อาศรมมิวสิก : เสียงเพลงฟื้นชีวิตที่เชียงแสน

อาศรมมิวสิก : เสียงเพลงฟื้นชีวิตที่เชียงแสน

อาศรมมิวสิก : เสียงเพลงฟื้นชีวิตที่เชียงแสน

การที่วงไทยซิมโฟนีออเคสตราไปเล่นที่เชียงแสน ก็มีเรื่องราวและความยุ่งยากพอสมควร เพราะว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน อาทิ นักดนตรี นักร้อง นักแสดง ฝ่ายจัดการ คณะทำงานของไทยพีบีเอส ช่างบันทึกเสียง รวมแล้ว 190 คน เป็นการแสดงกลางแจ้งซึ่งเก็บเสียงยาก ต้องหาอุปกรณ์เก้าอี้นักแสดง แขกผู้ใหญ่ ผู้ที่นั่งชม เวลาแสดงอาศัยเวลาค่ำเพื่อจะได้ไม่ร้อน ต้องใช้กำลังไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ (kilovolt) เพื่อถ่ายทำโทรทัศน์ เพื่อใช้กับเครื่องบันทึกเสียง เพื่อให้แสงสว่างผู้ชม ที่สำคัญก็คือไฟฟ้าจะต้องมีกำลังไฟที่เสถียรใช้กับระบบเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งถ่ายทำโทรทัศน์และบันทึกเสียง ซึ่งมีความไวต่อกระแสไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง

คณะทำงานที่เชียงแสน

ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าของสถานที่ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร นายอำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ นายกเทศมนตรีเมือง นายกเทศมนตรีเวียง ประธานหอการค้า ประธานชุมชน ผู้อำนวยการไฟฟ้า ผู้อำนวยการสาธารณสุข พ่อครูผู้นำจิตวิญญาณในท้องถิ่น ทุกคนตื่นเต้นและให้ความร่วมมือช่วยเหลือเต็มที่ เพราะรู้ว่าทุกคนไปช่วยเมืองเชียงแสนและช่วยฟื้นฟูจิตใจเมือง

ก่อนการแสดง ในวันที่ 27 เมษายน (07.30-08.00 น.) ต้องทำพิธีบวงสรวงพร้อมเครื่องสักการะ 3 ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อประตูป่าสัก บวงสรวงวัดป่าสัก และเจ้าพ่อแสนภู พ่อครูบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน ปราชญ์ของเชียงแสน เป็นผู้ที่กำหนดพิธี ส่วนพ่อหนานมานิตย์ อดีตประธานสภาวัฒนธรรมเชียงแสน เป็นผู้ทำพิธี

Advertisement

“ขอให้บังเกิดความเรียบร้อยในการจัดงานด้วยเทอญ”

หลักฐานประวัติศาสตร์ที่หน้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน มีระฆังหินแขวนอยู่หน้าอาคาร เพื่อบอกว่าเชียงแสนใช้ระฆังหินซึ่งเป็นสมบัติของมนุษย์ยุคหิน มีอายุมายาวนาน ระฆังหินแขวนบอกความเป็นมาของสังคมดั้งเดิม หินต้องมีเนื้อเดียวกัน ตีแล้วมีเสียงดัง หินไม่แตก เนื้อหินจับตัวแน่นทำให้เสียงตีดังกังวาน

ระฆังหินตีบอกสัญญาณเพื่อส่งเสียงในการทำพิธีกรรม สังคมยุคเก่าก่อนเป็นสังคมที่มีความมืดและมีความเงียบเป็นพื้นฐาน การตีระฆังหินใช้เสียงบอกสัญญาณ ส่งข่าว บอกวัตถุประสงค์ของพิธีกรรม บอกหน้าที่ของชุมชน เสียงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่กับผู้มีอำนาจและการใช้เสียงเพื่อกำกับความเป็นไปของชุมชน

