จาก ก-ฮ บนแผ่นกระดาษ สู่หน้าประวัติศาสตร์ 125 ปี (ฉันรัก) รถไฟไทย

เคลื่อนขบวนมาถึงโค้ง (2 วัน) สุดท้ายแล้ว สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 20 ซึ่งมีผู้ตีตั๋วจองที่นั่งคึกคักตั้งแต่วันลั่นระฆัง 26 มีนาคมที่ผ่านมา ณ สถานีกลางบางซื่อ

วันดังกล่าว ตรงกับวันครบรอบ 125 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปิดการเดินรถไฟรอบปฐมฤกษ์ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ-อยุธยาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2439

กระทรวงคมนาคม และ รฟท. โบกธงเชิญชวนผู้โดยสารนั่งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมาเที่ยวชมงาน ซึ่งไม่เพียงมีหนังสือหนังหาจากกว่า 200 สำนักพิมพ์ กว่า 500 บูธให้เลือกสรรละลานตา

Advertisement

ยังมีนิทรรศการ ‘125 ปีรถไฟไทย’ ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์อันยาวนานของ รฟท. จากวันวานจนถึงวันนี้ ถ่ายทอดผ่านไอเดียน่าสนใจด้วยการใช้ ‘อักษรไทย ก-ฮ’ มาชูโรงให้สอดคล้องกับงานหนังสือฯ

ตัวอย่างอักษรที่กลายเป็นตัวแทนเรื่องราวชวนฟัง อาทิ ‘กไก่ 125 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย’

ซึ่งยกระดับคุณภาพการเดินทาง พัฒนาระบบราง เชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมสู่ทุกภูมิภาค

Advertisement

ทั้งสถานีกลางบางซื่อ รถไฟทางคู่และทางสายใหม่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงพาคนไทยเดินทางสู่ทุกจุดหมายปลายทาง

ฆ ระฆังรถไฟ ซึ่งเกือบทุกสถานีแขวนไว้ตีบอกสัญญาณเตือนผู้โดยสารที่กำลังรอรถไฟให้ทราบว่ารถไฟอยู่ที่ใดแล้ว และควรเตรียมตัวอย่างไร

ต ตราสัญลักษณ์การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ตราล้อปีกภายใต้พระมหามงกุฎมีรัศมีครอบ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2499 สื่อความหมายถึง รฟท. เป็นหน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น และการเดินทางโดยรถไฟไวเหมือนติดปีกบิน

ญ ตู้เฉพาะผู้หญิง กล่าวถึง ‘เลดี้คาร์’ ตู้รถไฟสำหรับสุภาพสตรีและเด็กโดยเฉพาะ เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.2557 โดยให้บริการผู้โดยสารหญิงและเด็ก รวมถึงเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน 10 ปี มีส่วนสูงไม่เกิน 150 ซม. พนักงานที่ให้บริการบนตู้ขบวนเป็นผู้หญิงทั้งหมด รวมถึงตำรวจหญิง เพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจตลอดการเดินทาง เลดี้คาร์เป็นรถไฟตู้นอนพร้อมเครื่องปรับอากาศ มีเตียง 2 ชั้น จำนวน40 ที่นอน ให้บริการใน 10 ขบวน (ไป-กลับ) มีทั้งสายเหนือ สายใต้ และสายอีสาน

ภ ภาพวาดฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 นำเสนอภาพการ์ตูนล้อพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ์ตูนล้อการเมืองภาพแรกๆ ของไทย

สำหรับในประเทศไทย การ์ตูนล้อการเมืองเริ่มขึ้นมาพร้อมๆ กับวิวัฒนาการการ์ตูนในประเทศไทย ยิ่งโดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 6 ที่สื่อสิ่งพิมพ์และประชาธิปไตยเฟื่องฟู ในยุคนี้มีการ์ตูนล้อการเมืองเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

นักเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทยคือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ซึ่งมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาศิลปะการวาดภาพที่ยุโรป ได้นำเทคนิคจากต่างประเทศมาวาดภาพการ์ตูนเป็นลายเส้น และได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจากรัชกาลที่ 6 โดยการเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองคนสำคัญในยุคนั้น

ม ไม้หมอน ลงลึกถึงเรื่องราวของหมอนรถไฟ หรือ Sleeper มีหน้าที่ยึดจับรางรถไฟให้อยู่กับที่ เดิมทำจากไม้ จึงเรียกว่าไม้หมอน ปัจจุบันหันมาใช้คอนกรีตเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับมีข้อดีคือความทนทาน ไม่ผุ อีกทั้งรองรับความเร็วของขบวนรถได้มากกว่า ไม้ที่ใช้ทำหมอนรถไฟ มีทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน อาทิ มะค่าแต้ บุนนาค ประดู่ เต็ง รัง ตะเคียน อินทนิล เคียม มะหาด หลุมพอทะเล เป็นต้น ไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ผุเร็ว หรือช้าต่างกัน โดยไม้เนื้อแข็งไม่ต้องอาบน้ำยา

ฬ นาฬิกาประจำสถานี นำเสนอข้อมูลของนาฬิกาสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งนำเอกลักษณ์ของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาเป็นรูปแบบด้านหน้าอาคารสถานี พร้อมติดตั้งนาฬิกาออกแบบพิเศษบนหน้าปัดมีเลข 9 ไทย เพียงเลขเดียว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ตัวเรือนใหญ่พิเศษ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร สูงจากระดับพื้นดิน 21 เมตร ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. สหรัฐอเมริกา

ห หัวลำโพง ย้อนเล่าถึงการถือกำเนิดขึ้นของสถานีกรุงเทพซึ่งเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2443 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากศิลปะเรอเนสซองซ์ วัสดุนำเข้าจากเยอรมนีทั้งหมด

ฮ ไฮสปีดเทรน บอกกล่าวเรื่องราวร่วมสมัยในโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย (Thailand High-speed Rail Project) ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มน้ำโขง ไทยมีเป้าหมายในการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวม 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ สายตะวันออก สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้

ฉายภาพประวัติศาสตร์รถไฟไทยที่พัฒนาการควบคู่และเคียงข้างสังคมไทยตั้งแต่เมื่อวานจนถึงพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image