การเมืองร่วมสมัย ใน ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ หลักฐานประวัติศาสตร์ นอกนิยาม ‘โบราณวัตถุ’

การเมืองร่วมสมัย ใน ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ หลักฐานประวัติศาสตร์ นอกนิยาม ‘โบราณวัตถุ’
ชามสังกะสีต้านคอมมิวนิสต์ พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดแสดงพร้อมกระดาษเขียนด้วยลายมือ จาก คฤกพล เทศนธรรม ผู้บริจาค

“ในโลกยุคนี้ที่เราบอกว่า ประชาชนควรเป็นศูนย์กลาง แต่กลายเป็นว่าสิ่งของที่ประชาชนคนธรรมดาเคยเอามาใช้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ มันกลับไม่ถูกมองโดยรัฐว่าเป็นประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งมีคุณค่าที่ควรเก็บรักษาไว้”

เสียงของ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ จากคลิปความยาว 3 นาที 23 วินาที ที่เปิดให้ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์อันเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการประวัติศาสตร์ฉบับย่อผ่านของสะสม ณ Kinjai (คินใจ) Contemporary แกลเลอรีในตึกแถวย่านบางพลัด

เป็นถ้อยคำไม่กี่ประโยคที่ไม่เพียงครอบคลุมแนวคิดและความเป็นมาของการก่อเกิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว หากแต่สะกิดให้ตั้งคำถามสำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์

หลายปีก่อนหน้าการมาถึงของโซเชียลเน็ตเวิร์ก คำว่า Museum without Walls ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งบนเวทีเสวนาวิชาการ ทว่าในความเป็นจริง ย่อมไม่เกิดขึ้นโดยง่าย เช่นเดียวกับวาทกรรม ‘ประชาชนมีส่วนร่วม’ ที่ดาษดื่นในเอกสารราชการ

Advertisement

ตัดภาพมายัง พิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) ซึ่งมีตัวตนในโลกออนไลน์ เปิดให้เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อเดียวกัน ตั้งแต่วันปฐมฤกษ์ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ก่อนวางศิลาฤกษ์เปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ commommuze.com ในเดือนสิงหาคม 2563

เก็บรักษาข้าวของจากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน สะสมวัตถุที่ห่างไกลจากนิยาม ‘ล้ำค่า’ ในพจนานุกรมภาครัฐ แต่อาจประเมินค่าไม่ได้ในกาลานุกรมการเมืองไทยร่วมสมัย

บรรยากาศภายใน ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’

Advertisement

หลายชิ้นที่กลายเป็นไฮไลต์ ได้มาจากสามัญชนคนธรรมดาผู้มีส่วนร่วมทั้งในฐานะประจักษ์พยานของประวัติศาสตร์และ ‘ผู้บริจาค’ ที่ไม่ต้องปั๊มรายนามจารึกประกาศเกียรติคุณบนแผ่นทองเหลือง

แม้ไม่มีสถานที่จัดแสดงอย่างถาวร แต่เผยโฉมผ่านนิทรรศการมาแล้วหลายครั้ง ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน กระทั่งล่าสุด ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม

ในช่วงเวลาเกือบ 1 เดือน มีกิจกรรมหลากหลาย ที่สำคัญคือเสวนาที่ผู้ร่วมวงหลายคนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหว นักศึกษา นักวิชาการ และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ข้าวของและภาพถ่ายเล่าเรื่องราวม็อบคนรุ่นใหม่ซึ่งเปิดศักราชในปี ’63

จดจาร ‘พงศาวดารสามัญชน’

ให้พื้นที่ทุกอุดมการณ์

การนำชมครั้งหนึ่งของ อานนท์ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์สามัญชน บอกเล่าจุดเริ่มต้นอักษรตัวแรกในการจดจารพงศาวดารประชาชนผ่านวัตถุแห่งยุคสมัยว่าเกิดขึ้นในพระพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบเอ็ดพระวัสสา หลังเข้าร่วมกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพจากกรุงเทพฯไปขอนแก่น กว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งหนึ่งในวัตถุพยานในครั้งนั้นสูญหายไปเช่นเดียวกับสิ่งของสำคัญหลายชิ้นในขบวนการภาคประชาชนที่ไม่มีผู้เก็บรักษา

