สรกล อดุลยานนท์ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ แชมป์ขายดี ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’

สรกล อดุลยานนท์ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ แชมป์ขายดี ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’

สรกล อดุลยานนท์

‘หนุ่มเมืองจันท์’

แชมป์ขายดี ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’

‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’

Advertisement

หนังสือขายดี ติดอันดับขายดี 1 ใน 3 ของสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ทุกวัน ไม่มีหลุดโผจนถึงวันสุดท้าย

ก่อนการันตีความนิยมด้วยการครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1 อย่างไม่พลิกความคาดหมาย

สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 33 เล่มในช่วงเวลากว่า 20 ปี

ก่อนกลับมาอีกครั้งในเล่มล่าสุด ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’ จัดเป็นลำดับที่ 34

ร้อยเรียงเรื่องราวแสนอบอุ่นที่เผยให้เห็นความพิเศษในสิ่งธรรมดาสามัญ

สิ่งที่อาจแค่เคยได้ ‘มอง’ แต่ยังไม่เคย ‘เห็น’

ทว่า เพียงแค่เปิดตามองดู เปิดหูรับฟัง และเปิดใจเชื่อมั่นก็จะได้พบอะไรอีกมากมาย

ปกหน้าและภาพประกอบในตัวเล่ม สวยงามด้วยภาพถ่ายเรียบง่ายแต่สะดุดตา ฝีมือ เอก พิชัย แก้ววิชิต ถ่ายทอดมุมมองที่ทำให้ฉุกคิดและเห็นความงามจากสิ่งรอบตัว

‘หนังสือเล่มนี้พยายามบอกว่าอย่าไปมองอะไรไกลจนเกินไป ให้สนใจในรายละเอียดบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความต้องการของชีวิตนั้นคือความสุข’

คือมุมมองของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ผู้เริ่มต้นจาก ‘นักข่าว’ สู่ ‘นักเขียน’ ชื่อดัง สร้างแรงใจและแรงบันดาลใจให้ผู้คนมาแล้วมากมาย จนมีแฟนคลับติดตามหลากอายุ หลายช่วงวัย

เฉพาะในเพจเฟซบุ๊ก ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ก็มีผู้ติดตามเฉียด 2 แสนบัญชี

ย้อนกลับไปบนเวทีกลาง ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งล่าสุด ในเสวนา ‘เสวนาสิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’ นักเขียนท่านนี้ได้เผยถึงเรื่องราวและพัฒนาการของหนังสือรวมถึงผู้อ่านที่แปรผันไปตามกาลเวลาอย่างน่าสนใจ ชวนให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น ดำเนินรายการโดย วิกรานต์ ปอแก้ว

สรกล อดุลยานนท์ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ แชมป์ขายดี ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ จากเล่ม 1 ถึงลำดับที่ 34
‘พอเขียนนาน มันจะมีความเก๋า’

ผมว่ามันเป็นพัฒนาการของคนเขียนหนังสือ พอเราเขียนนานขึ้นมันก็จะมีความเก๋า ไม่อยากใช้คำว่าลุ่มลึก เนื้อหาคงคล้ายๆ กับที่เคยเขียนมาทั้งหมด คือไม่ได้เขียนเป็นเส้นเรื่องอย่างเดียว แต่หยิบจากส่วนต่างๆ แล้วทั้งหมดคือสิ่งนี้ เป็นชื่อหนังสือ ช่วงหลังผมเล่นกับหนังสือมากขึ้น จากเดิมผมใช้เนื้อหาของผมเขียนเรื่อง เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเราทั้งหมดตามหนังสือแบบเล่ม แต่ตอนหลังผมรู้สึกว่าหนังสือมันเล่นได้มากกว่านั้น คือการที่เราจะเอาเพียงแค่เนื้อหามาเขียนเพื่อโยงเข้าไปในสิ่งที่เราต้องการ จริงๆ มันมีองค์ประกอบเยอะกว่านั้น

