4 ปี รื้อป้อมมหากาฬ 1,462 วัน ชีวิตที่ยังไม่มีบ้าน ความในใจอดีตประธานชุมชน

ป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเก่าอยู่ระหว่างการบูรณะด้วยงบราว 69 ล้านบาท

“วันสุดท้ายที่ก้าวเท้าออกจากป้อมฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ผมก้มกราบแม่พระธรณีกับพ่อปู่
ป้อมมหากาฬ บอกว่าชีวิตนี้ที่เหลืออยู่
จะไม่ขอย่างก้าวเข้าไปอีกแล้ว”

26 เมษายน
วันนี้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว 14.00 น. โดยประมาณ

บ้านไม้ 2 ชั้นทรงปั้นหยา เลขที่ 123 ซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2499 หนึ่งในภาพจำของ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ถูกรื้อพังราบลงกลางตรอกพระยาเพชรปาณี

ผู้อยู่อาศัยรุ่นสุดท้ายทำใจไม่ได้ นั่งฟังเสียงการพังทลายริมคลองโอ่งอ่าง ไม่ขอย่างกรายเข้าพื้นที่

Advertisement

ย้อนไป 24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ในวันที่ปฏิทินบอกวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2561

คือเส้นตายของการรื้อถอนชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายโดย ‘กรุงเทพมหานคร’

ปิดฉากการต่อสู้นานนับเนื่องเกือบ 3 ทศวรรษ

Advertisement

กาลเวลาผ่านไป ปีแล้วปีเล่า 1 ปี 2 ปี 3 ปี เข้าสู่ปีที่ 4

‘สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ’ ผลงานกรุงเทพมหานครพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ?

ปลาย พ.ย.63 โฆษก กทม.ชวนเที่ยวสวนสวยป้อมมหากาฬ เจอกระแสโซเชียลบอก ‘ไม่สวยด้วยที่มา’

หันไปดูชีวิตของชาวบ้านที่แตกกระสานซ่านเซ็น โดยเฉพาะกลุ่มที่ปักหลักไม่ถึง 10 ครอบครัวสุดท้าย ในวันนี้ ‘ความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย’ ก็ยังไม่เกิด แม้เคยมุ่งมั่นสร้างชุมชนขึ้นใหม่ในย่านพุทธมณฑลสาย 2 โดย ‘กู้เงินลงขัน’ กันซื้อที่ดินผืนหนึ่ง สุดท้ายเกิดปัญหาในวันที่น้ำตายังไม่แห้งสนิท โดยเมื่อปลายปี 2564 มีประเด็นคำสั่งศาลยึดทรัพย์ เนื่องจากบุคคลหนึ่งในเจ้าของที่ดินร่วม โดนคำพิพากษา บังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และที่น่าสนใจคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้กู้เงินซื้อที่ดินผืนใหม่นี้ เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาล จากปมกองทุนมิยาซาว่า ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ตามโครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบ

พอช.ได้ออกมาชี้แจง ว่าเป็นไปตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านั้นมีการไกล่เกลี่ยแล้วถึง 3 ครั้ง

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน

ตัดภาพมาในวันนี้ ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน ผู้ก้มกราบที่พื้น ผู้ก้มกราบบนลานชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมสะอื้นไห้ในวันพ่ายแพ้ ปิดฉากสู้ 26 ปี ท่ามกลางชาวบ้านที่พยายามซ่อนหยาดน้ำตาเมื่อ 4 ปีก่อน ธวัชชัย และครอบครัว ยังคงเจ็บปวด ไม่ต่างกับวันที่จากมา

4 ปี บ้านที่ยังไม่มี ชุมชนใหม่ที่ยังไม่ได้สร้าง

“วันสุดท้ายที่ก้าวเท้าออกจากป้อมฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมก้มกราบแม่พระธรณีกับพ่อปู่ป้อมมหากาฬ บอกว่าชีวิตนี้ที่เหลืออยู่ จะไม่ขอย่างก้าวเข้าไปอีกแล้ว ไม่ผ่าน ไม่แวะ ไม่ข้องเกี่ยว”

คือคำกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ไม่หวั่นไหวของ ธวัชชัย อดีตประธานชุมชน ผู้เป็น ‘รุ่นสุดท้าย’ ของ ‘บ้านไม่เสื่อมสุข’ ตระกูลดนตรีไทยที่อาศัยอยู่หลังกำแพงป้อมมาช้านาน แต่ถึงอย่างนั้น ก็เปิดใจถึงความอ่อนไหวในใจ กับภาพที่ไม่อยากได้เห็น

“อย่าให้เห็นดีกว่า ผมคงรับไม่ได้ที่ต้องเห็นชุมชนที่ถูกแปรสภาพเป็นสวน แต่ถึงไม่เห็นกับตา ก็มีพี่ๆ น้องๆ ที่หวังดีถ่ายรูปมาให้ดูบ้าง เขาคงไม่รู้ว่าในใจเราเจ็บปวดขนาดไหน แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราเคยพูดกับสังคมว่าถ้าพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะในแบบที่ กทม. อยากสร้าง คงไม่มีคนมาใช้บริการ วันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่า มันคือความจริง”

ชาวป้อมมหากาฬกราบขอบคุณกำลังใจแม้พ่ายแพ้ 22 เมษายน 2561

ไม่เพียง ‘ความรู้สึก’ ในเชิงนามธรรมของความผูกพัน ทว่า สิ่งสำคัญคือ ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยที่มนุษย์ปุถุชนควรมี วันนี้เจ้าตัวเผยว่า ยังไม่ได้รับ

“เรื่องการดูแลและเยียวยา ยังเป็นระบบเดิมๆ ของหน่วยงานรัฐ คือไม่มีการติดตามผล โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน หลังจากเราถูกไล่รื้อ ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน มันก็เหมือนโดนลอยแพ ชีวิตจากวันนั้นถึงวันนี้ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นชะตากรรมซึ่งเราไม่มีสิทธิกำหนด หรือเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีกว่า เป็นความทุกข์ยากที่เราต้องเผชิญและยิ้มรับ”

ไม่รู้จะ ‘ไปต่อ’ อย่างไร ในความไม่มั่นคง
1 ชื่อติดหนี้ ทำสะดุดยกแผง

ถามถึงความคืบหน้าปัญหา ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินที่สู้อุตส่าห์ร่วมลงขัน ธวัชชัยให้ข้อมูลว่าอยู่ในขั้นตอนระหว่างผู้ที่เป็นหนี้ในโครงการมิยาซาว่า กับ พอช.

“ในความคิดของเราคือ ปัญหาหนี้สินก็ตกลงกันไป เพราะพี่น้องป้อมมหากาฬที่ร่วมลงลายมือชื่อในการซื้อที่ดินแปลงนี้ยังเหลืออีก 7 รายซึ่งไม่ได้เป็นหนี้ก้อนนั้นด้วย ต่างมีความมุ่งหวังว่าในอนาคตโครงการสร้างบ้านซึ่ง พอช. ต้องรับผิดชอบโดยตรงจากการเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์น่าจะเดินทางต่อได้ ติดปัญหาแค่ลายมือชื่อเดียว ที่ทำให้อีก 7 รายชื่อสะดุดหมด ตอนนี้จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนและชัดเจน

ชาวบ้าน คนยากคนจนเข้าใจว่ายังมีความหวังสำหรับองค์กรที่จะช่วยสร้างฝันสำหรับคำว่าบ้าน แต่พอมาเจอปัญหาอย่างนี้ ก็อยากให้มีการแก้ไขเร่งด่วน” ธวัชชัยกล่าว