Advertisement

ส่วนกระดิ่งสัมฤทธิ์มีขึ้นในยุคไหนไม่รู้ แต่มีเสียงที่ไพเราะ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สวยงาม เสียงดังและผลิตได้มากเพราะใช้เบ้าหลอม การหลอมโลหะอาศัยความร้อนของไฟ การควบคุมความร้อนของไฟที่เผาโลหะให้เหลวแล้วเทใส่เบ้าให้ได้รูป เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของสังคม การหลอมโลหะ การควบคุมโลหะ การควบคุมความร้อน การควบคุมเสียง ทั้งหมดเป็นเครื่องมือของการควบคุมปวงชนของผู้นำ

กระดิ่งสัมฤทธิ์เป็นพัฒนาการของชุมชนที่ต่อจากยุคหิน การหลอมโลหะได้นั้นเป็นพัฒนาการที่สำคัญ การทำโลหะให้เป็นเครื่องมือ ทำกระดิ่งให้ตีแล้วมีเสียงดังกว่าหิน สัมฤทธิ์เป็นส่วนผสมของโลหะหลายชนิดเพื่อไม่ให้โลหะแตก สัมฤทธิ์ที่เสียงดีต้องผสมระหว่างทองแดง ตะกั่ว ดีบุก ส่วนผสมโลหะต้องได้สัดส่วนและต้องหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน เสียงสัมฤทธิ์จึงดังดี เสียงที่ตีดังเป็นอำนาจใหม่ เสียงตีดังกังวานไปไกล เสียงเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจ เสียงดังไปถึงไหนอำนาจก็แผ่ไปถึงที่นั่น

อำนาจของเสียงสามารถควบคุมคนให้เป็นพวกเดียวกัน เสียงกระดิ่งสัมฤทธิ์จะดังเข้ารูขุมขน ทะลุเข้าไปในจิตใจทำให้สยบยอม เสียงทำให้รู้สึกไม่กลัว ทำให้อบอุ่นฮึกเหิม เสียงขจัดความกลัวออกจากจิตใจ เสียงทำให้รู้สึกมั่นคง เจ้าพิธี หัวหน้าเผ่า หมอผี เป็นผู้ใช้เสียงในการประกอบพิธีกรรมและเสียงเป็นความศักดิ์สิทธิ์

กลองมโหระทึก

พิพิธภัณฑ์เชียงแสนมีกลองมโหระทึกหลายใบ กลองมโหระทึกเรียกว่า “กลองทอง” หรือ “กลองกบ” มโหระทึกเป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ ด้านหน้าบนมโหระทึกมีกบซ้อนทับ 2-3 ตัว บอกเวลาเมื่อถึงฝนตก กบก็จะผสมพันธุ์กัน คือความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น มโหระทึกเป็นยุคโลหะบอกสังคมได้ละเอียด บนหน้ากลองมีรูปวงกลมของจักรวาล เป็นลวดลายที่สวยงามซึ่งเป็นช่างที่มีฝีมือสูง

มโหระทึกมีหูแขวนเพื่อใช้คานหามตี ใช้มโหระทึกในพิธีกรรมการแห่ มโหระทึกมีรูปทรงและขนาดที่แตกต่าง บอกเรื่องราวและวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่แตกต่างกัน พิธีกรรมนั่งประโคมตั้งมโหระทึกตี พิธียืนประโคมยืนหามมโหระทึก และพิธีเดินแห่ประโคม เป็นต้น

ที่เชียงแสนมีเพลงสำคัญคือ ฤๅษีหลงถ้ำ เป่าปี่จุมโดยภานุทัต อภิชนาธง เพลงฤๅษีหลงถ้ำเป็นเพลงยอดฮิตของวงพื้นบ้านเมืองเหนือ เล่ากันว่า ฤๅษีเป็นผู้ทรงศีลปฏิบัติธรรม อาศัยอยู่ในป่าเขา อาศัยอยู่ในถ้ำจำศีลภาวนา เมื่อออกธุดงค์เข้าป่าหาอาหารก็ได้ยินเพลงวงสะล้อซอซึงของชาวบ้าน ฤๅษีฟังเพลิน ตกพลบค่ำกลับถ้ำไม่ถูก เป็นเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมา ทำนองฤๅษีเดินหลงถ้ำเป็นเพลงที่นิยมแพร่หลาย

