Weaving The Ocean ถักทอมหาสมุทรจากซากปรักหักพัง

“แรงบันดาลใจในการทำงานของผม เกิดจากสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน”

นี่คือคำกล่าวของ อาริ บายูอาจิ ศิลปินชาวอินโดนีเซีย เจ้าของผลงาน ‘Weaving The Ocean’ ศิลปะจากเศษเชือกและพลาสติกในท้องทะเล โดยมีจุดเริ่มต้นจากช่วงเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกเมื่อการเดินทางข้ามประเทศหยุดชะงัก ทำให้อาริ ผู้ซึ่งปกติอาศัยอยู่ระหว่างประเทศแคนาดาและอินโดนีเซีย ได้สังเกตเห็นชายหาดที่ได้รับผลกระทบด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเต็มไปด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

Sea Dancer #2 เครื่องแต่งกายสำหรับเต้นรำประกอบในพิธีของชาวบาหลี

ชายหาดของเกาะบาหลีมีชื่อเสียงดังในระดับโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญของประเทศอินโดนีเซีย แต่หลายปีที่ผ่านมาชายหาดในหลายประเทศประสบปัญหาขยะในทะเลทั่วโลก เกาะบาหลีก็เช่นกัน โดยเมื่อปี 2564 ชายหาดเกาะบาหลีถูกปกคลุมไปด้วยขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ถูกพัดพาจากในทะเลเข้ามายังชายฝั่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงมรสุมทุกปี ประเทศอินโดนีเซียที่มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะจำนวนมากต่างประสบปัญหาเช่นนี้ และเป็นปัญหากระจายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่มีพื้นที่ติดทะเลและหมู่เกาะ

อาริ จึงริเริ่มโครงการ ‘Weaving the Ocean’ เพื่อพูดถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม หยิบเอาปัญหามลพิษทางทะเล การรุกรานถิ่นอาศัยสัตว์ทะเล และการทำลายสภาพแวดล้อมอันสวยงามของชายหาดบาหลีในการรักษาสมดุลของพลังแห่งจักรวาล ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของชุมชนแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อประเพณีการทอผ้าอันล้ำค่าของชาวอินโดนีเซียและบทบาทของท้องทะเลที่เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมบาหลี

Advertisement
Rainbow Jellyfish #1 ทำมาจากพลาสติกทอเชือกฝ้ายและไม้อัด

วัตถุจากการเดินทาง

แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม ‘บาหลี’

หัวใจสำคัญในวิธีการทำงานของอาริ คือการเก็บสะสมรวบรวมภาพและวัตถุที่พบเจอระหว่างการเดินทางไปยังที่ต่างๆ นำมาประกอบกันเป็นผลงานรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงความหมายของสิ่งเหล่านั้นไว้ด้วยกัน ศิลปะของอาริมักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เขาได้พบเจอ

Advertisement

ภายในนิทรรศการมีการถ่ายทอดภาพวิดีโอการทำงานของอาริที่เล่าถึงแนวคิดในการสร้างโครงการนี้

“ในช่วงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ผมคิดว่ามันเป็นเวลาที่พวกเราทุกคนทำอะไรในสิ่งที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญที่สุดคือควรหันกลับไปมองธรรมชาติและวัฒนธรรมของ ทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถช่วยเราในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในช่วงชีวิตของเรา ดังนั้น การมีอยู่ของธรรมชาติควรที่จะใช้ในทางที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วย หวังว่าโครงการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ตระหนักว่าธรรมชาติสามารถช่วยเหลือผู้คน สังคม และชุมชนได้มากมาย วัฒนธรรมยังช่วยให้เรานำสิ่งที่เราเจอในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ได้ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก โครงการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายประเทศ เพราะโดยพื้นฐานเป็นการใช้เส้นพลาสติกเป็นวัสดุในการทอ อารยธรรมการทอผ้า หรือการทอด้วยมือมีทั่วโลกมันเป็นมรดกทางอารยธรรมที่มีคุณค่าของพวกเรา” อาริกล่าวผ่านคลิปในห้องจัดแสดง

ผลงาน Fisherman’s bag ทำมาจากพลาสติกทอ เชือกฝ้าย เศษเซรามิกและปะการัง

‘Weaving the Ocean’ เป็นอีกผลงานที่แสดงความเคารพต่อความเชื่อตามแบบวัฒนธรรมบาหลี ที่ท้องทะเลเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ ศาสนาของชาวบาหลีมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับสายน้ำ ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู ความเชื่อเรื่องวิญญาณ มีการประกอบพิธีกรรมอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเกาะ มักพูดถึงในฐานะ ‘Agama Tirtha’ หรือศาสนาแห่งสายน้ำ ในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบาหลี ท้องทะเลคือตัวแทนของความบริสุทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์