“…(ช่วงท้ายกิจกรรม) เขาให้คนที่ไปร่วมเดินเอาเท้าไปจุ่มสี แล้วเหยียบๆๆ บนผ้าดิบผืนหนึ่ง โมเมนต์นั้นผมรู้สึกว่า เฮ้ย! นี่แม่งประวัติศาสตร์เลยเว้ย ผ้าที่มีรอยเท้าผืนนั้นน่าจะเป็นแรงบันดาลใจลำดับต้นๆ เลยที่ทำให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนมันก่อร่างสร้างตัวมาถึงทุกวันนี้

อานนท์ ชวาลาวัณย์

…ในฐานะคนเรียนประวัติศาสตร์ รู้สึกว่าถ้าเราเริ่มทำ เริ่มเก็บ เริ่มสะสม วันหนึ่งน่าจะสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์จากอีกมุมหนึ่ง จากมุมล่างขึ้นบน จากประวัติศาสตร์ภาคสามัญ จากการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา ที่สะท้อนไปสู่การเมืองภาพใหญ่ได้” อานนท์กล่าว

นับแต่ไอเดียนั้นผุดขึ้นมา จึงเริ่มสะสมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนซึ่งไม่ได้หลากหลายแค่ประเด็นเรียกร้อง หากแต่ข้าวของจากชุดความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองก็มีพื้นที่ให้หยัดยืนเช่นกัน ส่วนจะสง่างามหรือไม่ แน่นอนว่า ประชาชนคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ด้วยตัวเอง

หลักฐานประวัติศาสตร์

นอกนิยาม ‘โบราณวัตถุของชาติ’

กระสุนยางจากสมรภูมิดินแดง

เหรียญปราบกบฏ ชามสังกะสีต้านคอมมิวนิสต์ ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านในเหตุการณ์เดือนตุลา หน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันยุคพฤษภา 35 ตีนตบคนเสื้อแดง จดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ชนรถถัง ตุ๊กตาเป็ดน้อยจากแฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ หมวกนิรภัย กระสุนยางในสมรภูมิดินแดง ฯลฯ

คือส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้าข่าย ‘โบราณวัตถุ’ ในนิยามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่ว่าจะฉบับเก่าใหม่ หรือเวอร์ชั่นแก้ไขเพิ่มเติมปี 35

ข้าวของเหล่านี้ คือสมบัติของสามัญชนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สามัญชน บนพื้นที่ 4 ชั้นของนิทรรศการในครั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ 2475 ตุลา 2516/2519 พฤษภา 35 พฤษภา 53 จนถึงแฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศซึ่งเริ่มต้นในปี 2563 จนถึงวันนี้

ภรรยาลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ให้ยืมสำเนาจดหมายลายมือในกรอบทอง เพื่อจัดแสดง

“หนึ่งในไฮไลต์คือเหรียญปราบกบฏซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรทำแจกผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่อสู้กับกบฏบวรเดช น่าจะเป็นของสะสมชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดที่เรามีอยู่ในตอนนี้

เรามีผ้าพันคอของลูกเสือชาวบ้าน อาร์มของกระทิงแดง หมวกดาวแดงอย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยใช้ ชิ้นนี้เป็นของใหม่ แต่มีลายเซ็นของสุรชัย แซ่ด่าน (นักต่อสู้ผู้ล่วงลับ) ชามมีข้อความความต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งมีผู้ขุดได้ที่จังหวัดสกลนคร

