากฝ่ายเดียว คือเอกสารจากหอจดหมายเหตุเป็นหลัก ซึ่งเป็นมุมมองของรัฐสยาม ไม่มีหลักฐานจากฝั่งล้านนา ไม่รู้ว่าเจ้าอินทวิชยนนท์ คิดอย่างไรที่ส่งเจ้าดารารัศมีมากรุงเทพฯ เคยจะค้นก็ไม่เคยเจอหลักฐาน อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้ พยายามที่จะให้เห็นประวัติศาสตร์สังคมมากกว่าประวัติศาสตร์การปกครองว่าจะต้องเกี่ยวกับชนชั้นนำเท่านั้น พยายามนำเสนอข้อมูลของคน ให้เห็นถึงการมีชีวิต การดิ้นรน การปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ความผิดหวัง เสียใจ

14695559_10154599136947733_6264810138530130009_n

กล่าวอย่างรวบรัด สยามทำอย่างไรในการกลืนและยึดล้านนาจนสำเร็จ

สยามใช้วิธีการผสมกันระหว่างวิธีการของเจ้าอาณานิคม และวิธีการของรัฐจารีต วิธีการที่หยิบยืมจากเจ้าอาณานิคม คือ 1.ออกกฎหมายบังคับใช้ เดิมล้านนามีกฎหมายของตัวเอง รัชกาลที่ 5 ทรงไปดูงานต่างประเทศ อย่าง สิงคโปร์ ปัตตาเวีย พม่า และอินเดีย เรียนรู้วิธีการจัดการอาณานิคม การแบ่งส่วนบริหารราชการ กรอบนี้ถูกเอามาปรับใช้

2.ตั้งข้าหลวงไปกำกับราชการ ควบคุมดูแลเจ้านายให้อยู่ภายใต้กฎหมายของสยาม ข้าหลวงที่ถูกส่งไปนี้กินอยู่ในเชียงใหม่เป็นการถาวร

3.ควบคุมการจัดเก็บภาษีอากร

4.จัดทำแผนที่และทำบัญชีสำมะโนครัว ซึ่งเดิมเขตแดนไม่มีความสำคัญ แต่พอมีการขยายทำป่าไม้เข้ามาในล้านนา เกิดข้อพิพาทเรื่องการทำไม้และการปล้นสะดมข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวิน จึงจำเป็นต้องมีเขตแดน แผนที่ รวมทั้งบัญชีควบคุมคนให้ชัดเจน

5.พัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร เช่น ในเมืองน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก ถ้าไม่มีโทรเลข รัชกาลที่ 5 เองก็ทรงยอมรับว่าขุนนางของเราแพ้กงซุลเขาจริงๆ

นอกจากนี้ยังใช้วิธีการแบบรัฐจารีตคือการสู่ขอบุตรหลานของเจ้านายระดับสูงมาเป็นเจ้าจอม สรุปคือ สยามใช้วิธีการผสมกันระหว่างวิธีการของเจ้าอาณานิคมกับวิธีการของรัฐจารีต

ไฮไลต์ เรื่องตื่นเต้นระหว่างค้นคว้า

เจอเอกสารที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษต้องถอนกำลังของตนเองออกไปจากพม่า ทำให้คนเจ้านายพม่าบางองค์ออกเกลี้ยกล่อมคนพม่าและเงี้ยวที่อาศัยในล้านนาเข้าร่วมต่อต้านอังกฤษ คนกลุ่มนี้ต้องการใช้ล้านนาเป็นฐานเข้าโจมตีขับไล่อังกฤษ มีการออกจดหมายลับเชิญเจ้าเมืองลำพูนให้เข้าร่วม มีการนัดกันปล้นโรงพักเพื่อชิงอาวุธเพื่อยึดเชียงใหม่เป็นกองกำลังของตัวเอง จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นเรื่องใหญ่ เอกภาพทางเชื้อชาติและการสร้างความภักดีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างรัฐชาติ แต่มีคนพูดถึงน้อยมาก

