อาศรมมิวสิก : วาเลอรี เกอกิเยฟ และเหล่าศิลปินรัสเซีย กับการเมืองที่นำความขัดแย้งมาสู่วงการศิลปะ

ดนตรีและศิลปะควรเป็นสิ่งที่งดงามบริสุทธิ์ ปราศจากการยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ หรือว่าดนตรีและศิลปะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นไปของโลก, สังคม และการเมือง แบบไม่อาจแยกจากกันได้ นี่เป็นสองแนวความคิดที่ดูจะยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ เป็นข้อโต้แย้งที่ถกเถียงกันอย่างยาวนานเสมอมา ใครที่จะมีแนวคิดสรุปไปในทางใดทางหนึ่งอย่างเด็ดขาดว่า ดนตรีและศิลปะควรบริสุทธิ์เท่านั้น หรือดนตรีและศิลปะไม่มีทางบริสุทธิ์ไปได้เลย นั่นจะกลายเป็นแนวความคิดที่มีช่องโหว่, ช่องว่างให้ได้ถูกโต้เถียงโจมตีได้เสมอๆ ไม่ต้องดูใครอื่นแม้แต่นักคิด, นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในเมืองไทยอย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ที่ใช้นามปากกาว่า “ทีปกร” ก็ดูจะเต็มไปด้วยช่องโหว่, ช่องว่างทางความคิดในหนังสือ “ศิลปเพื่อชีวิต” ของเขา เมื่อเขาได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการตีกรอบความคิดว่า ศิลปะและดนตรีที่ไม่สะท้อนความคิดทางการเมือง และไม่รับใช้ประชาชนนั้นไม่ใช่ศิลปะโดยสิ้นเชิง นี่จึงอาจจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง (หรืออาจจะเป็นเพียงเล่มเดียว) ที่เราสามารถโต้เถียงแนวคิดของเขาได้ไม่ยากนัก เมื่อเขาพยายามตีกรอบแนวคิดของศิลปะและดนตรีให้จำกัดอยู่เพียงความหมายเดียว

ผู้เขียนเริ่มเกริ่นนำแนวความคิดนี้ขึ้นมาเพราะหลังจาก “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (ไม่ให้เรียกว่า “สงคราม” นี่เป็นการบิดเบือนความจริงด้วยการใช้ถ้อยคำสวยหรูจนฟังไม่รู้เรื่อง อันเป็นศิลปะของนักการเมืองและท่านผู้นำทั้งหลาย) ที่รัสเซียได้กระทำต่อยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเลือนลั่นเป็นอันมากในวงการดนตรีคลาสสิกของโลกตะวันตก เมื่อมีศิลปินดนตรีชาวรัสเซียชั้นแนวหน้าของโลกมากมายที่ได้รับผลกระทบจาก “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในครั้งนี้ แต่กรณีที่ดูจะโดดเด่นที่สุดและเป็นที่น่าจับตามองมากที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกินในกรณีของวาทยกรชั้นนำอย่าง “วาเลอรี เกอกิเยฟ” (Valery Gergiev) ชาวรัสเซียที่ถูกปลดกลางอากาศ ในขณะที่กำลังจะนำวง “เวียนนาฟิลฮาร์โมนิก” (Wiener Philharmoniker) ไปตระเวนแสดงดนตรีในสหรัฐอเมริกาในวันรุ่งขึ้น (25 ก.พ.) ถ้าเราถอดเรื่อง “สงคราม” (ขี้เกียจจะใช้ถ้อยคำอ้อมค้อมแบบนักการเมือง) ออกไป วาเลอรี เกอกิเยฟ เป็นวาทยกรผู้สูงด้วยความสามารถจัดเป็น หนึ่งในสุดยอดผู้อำนวยเพลงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เขาถูกปลดแบบสายฟ้าแลบอย่างแท้จริง ในทางดนตรีแล้วนี่นับเป็นความเสียหายอย่างปฏิเสธมิได้ มิใช่เขาเพียงคนเดียว หากแต่ “เดนิส มัตสึเยฟ” (Denis Mutsuev) ยอดนักเปียโนรัสเซียที่ได้กำหนดตัวไว้ว่าจะออกตระเวนแสดงด้วยกันในครั้งนี้ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย วงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกต้องหาวาทยกรและศิลปินเดี่ยวเปียโนคู่ใหม่แบบกะทันหัน

