คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ตลาดหนังสือ

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ตลาดหนังสือ

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ตลาดหนังสือ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ที่สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ ผ่านพ้นไปด้วยความชื่นมื่น

น.ส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย บอกว่า การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด

จากเดิมคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมน้อยกว่านี้ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

Advertisement

ปรากฏว่าตลอดระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 6 เมษายน

พบว่ามีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นราว 720,000 คน

เดิมตั้งเป้าไว้เม็ดเงินจะสะพัด 500 ล้านบาท แต่จวบจนกระทั่งถึงวันปิดงาน

Advertisement

ดูจากปริมาณคนที่มาเดินงาน คาดว่าเม็ดเงินจะขึ้นไปถึง 600 ล้านบาท

น.ส.ทิพย์สุดายังแย้มข้อมูลให้ฟังเพิ่มเติม

แย้มภาพรวมยอดการขายหนังสือเล่ม หรือพ็อคเก็ตบุ๊ก ว่าไตรมาสแรกปี 65 เติบโตประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์

คาดว่าไตรมาส 2 น่าจะโตสูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะสำนักพิมพ์ต่างๆ ออกหนังสือใหม่มาก

นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ร่วมกับ Shopee, Lazada, JD และ www.thaibookfair.com หลายสำนักพิมพ์แจ้งว่า มียอดใกล้เคียงกับยอดขายในงานสัปดาห์หนังสือ

รับฟังจากนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์แล้วปลื้มใจแทนบรรดาผู้จัดพิมพ์ทั้งหลาย

ความคิดและความรู้สึกเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะ น.ส.ทิพย์สุดา

หากแต่ใครที่ไปงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้จะมีความรู้สึกสอดคล้องกัน

ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน มีผู้แวะเวียนมาเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิด

เฉพาะที่จำได้ มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ต.ศิธา ทิวารี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พล.อ.
นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็นต้น

ขออภัยหากเอ่ยนามได้ไม่ครบ

ส่วนหนังสือที่ได้รับความนิยมมาก มีอาทิ “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” โดย หนุ่มเมืองจันท์ “เล่นแร่แปลภาพ” โดย นักรบ มูลมานัส “ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส” โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล “ก่อร่างเป็นบางกอก” ผลงาน Edward Van Roy แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร “Who We Are and How We Got Here ดีเอ็นเอปฏิวัติ” ผลงาน David Reich แปลโดย ก้อง พาหุรักษ์ “My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล” ของ Tanya Goodin แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา เป็นต้น

ใครที่ได้แวะเวียนไปงานสัปดาห์หนังสือ จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจต่อการอ่าน

บางกลุ่มสนใจการ์ตูนไปแวะเวียนไปที่บูธหนังสือการ์ตูน

ส่วนกลุ่มที่สนใจการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ก็แวะเวียนเข้าบูธต่างๆ รวมทั้งสำนักพิมพ์มติชนด้วย

เมื่อผู้จัดพิมพ์พร้อม คนอ่านพร้อม งานสัปดาห์หนังสือจึงคึกคักอย่างที่เห็น

สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ กลายเป็นตลาดหนังสือในช่วงเวลา 12 วัน ในพริบตา

งานครั้งนี้สำเร็จได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเอื้อเฟื้อ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท. บอกว่า นโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ ให้การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน

สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่กว้างใหญ่ รองรับคนได้มาก เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนจึงเดินทางมาร่วมงานได้ในราคาที่ประหยัด ปลอดภัย และรวดเร็ว

จากรังสิต ดอนเมือง หรือตลิ่งชัน นั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ใช้เวลาแค่ 20 นาที ก็ถึงงานสัปดาห์หนังสือฯ

บางคนเดินทางจากหัวลำโพง หรือจุดต่างๆ สามารถนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หรือนั่งรถประจำทางได้

ถือว่าได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาเลือกซื้อหนังสือเติมความรู้

การรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม เต็มใจสนับสนุนการจัดงานดีๆ แบบนี้อีก

สรุปได้ว่างานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ ทั้งเจ้าของสถานที่ ทั้งเจ้าของงาน ทั้งผู้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ต่างพอใจ

งานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ คือ สัญญาณดีที่สะท้อนว่าตลาดหนังสือกำลังกลับมา

ยิ่งปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่สนใจอ่านหนังสือ ยิ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ

เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีผู้แยกแยะสถิติ

และอาจจะพบว่าคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น อาจพบว่าประเทศไทยควรจะมีตลาดหนังสือเพิ่มขึ้น

อย่างน้อยงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ก็ทำให้แลเห็นตลาดหนังสืออีกแห่งหนึ่ง

แม้จะไม่ใช่ตลาดหนังสือถาวร แต่ก็เป็นทำเลดีสำหรับการสัญจรมามองหาหนังสือ

นั่นคือ สถานีกลางบางซื่อ กทม. นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image