เพลงฤๅษีหลงถ้ำเป่าด้วยปี่จุม เดี่ยวปี่จุมกับวงออเคสตรา เป็นปี่จุมคอนแชร์โต ลิ้นปี่ทำด้วยโลหะ ทุบโลหะให้แบน แล้วตัดให้เป็นลิ้น คล้ายกับอวัยวะของคนที่เรียกว่า “ลิ้นปี่” อยู่ที่กลางทรวงอก เมื่อเป่าลมผ่านลิ้นปี่ก็ทำให้ลิ้นสั่นเกิดเป็นเสียง เอาลิ้นปี่ไปต่อกับปล้องไม้ไผ่ แล้วเจาะรูเพื่อทำให้ท่อสั้นยาว เปิดรูท่อไม้ไผ่ก็จะสั้น เสียงก็จะสูง เมื่อปิดรูก็ทำให้ท่อไม้ไผ่ยาวขึ้น เสียงเป่าก็จะต่ำลง

ลิ้นปี่

ปี่จุมเป็นพัฒนาการสำคัญคือ การทำโลหะให้เป็นแผ่นบาง ตัดแผ่นโลหะให้เป็นลิ้นปี่ ใส่เข้ากับท่อไม้ไผ่ ทำให้เกิดเสียงสูงต่ำสั้นยาวได้ ปี่จุมหรือ “ปี่ประชุม” มีมาก่อนแคน เมื่อเอาปี่เสียบกับลูกน้ำเต้าก็กลายเป็นแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีความมหัศจรรย์ยิ่งของภูมิปัญญาในภูมิภาคอุษาคเนย์

อาจารย์กมล เกตุสิริ
เล่นพิณเปี๊ยะ พ.ศ.2500
(ปกหนังสืองานศพ)

มีอีกเพลงหนึ่ง “หนุ่มพญาซึง” เป็นเพลงสำหรับพิณเปี๊ยะ โดยแดนชัย รีอินทร์ เป็นนักดนตรีเผ่าไท-ยอง พิณเปี๊ยะเป็นพิณสายเดียวขึงสายยาวต่อเป็นลำโพงทำด้วยกะลามะพร้าว เวลาเล่นเอากะลามะพร้าวไปแนบที่ทรวงอก ใช้เป็นกล่องเสียงดังกังวาน เสียงของพิณเปี๊ยะบอกให้รู้ว่า “เสียงน้อยกิเลสน้อย” ผู้ฟังต้องตั้งใจฟังและต้องอยู่ในความสงบเงียบ ถึงจะได้ยินเสียงของพิณเปี๊ยะ

บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพิณเปี๊ยะคือ ท่านอาจารย์กมล เกตุสิริ (พ.ศ.2471-2533) ใน
พ.ศ.2500 ท่านเป็นข้าราชการกรมศิลปากร ได้รับ
เชิญไปเล่นพิณเปี๊ยะที่พิพิธภัณฑ์สมิทโซเนี่ยน อเมริกา เมื่อกลับมาถูกผู้ใหญ่บีบให้ลาออกจากราชการ สาเหตุคือการถอดเสื้อเล่นพิณเปี๊ยะ เพราะผู้ใหญ่เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าอับอายยิ่ง ทำให้เสียชื่อประเทศชาติ “ถอดเสื้อเล่นพิณเปี๊ยะ” แสดงต่อสาธารณะซึ่งอยู่ในต่างประเทศ

ศิลปินพิณเปี๊ยะอีกท่านหนึ่ง อุ้ยแปง โนจา เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2537 ที่เชียงราย ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2536 มีเรื่องอยู่ว่า ในปี พ.ศ.2513 ศิลปินใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี ได้ยินเสียงพิณเปี๊ยะที่โรงละครโอเปร่าของเดนมาร์ก ได้เอ่ยปากชมว่า “ผม (ถวัลย์) ได้ฟังด้วยความฉงนว่าเป็นเสียงที่วิเศษมาก เป็นเสียงที่พร่างพราย กังวาน สงบ และสง่างาม เป็นเสียงที่ออกมาจากทรวงอก มาจากกล่องดวงใจ ก็พยายามถามทุกคนว่าเป็นเสียงของเครื่องดนตรีอะไร มาจากไหน” ได้คำตอบว่าเป็นพิณเปี๊ยะจากประเทศไทย

