นักรบ มูลมานัส เปิดสูตร ‘เล่นแร่แปลภาพ’ ประวัติศาสตร์สยามหลังรูปถ่าย

นักรบ มูลมานัส เปิดสูตร ‘เล่นแร่แปลภาพ’ ประวัติศาสตร์สยามหลังรูปถ่าย

นักรบ มูลมานัส

เปิดสูตร ‘เล่นแร่แปลภาพ’

ประวัติศาสตร์สยามหลังรูปถ่าย

ติดอันดับหนังสือขายดี 1 ใน 3 ของสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ทุกวัน ไม่มีหลุดฟอร์ม สำหรับ ‘เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย’

Advertisement

ผลงานของศิลปินคอลลาจชื่อดัง อย่าง นักรบ มูลมานัส ที่หลายคนคุ้นเคยในบทบาทนักออกแบบภาพประกอบผู้มีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์

ฝากผลงานสะดุดตาบนปกหนังสือมากมาย คว้ารางวัลปกสวยสร้างสรรค์ OKMD Book Cover Award ประเภท ‘เวรี่ไทย’ ต่อเนื่อง ทั้งจาก ‘พระเสด็จโดยแดนชล’ และ ‘ปีศาจ’

โชว์ผลงานจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่ประจักษ์

Advertisement

จากบทบาทศิลปินที่เล่าเรื่องผ่าน ‘ภาพตัดปะ’ อันลือลั่น วันนี้ นักรบ เดินทัพมาสู่อีกบทบาท นั่นคือ ‘นักเขียน’ ผู้เล่าเรื่องผ่านตัวอักษร เผยปริศนาเบื้องหลังภาพถ่ายในยุคที่สยามสบตาวัฒนธรรมตะวันตก ในเล่ม ‘เล่นแร่แปลภาพ’

31 ปีที่แล้ว ‘นักรบ’ เกิดที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวที่ห่างไกลจากโลกศิลปะ

“ศิลปะในวัยเด็กคือห่างไกล เพราะคุณพ่อรับราชการตำรวจ คุณแม่เปิดร้านทำผม แต่สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราเติบโตเป็นศิลปินและทำงานเกี่ยวกับหนังสือ อาจเพราะเติบโตมากับร้านเสริมสวยของคุณแม่ซึ่งรับนิตยสารต่างๆ เลยได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้างและการออกแบบ” ศิลปินผู้ได้ชื่อ ‘นักรบ’ มาจากบิดา วิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยง

“พ่อเป็นคนตั้งชื่อนักรบ เคยถามว่าทำไมตั้งชื่อนี้ เขาก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไร เขาชอบของเขา (หัวเราะ) เดี๋ยวไปถามอีกรอบดีกว่า ว่าทำไมไม่ตั้งชื่อให้มันเหมือนคนอื่น ที่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตอะไรอย่างนี้”

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เป็นเด็ก ม.ปลายสายวิทย์ที่รู้สึกว่าอาจอยู่ในที่ที่ ‘ไม่ถูกต้องสำหรับตัวเอง’

“สังคมในสมัยนั้นบอกว่าเรียนสายวิทย์แล้วมีทางเลือกมากกว่า แต่พอไปเรียน 3 ปีก็ค้นพบว่าไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์เท่าไร รู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถ เราทำไม่ได้ เราอาจจะอยู่ในที่ที่ไม่ถูกต้องสำหรับตัวเอง สิ่งที่สนใจคือประวัติศาสตร์ ภาษาไทย วรรณกรรม สังคมศึกษา”

สุดท้าย ลงเอยด้วยการสวมชุดนิสิต เอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนเข้าสู่วงการศิลปะ นำเสนอภาพในความคิดผ่านการตัดปะ ชิ้นแรกสู่ชิ้นต่อๆ ไป จนได้ชื่อว่า ‘ศิลปิน’ เต็มภาคภูมิ