เอาจริงๆ ในล้านนามีชาติพันธุ์นับไม่ถ้วน ยวนครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นยอง ตองซู่ เงี้ยว ขมุ ลื้อ และอื่นๆอีกมากมาย คนนอกเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้คิดเหมือนกัน จริงๆ แล้วไม่ใช่ เฉพาะพื้นที่ล้านนาเองก็แบ่งเป็นสองส่วน คือล้านนาตะวันตก กับล้านนาตะวันออก แบ่งแยกกันเพราะการคมนาคมที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ปะปนกัน แต่ละกลุ่มก็เชื่อต่อผู้นำของตัวเอง กว่าที่สยามจะสร้างเครื่องมือสื่อสารอื่นที่มีประสิทธิภาพ เช่น หนังสือพิมพ์ แบบเรียน และระบบการศึกษาที่บังคับให้เด็กล้านนาต้องเรียนแบบเรียนที่ถูกเขียนขึ้นกรุงเทพฯ รวมทั้งเรียนวรรณกรรมภาคกลางเพื่อทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ

ภาพถ่ายเก่าแปลกตาหลายรูปไม่มีในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไปได้มาอย่างไร

ส่วนใหญ่ มาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ยังไปได้จาก คุณบุญเสริม ศาสตราภัย ซึ่งจริงๆ เราก็รู้ว่าท่านมีภาพถ่ายเก่าเมืองเชียงใหม่สะสมไว้เยอะ พอวันหนึ่งไปเก็บข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์วัดเกต เชียงใหม่ คนที่นั่นมีนามบัตรคุณบุญเสริม จึงรีบจับตุ๊กๆไปสัมภาษณ์ท่านถึงบ้านพัก และได้ขอสำเนาภาพถ่ายมาด้วย

ภาพที่สะดุดใจเป็นพิเศษ

ภาพหม่องสวยอัตถ์ ต้นตระกูลสุวรรณอัตถ์ ชาวไทใหญ่ในเมืองลำปาง ชอบเพราะสะท้อนให้เห็นว่าคนสมัยก่อนยอมรับความแตกต่างชาติพันธุ์ ทุกคนในภาพแต่งตัวตามชาติพันธุ์ของตนเอง ภาพแบบนี้จะไม่เห็นอีกแล้วเมื่อมีรถไฟจากกรุงเทพฯขึ้นไปถึง สินค้า เครื่องจักร อุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ถูกจนส่งไปจากกรุงเทพฯ คนหันมาใส่เสื้อยืดทางเกงยีนส์เหมือนกันหมด ทุกวันนี้จะเห็นคนแต่งกายแบบนี้เฉพาะในงานด้านวัฒนธรรมหรือใส่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ความรับรู้ของคนท้องถิ่นที่มีต่อกรุงเทพฯ

ชาวล้านนาในช่วงนั้นไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย กรุงเทพฯเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เดิมมีความรู้สึกแบ่งแยกชัดมาก ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ตั้งบ้านเรือนริมน้ำ เจ้านายตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง ข้ามเส้นไม่ได้ ตีกัน ไล่ฟันกัน มีความเป็นอริกัน

ต่อมาหลัง พ.ศ. 2475 คนล้านนาค่อยๆ ตัดขาดตัวเองจากมะละแหม่ง มีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯมากขึ้น เพราะมีรถไฟขึ้นไปตั้งแต่ ปี 2464 และยังมีการสื่อสารกันมากขึ้น มีหนังสือพิมพ์ที่ทำโดยคนท้องถิ่น ซึ่งพิมพ์ด้วยอักษรไทย ไม่ใช่ตัวเมือง คือ นสพ.ข่าวเสด็จ กับ นสพ.ศรีเชียงใหม่ เจ้าของเป็นคริสเตียนหัวก้าวหน้า นอกจากจะสร้างความครึกครื้นให้เชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการเฉลิมฉลองที่รัชกาลที่ 7 เสด็จล้านนาเป็นพระองค์แรก ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีกษัตริย์สยามเสด็จเลย รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จก็จริง แต่ตอนนั้นยังเป็นพระบรมโอรสาธิราช

