เปิดเบื้องหลังสร้างบางกอก 21 เมษาฯ สถาปนา‘กรุงเทพ’ ‘พรุ่งนี้’เมื่อ 240 ปีมาแล้ว

ภาพถ่ายเก่า ‘คนกรุงเทพ’ เผยให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ บรรพชนและผู้ร่วมสร้างบางกอกตัวจริง (จากหนังสือ กรุงเทพมาจากไหน ? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

พรุ่งนี้ 21 เมษายน พุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบห้า

ครบ 240 ปีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

ทว่า กรุงเทพมหานครที่คนไทยคิดว่ารู้จัก ยังมีแง่มุมหลากหลายให้ทำความเข้าใจอย่างไม่รู้จบ

ดังเช่นเนื้อหาที่ปรากฏบนเวทีเสวนา ‘ก่อร่างเป็นบางกอก : เบื้องลึกเบื้องหลังนานาชาติพันธุ์ในบางกอก’ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ณ สถานีกลางบางซื่อ เมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ให้เห็นความเป็นมาและเป็นไปของมหานครอันเปี่ยมด้วยความหลากหลาย

Advertisement
  • กรุงเทพฯ‘ร้อยพ่อพันแม่’
    ชนชั้นไหนก็‘ไม่มีใคร(เป็นไทย) บริสุทธิ์ผุดผ่อง’

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปล ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ จาก ‘Siamese Melting Pot’ ผลงาน Edward Van Roy กล่าวว่า เมื่ออ่านจบ กลับยิ่งสงสัย

“เมื่ออ่านจบเราจะยิ่งสงสัยว่ามันมีด้วยเหรอคนไทย ใครกันแน่คือคนไทย ชวนให้งงไปกันใหญ่ ผมสงสัยว่า ถ้าสืบย้อนกลับไปสัก 1-2 เจเนอเรชั่นคงพบว่ามาจากที่อื่น ดังนั้น กรุงเทพฯไม่ต่างจากที่อื่นในโลก โดยเฉพาะการเป็นเมืองใหญ่ที่เกิดจากคนนอก จากคนร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯได้”

นักมานุษยวิทยาท่านนี้ยังฉายภาพเน้นย้ำว่า กรุงเทพฯมีความซับซ้อนมาก ชี้ให้เห็นความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม ผู้คนในสังคมบางกอก ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว หนังสือเล่มนี้ในแต่ละบทมีการแบ่งกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีที่มาหลากหลาย

Advertisement

“คนจีน แขก มอญ ลาว ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกัน เขาเองก็มีที่มา มีประวัติศาสตร์หลากหลาย มีความขัดแย้งในกลุ่มตัวเอง และถูกเหมารวมมากเกินไปด้วยซ้ำ เช่น แขกมักกะสัน อพยพมาจากอินโดนีเซีย คนที่ถูกเรียกว่าแขกมีที่มาหลากหลาย แต่ปัจจุบันความเป็นกลุ่มคนแยกย่อยได้สลายหายไป แขกที่เรารู้จักน้อยมากคือแขกจาม จะมีใครกี่คนที่รู้ว่ามีแขกจามที่อพยพจากอยุธยามาอยู่กรุงธนบุรีเต็มไปหมด เพราะจามคือกองกำลังสำคัญในการรบทางเรือ คือกองอาสาจาม ซึ่งตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณที่เป็นกองทัพเรือ นี่คือความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน วันนี้ลูกหลานส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ แต่สิ่งที่หายไปคืออำนาจทางการเมือง เพราะระบบการบริหารเปลี่ยนไป” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

รศ.ดร.ยุกติ แย้มว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงคนกรุงเทพฯทุกชนชั้น และทุกชนชั้นก็ไม่ได้มีความเป็นไทยบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มีการผสมผสานตั้งแต่ชนชั้นบนสุดจนถึงรากหญ้า

“ต้องเข้าใจหลักคิดของชนชั้นนำสมัยโบราณที่ต้องสร้างโครงข่ายทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ เขาไม่เคยยึดติดว่าความเป็นผู้นำต้องมีชาติพันธุ์บริสุทธิ์ ไม่ได้คิดว่าต้องแต่งงานกับคนไทยเท่านั้น วิธีการสร้างเครือข่ายการเมืองคือการแต่งงาน ผู้หญิงจากชาติพันธุ์จะถูกส่งกันไปมาเป็นสื่อกลางในการสร้างสายสัมพันธ์ทางอำนาจ ดังนั้น เมื่อผู้มีอำนาจจากเวียดนามมาอยู่ในไทย มีลูกสาว น้องสาว ก็มาเกี่ยวดองกับชนชั้นนำสยาม หรือเจ้าลาว เจ้านครเวียงจันทน์ ตั้งแต่กรุงธนบุรี ทุกพระองค์เคยประทับในกรุงเทพฯมาแล้วทั้งนั้น มอญก็มีอำนาจในราชสำนักสยามเช่นกัน หนังสือเล่มนี้มีกล่าวไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะชนชั้นใด จะเห็นได้เลยว่าไม่มีความเป็นไทยบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย”