เรื่องน่าขันเล็กๆ น้อยๆ ก็คือว่า ก่อนการออกทัวร์ไม่ถึงวัน ในเพจเฟซบุ๊กของทางวงมีแฟนเพลงเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงประท้วงทางวงมากมาย เพราะแฟนเพลงต่างทราบดีว่า วาเลอรี เกอกิเยฟ เป็นเพื่อนสนิทอย่างมากกับ วลาดิมีร์ ปูติน และมีแนวคิดสนับสนุนท่านผู้นำของเขามาโดยตลอด ในขณะที่แฟนเพลงของวงเข้ามาประท้วงในเพจเฟซบุ๊ก ตัวแทนผู้ดูแลเพจ (ที่เรียกกันว่า “แอดมิน”) ก็ออกมาแก้ตัวปกป้องเขาด้วยหลักการอันสวยหรูในทำนองที่ว่า ดนตรีเป็นเรื่องของความงาม ดนตรีเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามารวมกันเพื่อสิ่งดีๆ ดนตรีไม่ใช่เรื่องการสร้างความแตกแยก แบ่งแยกผู้คน เรียกว่าอ่านแล้วเคลิ้มกันทีเดียว แต่หลังจากผ่านไปได้ไม่กี่ชั่วโมง เมื่อ “หน่วยเหนือ” สั่งการอะไรบางอย่างลงมา วงจึงออกแถลงการณ์พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ ปลดศิลปินรัสเซียทั้งคู่ออกกลางอากาศแบบสายฟ้าแลบ ถ้อยคำที่ปกป้องวาทยกรและศิลปินเดี่ยวเปียโนด้วยหลักการ “ดนตรีเป็นสิ่งบริสุทธิ์, งดงาม ไม่อาจแปดเปื้อนด้วยความขัดแย้งทางการเมือง” พลิกสุดขั้วกลายเป็นหลักการ “ดนตรีเพื่อชีวิต และประชาชน” (แบบจิตร ภูมิศักดิ์) ไปโดยพลันภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง

เราลองมาหยุดความคิดที่จะถกเถียงกันว่า ตกลง ดนตรีแยกแยะออกจากบริบทของโลกและสังคมได้หรือไม่ และควรจะแยกหรือไม่ควรแยกดี เราลองแวะเวียนมาดูแนวคิดทางดนตรีของ วาเลอรี เกอกิเยฟ ในห้วงเวลาที่ปราศจากความขัดแย้งทางการเมืองกันดีกว่า บรรยากาศช่วงนั้นมีอะไรดีๆ ทางปรัชญาดนตรีและศิลปะเยอะแยะมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เขาประสบความสำเร็จในยุโรปตอนแรกๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในตอนที่เริ่มร่วมงานกับวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกเป็นครั้งแรก มีแนวคิดทางดนตรีดีๆ ของเขาที่กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้มากกว่าที่จะมานั่งถกเถียงกันเรื่องจุดยืนทางการเมืองส่วนตัว วาเลอรี เกอกิเยฟ ร่วมงานกับเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ในการกำกับการแสดงอุปรากรเรื่อง “โบริส โกดูนอฟ” (Boris Godunov) ของ “โมเดสท์ มูซซอร์กสกี” (Modest Mussorgsky) ในปีถัดมาเขากำกับวงในลักษณะซิมโฟนีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบกับวงนี้ ในเทศกาลดนตรีที่ซาลซ์บูร์กอีกครั้ง บทเพลงเอกในรายการมิได้เป็นผลงานที่ดูน่าจะตื่นเต้นอันใดเลย ผลงานพื้นๆ หาฟังการบรรเลงบทเพลงนี้ในมาตรฐานดีๆ ในยุโรปได้อย่างดาษดื่น นั่นคือ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky)