“เราพยายามที่จะหาวิธีการวาดรูปนำเสนอภาพในสมองที่อยากจะให้ออกมาเป็นรูปภาพ แต่จะไปลองทักษะการวาด การระบายสี ก็รู้สึกว่าทักษะไม่ถึงตรงนั้น เลยมามองสิ่งที่สนใจ สิ่งที่เก็บสะสมไว้ อย่างพวกโปสการ์ดเก่าๆ แสตมป์เก่า รูปภาพเก่า ก็เลยเริ่มที่ทำมาตัดปะจากวัสดุที่มีตอนนั้น พอกลับมาได้สำรวจตัวเอง ได้มาจัดบ้าน ได้เจอการ์ด ใบงานสมัยเรียนมัธยม มีร่องรอยของการเอานิตยสาร หนังสือพิมพ์มาตัดแปะให้เป็นรูปภาพต่างๆ ตั้งแต่เด็ก มันก็อาจจะค่อยๆ ซึมซาบ ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวมา”

แม้ออกตัวว่าไม่ได้เรียนจบประวัติศาสตร์โดยตรง แต่มาทำงานศิลปินที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่าย จึงต้องค้นคว้าสอบทานข้อมูลมากมายไม่ให้พลาด จึงต้องถามว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ จะเปลี่ยนสาขาไปเป็นนักศึกษาสายตรงหรือไม่?

“…ก็ไม่เชิง เพราะรู้สึกว่าจริงๆ แล้วการเรียนวรรณกรรม ก็เป็นประวัติศาสตร์รูปแบบหนึ่ง วรรณคดีก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเรื่องราวในอดีต ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นเรื่องราวในปัจจุบัน Text ที่เราใช้อ่านอาจจะเป็นคนละชุด แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นสิ่งที่คล้ายๆ กัน”

ทำงานมาพักใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ถามถึงความท้าทายในวันพรุ่งนี้ ได้คำตอบที่สรุปได้ว่า ‘วิธีการพลิกมุมมอง หาสิ่งใหม่ ค้นเบื้องหลัง’ นอกจากนั้น นักรบ ยังมองว่า แม้คอลลาจมีข้อจำกัด แต่นั่นคือความท้าทาย

“คิดว่าคอลลาจมีข้อจำกัดของมัน เพราะวัสดุที่เราหาได้ หรือองค์ประกอบต่างๆ มันมีจำกัด แต่เรารู้สึกว่ามันคือความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ความจำกัดนี้กลายเป็นความไม่จำกัด และได้ลองเล่นเทคนิคหลายๆ อย่าง ลองค้นพบว่ามีวิธีอย่างไรบ้างที่จะทำให้สิ่งที่มันมีอยู่แล้ว กลับกลายเป็นเรื่องใหม่

หรือถ้าไม่ได้ใช้ภาพมาตัดปะ จะสามารถใช้ความคิดที่มันซับซ้อนมาตัดปะได้หรือเปล่า หรือก็ลองเพิ่มสิ่งที่ไม่ใช่ภาพอย่างเดียวแต่เอา Text ข้อความวรรณกรรมต่างๆ มาลองตัดแปะดู

ถ้าสมมุติว่าทำจนรู้สึกเบื่อกับมันแล้ว ก็จะลองท้าทายตัวเอง ท้าทายกับวิธีการโดยการพลิกมุมมองและหาสิ่งใหม่ๆ มาปะ ด้วยเทคนิคมันค่อนข้างเรียบง่ายมากๆ ใครๆ ก็น่าจะทำได้ แต่การทำให้งานตัดปะมันมีเนื้อหาสาระหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกัน”

ส่วนแผนในอนาคต นักรบ พบว่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มีเกร็ด มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ แต่มักถูกเขียนเป็นแนวสารคดีไปแล้ว ระยะยาวจึงอยากลอง Fiction (เรื่องแต่ง) ดูบ้างหากทำได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฝันสูงสุด’ ในชีวิต