  • รวบรัด ตัดอำนาจ บริหารใหม่ สร้างคน (ใน)
    กรุงเทพฯให้เป็นไทย

อีกประเด็นน่าสนใจคือ กระบวนการหลอมรวมของผู้คนถูกกล่าวไว้อย่างสลับซับซ้อนในหนังสือเล่มนี้ รัฐไทยจัดการกลุ่มต่างๆ ในแบบต่างๆ กัน แต่ไม่ได้เป็นกระบวนการที่นุ่มนวล

“มีใครสงสัยไหมว่า เกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯบ้าง มีการจัดการในเชิงอำนาจหลายอย่าง สมัยก่อนวิธีที่รัฐปกครองชุมชนชาติพันธุ์ คือตั้งคนของพวกเขาเองให้เป็นหัวหน้าติดต่อกับชนชั้นนำ คนเหล่านั้นก็ถูกรวบอำนาจ ตัดอำนาจ สร้างระบบบริหารใหม่ ถ้าขัดขืนความรุนแรงก็เกิด ผู้นำชุมชนชาวจีนถูกสังหารไปเท่าไหร่
ต่อให้ไม่เป็นอั้งยี่ก็ตาม หรือกรณีของชาวลาว ซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักของสยาม คนลาวถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ อีสาน และในลาวเอง นอกจากเป็นการกวาดต้อนคนมาเป็นกำลังการผลิตให้ตัวเองในกรุงเทพฯแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดกำลังของอีกฝ่ายด้วย ลาวถูกกระทำย่ำยี ถูกย้ายไปตามอำเภอใจ พอถึงช่วงเปลี่ยนแปลง ฝรั่งเข้ามา ความเป็นลาวถูกทำให้หายไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นี่คือกระบวนการเปลี่ยนให้ทุกคนกลายเป็นไทย ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ด้วย” รศ.ดร.
ยุกติอธิบาย ก่อนกล่าวต่อไปถึงประเด็นความสำเร็จของรัฐไทยในกระบวนการดังกล่าว โดยระบุว่า มีทั้งส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ส่วนที่สำเร็จคือ คนที่อยู่มา 2-3 เจเนอเรชั่นไม่เชื่อว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย รัฐไทยสามารถทำให้คนหลงลืมอดีตของตัวเอง หรือพยายามไม่อยากเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต ส่วนที่ไม่สำเร็จคือ การที่ยังมีการสืบทอดชุมชนโบราณจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากศาสนสถานต่างๆ ที่ยังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่

“บางคนอาจไม่รู้ว่าโบสถ์คริสต์ข้างบ้านอยู่มาก่อนตั้งกรุงเทพฯ เช่น โบสถ์เก่าย่านสามเสนของชาวโปรตุเกสซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือมอญ ก็อยู่ใจกลางพระนครมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมอญที่สำคัญที่สุดคือวัดชนะสงคราม ซึ่งวังหน้าทรงรื้อฟื้นขึ้นมา ดังนั้น ความหลากหลายยังอยู่ สิ่งน่าสนใจซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงคือสิ่งที่ถูกทำให้เลือนรางไป ไม่ค่อยคำนึงถึงความหลากหลายที่เคยมี”

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจร และรศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ประคองปกยักษ์ หนังสือ ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ หลังจบเวทีเสวนา
  • ‘ลาว’ถูกกด ‘จีน’ถูกกลืน
    อัตลักษณ์ชาติพันธุ์อยู่ที่รัฐ (ไม่) ผ่อนปรน

สำหรับประเด็นสำนึกของความเป็นชาติพันธุ์ รศ.ดร.ยุกติบอกว่า ‘ไม่อยากมองเป็นเรื่องโรแมนติกอย่างเดียว’ แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทั้งจีน มอญ มุสลิม และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐอนุญาตให้ทำได้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาส และการผ่อนปรนของรัฐ