ทำไมสิ่งพิมพ์มีผลมากขนาดนั้น

เพราะทำให้คนรู้สึกมีตัวตน รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน จินตนาการถึงความเป็นชาติร่วมกัน ผ่านความทุกข์ สุข ความเดือดร้อน สามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ ในหัวเมืองใหญ่มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ ในหน้าโฆษณายังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางการระหว่างกรุงเทพฯและเชียงใหม่โดยมีร้านค้าจากพาหุรัดประกาศขายสินค้าของตนผ่านหน้าโฆษณา แสดงว่ารถไฟเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ได้

มีการใส่ร้ายทางการเมืองไหม

มีข่าวลือ เช่น ลือกันว่าเจ้าอิทวิชยานนท์ จะเอาเจ้าดารารัศมีกลับเชียงใหม่ เพราะสยามจะตั้งกรมป่าไม้และรวบอำนาจการจัดเก็บภาษีมากเกินไป เพราะเดิมที รายได้หลักของเจ้านายหลังสนธิสัญญาเบาริ่งคือ การให้สัมปทานป่าไม้ กับอากรค่านา ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีการฟ้องร้องเรื่องป่าไม้ระหว่างคนในบังคับอังกฤษกับบรรดาเจ้านายล้านนาจำนวนมาก เลยจะตั้งกรมป่าไม้ หากตั้งกรมป่าไม้ เจ้าอิทวิชยานนท์ ก็จะสูญเสียรายได้ ทำให้มีข่าวลือนี้ขึ้นมา แต่หาเอกสารต้นฉบับไม่ได้

ส่วนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีจดหมายลับถึงคณะราษฎร ว่าเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น เอาตัวออกห่าง ตอนนั้นทางกรุงเทพฯเองก็วุ่นวาย กรุงเทพฯเกิดอะไรขึ้นบ้าง เชียงใหม่เป็นอย่างไร ไม่ได้สื่อสารง่ายเหมือนยุคนี้ จึงเกิดข่าวลือต่างๆขึ้น คณะราษฎรจึงเชิญตัวเจ้าแก้วนวรัฐลงมาที่กรุงเทพฯ และส่งคนไปรับที่สถานีรถไฟ

ความอลหม่านระหว่างกระบวนการผนวก

พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มออกกฎหมายโดยใช้ข้าหลวงบังคับใช้ ก็เริ่มมีเรื่องร้องเรียน มีคดีความ แสดงว่ามีผลกระทบแล้ว พอสลายระบบไพร่ ซึ่งรู้จักกันในคำว่า ‘เลิกทาส’ ซึ่งจริงๆเป็นการเลิกระบบไพร่ ให้คนมาขึ้นตรงต่อพระองค์ มีกฎหมายที่มีผลโดยตรง เช่น พรบ.เกณฑ์ทหาร หรือการเก็บค่าแรงแทนเกณฑ์ คนละ 4 บาท จากเดิมล้านนาจ่ายเป็นข้าว,ครั่ง, รัก ก็เปลี่ยนเป็นเงิน ให้คนทำงานมาจ่ายภาษี

หรืออย่างคนบนที่สูง ไม่ยอมหรอกปลูกข้าวแล้วมาเสียภาษีให้สยาม คนขึ้นไปเก็บภาษีโดนล่อให้หลงป่า โดนฆ่าตายก็มี