“ด้วยโลกร่วมสมัย ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกวัน และเร็วมากจนรู้สึกว่าการวางแผนทำได้ยาก แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนที่มีแผนระยะยาวขนาดนั้น รู้สึกว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ในภาวะที่เห็นกันอยู่ว่ามีภัยพิบัติต่างๆ ทางสาธารณสุข แต่หนึ่งในความคาดหวังคืออยากเขียนหนังสือ ดีใจว่าหนังสือที่เขียนได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มในครั้งนี้แล้ว”

ตัดภาพย้อนไปบนเวทีกลาง ชั้น M ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เสวนา ‘เล่นแร่แปลภาพประวัติศาสตร์’ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นักรบ เผยศาสตร์การปรุงภาพถ่ายบนหน้ากระดาษ เติมข้อความเป็นส่วนผสมสำคัญ เล่นแร่อย่างสร้างสรรค์จนกลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก Top 3

จากนี้คือถ้อยคำบนเวทีที่เผยทั้งศาสตร์แห่งการเล่นแร่ สูตรแห่งการแปลภาพที่ นักรบ ยืนยันว่าไม่ต้องมองแบบเดียวกันกับตัวเอง

จากศิลปินสู่นักเขียน การเล่าด้วย ‘ภาพ’ คือภาษาที่พูดคล่องปาก

ปกติทำงานศิลปะและงานออกแบบ จึงนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินและนักทำภาพประกอบปกหนังสือ ดีใจและตื่นเต้น ที่วันนี้มาในอีกฐานะหนึ่งคือนักเขียน

บทบาทนักเขียนและนักออกแบบ รู้สึกว่ามีทั้งจุดที่เหมือนและจุดที่ต่างมาก อย่างแรกที่รู้สึกเสมอวิธีการสื่อสารซึ่งถนัดการเล่าเรื่องด้วยภาพมากกว่า เพราะภาพมีอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงขนาดนั้น มันสามารถนำไปสู่การตีความได้เยอะกว่าและเราทำงานกับมันมาระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกคล่อง เป็นภาษาที่เราพูดแล้วคล่องปาก ออกมาเป็นธรรมชาติ แต่พอตัดมาที่งานเขียนซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน มันคือเรื่องเดียวกัน คือ Storytelling

เหมือนเราจับนู่นชนนี่แล้วเอาเรื่องราวต่างๆ มาเล่า สำหรับตัวเองมันยากมากๆ ตอนที่ต้องหาหลักฐาน แล้วนำมาประมวลมาเขียนเป็นประโยคให้ฟังรู้เรื่องและสื่อความด้วย

ผมทำภาพออกมาได้รวดเร็วกว่า แต่เวลาเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ เราต้องเช็กแล้วเช็กอีกว่าประโยคนี้โอเคแล้วหรือไม่ รู้เรื่องหรือไม่

การทำงานเขียนของผม ก็คล้ายการทำงานออกแบบ อย่างตอนทำภาพคอลลาจ เมื่อมีโจทย์ก็ต้องไปหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จัดวางแล้วหาวิธีร้อยเรียงเข้าด้วยกันว่าภาพใดควรอยู่ตรงไหน สำหรับงานเขียน บางครั้งมีโครงคร่าวๆ ในหัว หรือบางครั้งก็ไม่มีเลย จึงจับเรื่องที่นึกคิดว่าเกี่ยวข้องและนำหลักฐานหรือ Text มาวางไว้ก่อน แล้วหาวิธีการเชื่อมโยง

กึ่งตะวันออก กึ่งตะวันตก สยามสู่ ‘สมัยใหม่’ กับฉากชีวิตที่ไม่เคยเห็น

ผมไม่ได้เรียนจบมาในสายประวัติศาสตร์ ไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ การทำงานตรงนี้จึงต้องยิ่งระมัดระวัง ต้องหาหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อถือได้มายืนยัน แต่การทำงานกับสำนักพิมพ์มติชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ มันช่วยทำให้เราอุ่นใจ