Advertisement

แม้นผู้เขียนจะเป็นสาวกดนตรีของไชคอฟสกีมายาวนานหลายสิบปี แต่ขอสารภาพว่า โดย “ความเห็นส่วนตัว” แล้ว นี่เป็นซิมโฟนีของไชคอฟสกีที่น่าเบื่อที่สุดในบรรดา 6 บทของเขา งดงามแบบชมนกชมไม้, อารมณ์ดีปราศจากความตื่นตระหนกและแรงกดดันใดๆ, ช่างสบายใจและโลกสวยอะไรกันนักหนา ผิดกับ 5 บทที่เหลือที่เต็มไปด้วยพลังอารมณ์, ความตื่นเต้น (แบบที่เรียกกันว่า “Drama”) อย่างล้นปรี่ นี่แหละคือเสน่ห์ในดนตรีแบบเฉพาะตัวของเขา งานบันทึกเสียงการแสดงสดในเทศกาลดนตรีที่ซาลซ์บูร์กในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกี กับเวียนนาฟิลฮาร์โมนิก เปลี่ยนโลกทัศน์ต่อผลงานชิ้นนี้ได้ไม่น้อย เขาทำอะไรหลายๆ อย่างที่แสดงให้เห็นศักยภาพทางดนตรีที่ซ่อนไว้ในสกอร์ดนตรี (โน้ตที่เขียนขึ้น) ได้สำเร็จ เขาทำให้งานชิ้นนี้หลุดจากสภาวะแห่งความจืดชืดเย็นชา (Routine) ได้ชัดเจน อะไรๆ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเราก็ได้ยิน ส่วนประกอบเล็กๆ ที่เป็นเพียงแนวเชื่อมต่อของทำนองหลัก (เรียกกันว่า “Transition”) ถูกขับเน้นอย่างน่าตื่นเต้น แปลงสภาพกลายเป็นใจความสำคัญทางดนตรี (Motif) ที่ก้องกังวานอยู่ในหัวเราได้ แม้จะฟังจบไปแล้ว ยังมีอะไรๆ อีกหลายอย่างที่เกอกิเยฟสำแดงศิลปะของเขาไว้ในการแสดงครั้งนั้น มันคือสภาวะที่ชี้ให้เห็นได้ว่า นอกจากเป็นการเตรียมงานศึกษาสกอร์ล่วงหน้ามาอย่างดีแล้ว มันมี “อะไรบางอย่าง” ที่บังเกิดขึ้นสดๆ ในขณะบรรเลงจริงแบบที่ไม่อาจเตรียมการล่วงหน้าหรือตกลงกันไว้ตอนซ้อมได้ สภาวะที่ศิลปินดนตรีในวงออร์เคสตราต่างใฝ่หากันหนักหนา วาเลอรี เกอกิเยฟ ทำมันได้สำเร็จด้วยการสื่อพลังจิตอันเข้มข้นในขณะนั้น (สังเกตได้จากใบหน้าอันคมเข้ม, ดวงตาที่เป็นประกายไฟราวกับพ่อมดรัสปูติน) เมื่อจบบทเพลงผู้ชมลุกขึ้นยืนทั้งโรง ปรบมือโห่ร้องแบบถล่มทลาย