นอกจากนี้ ยังเกิดการฟ้องร้องระหว่าง “แก่บ้าน” หรือผู้ใหญ่บ้าน กับเจ้านายทางล้านนาเอง เรื่องการทำฝาย ซึ่งทางภาคเหนือเป็นสันเขา ต้องระดมคนขุดเพื่อทำฝาย แก่บ้านที่เสียผลประโยชน์ก็ฟ้องร้อง แต่ไม่มีใครสนใจ ทางล้านนาก็ไม่กล้าตัดสิน สุดท้ายเรื่องมาถึงกรุงเทพฯ พระยาอภัยราชาอธิบายว่า การทำฝายมีประโยชน์ต่อรัฐ เป็นการผันน้ำใส่ที่นา ซึ่งคนต้องกินข้าว เลยยกฟ้อง

คดีพวกนี้สะท้อนอะไร

สะท้อนให้เห็นการล่มสลายของระบบไพร่ ไพร่ล้านนาหลุดจากพันธะเดิมที่เคยใช้ “อาชญา อำนาจ เอื้ออารี” เมื่อสยามเข้ามาแทรกแซงตามคนมาซ่อมฝายไม่ได้แล้ว

ใครได้รับผลกระทบมากกว่าระหว่างชนชั้นนำกับชาวบ้าน

น่าจะเป็นเจ้านาย ยิ่งเมืองใหญ่ยิ่งปรับตัวช้า ความจริงสยามก็มีนโยบายอุปถัมภ์เจ้านายทางเหนือ อยู่ที่ว่าเจ้าเมืองไหนปรับตัวดีกว่า ที่น่าสงสารที่สุดคือ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ เจ้าเมืองลำปาง ตอนพิราลัย มีหนี้สินจากการกู้เงินทำสัมปทานป่าไม้เป็นล้าน ในยุคนั้นถือว่ามหาศาล ไม่มีใครมีเงินพอจะชำระหนี้

ศพตั้งอยู่กลางคุ้ม ไม่มีใครทำศพ เพราะต้องใช้เงินเป็นแสน เครื่องประดับหน้าศพ ถูกเจ้าหนี้รื้อไปขัดดอก ส่วนคุ้ม ก็มีคนจะมาฟ้องร้องขายทอดตลาด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่าอย่ายอม เพราะจะเสียพระเกียรติ ให้อ้างไปว่าไม้ส่วนหนึ่งที่ซ่อมแซมคุ้มขออนุมัติมาจากกรุงเทพฯ และสุดท้ายทางกรุงเทพฯ อนุมัติช่วยงานศพหนึ่งหมื่นบาท เจ้าดารารัศมีเป็นแม่งาน ก็เลยได้ปลงศพ

14708277_10154599136857733_7833296649513626122_n

เจ้านายฝ่ายเหนือมีความพยายามในการรักษาสถานภาพของตัวเองไหม

มีตัวอย่างในกรณีของป่าแม่แจ่ม ซึ่งเจ้านายทางเหนือไม่อยากให้ตกเป็นของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาของฝรั่ง เจ้าดารารัศมีต้องไปขอยืมเงินพระคลังข้างที่ เพราะไม่อยากให้เจ้านายทางเชียงใหม่ตกต่ำไปกว่านี้ กรมดำรงฯ ทรงเตือน แต่ก็ให้ยืม เพื่อพยุงฐานะ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ ทางลำปางก็มาสมทบทุนด้วย

ส่วนเมืองน่านมีวินัยทางการเงิน และยังมีช้าง มีเครื่องมือเอง ต่างจากเชียงใหม่ที่ขายสัมปทานให้ฝรั่ง นอกจากนี้ในมุมมองกรมดำรงฯ คือ น่านภักดีต่อสยามทั้งที่อยู่ติดกับไชยะบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองของฝรั่งเศส

แล้วกลุ่มพ่อค้ากระทบมากน้อยแค่ไหน

กระทบมาก เพราะระบบการค้าเดิม มีลักษณะเป็นการค้าข้ามพรมแดน กลุ่มที่มีบทบาทคือ คาราวานพ่อค้าจากยูนนาน ไปมาค้าขายกันเป็นสิบเป็นร้อยปี ไม่ต้องมีใบผ่านแดน แต่พอผนวกล้านนาเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งด่าน ต้องเสียภาษี การค้าตรงนี้จึงล่มสลายไป