สาเหตุที่เลือกสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 เพราะสนใจช่วงเวลาที่สยามกำลังเข้าสู่สมัยใหม่ซึ่งในมุมมองชนชั้นนำของสังคมไทย คือการทำตัวให้เป็นตะวันตก เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 จึงมีความเข้มข้นในการรับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งผมก็สนใจสิ่งเหล่านี้ ในเล่มจึงเชื่อมโยงข้อมูลฝั่งไทย ไปถึงข้อมูลทางฝั่งยุโรป คล้ายกับสิ่งที่เคยทำตอนออกแบบภาพ

ผมรู้สึกว่าการออกแบบ ศิลปะ หรือภาพถ่าย ในยุคนั้นมีความพิเศษ มีความกึ่งตะวันออกกึ่งตะวันตก และมีภาพบางอย่างที่เราไม่รู้เลยว่าสมัยนั้นมีอะไรแบบนั้นด้วย เช่น ภาพคนแต่งชุดแฟนซี จึงเป็นยุคที่สนใจเป็นพิเศษ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสยามและฝั่งตะวันตกได้เยอะมากด้วย จึงเป็นยุคที่ผมอยากจะเล่าเรื่อง

ทุกวันนี้ เรามักนึกถึงประวัติศาสตร์ในเชิงที่เป็นชาตินิยมมากๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดถึงประวัติศาสตร์ มันไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับความเป็นชาตินิยมขนาดนั้น ซึ่งก็เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมเป็นอย่างนั้น อาจเพราะการเรียนในห้องสมัยประถม-มัธยม เวลาเราคิดถึงภาพรัชกาลที่ 5 เราจะคิดถึงเรื่องไทยๆ เรื่องการเลิกทาส อะไรแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วมีภาพที่สนุกๆ เป็นซีนของ Art and Culture ที่คนสมัยนั้นรับวัฒนธรรมฝรั่งแบบ 100% รับการแต่งตัวงานแฟนซี การละเล่นที่พยายามเป็นตะวันตก

Photo-Alchemy เล่นแร่แปลภาพ เชื่อมโยงนอก (เหนือ) กรอบ

สำหรับการตั้งชื่อหนังสือเป็นส่วนที่หินมาก แม้ทราบว่าประเด็นคืออะไร แต่จะตั้งชื่ออย่างไรให้ครอบคลุมทั้งหมด

ต้องขอบคุณกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชนอย่างมากที่นำเสนอชื่อนี้มา เพราะสอดคล้องกับชื่อนิทรรศการ Photo-Alchemy ของผมที่สมาคมฝรั่งเศสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

การใช้ชื่อว่าเล่นแร่แปลภาพ มันไปเชื่อมโยงกับการ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ ในอดีตซึ่งเป็นศาสตร์ของตะวันตกที่พยายามเอาวัตถุ โลหะและธาตุต่างๆ ที่ดูเป็นของไม่มีค่ามาเปลี่ยนแปลงให้เป็นทองคำ ให้เป็นของมีค่ามากขึ้น

หนังสือต่างๆ ในไทยที่พยายามเรียบเรียงเรื่องราวจากภาพ มักเป็นข้อมูลและภาพชุดเดิมๆ ที่อธิบายว่าใครทำอะไรที่ไหน แต่เราคิดว่ามุมมองที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ไม่ได้อยู่แค่ในกรอบในภาพ มันอยู่นอกเหนือไปกว่านั้น จึงพยายามเชื่อมโยง นำสิ่งที่มีอยู่แล้ว เอามาทำให้มันเป็นภาพ เป็นข้อมูลด้วยวิธีการใหม่ๆ เลยคิดว่าชื่อเล่นแร่แปลภาพอาจจะดูเข้าเค้า

ภาพแปลก ซีนสะดุดตา กิริยาที่ ‘ถูกจัดสรร’