ช่วง 4-5 เล่มหลัง เลยเริ่มหยิบเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เขียนถึงหนังเรื่องหนึ่ง ต่อให้ตัวอักษรอธิบายอย่างไร บางครั้งภาพที่อยู่ในใจเขาจากตัวอักษรอาจจะไม่เหมือนหนัง ผมก็ใช้ QR code ซึ่งอาจจะเป็นหนังตัวอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อคุณอ่านเสร็จ สแกน QR code ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น อย่างเล่มที่แล้ว ‘เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน’ มีเรื่องหนึ่งพูดถึงกลุ่มลูกเหรียงซึ่งสูญเสียพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โน้ส-อุดมแต้พานิช เข้าไปช่วยกลุ่มนี้เยอะ พาเด็กไปเที่ยวที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป

เมื่อเขาไปที่ระยอง มีเด็กคนหนึ่งสูญเสียขา ต้องใส่เท้าปลอม เขาขาดในสิ่งที่คนอื่นมี วันหนึ่งเขาเล่นเกมชายหาดกัน แบ่งเป็น 2 ทีม เอาเสื้อหรืออะไรก็ได้ต่อให้ยาวที่สุด เด็กคนนี้ดึงขาออกมาด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เขามีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี ผมก็เขียนบรรยาย แต่เขียนบรรยายอย่างไรคุณก็ไม่เห็นบรรยากาศนั้นหรอก เผอิญมีน้องคนหนึ่งถ่ายคลิปนี้ไว้ผมก็เอามาเป็น QR code ถ้าใครส่องไปยัง QR code เราเบลอหน้าเด็กแต่คุณจะได้ยินเสียงหัวเราะที่ตัวอักษรอธิบายไม่ได้ว่าสุขแค่ไหน

อีกเล่มหนึ่งคือ ‘จะข้ามมหาสมุทร อย่าหันกลับไปมองชายฝั่ง’ เล่มนี้ผมเอาเรื่องรูปมาใช้ เดิมรูปประกอบคือรูปประกอบ คือมีเรื่องและมีรูปที่จะมาประกอบ เผอิญผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งหัดวาดรูป ส่งในกลุ่มไลน์เพื่อน ส่งจนเพื่อนเบื่อ แต่ในความเบื่อ เราเห็นพัฒนาการว่าเขาวาดได้ดีขึ้น ผมคิดว่าทำงานกับเพื่อนสักทีหนึ่งดีกว่า เลยขอให้เพื่อนวาดรูปปกและรูปประกอบทั้งหมด รูปเหมือนไม่เกี่ยวกับเรื่อง แต่สุดท้ายรูปมันกลายเป็นเรื่องในเนื้อหาจบของเล่ม คือเดิมจากภาพเป็นแค่ภาพประกอบ ผมก็พยายามหยิบยกว่าถ้าเอาภาพให้เป็นส่วนหนึ่งแล้วมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็กลายเป็นว่าหนังสือของผมเล่นกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ผมก็เอาภาพมาเล่น นั่นคือภาพของ เอก พิชัย แก้ววิชิต

‘ท่อระบายน้ำ’ ความโสโครกที่กลายเป็น
ภาพปกสะดุดใจ

หน้าปก ‘สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น’ เป็นภาพท่อระบายน้ำ ผมว่าภาพนี้เป็นภาพที่เราคุ้นชินเวลาเดินผ่านคลองต่างๆ หรือจุดต่างๆ สิ่งที่ผมชอบคือ การที่ท่อระบายน้ำมันคือความสกปรก มันคือความโสโครก แต่ใครจะนึกว่าพอมีมุมหนึ่งที่ถ่ายรูปนี้ขึ้นมา ภาพก็สวยงามขึ้นมาทันที โลกใบนี้มีหลายมุมให้มอง ถ้าเรามองตรงไหนมันจะกลายเป็นอะไร ถ้าคุณมองความสกปรก ความโสโครก ความย่ำแย่ของชีวิต ให้เกิดมุมงามในชีวิตได้ มันก็คือสิ่งที่งดงาม