“ช่วงที่รัฐพยายามทำให้คนกลืนกลายไปหมด จีนโดนหนักสุด คนจีนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนที่นี่อยู่เสมอ แต่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงยุคที่รัฐปราบกดไม่ให้มีโรงเรียนจีน คนจีนต้องเงียบ ต้องอยู่ภายใต้การกลืนกลาย เรามองไม่เห็นความเป็นลาวในกรุงเทพฯ วังเจ้าลาวถูกกลบด้วยสถานที่อื่น อยู่ใต้สะพานพระราม 8 ความเป็นลาวในกรุงเทพฯถูกกดมากที่สุด ถ้าจะหาอะไรไม่เจอที่สุด คือความเป็นลาว”

รศ.ดร.ยุกติทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือความเชื่อมโยงของตัวเองกับคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย มีคนมากมายช่วยสร้างกรุงเทพฯ พวกเขามาจากลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงพม่า ซึ่งเข้ามาหลายระลอก โดยเฉพาะคนมอญและคนทวาย

“กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้น ว่าไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ บรรพบุรุษของเราคือคนร้อยพ่อพันแม่ เราเป็นสาแหรกความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนเต็มไปหมด มันเป็นรากฝอยที่เชื่อมโยงถึงกัน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

  • ‘จับวาง’ชุมชนบน‘ทักษะ-อำนาจเศรษฐกิจ’
    ไม่เกี่ยวผังเมือง

จากนักมานุษยวิทยา มาถึงมุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่าง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงหนังสือ ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ ว่าเสน่ห์ของผลงานเล่มนี้คือการที่ Edward Van Roy ผู้เขียนไม่ได้อ่านหลักฐานแบบ ‘แห้งๆ’ แต่ยกหลักฐานมาอธิบายได้อย่างน่าสนใจ ไม่ได้ยึดติดกรอบ ‘ระบบอุปถัมภ์แบบไทย’ ที่รวมเป็นเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยอย่างสมานฉันท์ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่คนเข้ามาเกี่ยวข้องกัน เรียกได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯ

เวลาอ่านทำให้จินตนาการถึงกรุงเทพฯช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ว่ากรุงเทพฯประกอบด้วยความหลากหลาย คนหลายกลุ่มตั้งอยู่ตรงไหน ประกอบอาชีพอะไร อธิบายว่าคนบางกลุ่มทำไมจึงมาตั้งอยู่ตรงนี้ เช่น บ้านหม้อ ทำไมอยู่ศูนย์กลางเมือง ทำไมพาหุรัดมีทั้งแขก ทั้งจีน เป็นต้น โดยไม่ได้เกิดจากการวางผังเมือง แต่เกิดจากการกำหนดว่าคนกลุ่มไหนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือด้วยการขยายตัวของราชสำนัก

“แต่ละพื้นที่ทางเศรษฐกิจมีเรื่องชนชั้นอยู่ด้วย ซึ่งคนบางกลุ่มถูกกวาดต้อนไปอยู่ชายขอบ ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ ถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่ต้น มีการเลือกสรรเอาคนบางกลุ่มที่มี Skill (ทักษะ) เข้ามาอยู่ตรงกลาง แต่คนที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น พวกไพร่ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงครามมักจะถูกต้อนไปอยู่ชายขอบของกรุงเทพฯ” รศ.ดร.พวงทองกล่าว ก่อนขยายความว่า หนังสือเล่มนี้มีกรอบอธิบายหลายกรอบ แต่เวลาวิเคราะห์จะมองความหลากหลาย เช่น แขก อิสลาม ทำไมกระจายไปหลายจุดใน กทม. เกิดจากอะไร เกิดจากนโยบาย ซึ่งมีการแข่งขันกัน

“ในหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งมอญก็ถูกกลืน ด้วยกระบวนการความเป็นไทย และแนวคิดเรื่องรัฐชาติ เริ่มเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มคน โดยใส่คำว่า ไทย เข้าไป เช่น ไทยมุสลิม แม้กระทั่งการผนวกเอากลุ่มมอญที่ทำหน้าที่ดูแลฝั่งกรุงเทพฯ ธนบุรี พอเป็นกองทัพสมัยใหม่บุคคลเหล่านี้ก็ต้องถูกผนวกเข้าไป”

