อาศรมมิวสิก : ประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้านชิงถ้วยพระราชทาน

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้จัดโครงการประลองดนตรีล้านนา “วงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน” โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ลำปาง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัลชนะเลิศ

การประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน ได้เปิดรับสมัครถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2565 ซึ่งแต่ละวงสามารถส่งสมาชิกเข้าประลองได้ 4-9 คน โดยให้บันทึกเพลงพื้นบ้านเมืองเหนือ 1 เพลง (ไม่เกิน 5 นาที) เพื่อสมัครเข้าประกวดออนไลน์ก่อน สำหรับวงที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจำนวน 12 วง จะได้รับเชิญไปประลองกันบนเวที ณ อาศรมศิลปิน ไร่ผดุงธรรม จังหวัดลำปาง รอบรองชนะเลิศ จัดขึ้นในวันที่ 9-10 มิถุนายน พ.ศ.2565 โดยในรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2565 มีเงินรางวัลมูลค่า 410,000 บาท

สมัครได้ที่ https://forms.gle/pFWpL8Caf1GbN4GG9 อ่านรายละเอียดในการประลองวงสะล้อซอซึงที่ https://drive.google.com/file/d/1tWrw03SJW28Cg8z31NDs0cjjN1qf1g06/view?usp=sharing หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามทางข้อความได้ที่เพจ https://www.facebook.com/LannaCompetition

ทุกวันนี้พบว่าดนตรีพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นและชุมชนไทยตายไปมากแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ก็ร่อแร่เต็มที สาเหตุการตายของดนตรีพื้นบ้านและดนตรีประจำชาติมีอาการใกล้เคียงกัน คือ ไม่มีเวทีแสดง ไม่มีคนว่าจ้างไปแสดง ไม่มีงานทำ และไม่สามารถจะหาเงินเลี้ยงชีพหรือเลี้ยงครอบครัวได้ เมื่อไม่มีเงิน นักดนตรีก็ต้องละทิ้งอาชีพดนตรีไปทำงานอย่างอื่น หางานที่สามารถจะหาเงินได้ นานวันเข้าเมื่อหยุดเล่นดนตรีไปนานๆ ฝีมือดนตรีก็จะด้อยลง มาเล่นอีกทีก็จะมีความไพเราะน้อยลงไปด้วย เมื่อไม่ไพเราะ ผู้ฟังก็จะเบื่อ

Advertisement

การไม่มีคนจ้าง ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ฝีมือนักดนตรีก็จะหดลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่สนใจทำงานที่หาเงินได้ “งานคือเงิน เมื่อทำงานก็ต้องได้เงิน” เมื่อการเล่นดนตรีพื้นบ้านแล้วไม่สร้างรายได้ ไม่ได้เงิน วงดนตรีพื้นบ้านจึงไม่อยู่ในสายตาของคนรุ่นใหม่ บางครั้งการเล่นดนตรีพื้นบ้านกลายเป็นเรื่องต้องเสียเงินและเสียเวลา คนรุ่นใหม่จึงไม่เข้าสู่อาชีพเป็นนักดนตรีพื้นบ้าน เป็นแค่คนรักสมัครเล่น ไม่ใช่อาชีพ “ทำสนุกๆ แล้วก็ทอดทิ้งไป”

เพลงพื้นบ้านภาคเหนือตอนบนจากตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ยังมีวงดนตรีพื้นบ้านที่แข็งแรงอยู่มาก โดยเฉพาะวงสะล้อซอซึงหรือซอพื้นบ้าน มีนักดนตรีส่วนหนึ่งที่พยายามใช้กีตาร์มาเล่นแทนซึง ทำเป็นวงโฟล์กซองคำเมือง ซึ่งมีต้นแบบจากจรัล มโนเพ็ชร เป็นผู้นำร่องประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน ตั้งแต่ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ทำให้มีวงโฟล์กซองคำเมืองเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาศัยทำนองเพลงพื้นเมืองดั้งเดิม แล้วนำทำนองมาใส่เนื้อร้องใหม่