ถวัลย์ ดัชนี กลับเมืองไทยก็ออกตามหาช่างพิณเปี๊ยะตาบอด ก็ได้ความว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว สำหรับครูพิณเปี๊ยะที่เหลืออยู่ก็เลิกเล่นไปแล้วเพราะไม่มีใครจ้างงาน ท่านสานเข่งสานตะกร้าขายอยู่ข้างศาลากลางจังหวัดเชียงราย ท่านถวัลย์ ดัชนี ได้อุปถัมภ์ศิลปินพิณเปี๊ยะ อุ้ยแปง โนจา ให้กลับมาเล่นพิณเปี๊ยะอีกครั้ง ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่อาจารย์ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ และมาถึงหนุ่มพญาซึง แดนชัย รีอินทร์

เชียงแสนมีดนตรีชนเผ่าที่หลากหลาย ถ้าจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เชียงแสน มีค่าวิทยากรและค่าตอบแทน ใช้พื้นที่กลางอาคารพิพิธภัณฑ์พัฒนาให้มีประโยชน์ทางวัฒนธรรม ฟื้นชีวิตเมืองเชียงแสน โดยอาศัยผู้จัดการที่มีฝีมือ ทำงานวัฒนธรรมให้มีชีวิตชีวา คนที่เข้าใจพลังวัฒนธรรมที่มีชีวิตได้เห็นความงาม ได้ยินความไพเราะ ได้สัมผัสและรู้สึกถึงความประทับใจ เมืองเชียงแสนก็กลายเป็นเมืองศิวิไลซ์

ลานกว้างขนาด 28 x 10 เมตร เพื่อกิจกรรมดนตรี ปรับแต่งโดยสถาปนิกที่มีรสนิยม แสดงดนตรีชนเผ่า บอกถึงการอนุรักษ์ เผยแพร่ และการ “ฟื้นชีวิตเมืองเชียงแสน” ให้อยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่าที่งดงาม เชิญวงดนตรีชนเผ่าแสดงสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละเผ่า เผ่าละ 1 ชั่วโมง มีค่าตอบแทน มีความภูมิใจ คุ้มที่รักษาวัฒนธรรมดนตรีไว้

จัดกิจกรรมดนตรีชนเผ่าที่มีคุณภาพสูง ให้ความรู้ความบันเทิง ให้ความไพเราะ ทุกคนก็อยากมาดู ทุกครั้งที่จัดต้องมีสูจิบัตรเพื่อบันทึกข้อมูล (ไทย-อังกฤษ) สื่อสารในระบบใหม่ (ออนไลน์) ได้

พิพิธภัณฑ์เชียงแสนควรดูต้นแบบจากสถาบันวัฒนธรรมของเยอรมัน (Goethe Institut) ซึ่งทำหน้าที่จัดกิจกรรม ให้ทุนวิจัยทางวัฒนธรรมดนตรี ทั้งในประเทศและวัฒนธรรมข้ามชาติ โดยรัฐเป็นผู้ลงทุน

ความเข้มแข็งของชาติ นอกจากความเข้มแข็งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สุขภาพของคนในชาติแล้ว ยังมีศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และดนตรี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สื่อความเข้มแข็งของชาติ พิพิธภัณฑ์เชียงแสนมีฐานะเป็นยาจกที่นั่งอยู่บนถุงทอง แต่ไม่ได้เอาทองที่นั่งทับอยู่มาใช้ประโยชน์ พิพิธภัณฑ์เชียงแสนควรหลุดออกจากการเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ปลดปล่อยจิตวิญญาณโบราณออกมา

การฟื้นชีวิตเชียงแสนด้วยเสียงดนตรี เป็นการสร้างความหวัง การปลุกพลังจากชุมชนให้เกิดขึ้นจริง เสียงดนตรีทำให้ทุกคนมีชีวิตชีวา เพราะเสียงมีอำนาจปลุกวิญญาณให้ออกมาเดินอย่างมีชีวิตอีกครั้ง

ลานกว้างที่สามารถจัดกิจกรรมดนตรีได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image