อาศรมมิวสิก : เคาะหินบรรเลงเพลงถวายพ่อขุนที่สุโขทัย บทเพลงของ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’

อาศรมมิวสิก : เคาะหินบรรเลงเพลงถวายพ่อขุนที่สุโขทัย บทเพลงของ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’

อาศรมมิวสิก : เคาะหินบรรเลงเพลงถวายพ่อขุนที่สุโขทัย บทเพลงของ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’

การแสดงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2565 เพื่อฉลอง 30 ปีมรดกโลก ท่ามกลางโรคระบาดโควิดหนัก แม้ว่าจะเตรียมงานพร้อมเต็มที่แล้ว เมื่อถึงวันงานก็มีปัญหาอุปสรรคโดยไม่คาดคิด อาทิ นักร้องติดโควิด ผู้ใหญ่ไปงานไม่ได้ แม้ทุกคนฉีดยากันแล้ว ทุกคนตรวจหาโรคโควิดกันทุกครั้งที่ซ้อมหรือก่อนแสดง เมื่องานเดินหน้าก็ต้องแก้ปัญหากันไป

ครูเคียง ชำนิ ครูสอนดนตรีไทย โรงเรียนไกรในวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นครูดนตรีไทยที่ร้องเพลงพื้นบ้านได้ไพเราะ หมายมั่นว่าจะให้เป็นทีเด็ดของการแสดงครั้งนี้ เป็นโอกาสของศิลปินในพื้นที่จะได้ร่วมแสดงและออกสื่อทางโทรทัศน์ ในวันก่อน งานครูเคียงได้โทรศัพท์มาบอกว่า “ผมติดโควิดจากเด็กที่โรงเรียนครับ” ก็จบข่าว เพราะว่าพระเอกออกโรงไม่ได้เสียแล้ว

ครูเคียงจะร้องเพลงสาวสุโขทัยและเพลงกาเหว่า ซึ่งเชื่อว่าเป็นสำเนียงอยุธยา แล้วขยายแพร่ไปอยู่ที่สุโขทัย ครูเคียงร้องเพลงกล่อมลูกใช้สำเนียงสุโขทัย ซึ่งเป็นสำเนียงเดียวกับสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสำเนียงร้องที่นครศรีธรรมราช เมื่อครูเคียงติดโควิดก็รู้สึกหัวใจสลาย เพราะสำเนียงการร้องจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต สามารถที่จะตอบคำถามในใจได้หลายประเด็น

Advertisement

เมื่อนักร้องเมืองสุโขทัยป่วยโควิดก็พยายามจะหานักร้องจากสุพรรณบุรีเพื่อให้ร้องสำเนียงเหน่อสุโขทัยจากต้นแบบของครูเคียง คุณนพพร เพริศแพร้ว นักร้องจากสุพรรณบุรี ก็บอกว่าจำเนื้อไม่ทัน จึงได้หันไปติดต่อคุณคฑาวุธ ทองไทย (ไข่ มาลีฮวนน่า) นักร้องที่เติบโตจากนครศรีธรรมราช ก็มีงานยุ่งอีก ไม่สามารถร่วมแสดงได้

คุณอิสรพงศ์ ดอกยอ นักร้องเพลงสาวสุโขทัยและเพลงกาเหว่า

ตัวเลือกสุดท้าย คือ คุณอิสรพงศ์ ดอกยอ ศิลปินจากกรมศิลปากร เป็นนักร้องจากกาญจนบุรี ซึ่งปกติคุณอิสรพงศ์ก็เป็นดาราและมีแม่ยกเพียบอยู่แล้ว ได้คำตอบว่าไปร้องเพลงสาวสุโขทัยและเพลงกาเหว่าได้

ทีเด็ดอีกชุดหนึ่ง คือ เพลงประวัติศาสตร์ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งได้เลือกมา 4 เพลงด้วยกัน ได้แก่ เพลงขอม เพลงคนไทย เพลงเครือญาติ และเพลงเดินทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ มีอาวุธสำคัญคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านอย่างดี เมื่อนำมาบวกกับความรู้ว่า “คนไทยมาจากไหน ดนตรีไทยมาจากไหน” ทำให้เพลงของสุจิตต์ วงษ์เทศ มีพลังมหาศาล

Advertisement

เนื้อร้องเพลงขอม “ตัดหินต่อหินแต่งหิน ฉลุประสาทหินเหินเวหา อักขระขมังวิทย์เรืองฤทธา บูชามหาเทพโหมฟืนไฟ พวกนี้หรือคือขอมโจงกระเบน ร้อยพันธุ์เผ่าเหมาเป็นขอมพิสัย ตั้งแต่เมืองละโว้เจ้าพระยาไป ถึงทะเลสาบในกัมพูชา ล้วนเครือญาติวัฒนธรรมขอม คำนับน้อมพนมพราหมณ์ศาสนา ขอมละโว้เข้ายุคอยุธยา เปลี่ยนมาสังกัดสยามความเป็นไทย” เนื้อเพลงก็ดุดันพอสมควร