ผมเดินทางไปค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไปค้นภาพต่างๆ พบว่ามีภาพที่น่าสนใจเยอะ ไปค้นว่าภาพไหนสะดุดตา ภาพไหนแปลก หรือภาพไหนไม่ได้รับการอธิบายในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ภาพหนึ่งที่ถ่ายแต่ข้างหลัง ซึ่งเวลาเราเห็น Portrait สมัยนั้น ส่วนใหญ่จะถ่ายภาพหน้าตรงและด้านข้าง เลยสงสัยว่าทำไมภาพนี้จึงถ่ายแต่ข้างหลัง หลังจากนั้นจึงไปค้นหาข้อมูลมากมาย พบว่าภาพนั้นเป็นภาพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งถ่ายจากเบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) เพื่อนำไปให้ช่างชาวอิตาลีใช้ในการแกะสลักประติมากรรมหินอ่อน

พอมานึกถึงภาพถ่ายในปัจจุบัน เราใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมภาพมากกว่าอดีต ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพลงโซเชียลต่างๆ การถ่ายภาพไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป

กล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคนยังเข้าถึงไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับชนชั้นสูงเท่านั้น การถ่ายภาพจึงเป็นอะไรที่สลักสำคัญและมีอำนาจมีอะไรมาควบคุมเยอะ เช่น วิธีการถ่ายรูปคุณต้องไม่ยิ้ม คุณต้องทำกิริยาอย่างนี้ มีการจัดสรรแบบนี้ ขณะที่ปัจจุบัน คนเมืองส่วนใหญ่ได้ครอบครองสมาร์ทโฟน ซึ่งมีฟังก์ชั่นเกี่ยวกับการถ่ายรูป ทุกคนสามารถถ่ายได้ทุกเวลา มีการดึงภาพนิดหนึ่งให้ดูผอม มีการใช้โปรแกรมต่างๆ จึงเกิดคำถามว่า อันไหนจริงอันไหนไม่จริง ซึ่งเมื่อมารวบรวมข้อมูลจึงพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่แท้จริงตลอด การถ่ายรูปอาจมีธรรมเนียมอะไรต่างๆ ของมัน และมีส่วนที่ถูกตัดออกไป และส่วนที่เลือกขึ้นมานำเสนอ

ดูใหม่ อ่านใหม่ ไม่ต้อง ‘ตีตรา’ เพราะศิลปะไม่มีถูกผิด

อยากให้ทุกคนลองอ่านและลองหาวิธีใหม่ๆ ในการอ่านภาพ เราเชื่อว่าเมื่อทุกคนเห็นภาพเดียวกัน อาจไม่ได้คิดถึงสิ่งเดียวกันอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้ เราอยากให้คนเห็นภาพหนึ่ง แล้วหาวิธีการอธิบายที่แตกต่างกันไป และไม่จำเป็นต้องตีตราว่ารูปหนึ่งต้องอ่านได้แบบเดียวเท่านั้น

ขอบคุณมากที่สนใจหนังสือเล่มนี้ และคิดว่าน่าจะสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับวิธีการอ่านภาพถ่ายประวัติศาสตร์ และแน่นอนไม่มีวิธีการอ่านแบบเราแบบเดียว ภาพหนึ่งภาพ ถ้าเกิดเรามองมันว่า คล้ายกับว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คิดว่าศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถมองเห็นอะไรต่างๆ ในรูปเดียวได้

อยากให้ทุกคนลองมาดู ลองมาอ่าน ลองหาวิธีใหม่ๆ ในการอ่านภาพ ที่ไม่ต้องเป็นวิธีเดียวกับเราก็ได้ เพราะเชื่อว่าทุกคนเห็นภาพภาพเดียวและไม่ได้คิดถึงสิ่งเดียวกันอยู่แล้ว

อยากให้คนเห็นภาพภาพหนึ่ง และหาวิธีการอธิบายที่มันแตกต่างกันไป และไม่จำเป็นด้วยที่ต้องตีตราว่ารูปหนึ่งต้องอ่านได้แบบเดียวเท่านั้น

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image