คนบางคนถ่ายภาพแล้วเหมือนกับรูปวาด รูปของเอก พิชัย เป็นอย่างนั้นเลย เขาโฟกัสซูมเล็กๆ จากจุดที่คุณนึกไม่ถึง แล้วกลายเป็นเรื่องที่สวยงามได้

เขาเป็นวินมอเตอร์ไซค์มาก่อน และใช้ชีวิตเลี้ยงครอบครัวมา แล้วไปเข้าคอร์สเรียนถ่ายรูป พอถึงเวลาเวิร์กช็อปจะไปถ่ายรูปสถานที่ประเภทเขาใหญ่อะไรต่างๆ แบบนี้ เขาไม่มีเงินพอที่จะทำแบบนั้น แต่รู้สึกว่าสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต เส้นทางถนนต่างๆ เขาก็มองเห็นมัน จึงเริ่มจากการใช้กล้องมือถือ และสุดท้ายเอารถไปจำนำ เพื่อเอาไปซื้อกล้อง ไม่ใช่กล้องใหญ่ เป็นกล้องคอมแพกต์เล็กๆ ธรรมดาเพื่อให้ซูมได้เฉยๆ และกล้องอันนี้สร้างงานศิลปะที่เราเห็นในวันนี้ แค่เรื่องของเขาก็สนุกแล้ว ภาพที่ออกมาก็ยิ่งสื่อความหมายด้วย

ซูม ‘จุดเล็กในภาพใหญ่’
จุดร่วม ‘เอก พิชัย-หนุ่มเมืองจันท์’

หลายคนที่เห็นภาพนี้แล้วเห็นชื่อหนังสือบนปก เขาบอกว่ามันเหมือนชื่อหนังสือผมเป็นคำอธิบายภาพ แต่ในอีกมุมหนึ่งหลายคนก็บอกว่าภาพคือสิ่งที่ทำให้ชื่อหนังสือมันเด่นขึ้นมาได้ มันอยู่ที่มุมมอง

ภาพปกหนังสือของเอก คล้ายๆ กับผม คือเขาชอบซูมเข้าไปหาจุดเล็กๆ ในภาพใหญ่และภาพนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วทุกภาพมันมีระยะมองที่เหมาะสม ภาพสีน้ำมันต้องมองระยะหนึ่ง ภาพสีน้ำก็ระยะหนึ่ง ภาพถ่ายก็ระยะหนึ่งเหมือนกัน และที่สำคัญมันมีมุมให้เลือกมอง ผมเชื่อว่าชีวิตก็เช่นกัน มันมีระยะที่เหมาะสม มันมีมุมที่เราจะมอง ถ้าเราสามารถหามันเจอ ก็หาความสุขในชีวิตเจอ

ไม่ใช่แค่เรื่องในชีวิตเราเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ของคนอื่นมันจะมีมุมเล็กๆ ที่เราไม่เคยเห็น เหมือนที่ผมเขียนในปกหลัง บางครั้ง เวลาเราจะได้ยินเสียงไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเสียงนั้นมันดังแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่แค่ว่า เราใส่ใจกับสิ่งนั้นมากแค่ไหน ต่อให้เป็นเสียงกระซิบเบาๆ ถ้าเราสนใจ ใส่ใจมัน เราจะได้ยินมัน เพราะฉะนั้นบางอย่างในเรื่องที่ผมเขียนมาทั้งหมดจะหยิบยกเรื่องแบบนี้ เช่น เรื่อง ‘ข้าวพอไหม’ รายละเอียดเล็กๆ ของคนขายอาหารที่ศูนย์อาหาร ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขาจะสังเกตเด็กที่เข้ามากินข้าว ว่าเด็กคนนี้เคยสั่งกับข้าว 2 อย่าง วันหนึ่งทำไมเหลืออย่างเดียว ‘ข้าวพอไหม’ เป็นคำของร้านนี้ที่จะถามเด็กทุกคน ถ้าไม่พอก็จะเติมข้าวให้เต็มที่ ให้เด็กอิ่มแน่ๆ กับเงินที่เขาจ่ายไป