ขอมเป็นวัฒนธรรม ขอมกับเขมรเป็นพวกเดียวกัน มีลายสักขมังเวทย์ มีความรู้ ขอมเป็นเครือญาติกับพวกไทย เพลงขอมใช้ทำนองเพลงเทพทอง ซึ่งเป็นทำนองพื้นบ้านที่นิยมกันมาแต่สมัยอยุธยา ทำนองเพลงเทพทองเป็นเพลงตลาดคือรู้จักกันทั่วไป นักร้องที่เป็นพ่อเพลงแม่เพลงจะร้องใส่ทำนองเพลงเทพทองแล้วจึงเปลี่ยนเนื้อร้องไปเรื่อยๆ อาจจะเรียกว่า “ร้อยเนื้อทำนองเดียว”

เนื้อร้องเพลงเครือญาติ “เครือญาติเอยไทยกัมพูชา เกิดร่วมกันมาในน้ำเต้าเอย คนไทยใช้อักษรเขมรเขียนเป็นขอมพิสัย ไทยภาษาแลกเปลี่ยนเขียนไปเขียนมา วิวัฒนาเป็นอักษรไทย พระราชาตรัสภาษาเขมร ยกเป็นราชาศัพท์ใหญ่ ส่วนสามัญชนคนไทยใช้คำมอญเขมรปนลาว ร่วมบรรพชนวัฒนธรรม เกิดร่มหมากน้ำเต้าสาว ไทยกัมพูชานานยาว เรื่องราวล้วนอย่างเดียวกัน”

เพลงเครือญาติใช้ทำนองเพลงลาวเฉียง เพลงทำนองลาวล้านนา อยู่ในเพลงตับลาวเจริญศรี นิยมใช้ประกอบการทำละคร เพลงลาวเฉียงเป็นทำนองเพลงสั้นๆ จำง่าย เป็นที่นิยมเอาทำนองเพลงไปใส่เนื้อร้องใหม่

ลาวเฉียงหมายถึงมณฑลการปกครอง “มณฑลพายัพ” ระหว่าง พ.ศ.2437-2442 ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกลาวเฉียง ประกอบด้วยพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ต่อมาในปี พ.ศ.2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลพายัพ

เมื่อครั้งที่เมืองเหนือตกอยู่ในการปกครองของรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2417 ทำนองเพลงของล้านนาได้ถูกนำไปใช้ในเพลงสยาม รวมเรียกว่า “เพลงลาว” มีเพลงทำนองลาวจำนวนมาก รวมทั้งเพลงลาวเฉียงด้วย

เนื้อร้องเพลงคนไทย “คนไทยเป็นใครมาจากไหน คนไทยเป็นคนอยู่ที่นี่ คนดึกดำบรรพ์หลายพันปี อยู่สุวรรณภูมิที่แหลมทอง แหลมทองสองอ่าวทะเลสมุทร บรรพบุรุษเลียบฝั่งมาทั้งสอง มาผสมกลมกลืนผืนถิ่นทอง สมมุติชื่อใหม่ร้องเรียกคนไทย คนไทยความเป็นไทยแรกได้นาม ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ราบใหญ่ ภาษากลางการค้าภาษาไทย ก็เรียกตนคนไทยแต่นั้นมา ก็เรียกตนคนไทยแต่นั้นมา”

เพลงคนไทยใช้ทำนองเพลงเทพทอง ซึ่งเป็นเพลงโต้ตอบ ร้องสมสู่สังวาสของภาคกลาง มีมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งไม่มีในสมัยสุโขทัย เป็นเพลงที่มีหลักฐานเก่าแก่สุด มีหลักฐานว่าเพลงเทพทองอ้างในวรรณคดีปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย สมัยพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ พ.ศ.2224-2301

เพลงเทพทองเป็นทำนองเพลงเก่า ทำนองไพเราะ นิยมเอาทำนองมาใส่เนื้อร้องใหม่ ถือว่าเป็นทำนองตลาดเพลงหนึ่ง ถกเถียงกันมานานว่าเพลงเทพทองมีมาแต่สุโขทัย สำหรับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2545 ฟันธงไปเลยว่า “สุโขทัยไม่มีเพลงเทพทอง”

เนื้อเพลงที่ประพันธ์โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นการตอบปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์ไทยด้วย เพราะเมื่อนำวงซิมโฟนีออเคสตรามาแสดงในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นโอกาสได้นำเพลงที่เกี่ยวข้องมาแสดง เพื่อนำเสนอข้อมูลใหม่ให้ผู้ฟังได้โต้เถียงกันต่อไป ทั้งด้านประวัติศาสตร์ หลักฐาน และอารมณ์