เสื้อคลุมที่จัดแสดงในนิทรรศการมีที่มาจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจริงที่ใช้สวมใส่ในการประกอบพิธีบนชายหาด สีขาวของเสื้อคลุมมาจากสีของเสื้อผ้าที่ชาวบาหลีสวมใส่ในการประกอบพิธีกรรม และขนาดของเสื้อคลุมที่โดดเด่น มีที่มาจากเครื่องแต่งกายของผู้ศรัทธาที่ร่วมร่ายรำในพิธี

นอกจากนี้ ชาวบาหลีให้ความสำคัญมากกับการสร้างสมดุลระหว่างแสงและเงา ยึดถือการประนีประนอมระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วร้ายผ่านพิธีกรรมและการบูชาต่างๆ

‘Weaving the Ocean’ เปลี่ยนซากปรักหักพังของการทำลายล้างสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง เพื่อสร้างสมดุลอย่างสุนทรีย์ โครงการนี้มอบจุดมุ่งหมายและความภาคภูมิใจให้กับช่างฝีมือชาวบาหลี ยกย่องภูมิปัญญาที่มีมาช้านาน เกิดเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนทั้งความนิ่งสงบและความแปรปรวนของท้องทะเล เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อและวัฒนธรรมบาหลี นอกจากนั้นยังย้ำเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาขยะด้วย ‘Weaving the Ocean’ คือเครื่องบูชาที่อาริตั้งใจมอบให้กับบาหลี มอบความหมายที่ลึกซึ้งให้กับของที่เหมือนจะเป็นขยะไร้ค่า สร้างสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเหนือธรรมชาติ (The sekala and niskala) เป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังถึงความเชื่อมโยงกันของสิ่งมีชีวิตและทุกสรรพสิ่ง เตือนให้เราตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ที่เราอยู่ร่วมกัน

Warin Lab Contemporary บ้านเดิมของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

เมื่อบ้าน ‘นพ.บุญส่ง’

กลายเป็นอาร์ตแกลเลอรี่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ซุยลี่แทน ภัณฑารักษ์ชาวสิงคโปร์รับหน้าที่ดูแลการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์มากมาย อาทิ Singapore Biennale ปี 2013 และ 2016 และผลงานการสอนเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ซุยลี่แทน ตัดสินใจเลือก Warin Lab Contemporary ซอยเจริญกรุง 36 ภายในโครงการ O.P. Garden นำเสนอผลงานศิลปะผ้าทอที่ทำจากเศษเชือก เสมือนยกชายหาดบาหลีมาอยู่เมืองไทย สะท้อนถึงปัญหาขยะทางทะเล วัฒนธรรมความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวบาหลีอย่างลึกซึ้ง

ซุยลี่แทน ภัณฑารักษ์ ชาวสิงคโปร์

สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม หรือฝน ผู้ก่อตั้ง Warin Lab Contemporary เล่าถึงที่มาของสถานที่จัดแสดงว่าเคยเป็นบ้านของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล แพทย์และอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าคนสำคัญของไทย

“ผู้ผลักดัน พ.ร.บ.การอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งทำให้เรามีเขาใหญ่ในปัจจุบันนี้ ท่านเคยอยู่ที่บ้านหลังนี้ โดยห้องที่ใช้จัดแสดงเคยเป็นห้องทำงานของนายแพทย์บุญส่งมาก่อน ท่านเขียนหนังสือ สัตว์ป่าเมืองไทย นกเมืองไทย และตั้งสมาคมชื่อว่านิยมไพรสมาคม รณรงค์ให้ความเป็นธรรมกับสัตว์ป่า และสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนไทยเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงอยากทำนิทรรศการซึ่งสอดคล้องกับเจ้าของเดิมที่ท่านเคยทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม” ฝน สุคนธ์ทิพย์เล่า

ก่อนที่ ซุยลี่ จะกล่าวเสริมว่า เคยพบอาริที่สิงคโปร์ หลังจากนั้นก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ตอนที่เขาอยู่ที่บาหลีได้ติดต่อมาบอกว่ากำลังเริ่มโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือสังคมซึ่งน่าสนใจมาก ตนจึงพูดคุยกับฝนเพราะพันธกิจของ Warin Lab Contemporary เหมาะมากกับโครงการนี้

