คนกรุงศรีอยุธยา บันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างไร? โดย วิภา จิรภาไพศาล

เอกสารตัวเขียนเพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

แม้จะเสียกรุงศรีอยุธยาจากสงครามกับพม่าไปตั้งแต่ พ.ศ.2310 แต่เรื่องราวกว่า 250 ปี ของเมืองหลวงเก่าของประเทศแห่งนี้ กลับยังคงเล่าขานต่อเนื่องไม่ขาดสาย ด้วยข้อมูลจากเอกสารหลักฐาน หรือวัตถุพยาน ที่นำเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2565 ก็นำเสนอเรื่องกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่เป็นข้อมูล จากบันทึกของคนกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า ‘ความหลัง’ เมื่อครั้งเสียกรุง”

สำหรับเพลงยาวที่ ธนโชติ เกียรติณภัทร นำเสนอนั้นมี 3 ฉบับด้วยกันคือ 1.เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท 2.เพลงยาวยายจันอุษา 3.เพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20 โดยผู้แต่งเพลงยาว 2 ฉบับแรก เป็นชาวกรุงศรีอยุธยาโดยกำเนิด ส่วนฉบับที่ 3 แม้ไม่ทราบผู้แต่งที่แน่ชัดหากสันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นชาวกรุงศรีฯ เช่นกัน

เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

Advertisement

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ.2286 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา และเริ่มรับราชการในตำแหน่งนายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงเป็นบุคคลที่ทันเห็นเหตุการณ์เมื่อครั้งกรุงเก่า

เพลงยาวนี้ พระองค์ทรงพระนิพนธ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 โปรดให้ยกกองทัพไปตีพม่า ใน พ.ศ.2336 กองทัพวังหลวงยกไปตีเมืองทวาย ส่วนกองทัพวังหน้ายกเป็นทัพเรือไปตั้งที่ปากจั่นเมืองระนอง ในฐานะของผู้นำและชนชั้นปกครอง ยังทรงแสดงทรรศนะต่อการบริหารราชการของราชวงศ์บ้านพลูหลวงในช่วงเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และพระเจ้าเอกทัศน์ ไว้ดังนี้

 ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ         จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท                     เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ         ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา      จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน              จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี      จึงเสียทีวงศ์กษัตรา
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ              เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา                   เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร

Advertisement
สงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถาน
แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

ในเพลงยาวนี้ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงเลือกใช้และชุบเลี้ยงคนที่ไม่เหมาะสมกับราชการ ใช้สอยและชุบเลี้ยงแต่บรรดาข้าหลวงเดิม โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ ผู้ทรงพระนิพนธ์อ้างสุภาษิตโบราณ ที่สอนว่าคนเหล่านี้ไม่ควรที่จะนำมารับราชการ สอดคล้องกับแนวคิดในวรรณคดีคำสอนสำหรับกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น “ปูมราชธรรม” วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวไว้ว่า “อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดจะครองแผ่นพิภพภูมิมณฑลไซร้ พิจารณากิริยาแห่งราชเสวกทั้งปวง อย่าได้ว่าผู้นี้เป็นข้าเดิม ผู้นี้มิได้เป็นข้าเดิม ผู้นี้ควรเลี้ยง ผู้นี้มิควรเลี้ยง ให้เอากิริยาแห่งเสวกผู้นั้นๆ เป็นช้าง (หมายถึง เป็นใหญ่) ถ้ากิริยาผู้ใดกอปรด้วยสุวภาพแลรู้หลักไซร้ แม้นว่าเป็นบุตรแห่งจัณฑาลก็ดี ก็ควรเลี้ยงดูผู้นั้น”

เพลงยาวยายจันอุษา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงไว้ในตำนานละครว่า จันอุษาผู้แต่งเพลงยาวเป็นละครผู้หญิงกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อจัน เคยแสดงเป็นตัวนางอุษาในละครเรื่องอุณรุท แสดงดีจนกระทั่งมีชื่อเสียง คนทั้งหลายจึงขนานนามตัวละครให้เป็นสร้อยติดชื่อตัวมาว่า “จันอุษา” สมัยกรุงธนบุรีได้เป็นครูละคร

วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ภาพถ่ายปลายรัชกาลที่ 5 หรือต้นรัชกาลที่ 6 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เพลงยาวนี้ยายจันอุษาเขียนตอบนายมหานุภาพ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเพลงยาวคารมเก่า เล่ม 1 โดยโรงพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ.2460 แม้ว่าเพลงยาวโต้ตอบระหว่างนายมหานุภาพและยายจันอุษาจะบอกเล่า เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงเรื่องราวของบุคคลระดับล่างในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่มีชีวิตรอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเอกสารทางการไม่ค่อยกล่าวถึงบุคคลเหล่านี้มากเท่าใดนัก

ก่อนจะกล่าวถึงเพลงยาวของยายจันอุษา ขอเท้าความเพลงยาวของนายมหานุภาพก่อน นายมหานุภาพที่เล่าถึง “ความหลัง” ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า ได้ทันเห็นยายจันอุษาเมื่อครั้งยังเป็นนางละครในราชสำนัก ฝึกหัดละครเรื่องอุณรุท โดยอ้างถึงบท “นางศรีสุดา” ซึ่งเป็นนางรองในเรื่องอุณรุท อีกทั้งระบุถึงสถานที่ฝึกซ้อมละครของราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าอยู่ที่ “ต้นลำไย” ข้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏในเอกสารอื่นแต่อย่างใด

สำหรับหลักฐานเรื่องอุณรุทในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนอกจากจะปรากฏในเพลงยาวชุดนี้แล้ว ยังปรากฏอยู่ในเรื่องบุณโณวาทคำฉันท์ของมหานาควัดท่าทราย ที่กล่าวถึงการแสดงละครอุณรุทในงานสมโภชพระพุทธบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมในละครเรื่องนี้ของราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ส่วนเพลงยาวของยายจันอุษาที่ตอบนายมหานุภาพมีจำนวน 14 บท ในที่นี้ขอยกเนื้อหาเมื่อครั้งจันอุษารับราชการฝ่ายในจนกระทั่งเสียกรุงก็มิได้พบหน้านายมหานุภาพ ดังนี้

     ซึ่งให้ยืมสารามาทั้งนี้                   เพราะมีมโนถวิลหา
ใคร่พบพักตร์ประจักษ์เนตรสักเวลา    ด้วยจากมาตัวเจ้ายังเยาว์นัก
แต่ครั้งเมื่อพระสยมบรมพงศ์             อยู่บรรยงก์รัตนาสน์เฉลิมศักดิ์

“พระที่นั่งทั้งสามงามไสว” สัญลักษณ์เมื่อครั้ง “บ้านเมืองดี” ภาพจินตนาการพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

จนเสียเมืองเคืองแค้นใจนัก มิได้พานพบพักตร์กันบ้างเลย

ข้อความที่ว่า “แต่ครั้งเมื่อพระสยมบรมพงศ์ อยู่บรรยงก์รัตนาสน์เฉลิมศักดิ์” นั้นหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากพระราชพงศาวดารระบุไว้ว่าในช่วงต้นรัชกาลประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ถึง พ.ศ.2287 เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จฯมาประทับยังพระราชวังหลวง ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ข้อความนี้จึงเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่ายายจันอุษาเข้าไปเป็นนางละครในเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20

เพลงยาวนี้ ตามประวัติระบุว่าได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง สันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นข้าราชสำนักชาวกรุงเก่าสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีชีวิตอยู่มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เนื้อหาในเพลงยาวนั้น ส่วนต้นบอกเล่าบรรยากาศในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ส่วนท้ายกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเนื้อความตอนหนึ่งผู้แต่งกล่าวถึงการตามกระบวนเสด็จไปยังพระพุทธบาทสระบุรี ของกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ณ เขาสัจจพันธคีรี เมืองสระบุรี ดังนี้

      ปางเสด็จโดยเสด็จพยุหบาตร          ไปอภิวาทบทรัตน์พระชินสีห์
ยังเขาสัจจพันธคีรี                                จำเริญพระบารมีให้ยิ่งไป
อันสุริวงศ์พงศ์ประยูรตระกูลชาติ           เสนาพฤฒามาตย์น้อยใหญ่
มหาดเล็กเด็กชาชาวใน                      หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร

ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วน ส่วนที่เหลือขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้ ถึงสิ่งที่คนกรุงศรีฯ เขียนถึงกรุงศรีฯในประเด็นอื่นๆ ซึ่งแม้จะผ่านมา 200 กว่าปี หากกลิ่นอายของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้ยังคงไม่จาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image