รื้อบ้านเลขที่ 127 ริมกำแพงป้อมมหากาฬใน 48 ชม.สุดท้ายก่อนเส้นตายเมื่อ 4 ปีก่อน

แม้มีบางช่วงบางตอนตัดพ้อต่อโชคชะตา ทว่า อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยังเผยว่า ความรู้สึกไม่แน่นอน เมื่อครั้งต่อสู้หลังกำแพงป้อม กับความรู้สึกไม่มั่นคงในห้วงเวลานี้ ไม่อาจเทียบกันได้

“ตอนอยู่ในป้อม เรายังมีบ้าน ช่วงนั้น ถึงจะไม่มั่นคงอย่างไร ก็ยังมีความหวัง แต่ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันเลื่อนลอย ไม่มีที่มั่น หรือจุดยืนให้ไขว่คว้าในคำว่าความมั่นคงของชีวิต อยู่ในสถานภาพหลักลอย ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร จากวันนั้น มาถึงวันนี้ 4 ปีเข้าไปแล้ว ลองคิดดูสถานการณ์ของคนที่ต้องพลัดที่ แปลกถิ่น ไร้อาชีพไม่มีรายได้ว่าความกดดันมันเป็นอย่างไร ชาวบ้านก็แยกย้านกันไป นอกจากกลุ่มที่ลงขันซื้อที่ดินด้วยกัน พูดตรงๆ ว่าแทบไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำสัญญารับเงิน กทม. ซึ่งก็เป็นสิทธิโดยชอบ เราไม่ไปยุ่ง เขารวมตัวกันไปแบ่งที่จากชุมชนองค์การทอผ้าตรงเกียกกาย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างรัฐสภาในปัจจุบัน”

ไม่รื้อสร้างใหม่ เข้าใจพัฒนา
แก้ปัญหา ‘ชุมชน’ ตรงจุด ผู้ว่าฯกทม.ที่อยากได้

ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งในวันนี้ เหล่าผู้สมัครต่างติดตั้งแผ่นป้ายหาเสียงในจุดต่างๆ รวมถึงริมทางเท้าแคบๆ ประชิดกำแพงป้อมมหากาฬ ถนนมหาไชย

ธวัชชัยบอกว่า แม้ย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว ตัวเองก็ยังเป็น ‘คนกรุงเทพฯ’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน แม้ไม่ใช่ใจกลางกรุง

ยืนยันว่า 22 พฤษภาคมนี้ เข้าคูหาไปเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อย่างแน่นอน

สัตว์เลี้ยงพลัดพรากจากเจ้าของ เพจดัง ‘ทูนหัวของบ่าว’ พร้อมอาสาสมัครพาแมวหาบ้านใหม่ 23 เมษายน 2561
สุขารอการรื้อย้าย ภาพถ่ายล่าสุด เมื่อ 23 เมษายน 2565

“ผมอยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่เข้าถึงความต้องการของประชาชน ปัญหาในแต่ละพื้นที่ ขอให้แก้ไขอย่างตรงจุด ส่วนเรื่องการพัฒนา จะทำอย่างไรให้ดึงประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ ต้องเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นและยอมรับ เพราะคนคือหัวใจสำคัญของเมือง เมืองต้องมีคน ต้องมีลมหายใจ เมืองต้องการประชาชน ไม่ใช่ผู้นำท้องถิ่นแค่คนเดียว การพัฒนา ต้องไม่ใช่การรื้อของเก่าแล้วสร้างของใหม่ อย่างกรณีป้อมมหากาฬ ที่ผ่านมาเรายืนยันเสมอว่าไม่ปฏิเสธสวนสาธารณะ ไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่ขอให้เป็นไปควบคู่กัน อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อคนเมือง ทุกคนต้องการความเจริญก้าวหน้า ต่อยอดพื้นที่ให้มีค่า มากกว่าการปลูกต้นไม้ดอกไม้”

เป็น 4 ปีที่ชาวบ้านยังเจ็บปวด 4 ปีที่สังคมยังตั้งคำถาม 4 ปีที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬยังปรับปรุงบูรณะปฏิสังขรณ์ไม่เสร็จสิ้น 4 ปีที่หลักฐานประวัติศาสตร์ชุมชนชานพระนครถูกไถพังทลายลงภายใต้คำขวัญ กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว

สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ภาพล่าสุด เมื่อ 23 เม.ย.65
อาคารพระยาญาณประกาศ ท่าเรือสมัย ร.6 ที่กทม.ประกาศใช้จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ ปัจจุบันยังไม่เปิด ซ้ำเกิดคำถามในขั้นตอนบูรณะเมื่อต้น มิ.ย.61
ตรอกพระยาเพชรปาณีที่ร้างผู้คนมา 4 ปีเต็ม

ไทม์ไลน์ 4 ปี รื้อ-ย้าย ชุมชนป้อมมหากาฬ

เร่งขนของตั้งแต่เช้า 25 เม.ย.61

22 เมษายน 2561 ยอมรับความพ่ายแพ้ งานอำลาชุมชนป้อมมหากาฬ รับประทานอาหาร ‘มื้อสุดท้าย’ นักวิชาการร่ำไห้ ประธานชุมชนก้มกราบบนพื้น

25 เมษายน 2561 เส้นตาย วันสุดท้ายของคำว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพมหานครสั่งรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ สำนักการโยธารื้อบ้านหลายหลังตั้งแต่เช้าจรดเย็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.จากการแต่งตั้งโดย คสช. แถลงต่อสื่อมวลชนปรับปรุงพื้นที่ 4 ไร่เป็นสวนสาธารณะ ประกาศจัดสรรงบ 69 ล้านบูรณะตัวป้อมและกำแพง

5 พฤษภาคม 2561 ไถเรียบ ไม่เหลือซาก รถแบ๊กโฮ 5 คัน ไถพื้นที่หลังกำแพงป้อมมหากาฬ หลังรื้อครบทุกหลัง โดย 2 หลังสุดท้ายที่ถูกรื้อถอนคือบ้าน พรเทพ บูรณะบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และบ้านของธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน โดยเป็นบ้านปี่พาทย์เก่าแก่ตระกูล ‘ไม่เสื่อมสุข’ ชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายที่ย้ายออกได้แยกย้ายไปอาศัยในชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อ นอกจากนี้ บางครอบครัวยังเช่าบ้านอยู่ในชุมชนบ้านสายใกล้ชุมชนป้อมมหากาฬเดิม เนื่องจากประกอบอาชีพค้าขายในย่านดังกล่าว

17 มีนาคม 2562 ชาวป้อมมหากาฬส่วนหนึ่ง ร่วมกันบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 โดยมีแผนการรื้อฟื้นชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นใหม่ ด้วยการปลูกสร้างเรือนไม้จากไม้เก่าส่วนหนึ่งที่รื้อถอนจากเรือนเดิมในชุมชน เบื้องต้นมีชาวบ้านร่วมโครงการ 8 ครอบครัว บนที่ดินขนาด 106 ตารางวา ประกาศว่า จิตวิญญาณยังคงอยู่

29 พฤศจิกายน 2563 ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ชวนชมความสวยงามของสวนสาธารณะหลังป้อมมหากาฬซึ่งจัดยาวไปถึงต้นเดือนมกราคม 2564 เกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ว่า ‘ไม่สวยด้วยที่มา’ จนต้องออกมาชี้แจง พร้อมรับความเห็นต่าง

5 สิงหาคม 2564 ชาวบ้านที่ลงขันร่วมกู้เงินนับล้านซื้อที่ดิน เปิดเผยว่า ถูกยึดที่ดินขายทอดตลาดหลังชาวบ้าน 1 รายถูก พอช.ฟ้องคดีจากการกู้เงินโครงการมิยาซาว่า ต่อมา พอช.ชี้แจงว่าเป็นไปตามกระบวนการโดยเคยไกล่เกลี่ยแล้วถึง 3 ครั้ง

25 เมษายน 2565 ครบรอบ 4 ปีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬอย่างเป็นทางการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image