ถัดมาโซนพฤษภาทมิฬ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์บางเล่มได้รับบริจาค บางเล่มไปซื้อจากร้านหนังสือเก่า โซนที่เกี่ยวกับ กปปส.และพันธมิตรก็มี เช่น นกหวีดบลูสกาย หนังสือประวัติสุเทพ เทือกสุบรรณ เหรียญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราเพิ่งได้รับบริจาคมา เสื้อของจ่านิว สิรวิชญ์ที่มาในสภาพเลือดเกรอะกรัง สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับมาตรา 112 บางเล่มเขียนโดยจำเลยในคดี แถลงการณ์ของรุ้ง ปนัสยาเมื่อเดือนตุลา 64 เลือดที่กรีดแขนยังติดอยู่บนกระดาษ จีวรอดีตสามเณรโฟล์กระหว่างถูกสลายชุมนุมหน้าแมคโดนัลด์ ราชดำเนิน” สามัญชนผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนพรรณนา

คำให้การ ‘ผู้บริจาค’

ในไทม์ไลน์การเมืองร่วมสมัย

หมวกนิรภัยสีขาวและเป็ดเหลือง คือสัญลักษณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร 2563

สำหรับที่มาของวัตถุดังที่กล่าวมาข้างต้น อานนท์ รับอย่างตรงไปตรงมาว่า

“ของหลายๆ ชิ้น ถ้าไปหาเองก็คงไม่มีปัญญา”

ทั้งในแง่ของงบประมาณทางการเงินที่ส่วนหนึ่งไปซื้อหามาด้วยตัวเอง แต่ย่อมไม่อาจครอบคลุม

สามัญชน จึงมีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์สามัญชนด้วยการบริจาคข้าวของมากมาย อาทิ เสื้อยืดในโซน ‘ห้องเสื้อสามัญชน’ ซึ่งนักเคลื่อนไหวหลายคน หลายกลุ่ม ร่วมกันมอบให้

“เสื้อการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหว แบ่งเป็น 3-4 โซนหลัก โซนแรกคือโซนของราษฎร ไฮไลต์คือเสื้อที่ศิลปินออกแบบโดยจับผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญ เช่น พระยาพหลพลหยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช จอมพลฯ ป.พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ เอามาดีไซน์คล้ายโปสเตอร์หนัง, เสื้อของกลุ่มคนเสื้อแดง ไฮไลต์ คือ เสื้อไพร่ ซึ่งเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นิยมใส่ขึ้นเวทีปี 53 ถัดมา คือเสื้อเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้ง เช่น เสื้อร่วมรื้อร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ เสื้อกลุ่ม กปปส.และพันธมิตร ส่วนที่เยอะสุดคือคอลเล็กชั่นชุมนุมปี 63-64 ของคนรุ่นใหม่ ไฮไลต์คือเสื้อรวบรวมแฮชแท็กในแฟลชม็อบของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 63”

โซนเสื้อสามัญชน แขวนเสื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลายฝ่าย

ทั้งนี้ เสื้อบางตัว มีเรื่องราวเบื้องหลังที่เปี่ยมสีสันยิ่ง

“เสื้อสกรีนรูปกำนันสุเทพ มีรอยไหม้ เพราะคนบริจาคมีความคิดทางการเมืองต่างจากแนวทาง กปปส. เลยเอาไปทำเป็นผ้าขี้ริ้ว พอเขาทราบว่าเราเก็บสะสม เลยซักแล้วเอามามอบให้” อานนท์เล่า

เสื้อกำนันสุเทพที่ผู้บริจาคระบุว่าเคยถูกใช้เป็นผ้าขี้ริ้ว เพราะเห็นต่างจากกปปส. ก่อนนำมาซักเพื่อมอบให้พิพิธภัณฑ์

ในขณะที่นักกิจกรรมหลายคนที่คุ้นหน้าคุ้นตาในม็อบหลากยุคสมัยก็มีส่วนสำคัญ เช่น สุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ทุ่มบริจาคเสื้อยืดกว่า 100 ตัว และของสะสมอีกหลายชิ้น รวมถึงรูปปั้น ลุงนวมทอง ไพรวัลย์

ด้าน เติร์ด รัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่ม We Volunteer หรือ วีโว่ ก็เป็นหนึ่งในผู้บริจาคเช่นกัน

