มหกรรมยางพารา’64 โฟกัสอนาคต ’นครศรีฯ’ เมืองหลวงยาง ไทยศูนย์กลางยางโลก

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดมหกรรมยางพารา64

ประสบความสำเร็จอย่างงดงามสำหรับงาน ’มหกรรมยางพารา 2564’ นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ณ สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พร้อมพันธมิตรเครือข่าย

ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา อีกทั้งเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐาน การวิจัย และแนวคิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมไทย รวมไปถึงเพื่อเป็นเวทีเจรจาธุรกิจ แสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพารา

โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี เป็นภาคเกษตรปีละประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท เป็นพื้นที่ปลูกยางพารา 1.88 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 4 แสนตัน มีรายได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งมีโรงงานแปรรูปยางพาราที่จดทะเบียน 100 ล้านขึ้นไป อีกถึง 5 โรงงานด้วยกัน จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดงานดังกล่าว

ปักธงดัน‘นครศรีฯ’เมืองหลวงยางพารา หนุนไทย ฮับยางโลก

Advertisement

ในช่วงเย็นของวันที่ 9 เมษายน มีพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

พร้อมด้วย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช, กุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และ ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคประชาธิปัตย์, นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์, ประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์, ธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีฯ, ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช, ประพันธ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง, สุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย, สังเวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย, สง่า ขันคำ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย, เจริญ นาคะสรรค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย, ขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย, สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย, ณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง, วันสุกรี แวมามะ นายอำเภอช้างกลาง, ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เป็นต้น

Advertisement
แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

คำกล่าวสำคัญในค่ำคืนนั้นของ เฉลิมชัย ในฐานะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ คือ ความมุ่งมั่นอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก มั่นใจว่ามีศักยภาพเพียงพอ ยางพาราของไทยมีคุณภาพที่สุดในโลก ตราบใดที่ตนยังเป็นรัฐมนตรี ต้องผลักดันให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงยางพาราให้ได้ ไม่ใช่แค่คนนครศรีธรรมราชได้ประโยชน์ แต่รวมถึงทุกจังหวัดที่ปลูกยางจะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ถ้าทำอย่างนั้นได้ ยางพารา 1 กิโลกรัม เกิน 100 บาทแน่นอน

“น้ำยางเรามีคุณภาพดีที่สุดในโลก เราต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ ถ้าเราส่งน้ำยางสดไปขายเพียงอย่างเดียวก็ได้ราคาแค่ 60-70 บาท เราต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ ทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่มได้มากที่สุด นี่คือหน้าที่ของ กยท. และผมจะต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรสวนยาง ต้องประสานงานกับผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งหมด”

นอกจากนี้ รมว.เกษตรกล่าวย้ำถึงสวัสดิการชาวสวนยางว่า หลายท่านไม่ทราบว่า กยท.มีสวัสดิการอะไรให้กับพี่น้องชาวสวนยางบ้าง เช่น การประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ นี่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพี่น้องชาวสวนยางที่ได้รับกรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น

ตัดริบบิ้นเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Rubbee

ส่อง’นวัตกรรม’เสา กรวย กระชังบก ตอบโจทย์ ปลดล็อกปัญหาเกษตรกร

แน่นอนว่านวัตกรรมคือไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ กยท.สาขาเชียงของ อย่าง ‘กระชังบก’ สระน้ำที่วางบนพื้นดินโดยไม่ต้องขุดดินทำสระน้ำ เมื่อนำผ้าเคลือบยางพารามาวางบนโครง สามารถใช้เลี้ยงปลา กบ กุ้งฝอย สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ ทำความสะอาดง่าย ช่วยปลดล็อกปัญหาเกษตรกรภาคเหนือซึ่งการขุดสระน้ำเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีการขออนุญาตหลายขั้นตอนจากทางราชการ กระชังบกจึงตอบโจทย์อย่างยิ่ง

สำรวย อัศวภูมิ ผอ.กยท.สาขาเชียงของ กับนวัตกรรม ‘กระชังบก’

‘เสาล้มลุก กรวยตั้ง’ จากยางพารา อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี ด้วยคุณสมบัติดีกว่าพลาสติก คืนตัวได้ แตกหักยาก ผลงานของชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ จำกัด (SRICF) ที่เคยผลิตเสาหลักนำทางยาง และแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีตมาก่อน