“ดร.เคลเมนส์ เฮลส์แบร์ก” (Clemens Hellsberg) นักไวโอลินในวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารวง เรียกความสัมพันธ์ระหว่างวงกับวาเลอรี เกอกิเยฟ ว่าเป็น “รักแรกพบ” นอกจากรักแรกพบแล้ว ยังเป็นรักที่ยาวนานกว่าสองทศวรรษ วาเลอรี เกอกิเยฟได้รับเชิญให้กลับไปอำนวยเพลงให้กับเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกอยู่เสมอๆ ตลอดเวลากว่า 20 ปี และแล้วความรักและความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานก็ต้องมาหักสะบั้นลงด้วย “การเมือง”

วาเลอรี เกอกิเยฟ ให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จในครั้งนั้นว่า “…ผมรู้สึกสบายใจมากกับพวกเขา และสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมากก็คือว่า พวกเราได้ทุ่มเทพลังจดจ่ออยู่กับดนตรีอย่างแท้จริงโดยไม่มีอะไรอื่นมาขัดขวาง, ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ, ไม่มีเรื่องของสหภาพแรงงานหรือ ปัญหาใดๆ ระหว่างวงกับวาทยกร….” สภาวการณ์เช่นว่านี้เองที่สรรค์สร้างดนตรีดีๆ ให้บังเกิดขึ้น สภาวะที่เรียกว่าใจต่อใจ หรือใจสู่ใจ เขายังกล่าวถึงความสำเร็จในฐานะวาทยกรไว้อย่างน่าฟังว่า ความพึงพอใจของเขาต้องมาจากสิ่งที่ได้ยินได้เห็นบนเวทีด้วย เขาจะมีความสุขไม่ได้ถ้าหากใบหน้าของเหล่านักดนตรีดูไม่มีความสุข แม้เสียงที่ได้ยินในขณะนั้นมันงดงามก็ตามที วงออร์เคสตรานอกจากเป็นเพื่อนร่วมงานแล้ว พวกเขายังเป็นคณะครูอาจารย์สำหรับเขา และสำหรับมิติทางด้านผู้ชมนั้น เกอกิเยฟบอกว่า เขาต้องรู้สึกสัมผัสได้ถึง “พลังด้านบวก” จากผู้ชมที่ไหลผ่านมาสู่แท่นอำนวยเพลงที่เขายืนอยู่, ไหลผ่านแผ่ไปทั่วเวทีการแสดง ในขณะที่พลังด้านบวกจากเวทีการแสดงที่ก็สามารถไหลย้อนกลับไปสู่ผู้ชมในโรงคอนเสิร์ต นี่คือสภาวะที่เป็นอัตวิสัยที่ไม่อาจรู้สึกสัมผัสกันได้ทุกผู้ทุกคน มันเป็นสภาวะที่ผันแปรไปตามประสบการณ์ทางวุฒิภาวะแห่งการรับรู้ศิลปะของแต่ละบุคคล นี่จึงพอเป็นเหตุผลได้ว่า เหตุใดบ้านเมืองที่เจริญแล้วเขาจึงต้องลงทุนลงแรงเอาจริงเอาจังกับเรื่องดนตรีมากนัก

Advertisement

น่าเสียดายเหลือเกินที่สภาพการณ์แห่งอุดมคติที่ได้ร่วมสร้างสรรค์กันมาอย่างยาวนาน ต้องมามีอันสะดุดหยุดลง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นในความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของเหล่าศิลปินในครั้งนี้ ได้แต่ภาวนาให้สงคราม (ใครจะเรียก “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ตามคำของท่านปูตินก็เชิญ) ยุติลงโดยเร็ว และหวังว่าหลังความไม่ปกตินี้ผ่านพ้นไปแล้ว ความเสียหายทางศิลปะจะได้รับการปฏิสังขรณ์โดยเร็ว หวังว่าความเสียหายในเชิงนามธรรม-ความรู้สึกจะได้รับการฟื้นฟูให้เป็นปกติด้วย ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในครั้งนี้กระทบต่อศิลปินชั้นนำชาวรัสเซียแบบหมู่คณะ หลายคนถูกยกเลิกสัญญาการแสดงมากมาย (แน่นอน วาเลอรี เกอกิเยฟผู้ใกล้ชิดสนับสนุนปูตินไม่หลงเหลืองานอยู่ในมือในแถบยุโรปเลย) หลายคนยอมทุบหม้อข้าวตัวเอง ยุติบทบาททางดนตรีจนกว่า เสรีภาพและความสงบจะคืนสู่ยูเครน ศิลปินชั้นนำชาวรัสเซียออกแถลงการณ์ประณาม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของท่านปูติน อย่างเปิดเผยและพร้อมเพรียง พวกเขาต่างออกมาแสดงจุดยืนเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกระทำในยามวิกฤตนี้ในบทบาทและสถานะอันสูงส่งคู่ควรยิ่งกับคำว่า “ศิลปิน” สถานการณ์ชี้วัดจุดยืนและความจริงใจ