นอกจากนี้ยังมีคนวิเคราะห์ว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ส่วนหนึ่งมีผลจากพม่ากับเงี้ยวซึ่งเดิมไม่มีอุปสรรคในการเดินทางค้าขายกัน พอมีพรมแดน แล้วได้รับผลโดยตรง จึงไม่พอใจ เงี้ยวกลุ่มนี้ ไม่ได้จบที่การถูกประหาร แต่ยังมีคนที่กระจายไปอยู่ตามจุดต่างๆ ทหารไทย ตามจับไม่ได้ เป็นปัญหาระหว่างชายแดนเรื่อยมา

บทบาทมิชชันนารี

แทรกซึมทุกหมู่บ้านเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ทรงมีนโยบายสนับสนุนแน่ชัด แต่มีประกาศว่าให้คนนับถือศาสนาได้อย่างเสรี แค่นั้นก็เพียงพอแล้วต่อการขยายงานของมิชันนารี มีนิตยสาร “เดอะลาวส์ นิวส์” ซึ่งเป็นการเรียกคนล้านนาตามกรุงเทพฯว่า “ลาว” พอช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการใช้บริการของโรงพิมพ์มิชชันนารีเพื่อพิมพ์เผยแพร่เอกสาร ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวที่ให้ใช้เอกสารตัวเมือง เพราะกลัวคนไม่เข้าใจ ถ้าใช้อักษรไทย

“ไม่ยอมหรอกปลูกข้าวแล้วมาเสียภาษีให้สยาม คนขึ้นไปเก็บภาษีโดนล่อให้หลงป่า โดนฆ่าตายก็มี”

ถ้าล้านนาไม่ได้ถูกผนวกเข้ากับสยาม ตอนนี้จะเป็นอย่างไร

ล้านนาก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพม่า เพราะวงจรเศรษฐกิจและกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้กับเชียงตุงและพม่ามากกว่า พม่าก็ปกครองล้านนามาตั้ง 200 ปี ซึ่งก็มีการรวมกลุ่มกันต่อต้านพม่ามาโดยตลอด แต่รวมตัวไม่ติด

คนอ่านจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้

ได้รู้ว่าความเป็นรัฐชาติของไทยก่อร่างสร้างตัวอย่างไร เรามักเคยชินในการมองภูมิภาคอื่นอย่างไม่เท่าเทียม หนังสือเล่มนี้นำเสนอประวัติศาสตร์สังคมอย่างมีหลักฐานชัดเจน อ้างอิง ที่มาที่ไปของข้อมูล ค่อยๆคลี่คลายให้เห็นว่าเรื่องราวต่างๆมีเหตุผลอะไร คนล้านนามีวิถีชีวิตอย่างไรเมื่อสยามเข้าไปปกครอง จะเห็นนโยบาย เห็นการเปลี่ยนแปลงของไพร่ที่ใกล้เคียงกับชีวิตเรา เชื่อมโยงกับความเป็นเรา

ทำไมคนไทยต้องสนใจปมปัญหาหรือความขัดแย้งในอดีต

ถ้าไม่เข้าใจอดีต จะไม่เข้าใจปัจจุบัน จะไม่มีวันเข้าใจว่ากระแสความไม่พอใจ รวมถึงการเรียกร้องการปกครองตัวเองมาจากอะไร ถ้าเราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จะลดอคติ เข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นมากขึ้น

ประวัติศาสตร์มีข้อมูลบางอย่างที่ช่วยเปิดสมอง และตั้งคำถามย้อนกลับกับทุกเรื่อง เช่น วาทกรรมการเสียดินแดน ถามว่าได้มาเมื่อไหร่ มีที่มาที่ไปอย่างไร คำถามย้อนกลับเป็นเรื่องสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image