พอเข้าสู่รัชกาลที่ 5 ต้องทำให้คนทางใต้รู้สึกผูกพันกับอำนาจรัฐส่วนกลาง จากที่เคยกระจายสู่หัวเมืองก็ถูกรวม ในแง่ประชากรก็เช่นเดียวกัน ถูกรวมเพื่อสร้างสำนึก ปกป้องดินแดนแถบนี้ จงรักภักดีกับอำนาจศูนย์กลาง มีวิธีการ ทั้งการเกลี้ยกล่อม ให้การศึกษาเพื่อยกระดับสังคม ไปจนถึงการปราบ เพื่อให้คนเหล่านั้นสยบยอมต่ออำนาจรัฐ” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

  • กรุงเทพฯ เทพไม่ได้สร้าง
    คนสร้างคือ‘ไพร่ ทาส เชลย สามัญชน’

มาถึงประเด็นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย รศ.ดร.พวงทอง บอกว่า ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกรุงเทพฯที่เรียนมา มักเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ไม่เห็นผู้คนที่อยู่ในสังคมนี้ โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ

“กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง จริงๆ ไม่ใช่ แต่สร้างโดยไพร่ เชลยสงคราม สามัญชนคนสารพัดกลุ่มที่อพยพมา ทำให้เป็นกรุงเทพฯทุกวันนี้ คนแต่ละกลุ่มอยู่ไม่ห่างกัน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทรุดโทรม

ถ้าปัจจุบันกรุงเทพฯมีเทพปกป้อง เทพเหล่านั้นคงต้องเป็นเทพเจ๊ก ลาว เขมร ญวณ หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นเมืองที่เราอยู่ชัดเจนขึ้น เป็นแว่นที่ใช้มองความเป็นกรุงเทพฯต่อไปด้วย รัฐเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม ไม่สนใจคนบางกลุ่ม ความโกลาหล ที่เห็นในกรุงเทพฯจากเรื่องผังเมือง มีรากมาจากประวัติศาสตร์ที่เลือกปฏิบัติตามที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ” อาจารย์รัฐศาสตร์ปิดท้ายอย่างแซ่บเว่อร์

  • ‘แกงโฮะ-จับฉ่าย’เปรียบ Bangkok เมืองแห่งความหลากหลาย

สำหรับผู้ดำเนินรายการอย่าง สมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ที่เพิ่งโดน ‘ทัวร์ลง’ หนักมากในช่วงสงกรานต์ หลังเสนอว่า พญางำเมือง และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) ไม่ได้ช่วยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ก็ให้มุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า เรา ‘ก่อร่าง’ ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ คำว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยในเพลงชาติ กลายเป็นแกนใหญ่
ทั้งที่ประกอบด้วยชุมชนนานาชาติ รัฐไทยได้ประโยชน์จากความหลากหลาย ตั้งแต่ระดับจับกัง จนถึงระดับต่างประเทศ เพียงแต่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐสยาม

“สังฆราชปาลเลอกัวซ์เขียนไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ว่ามีการสำรวจประชากรในกรุงเทพฯ ตอนนั้นมีทั้งหมด 500,000 คน ปรากฏว่ามีคนไทย 200,000 คน อยู่ในกรุงเทพฯ มีคนจีน 210,000 คน ที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้มาขยายความต่อจากปาลเลอกัวซ์ แยกไปเลยว่า จีน แขก ฝรั่ง ลาว มอญ ชาติพันธุ์อะไรต่างๆ มีเขียนแยกไว้เต็มไปหมด ปรากฏว่าเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุด เต็มไปด้วยความเป็นไทย ความเป็นไทยที่แท้จริงล้วนเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ใช่หนึ่งเดียวอย่างในเพลงชาติไทยที่บอกว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

ไทยมีร้อยพ่อพันแม่ ฉะนั้น คำว่า Melting Pot เป็นภาษาฝรั่งที่หมายถึง สังคมนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองท่า ฝรั่งใช้คำว่า Melting Pot เพื่ออธิบายสังคมนิวยอร์ก บ้านเราก็คือ จับฉ่าย หรือแกงโฮะ เต็มไปด้วยความหลากหลาย น่าสนใจมาก อ่านแล้วจะเห็นว่าแม้แต่คนระดับสูง ขุนนาง พ่อค้า ชาวบ้าน ที่มีความหลากหลาย คือความเป็นไทย ที่มีความเป็นอื่นผสมผสานกัน” สมฤทธิ์กล่าว

คือเรื่องราวในห้วงเวลากว่าจะก่อร่างเป็นบางกอก เมืองหลวงของประเทศไทยในนามกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ ที่ประกอบสร้างด้วยผู้คนหลากหลาย บนไทม์ไลน์ที่ไม่ได้มีเพียงความสงบร่มเย็นดังถ้อยคำในแบบเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image