ผู้เขียนไม่พบเห็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการใดๆ จากทางฝ่ายของ วาเลอรี เกอกิเยฟ การไม่แสดงออก ไม่ยอมปริปากใดๆ ในยามวิกฤตนี้ คือการเห็นด้วยกับท่านปูตินเพื่อนรักของเขาหรือเปล่า เราไม่อาจแน่ใจได้ ในทางการเมืองแล้ว การนิ่งเฉยสำหรับเขาตีความได้ว่าเป็นการสนับสนุน เขาจึงถูกปลดออกจากทุกตำแหน่ง, หน้าที่การงานในยุโรป ข้อน่าสังเกตก็คือ ก่อนที่จะถูกปลดออกจากงานที่คณะอุปรากร “ลา-สกาลา” (La Scala) ที่เมืองมิลานในอิตาลีนั้น เขาถูก “ยื่นคำขาด” ให้ออกแถลงการณ์ประณาม วลาดิมีร์ ปูติน อย่างเป็นทางการ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้อำนวยการแสดงอุปรากรของไชคอฟสกี แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า “จงเลือกเอาว่าจะประณามปูติน (สหายของคุณ) หรือจะเลือกตกงาน” ภายในเส้นตายที่ “ลา-สกาลา” ยื่นให้เขา เขายังคงไม่ออกแถลงการณ์ใดๆ ลองหันมาดูจุดที่วาเลอรี เกอกิเยฟ ยืนอยู่ ถ้าหากเป็นเราบ้างถูกบังคับข่มขู่ให้ออกมาประณามเพื่อนรักในยามวิกฤตนี้ เราจะยอมทำตามไหม เพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่การงานและการเงินอันร่ำรวย อีกทั้งชื่อเสียงเกียรติยศในวงการศิลปะดนตรีระดับโลก เขาเลือกที่จะหยุดและตอบโต้วิกฤตในชีวิตหน้าที่การงานของเขาด้วยวิธีอหิงสา ไม่มีใครเดาใจเขาได้ถูกกระมัง

ผู้เขียนเชื่อเสมอมาว่าโลกมนุษย์มันสีเทาๆ เสมอแหละ วายร้ายในสายตายุโรปและอเมริกันอย่างปูตินได้เรียนรู้ความจริงอย่างหนึ่งในวิกฤตครั้งนี้ว่า อย่างน้อยที่สุดเขาก็เหลือเพื่อนแท้คนหนึ่งที่ยอมทุกข์ทนก้มหน้ารับความเจ็บปวด, ทรมาน สูญเสียหน้าที่การงานและการเงิน ด้วยการไม่ยอมปริปากประณามเพื่อนเก่าในยามวิกฤต ศิลปะดนตรีสร้างมนุษย์คนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยความจริงใจได้สำเร็จ ดนตรีไม่ใช่เพียงแค่สร้างเสียงเพราะๆ หากแต่มันสามารถสร้างคนที่จริงใจอย่างแท้จริงได้ด้วย

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image