ภาพรวมผลงานของอาริในบริเวณโถงชั้นล่าง Warin Lab Contemporary

“อาริเริ่มสนใจปัญหาขยะพลาสติกในช่วงปี 2558 ตอนที่เขาถ่ายภาพต้นโกงกางที่ถูกปกคลุมไปด้วยขยะพลาสติก ในระหว่างที่พักอยู่บาหลี เขามักเห็นขดเชือกพลาสติกหลากสีพันอยู่ตามชายหาดจึงรวบรวมช่างฝีมือและชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไม่มีงานทำในช่วงโรคระบาดมาร่วมโครงการ เริ่มจากการเก็บเศษเชือกที่ชายหาด นำมาคลายออกอย่างพิถีพิถัน เปลี่ยนเศษขยะให้กลายเป็นวัสดุชั้นดีสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ เกิดเป็นผลงานสิ่งทอที่แสดงความยกย่องต่องานฝีมือตามประเพณี และสะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลไปในเวลาเดียวกัน ในตอนแรกอาริใช้เงินของตัวเองลงทุนเกือบหมด แต่ภายหลังมีรายได้จากการขายผลงาน และยื่นขอทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Canada council for the arts ในเวลาต่อมา” ซุ่ยลี่แทนย้อนเล่าความเป็นมาของโครงการก่อนกลายเป็นงานศิลปะที่มีความหมายลึกซึ้ง

Flores ผลงานที่แสดงถึงความลึกและชั้นของทะเล Flores

เสียงช่างทอผ้าจาก ‘ขยะชายฝั่ง’

ในวันที่เส้นใยธรรมชาติหายากกว่าพลาสติก

ด้าน Desak Nyoman Rai ช่างทอผ้าจากเศษเชือก ผู้ปรากฏตัวในคลิปวิดีโอภายในห้องจัดแสดง บอกเล่าสถานการณ์ชีวิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ต้องตกงาน ก่อนมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้

“ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 ฉันไม่มีงานทำเพราะบริษัทปิดตัวลง ต้องขอบคุณที่อาริเสนอให้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ซึ่งทำให้ฉันมีงานทำ สำหรับความแตกต่างระหว่างการทอผ้าด้วยเส้นพลาสติกและฝ้าย เส้นพลาสติกมีความยากในการต่อและยังมีส่วนที่ขาด ทำให้ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการทอผ้า 10 เซนติเมตร เปรียบเทียบกับฝ้ายปกติที่สามารถทอได้ 1 เมตร ภายใน 1 ชั่วโมง” ช่างทอผ้าเล่า

ซุยลี่แทน กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า การทอผ้าครั้งนี้ ใช้กี่ทอผ้าแบบดั้งเดิมของบาหลีซึ่งเป็นการทอใช้ในครัวเรือน ไม่ใช่ขนาดระดับอุตสาหกรรม ลวดลายบนผ้าก็เป็นลายดั้งเดิมของคนบาหลี ระยะเวลาการทั้งผืนอาจใช้เป็นเวลาหลายเดือน การใช้เส้นพลาสติกทำทั้งเส้นตั้งและเส้นคู่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีความหยิกทำให้ผ้าไม่มีความคงตัว จึงใช้เส้นตั้งเป็นฝ้ายและใช้เส้นคู่เป็นพลาสติก เพราะฉะนั้น 70 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องานเป็นผ้าฝ้าย และ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นพลาสติก

อาริ บายูอาจิ ศิลปินชาวอินโดนีเซีย
เจ้าของผลงาน Weaving The Ocean

“อาริคิดว่าเขาไม่อยากทำให้วัสดุที่มีอยู่แล้วสูญเสียไป และพลาสติกอยู่ในทุกที่ วัสดุอื่นเริ่มมีราคาแพงขึ้นและไม่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมนัก โดยปกติเราเห็นฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติต่างๆ แต่ในโลกวันนี้วัสดุพวกนั้นเริ่มหายากขึ้นแต่สิ่งที่หาได้ง่ายในยุคนี้คือพลาสติก” ภัณฑารักษ์มากความสามารถกล่าว

นับเป็นอีกนิทรรศการน่าสนใจที่ต้องชวนให้เดินทางไปฟังเสียงจากผืนน้ำ ท้องทะเล และมหาสมุทร อีกทั้งชาวบาหลีที่อิงอาศัยเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบกายในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image