9 เรื่องน่ารู้ใน’พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’

ภายหลังจากการเผยแพร่ข่าวที่คนไทยทั่วแผ่นดินไม่อยากได้ยินที่สุด ความเศร้าโศกเสียใจก็ถั่งโถมทั่วนครเมื่อทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559

สิ่งที่คนไทยทำได้นอกจากร่วมใจแสดงความอาลัยแล้วคือการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงงานเพื่อแผ่นดินไทยมากว่า 70 ปี

9 เรื่องที่เสนอต่อจากนี้เป็นเกร็ดสาระที่หยิบขึ้นมาจากนับร้อยนับพันเรื่อง อันเป็นสิ่งที่น่าจะทำให้พสกนิกรย้อนรำลึกถึงเรื่องราวที่น่าจดจำที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ในวาระที่ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

สูติบัตรในหลวง
พระนามพระราชทาน

Advertisement

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า “ลูกชายเกิดเช้านี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

สมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า “ภูมิพลอดุลเดช” โดยสะกดภาษาอังกฤษว่า Bhumibala Aduladeja ในลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 7 ยังระบุการออกเสียงไว้ให้ด้วยว่า Poomipon

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงให้ ม.จ.ดำรัสดำรงค์ช่วยส่งโทรเลขแจ้งพระนามตอบกลับไป แต่ในโทรเลขที่ ม.จ.ดำรัสดำรงค์ส่งไปนั้นเขียนไว้เพียงว่า

Advertisement

“Your son’s name is Bhumibala Aduladeja”

สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงรับโทรเลขแล้วไม่แน่ชัดว่ามีพระนามในภาษาไทยเช่นใด ทรงคิดว่าชื่อ “ภูมิบาล” จึงทรงสะกดพระนามพระโอรสว่า Bhumibal Aduldej Songkla (โดย Songkla มาจากนามสกุล สงขลา)

ทั้งนี้ พระนาม “ภูมิพลอดุลเดช” เป็นการสะกดตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ภายหลังมีการเขียนทั้งแบบใส่ “ย” และไม่ใส่ “ย” ในที่สุดจึงนิยมเขียนแบบนิยมใส่ “ย” ทั้งสองพระองค์

“ภูมิพลอดุลเดช” มีความว่า ผู้ทรงกำลังอำนาจ ไม่มีสิ่งใดเทียบในแผ่นดิน

ลายพระหัตถ์ ร.7 พระราชทานนาม โดยทรงระบุการออกเสียงไว้ด้วย

พระนามเรียกเป็นการส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสพระองค์เล็กสุด โดยมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงมีพระนามที่ใช้เรียกเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เล็ก”

พระอิสริยยศเมื่อพระราชสมภพคือ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” คนทั่วไปจึงเรียกว่า “พระองค์เล็ก” และเรียกพระเชษฐาว่า “พระองค์ชาย” แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเรียกพระนามเป็นการส่วนตัวว่า “นันท”

ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ประสูติ และเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กสุดในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระนามเรียกเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เล็ก” เช่นกัน

นามสกุล

เมื่อแรกพระประสูติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้นามสกุล “สงขลา” ตามนามสกุลของพระบิดา ครั้งที่พระบิดาทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศนั้นทรงใช้พระนามว่า “มหิดล สงขลา” ตามหลักการใช้นามที่ทรงกรมมาเป็นนามสกุล และพระบิดาทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์”

ต่อมารัชกาลที่ 7 พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2472 เปลี่ยนหลักการใช้นามสกุลจากนามที่ทรงกรมมาใช้พระนามของบิดาแทน

ราชสกุล “มหิดล” จึงเป็นราชสกุลของผู้สืบสายมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับแต่นั้น

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยงานจิตรกรรมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจากตำราต่างๆ เมื่อทรงสนพระราชหฤทัยในงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จฯไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงทักทายและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของศิลปินผู้นั้น

หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังราว พ.ศ.2502 โดยพระราชทานพระราชวโรกาสให้จิตรกรไทยเข้าเฝ้าฯและถวายคำปรึกษา ราว 8 ปี ทรงวาดภาพจิตรกรรมไว้ถึง 107 ภาพ จากนั้นก็มิได้ทรงเขียนภาพอีก เพราะมีพระราชภารกิจด้านอื่นมากขึ้น

ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงใช้มากเป็นพิเศษคือ สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ มีทั้งรูปแบบทั้งภาพเหมือนจริงและภาพแสดงความรู้สึก

ทรงใช้ลงพระนามในแต่ละภาพว่า “ภ.อ.”