เนื้อร้องเพลงเดินทาง เพลงอุดมการณ์ของสุจิตต์ วงษ์เทศ

“เดินทางทอดน่องท่องเที่ยว ดินหญ้าฟ้าเขียวอาถรรพณ์ ถิ่นฐานบ้านเมืองดึกดำบรรพ์ คูคันลุ่มดอนบึงบาง ทิ้งไว้แต่รอยเท้าเบาสบาย เอาไปแต่ภาพถ่ายบางอย่าง ไม่ปีนป่ายไม่จับต้องสองข้างทาง มองไกลๆ กว้างๆ อย่างเบาๆ เห็นความล้ำลึกดึกดำบรรพ์ ร้อยพันปีแล้วปีเล่า แปลงเป็นเพ็ญพลังเพียงลำเพา มุ่งเข้าอนาคตงดงาม”

การเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ เป็นคุณสมบัติของผู้รู้ สำหรับนักปราชญ์หรือผู้รู้ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ต้องออกเดินทางเข้าป่า เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ต้นไม้หนึ่งต้นคือครูผู้ยิ่งใหญ่ ป่าทั้งป่าก็คือมหาวิทยาลัย การเดินทางก็คือการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่

การเดินทางนั้นทำให้ได้พบกับสิ่งใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ พบผู้คนแบบใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ ต้องแก้ปัญหา ต้องอยู่ให้ได้ อยู่ให้รอด ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ในชีวิต ตั้งแต่การค้นหาองค์ความรู้ใหม่ การเปลี่ยนความรู้ให้เป็นปัญญา การพัฒนาปัญญาให้เป็นภูมิปัญญา และสร้างภูมิปัญญาให้เป็นบารมี

เพลงเดินทางใช้ทำนองเพลงกระต่ายเต้น ทำนองมอญเก่า นักปี่พาทย์นำเอาทำนองมาใส่เนื้อร้องใหม่ และวงปี่พาทย์มอญนิยมนำเพลงกระต่ายเต้นไปบรรเลง

คุณนพพร เพริศแพร้ว นักร้องเพลงของสุจิตต์ วงษ์เทศ

คุณนพพร เพริศแพร้ว นักร้องจากสุพรรณบุรี เคยชนะการประกวดร้องเพลงไทย ชอบขับเสภา คงต้องตาและถูกใจกับสุจิตต์ วงษ์เทศ กันมาก่อน จึงได้เลือกให้ร้องเพลงกับวงไทยซิมโฟนีออเคสตราครั้งนี้ ได้ทำดนตรีให้แปลกไปจากเพลงไทยเดิมหรือไทยสากล เรียบเรียงเพลงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์

การนำผลงานเพลงของสุจิตต์ วงษ์เทศ มาทดลองทำใหม่เพื่อแสดงที่สุโขทัย เป็นโอกาสได้ลองของลองวิชาในพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นความคิดสร้างสรรค์จากวิสัยทัศน์ในเพลง ใช้เพลงให้เป็นพลัง พบความตื่นตัวคึกคักของนักร้อง นักดนตรี และของผู้ชม เพลงเป็นวิธีคิดใหม่ ทำใหม่ ทำเพลงมาจากความรู้และความตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม ศิลปวัฒนธรรมและดนตรีเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมอีกมิติหนึ่ง ทำให้คนรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกันและเป็นพวกเดียวกัน ส่วนประวัติศาสตร์ของอาณาจักรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประวัติศาสตร์จะทำให้คนแตกแยกกัน แบ่งพรรคแบ่งพวก และมักจะทำให้คนทะเลาะกัน โดยเฉพาะในสังคมที่ด้อยพัฒนา ก็จะนำเรื่องอดีตมาทะเลาะกันและมองไม่เห็นอนาคต เพลงเป็นการค้นหาอดีตใหม่แล้วนำอดีตมาสร้างจินตนาการให้เป็นเสียง เป็นเพียงพลังจินตนาการเพื่อจะช่วยทำให้มองเห็นอนาคตได้ง่ายขึ้น

เมืองสุโขทัยไม่พบเพลงที่เป็นพื้นฐานของราชอาณาจักร ไม่มีเพลงพิธีกรรมในพิธีของอาณาจักรและในศาสนจักร ไม่พบเพลงยอดนิยมของชาวเมือง มีแต่สำเนียงเสียงเหน่อ มีเพลงสำเนียงลาว มีเพลงสำเนียงมอญ ซึ่งล้วนเป็นเพลงที่อยู่ในอาณาจักรอื่นๆ มาก่อน

เนื่องในโอกาสฉลองมรดกโลก 30 ปี เคาะหินบรรเลงเพลงถวายพ่อขุน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ขอขอบพระคุณผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้ให้การสนับสนุนงานและการแสดงในครั้งนี้ โดยมีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสร่วมถ่ายทำตลอดรายการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image