ย้อนอดีตไปในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2319 อาณาจักรล้านนาได้หันมาเข้ากับสยาม ต่อมากระทั่งในปี พ.ศ.2416 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ผนวกเมืองเชียงใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชายาคือเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.2429) ซึ่งเจ้าดารารัศมีนั้น มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูศิลปะการฟ้อนรำและช่างดนตรีพื้นเมืองเหนือ มีครูดนตรีและครูฟ้อนรำคนสำคัญ คือ เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ และเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่

Advertisement

เพลงเมืองเหนือมีบทบาทสำคัญและเป็นเพลงประจำชาติจำนวนมาก อาทิ ลาวดวงเดือน ลาวคำหอม ลาวลำปาง ลาวจ้อย ลาวเจริญศรี ลาวเฉียง ลาวเชียงใหม่ ลาวชมดง ลาวสมเด็จ เป็นต้น เพลงเมืองเหนือ เป็นเพลงที่มีความไพเราะลึกซึ้งและประณีตสวยงาม ทำให้เพลงเมืองเหนือเป็นที่นิยมรู้จักแพร่หลาย ผสมกลมกลืนอยู่ในเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล จนแยกกันไม่ออก

เมื่อมีองค์กรสำคัญของรัฐ อย่างสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ลำปาง จับมือกันสนับสนุนการประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน จึงเป็นมิติใหม่ที่จะสร้างบรรยากาศที่ดี สร้างรสนิยมใหม่ การนำเสียงในอดีตมารับใช้ปัจจุบัน การสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้นักดนตรีพื้นบ้านอยากขึ้นเวทีประลอง ยิ่งมีถ้วยพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจและมีเงินรางวัล (410,000 บาท) ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้านครั้งใหญ่ทีเดียว

ในการประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้านเพื่อเสริมสร้างรสนิยม สร้างคุณค่าของดนตรีพื้นบ้าน มุ่งพัฒนาคุณภาพ สร้างราคาความน่าเชื่อถือในการจัดการ สร้างมาตรฐานดนตรีพื้นบ้านใหม่ ขุดไปที่รากฐานของเพลง เสริมวิถีชีวิตซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน พัฒนาให้ดนตรีมีมาตรฐานสากล เพื่อทุกคนจะมีความรู้สึกภูมิฐาน

การประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้านได้รับน้ำใจจากเจ้าภาพหลัก สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากบุคคลสำคัญๆ หลายฝ่าย อาทิ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง มอบภาพสะล้อมีชีวิต ให้แก่ฝ่ายจัดงาน คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ได้มอบลายเส้นรูปวงสะล้อซอซึงให้ใช้เป็นโลโก้ของงาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง คุณตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ช่วยจัดการเรื่องพื้นที่ประลอง ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นเจ้าภาพเรื่องอาหารเครื่องดื่ม ของชำร่วย และเป็นผู้สร้างสรรค์บรรยากาศในงาน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนในการจัดงาน

บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า มอบย่ามคุณภาพสูงโดยมีโลโก้ของงานประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน (1,000 ย่าม) คุณณรงค์วิทย์ อุ่นแสงจันทร์ (สมาชิก วปอ. 63) สนับสนุนเสื้อคอกลมโลโก้ของวงสะล้อซอซึง (1,000 ตัว) บริษัท เจริญกรุงอัมเบรลลาส์ จำกัด สนับสนุนร่มกันแดดกันฝนที่มีโลโก้ของวงสะล้อซอซึง (400 คัน) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนในการพัฒนาวงดนตรีของเยาวชน วง ดร.แซ็ก แชมเบอร์ออเคสตรา เพื่อไปแสดงในงานการประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน ระหว่างที่รอผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศในวันประลอง

ขอบคุณอาจารย์ลีโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) ที่ได้ช่วยพัฒนาวงออเคสตราเยาวชนเพื่อไปร่วมแสดง ขอขอบคุณ พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน โดยนำเพลงจากวงสะล้อซอซึงพื้นบ้านมาสร้างสรรค์เพลงใหม่ ขอบคุณอาจารย์กมลมาศ เจริญสุข และอาจารย์ตปาลิน เจริญสุข ผู้ฝึกสอนและควบคุมวงออเคสตราเยาวชนให้มีคุณภาพ และช่วยสร้างเว็บไซต์ของการประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน ยังมีแม่งานหลักผู้อยู่เบื้องหลัง คือ คุณจิตรี จิวะสันติการ ฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ผู้ที่ริเริ่มคบคิดการจัดงานประลอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุง พรมมูล เจ้าของไร่ผดุงธรรม ผู้อุปถัมภ์การจัดงานรายใหญ่

สำหรับวง ดร.แซ็ก แชมเบอร์ออเคสตรานั้น จะเป็นการนำบทเพลงพื้นบ้านมาพัฒนาต่อยอดนำเพลงไปสู่สากล โดยการเอาเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ นำเสนอด้วยวิธีใหม่ มอบให้ผู้ฟังและสาธารณะขณะที่รอผลการตัดสินของคณะกรรมการ (11 มิถุนายน 2565) ซึ่งมีเพลงล่องแม่ปิง ลาวกระทบไม้ ลาวลำปาง ลาวสมเด็จ ลาวสวยรวย ลาวเสี่ยงเทียน สร้อยลำปาง สร้อยแสงแดง ดาดน่าน และเพลงลาวดวงเดือน

เมืองลำปางนั้น คุณจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ท่านได้อุปถัมภ์วงดนตรีแชมเบอร์ออเคสตรา ชื่อวง “อมยิ้ม” ซึ่งเป็นวงดนตรีเด็กผู้หญิงล้วน อายุไม่เกิน 18 ปี เด็กผู้หญิงเหล่านี้มาจากทั่วประเทศ (76 คน) ซึ่งเป็นเด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกส่งไปบำบัดช่วยเหลือทางจิตใจ รวมกันไว้อยู่ที่ลำปาง วงออเคสตราอมยิ้มเป็นวิธีการใช้ดนตรีเพื่อบำบัดจิตใจวิธีหนึ่ง ใช้ดนตรีเป็นเพื่อน ใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบใจ และอาจใช้ดนตรีเพื่อการประกอบอาชีพได้ ทางมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นผู้รับผิดชอบวงดนตรี ดร.แซ็ก แชมเบอร์ออเคสตรา ได้จัดส่งโน้ตเพลงไปให้วงอมยิ้มฝึกซ้อมไว้ก่อนแล้ว หากว่าจะมีนักดนตรีในวงอมยิ้มสามารถฝึกหัดและเข้าร่วมแสดงกับวง ดร.แซ็ก แชมเบอร์ออเคสตราได้สักเพลงสองเพลง ก็จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็กผู้หญิงวงอมยิ้มอีกระดับหนึ่งด้วย

การประลองวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเพื่อดนตรีพื้นบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้เชื่อมโยงภารกิจของสังคมด้านอื่นๆ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย เพื่อจะทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ได้สร้างสังคมร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามศักยภาพของตนที่ทำได้ เพื่อประโยชน์และความสุขส่วนรวม

ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน พ.ศ.2565 เชิญชวนทุกท่านผู้รักวงสะล้อซอซึงและวงซอพื้นบ้าน ไปเจอกันที่เวทีแสดง ณ อาศรมศิลปิน ไร่ผดุงธรรม จังหวัดลำปาง เพื่อจะได้ช่วยกันมองหาอนาคตของดนตรีพื้นบ้านของไทย รวมทั้งดนตรีประจำชาติด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image