นอกจากนี้ ยังมี ‘กรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิด FlexzBlast’ ผลงานการวิจัยของคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งช่วยลดความเสียหายในระยะยาวจากการระเบิดเหมืองรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นการช่วยลดแรงอัดด้านบนดินเวลาระเบิดเหมือง ลดการปลิวของหิน เพิ่มประสิทธิภาพการระเบิดให้เกิดหินก้อนเล็กลง และง่ายต่อขั้นตอนการโม่ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการระเบิดเหมืองอาจสูงขึ้น แต่ก็แลกกับการลดจำนวนระเบิดที่ต้องใช้ และลดต้นทุนได้มหาศาลในระยะยาว ผ่านการทดสอบและทดลองใช้จริงในเหมืองแร่ 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ยะลา และชุมพร ซึ่งผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร และขอรับใบอนุญาต มอก.เพื่อจัดจำหน่ายจริง

เวิร์กชอปถุงมือเคลือบยางพารา แปรรูป เพิ่มมูลค่า นำมาซึ่งรายได้

อัดแน่น’เวิร์กช็อป’เพิ่มรายได้ เลี้ยงไก่-แปรรูป-ปลูกพืชผสมผสาน

อีกมุมคึกคักคือเวิร์กช็อป ไม่ว่าจะเป็น ’การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยาง’ ด้วยร่มเงาจากต้นยางเหมาะกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ มีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำ ส่งผลให้ไก่พื้นเมืองเป็นที่ต้องการของตลาดของคนรักสุขภาพ ราคาสูงกว่า ‘ไก่เนื้อ’ ถึง 3 เท่าตัว จึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจน่าสนใจสำหรับเลี้ยงเพิ่มรายได้ในสวนยาง

’ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา’ อย่างการทำถุงมือเคลือบยางที่มีความแข็งแรง ชุบติดง่าย ราคาถูก ทนทานต่อความร้อนได้ด้วยการผสมสารเคมีลงไป การผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางจึงเป็นสินค้าใหม่ที่น่าจับตา เพราะน้ำยางมีค่ากว่าที่คิด โดยถุงมือผ้าฝ้ายเคลือบน้ำยางธรรมชาติ 2 ชั้น เหมาะสำหรับงานก่อสร้างและภาคเกษตร มีราคาซื้อขายในต่างประเทศประมาณคู่ละ 48-49 บาท

’ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง’ ผู้เชี่ยวชาญชี้ช่องทางการปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นบาทต่อไร่ เทียบกับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีรายได้จากการขายน้ำยางเฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทต่อไร่ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรรายหนึ่งมีพื้นที่ปลูกยาง 3-4 ไร่ ปลูกผักเหมียง หรือใบเหลียงเป็นพืชร่วมยาง ถ้าเก็บผักเหมียงขาย กก.ละ 80 บาท ได้ทุกสัปดาห์จะมีรายได้ต่อเดือนกว่าแสนบาท

ประกวดยางแผ่น กรรมการคัดเลือกอย่างเข้มข้น

วงเสวนาเน้นย้ำ’สวนยางยั่งยืน’ พร้อมปรับตัว มองอนาคต

ด้านวงเสวนาไม่น้อยหน้า บรรยากาศคึกคักทุกเวที อาทิ หัวข้อ ‘วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง’ โดย สุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเน้นย้ำประเด็นสวนยางยั่งยืน เกษตรกรต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา

“ถ้ายังทำสวนยางแบบเชิงเดี่ยวชาวสวนยางจะไม่มีรายได้รายเดือน โดยสวนยางยั่งยืนที่ กยท.กำลังผลักดันช่วยให้ลดค่าใช้จ่าย เพราะในพื้นที่สามารถสร้างปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตได้ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ขายพืชผักผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 บาทต่อไร่ต่อเดือน พร้อมกับต้องมีการออมเงินด้วยการปลูกต้นไม้ เช่น ไม้แดง ไม้พะยูง ไว้ตัดไม้ขายได้ในอนาคต” สุนทรแนะ

ด้าน เบญจมล ไพรพฤกษ์ ตัวแทนคนกรีดยางจากพัทลุง เปรียบเทียบสวนยางเป็นร้านสะดวกซื้อเพื่อการพึ่งพาตังเอง

“ตั้งเป็นสโลแกนไว้เลย ใช้สวนยางเป็นเซเว่น เป็นมหาวิทยาลัย เป็นโรงพยาบาล เป็นสวนยางที่เราสามารถพึ่งพาได้ทุกเรื่อง ช่วยให้เราลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารหรูๆ เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากของข้างบ้าน ผักหวานในป่ายาง แกงเลียงไข่มดแดง หากินได้ในสวนของเราเอง” ชาวสวนยางตัวจริงเปิดใจ