การเห็นเด็กบางคนที่เคยสั่งกับข้าว 2 อย่าง แล้วเหลืออย่างเดียว ถ้าคุณปล่อยผ่านมันก็ผ่านกันไป แต่ถ้าคุณสังเกตว่ามันคือรายละเอียดบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วไปนั่งคุยกับเด็ก รู้ว่าคนไหนมีปัญหา เขาก็จะให้ทุนอาหาร คือตลอดการเรียน 4 ปี คุณกินอิ่มที่ร้านนี้ไปเลย เป็นน้ำใจเล็กๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนกระทำได้ ทุกอย่างในชีวิต เราทำในสิ่งเหล่านี้ได้หมด

ถ้าปล่อยผ่าน ก็ไม่มีวันมองเห็น
‘แววตา’ สำคัญกว่า ‘ทำเล’

บางเรื่องก็เป็นมุมธุรกิจเช่น คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ CEO คาราบาวกรุ๊ป ที่มีร้านดีมีมาตรฐาน คือบางทีทำร้านอาหารหรือทำร้าน โลเกชั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนก็จะคิดว่าทำตรงนี้คนเข้าเท่าไหร่

แต่คุณเสถียรค้นพบอย่างหนึ่งว่า จากที่สัมภาษณ์เจ้าของร้านโชห่วย สิ่งที่คนเคยลืมไป คือ แววตาของเจ้าของกิจการ บางคนทำเลแย่มาก แต่พอเห็นแววตาแล้ว เขาสู้ สู้แน่นอน สุดท้ายแล้ว สายตาดีกว่าทำเล ถ้ารู้สึกว่าเขาจะทำ เขาทำเต็มที่ จะแจกโบรชัวร์ จะพยายามเรียกลูกค้า จะคุยกับลูกค้าดีๆ ให้เกิดการบอกต่อ ในขณะที่ร้านซึ่งต่อให้ทำเลดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าลูกค้าเข้ามาแล้วเจอเจ้าของร้านพูดจาไม่ดี เขาก็จะไม่กลับมาอีก

ผมจึงหยิบเรื่องพวกนี้มาไว้เล่มนี้เพื่อบอกว่า ชีวิตทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่ได้สังเกต ไม่ได้ให้ความสนใจ ก็จะไม่เห็นมัน

จุดประกายไฟ ใช้ชีวิตเต็มที่
เมื่อวานของแฟนหนังสือกับวันนี้ของผู้เขียน

เนื่องจากเขียนหนังสือมานาน คนบางคนมีคำบางคำที่ทำร้ายจิตใจเราที่สุด คือ ‘หนูอ่านพี่มาตั้งแต่มัธยม’ (หัวเราะ) เห็นตัวเขาโต ทำงานแล้ว มีพัฒนาการกันทั้งคู่ บางคนเจอกันตั้งแต่เรียน จนจบมาทำงานก็เจอกันตลอด

น้องบางคนเจอตั้งแต่เรียน วันหนึ่งเดินมาหาผมบอกว่า หนูเปลี่ยนคณะแล้วเพราะหนังสือพี่เลย เดิมเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ตอนนี้เรียนบริหารธุรกิจ ผมก็เริ่มรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบในชีวิตมากขึ้นว่าเขาตัดสินใจถูกหรือเปล่า