“ผมตัดสินใจมอบเสื้อ อั้งยี่ซ่องจน ของผมเองให้กับทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนเพื่อให้เสื้อตัวนี้เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โฆษกวีโว่ระบุ

(จากซ้าย) อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน รับไวนิลจาก โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ่ายภาพหน้า Kinjai Contemporary

ยังมีป้ายที่เคยใช้ในคาร์ม็อบโคราช รวมถึงไวนิล ‘พื้นที่ประชาธิปไตย ปลอดเผด็จการ’ ที่เคยถูกแขวนบนรถเมล์หน้ารัฐสภาในม็อบ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่ง โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักเคลื่อนไหวเดินทางมามอบให้พิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง

ไม่ได้ลงท้ายด้วย ‘แห่งชาติ’

แต่เล่าเรื่องชาติ ในความหมาย ‘ประชาชน’

#ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส หนึ่งในแฮชแท็กของการชุมนุม ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวาน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563

ส่วนการเดินหน้าในปฏิทินของวันพรุ่งนี้ มีผู้บริจาคหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม มอบ ใบปลิวหาเสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ที่ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนย้ำชัดว่า นี่ไม่ใช่แค่เศษขยะ หากแต่คือปูมประวัติศาสตร์ที่บันทึกคำมั่นสัญญาที่ผู้สมัคร ส.ส.มีต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากในอนาคตอันใกล้จะมีการเลือกตั้ง ใบปลิวหาเสียงรวมทั้งแผ่นป้ายหาเสียงจะเป็นหนึ่งในกระดาษข้อสอบที่เราจะสามารถนำมาใช้วัดผลการทำงานของรัฐบาลและสภาได้อย่างคร่าวๆ ว่าคำมั่นสัญญาที่ถูกให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง มีสิ่งใดที่สำเร็จลุล่วงหรืออย่างน้อยมีความคืบหน้าไปบ้าง

ใบปลิวที่พิพิธภัณฑ์ได้รับมีของพรรคก้าวไกล เพื่อไทย กล้า ไทยภักดีและพลังประชารัฐ

‘ในอนาคตหากมีการจัดการเลือกตั้ง เราหวังว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกท่านจะได้ช่วยกันเก็บใบปลิวเหล่านี้ส่งมาให้เรา เพราะเราเชื่อว่าใบปลิวหาเสียงคือหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่เพียงบันทึกคำมั่นสัญญาของผู้สมัคร หากแต่ยังบอกเล่าความต้องการแห่งยุคสมัยที่ถูกพรรคการเมืองแปรรูปไปเป็นนโยบายที่จะนำเสนอประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ พิพิธภัณฑ์สามัญชนระบุ

กล่องรับเหตุการณ์ และเรื่องราวที่อยากบอกเล่า

 

นอกจากนี้ เมื่อไม่มีงบประมาณที่ได้จัดสรรจากรัฐดังเช่นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ก็ต้องหารายได้เอง เพื่อให้เข้าถึงของสะสมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ภาคสามัญในหลายๆ ชิ้น จึงใช้วิธีขายเสื้อยืดพิมพ์ลายโปสเตอร์ที่พิพิธภัณฑ์ออกแบบเอง ราคาตัวละ 300 บาท หวังระดมทุนซื้อหนังสือและของสะสมเพื่อจัดแสดง

พิพิธภัณฑ์สามัญชน ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่า แห่งชาติ หากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องผ่านพงศาวดารของตัวเองโดยส่วนประกอบสร้างสำคัญที่สุดของคำว่าชาติ นั่นคือ ประชาชน

หนังสือพิมพ์ พ็อคเก็ตบุ๊ก ป้ายผ้า และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งบันทึกการต่อสู้ภาคประชาชนถูกรวบรวมไว้อย่างดี
หนังสือพิมพ์รายวัน หน้า 1 นำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวชุมนุม
ภายในนิทรรศการมีบอร์ดสอบถามความเห็น “คุณเคยเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาlตร์เหล่านี้ไหม ?”

86I

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image