อีกหนึ่งสีสัน แข่งขันนกกรงหัวจุก วิถีชีวิตชาวสวนยางภาคใต้

เชียร์สุดใจ กรีดยาง นกกรงหัวจุก ธิดาสวนยาง

นอกจากนี้ยังมีสีสันการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับยางพารามากมาย โดยมีผู้เข้าร่วมชิงชัยจากทั่วประเทศ อาทิ การแข่งการกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ปรากฏว่า สมร ศรีดี เกษตรกรนักกรีดยางมือพระกาฬจาก จ.บึงกาฬ คว้าแชมป์ไปได้ ส่วนการประกวดยางแผ่นดิบคุณภาพดี ทวีศักดิ์ แซ่ลิ่ม เกษตรกรจาก จ.สุราษฎร์ธานี คว้าที่ 1 ไปครอง

ออกไปชมกิจกรรมกลางแจ้งประชันเสียง ‘นกกรงหัวจุก’ ก็สุดคึกคัก โดยประเภท 4 ยก 8 ดอก ผู้ชนะคือ เมฆฟาร์ม สุราษฎร์ธานี, ประเภทนับดอก Vip ผู้ชนะคือ สตางค์ ลานสกา นครศรีธรรมราช, ประเภทเสียงทอง ผู้ชนะคือ ทีมงานขุนพลปากพนัง นครศรีธรรมราช และประเภทสากลดาวรุ่ง ผู้ชนะคือ ทีมอัศวินเสียงทอง นครศรีธรรมราชเจ้าถิ่น

ด้านเวทีภาคค่ำ ปานฝัน บุญเต็ม นางงามวัย 22 ปี หมายเลข 15 สาวหนองบัวลำภู ผู้ช่วยคุณปู่อบยางตั้งแต่เด็ก คว้ามงกุฎ ‘ธิดาชาวสวนยาง 2564’ ควบขวัญใจงามอย่างไทยอีก 1 ตำแหน่ง

ในขณะที่คอนเสิร์ตจาก 2 ศิลปินดัง วง ‘แทมมะริน’ และ ‘พัทลุง’ ครึกครื้นขั้นสุด แฟนเพลงเกาะขอบเวทีแน่นทุกคืน

ปานฝัน บุญเต็ม ธิดาชาวสวนยาง 64 รับรางวัลจากกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

หอบความรู้แน่นกลับสวน ประชาชนเรียกร้อง’จัดอีก’

งานดีขนาดนี้ มาลองฟังเสียงของผู้เดินทางมาร่วมมหกรรมครั้งนี้กันบ้าง

เรณุภา ชูอุดมทรัพย์ ครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยาง มีพื้นที่ปลูกยางกว่า 100 ไร่ ในภูเก็ต ขับรถยนต์ส่วนตัวมาชมงาน โดยบอกว่า ได้รับความรู้จากนิทรรศการ และเสวนาวิชาการที่พูดคุยเรื่องนวัตกรรม อีกทั้งทิศทางในอนาคตของยางพารา หวังว่าจะมีการจัดงานแบบนี้ในอนาคต

“สิ่งที่ได้รับความรู้จากงานเป็นเรื่องของพืชที่จะปลูกควบคู่ไปกับการปลูกยาง การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน จากที่ฟังมาต้องอาศัยจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง ผลักกันควบคู่กันไปหมด เกษตรกรก็จะพยายามทำสวนยางยั่งยืนตามคำแนะนำที่มีการบอกไว้” เรณุภากล่าว

ด้านบูธขายผลิตภัณฑ์ของ วาสนา จูจิตร เกษตรกรเจ้าของสวนยาง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราคลองโอม สามารถขายหมอนพาราได้กว่า 100 ใบ คิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 50,000 บาท

“ตัวเราเองทำอาชีพชาวสวนยางอยู่แล้ว พอมีเวลาว่างก็จะไปผลิตหมอนยางพารากับกลุ่มเพื่อนสมาชิก พอได้มางานมหกรรมนี้ทำให้เพื่อนๆ ในกลุ่มดีใจเป็นอย่างมากที่มีคนสนใจซื้อหมอนยางพาราไปเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้มีการจัดงานมหกรรมแบบนี้อีกเรื่อยๆ” วาสนา เกษตรกรสวนยางกล่าว

นับเป็นมหกรรมที่สร้างคุณูปการทั้งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และวงการอุตสาหกรรมยางพารา ฉายภาพให้เห็นทิศทางในวันข้างหน้าอย่างชัดเจน มั่นคง และยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image