จนเขาเรียนจบ ทำงาน ผมก็ถามต่อว่าเป็นอย่างไร ด้วยความกังวลในตัวเขาและในความรับผิดชอบของตัวเอง เขาตอบว่า อย่างน้อยที่สุด หนูมีความสุขในการเรียน จากเดิมอยู่ในคณะที่อาจจะไม่ชอบมาก เขาก็มีความสุขจากการได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เท่ากับว่าได้ใช้ชีวิตเต็มที่ ได้จุดประกายไฟอะไรบางอย่าง

ส่วนใหญ่ผู้อ่านจะมีพัฒนาการเหมือนก้อนหิมะที่เพิ่มปริมาณ บางคนหลุดหายไปบ้าง เขาโตเกินไปจากอันนี้แล้ว บางทีผมพยายามย่อขา ผมไม่ได้เป็นพัฒนาการที่ยิ่งเขียนยิ่งลุ่มลึกเข้าสู่ปัญญาชีวิตอะไรขนาดนั้น ผมพยายามหามุมมองแต่ก็ต้องยอมรับว่าตามวัย มันไม่สดเหมือนตอนหนุ่ม

สมัยหนุ่มสาวมันมีความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น ความสนุกในสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา แต่พอจุดหนึ่ง เราจะเริ่มรู้สึกว่า เรื่องนี้มา ก็เคยรู้แล้ว เรื่องนี้ก็พอรู้แล้ว มันจะกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งว่าจะอธิบายสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง

สมัยก่อน เรื่องที่ทันสมัย ผมจะชอบมาก เช่น ถ้า Metaverse เข้ามาก่อน ผมจะกระโดดเข้าไปหามัน แต่ตอนนี้ผมไม่เป็นไร รอก่อนได้ โลกหยุดบ้างก็ได้ ไม่ต้องตามไปทุกเรื่องก็ได้

‘ความสุข’ ไม่ต้องมองไกล
แค่สนใจรายละเอียด

ถ้าอ่านเล่มนี้จบ มันคงเหมือนกับการสะกิดตัวเรา สะกิดใจเรา สะกิดความคิดเรา ให้ทบทวนว่าสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา เราละเลยในบางสิ่งบางอย่างไปหรือเปล่า และเนื่องจากสิ่งที่ผ่านไปแล้วมันแก้ไม่ได้ แต่สิ่งสำหรับจากวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ไปเรื่อยๆ รายละเอียดบางอย่างถ้าเราใส่ใจกับมันนิดหนึ่ง มันจะมีความสุขในชีวิตขึ้นมา โลกนี้มีหลายมุม ผมเลยเลือกภาพของเอกเข้ามา เพราะรู้สึกว่าบ่งบอกเนื้อหาในหนังสือได้ดีมาก

เวลาคุณมีปัญหาอะไรก็ตามในชีวิต ให้ย้อนกลับไปในวันเวลา ในวันแรกของชีวิต สิ่งง่ายๆ ที่ใกล้ตัวคุณมากที่สุด มันคือคำว่าความสุข แต่บางทีคุณไปหาอย่างอื่นมากเกินไป เหมือนเรื่องเศรษฐีคนหนึ่งเดินไปเห็นคนตกปลา แล้วถามว่าทำไมทำอย่างมีความสุข คนตกปลาถามกลับไปว่า ทำธุรกิจไปทำไม เศรษฐีตอบว่าเพื่อหาเงินซื้อเรือยอชต์ แล้วคนตกปลาก็ถามว่าเพื่ออะไร สุดท้ายคือเพื่อตกปลา บางทีเส้นทางชีวิตทำให้ลืมไปว่าสิ่งที่คุณต้องการอาจเป็นจุดเล็กๆ นิดเดียว เป็นสิ่งที่คุณเคยมองแต่คุณกลับไม่เคยเห็นมัน

ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และหนังสือเล่มนี้ก็คงพยายามบอกสิ่งเหล่านั้นว่าอย่าไปมองอะไรไกลจนเกินไป ให้สนใจในรายละเอียดบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความต้องการของชีวิต นั่นคือความสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image