แท็งก์ความคิด : How We Got Here

ภายหลังงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจบลงไป หนังสือหลายเล่มได้รับการกล่าวขาน

หลายคนบอกว่าชอบเล่มนั้น อีกหลายคนบอกชอบเล่มนี้

วันก่อนมีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งและแสดงความชื่นชมหนังสือเล่มหนึ่ง

บอกว่าอ่านแล้วรู้สึกว่ามันดี ฝากบอกให้เร่งกระจายข่าว เพื่อให้คนไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้

Advertisement

หนังสือเล่มดังกล่าว สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ และบริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน จัดจำหน่าย

ใครมาเชียร์หนังสือในเครือมติชนว่าเจ๋งก็ต้องเร่งตีปี๊บ

แต่ก่อนจะประชาสัมพันธ์บอกกล่าว ต้องพลิกอ่านหนังสือเล่มดั่งว่าก่อน

ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มที่กำลังจะกล่าวถึงนี้แล้ว คงสัมผัสบรรยากาศการค้นพบ

เหมือนกับสมัยหนึ่งคนค้นพบทวีปใหม่ สมัยหนึ่งคนค้นพบการคำนวณอายุโบราณวัตถุ

แน่นอน การค้นพบที่น่าเชื่อถือ ต้องค้นพบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

และที่น่าสนใจคือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปตอบโจทย์การค้นพบด้านโบราณคดี และมานุษยวิทยา

หนังสือเล่มที่กำลังกล่าวถึง ชื่อ “Who We Are and How We Got Here” ดีเอ็นเอปฏิวัติ

เขียนโดย David Reich แปลโดย ก้อง พหรักษ์ มี ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการพิเศษ

หนังสือเล่มนี้นำเสนอการรวบรวมผลการศึกษา “จีโนม” จากกระดูกมนุษย์โบราณ

ศึกษากระดูกมนุษย์โบราณที่ค้นพบตามแหล่งต่างๆ ของโลก

ผลการศึกษาทำให้มนุษย์ได้ข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์

หนังสือเล่มนี้บอกว่า การศึกษาจีโนมมนุษย์แซงหน้ากระบวนการศึกษาทางโบราณคดีเดิม

พวกเขาค้นพบว่า “ไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ” มีความสำคัญ และถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการศึกษาอดีตผ่านพันธุศาสตร์

ไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 2 แสนของจีโนม ถ่ายทอดตามสายพันธุ์แม่

จากแม่สู่ลูกสาว และจากลูกสาวสู่หลานสาว

เมื่อติดตามศึกษาด้วยวิธีนี้อย่างเป็นระบบ ทำให้คนปัจจุบันสามารถสร้างผังเครือข่ายญาติฝั่งแม่ของมนุษย์ได้สำเร็จ

นี่คือเป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางประวัติศาสตร์

เพราะข้อมูลที่ปรากฏจากการศึกษาด้านพันธุกรรม สามารถอธิบายความเป็นไปของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอดีตได้

เช่น การค้นพบว่า ประชากรโลกเป็นลูกผสมกันมาตั้งแต่อดีต

ชาวแอฟริกัน อเมริกัน หรือละตินอเมริกัน เป็นเพียงลูกผสมรุ่นล่าสุดในประวัติศาสตร์การผสมอันยาวนานเท่านั้น

ผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่ผลการศึกษาดังกล่าวทำให้เราควรรู้

หนังสือเล่มนี้ค่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาค แต่ละภาคมีอีกหลายบทรองรับ

ในที่นี้ขอโชว์ตัวอย่างเรียงรายภาค เริ่มจากภาคที่ 1 ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์เชิงลึกของเผ่าพันธุ์

ภาคนี้อธิบายว่าจีโนมของมนุษย์คือคลังประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

เปิดตัวน่าสนใจไหม แต่สำหรับคนที่พลิกอ่าน น่าจะชอบใจกันตั้งแต่ต้นเรื่อง

เมื่อเข้าสู่ภาคที่ 2 หนังสือว่าด้วยเรื่อง เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

อธิบายว่าการปฏิวัติจีโนมและดีเอ็นเอโบราณ ปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสายบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่

พยายามตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

แล้วก็เข้าสู่ภาคที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง “จีโนมจอมรื้อทำลาย”

เป็นการกล่าวถึงผลกระทบทางสังคมจากการปฏิวัติจีโนม และเสนอแนะว่าเราควรวางตัวเช่นไรกับตำแหน่งแห่งที่บนโลกใบนี้

เป็นการตอบคำถามที่หลายคนอยากรู้ในอดีต

อาทิ คำถามที่ว่าอดีตเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนโบราณเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร และการอพยพส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดีได้อย่างไร

การค้นพบทางประวัติศาสตร์ด้วย “จีโนม” เช่นนี้ น่าสนใจอ่านเป็นอย่างยิ่ง

หนังสือชื่อ “Who We Are and How We Got Here” ดีเอ็นเอปฏิวัติ จึงเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ก็ควรอ่าน นักวิทยาศาสตร์ก็ควรมี

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2565 หนังสือเล่มนี้ติดอันดับ 1 ใน 10 หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชนทุกวัน

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกเล่มที่อยากให้ได้อ่าน

อ่านแล้วจะรู้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรานั้นอยู่กันอย่างไร เคลื่อนไหวกันแบบไหน

สำหรับหลายคนที่ชอบการค้นหาอดีตด้วยวิธีการใหม่ๆ หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ได้ดี

เพราะการค้นพบที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอได้เปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรที่เคยเชื่อกันมาก่อน

ขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยัน อีกหลายความเชื่อที่เคยถูกเพิกเฉย

ใครที่สนใจการใช้วิธีทางพันธุศาสตร์มาค้นหาความเป็นมาของมนุษย์

ใครที่สนใจความเป็นมาของมนุษย์อยู่แล้ว

หรือใครที่อยากรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา

น่าจะได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้

“Who We Are and How We Got Here” ดีเอ็นเอปฏิวัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image