0001king

กีฬาทรงโปรด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดกีฬาเรือใบมาก ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยเมื่อได้ทอดพระเนตร ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงเรือใบที่ต่อขึ้นเองในคราวเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภายหลังพระองค์ทรงต่อเรือใบขึ้นเองต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

ในวันที่ 9-16 ธันวาคม 2510 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 พระองค์ทรงเข้าร่วมแข่งขันเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ทรงใช้เรือใบชื่อ “นวฤกษ์” ที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาทรงเข้าร่วมแข่งขันด้วย

ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์มีคะแนนเป็นอันดับ 1 เท่ากัน จึงทรงรับรางวัลเหรียญทองร่วมกัน ในวันที่ 16 ธันวาคม 2510 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทูลเกล้าฯถวายรางวัลเหรียญทองในพิธีปิดการแข่งขันที่สนามศุภชลาศัย

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาโลกที่พระมหากษัตริย์ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติและทรงได้รับเหรียญทอง

ต่อมารัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”

ในหลวง

ในหลวง

ไฟพระฤกษ์

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีการจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี และมีสัญลักษณ์ คือ ประเพณีการจุดไฟในกระถางคบเพลิง โดยเป็นไฟที่ขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเรียกว่า ไฟพระฤกษ์

ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำนักพระราชวังจะนำพระแว่นสุริยกานต์ ไปทอดไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อทรงประกอบพระราชพิธีจัดไฟเรียบร้อยแล้ว สำนักพระราชวังก็จะนำไฟพระฤกษ์ไปเก็บรักษาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเลี้ยงไฟไว้ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ของปีนั้น รวมทั้งการพระราชทานเพลิงศพด้วย

พระราชนิพนธ์ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ

“นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นพระราชนิพนธ์แปลจากเรื่อง A Man Called Intrepid โดย William Stevenson ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2519 เขียนจากชีวิตจริงของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (Sir William Stephenson) หัวหน้าหน่วยสายลับหรือหน่วยจารกรรมของอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อรหัสว่า Intrepid ในพระราชนิพนธ์แปลใช้คำว่า “นายอินทร์” และคำว่า “ปิด” เพื่อมาล้อกับชื่อ Intrepid

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มแปลนวนิยายเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2520 จนสำเร็จบริบูรณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2523 โดยทรงใช้เวลาว่างวันละเล็กละน้อยกว่า 3 ปี จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายเป็นหนังสือปกแข็งหนากว่า 600 หน้า เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 66 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2536

พระองค์ทรงใช้สำนวน “ปิดทองหลังพระ” เพื่อสื่อถึงการทำหน้าที่ของนายอินทร์ซึ่งอยู่เบื้องหลังชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไม่มีใครทราบ

ในหลวง
พระตำหนัก

นับแต่ปี พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกรณียกิจเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างสม่ำเสมอ เฉลี่ยปีละ 7-8 เดือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้น 3 แห่งในภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน เพื่อใช้เป็นที่ประทับขณะเสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ นอกเหนือจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เสด็จแปรพระราชฐานเป็นประจำ

โดยพระตำหนักที่สร้างขึ้นใหม่ ได้แก่ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส และพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร

โครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาชนบทโครงการแรก

เดือนพฤษภาคม 2495 หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขับรถพระที่นั่งเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยคต ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รถพระที่นั่งบุกตะลุยเข้าไปพื้นที่ ตามเส้นทางเกวียน ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ จนตกหล่มลึก หน้าบ้านของลุงรวย งามขำ ชาวบ้านแถบนั้นต้องออกมาช่วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ยกรถพระที่นั่งพ้นจากหล่ม พระองค์ได้รับสั่งถามถึงปัญหาของหมู่บ้าน ลุงรวยจึงกราบบังคมทูลว่า “อยากได้ถนนมากที่สุด”

หลังจากนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล จากเดิมที่ชาวบ้านต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะถึงตลาด ก็ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที  ถนนห้วยมงคลนับเป็นโครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาชนบทโครงการแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image