อักษรตัวแรกถึงเล่มสุดท้าย ฉากชีวิตและผลงาน ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ในสายตา 3 บรรณาธิการ

ภาพ วัฒน์ วรรลยางกูร ตระหง่านในงานรำลึกที่อนุสรณ์ 14 ตุลา เมื่อ 23 เม.ย.2565

จบลงอย่างอบอุ่นและงดงาม สำหรับงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กวี นักเขียน เจ้าของรางวัลศรีบูรพา และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้ล่วงลับขณะลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว มิตรสหายในหลากวงการ

จากที่ต้อง ‘ไกลบ้าน’ วัฒน์ ลัดฟ้ากลับสู่มาตุภูมิเมื่อ 8 เมษายน ในโถบรรจุอัฐิ หลังงานฌาปนกิจที่ Crematorium de Besancon France ในวันที่ 29 มีนาคม

เช้าตรู่ของวันอาทิตย์สีแดง 24 เมษายน ผู้คนรวมตัวบนถนนราชดำเนิน วจนา-วนะ-วสุ วรรลยางกูร บุตรธิดา ประคองภาพ ‘พ่อ’ แนบอก หยัดยืนบนแถวหน้าของขบวนแห่ เปิดฉากพิธีรำลึก เดินเท้ารอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 รอบ โดยมี ‘คณะราษฎรัมส์’ รัวกลองเร้าใจ

จากซ้าย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วาด รวี และ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ดำเนินรายการ โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

คนหลากรุ่น เพศ วัย หลายวงการ ผู้มีจุดร่วมคือ ‘อุดมการณ์’ เดียวกัน หลั่งไหลร่วมอาลัย

Advertisement

บทเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ กระหึ่มตลอดระยะทางสู่ ‘อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา’ แยกคอกวัว เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 09.28 น. ครอบครัว นักกิจกรรม นักโทษทางความคิด ต่อคิวเอื้อนเอ่ยถ้อยคำในใจถึง วัฒน์ ผู้จากไปเพียงร่างกาย ทว่า ยังมีลมหายใจอยู่ด้วยผลงานมากมาย ดังคำกล่าวตอนหนึ่งของ วจนา วรรลยางกูร บุตรสาว ในตอนหนึ่งว่า

“วัฒน์ จะดำรงอยู่ผ่านผลงาน ผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ หนังสือที่ถูกหยิบมาอ่านใหม่ ผ่านความคิดของผู้คน ที่หวังเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและความฝัน ความหวัง ที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย”

ภาคบ่าย ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ภาพยนตร์ ‘ไกลบ้าน’ ผลงาน ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ที่บันทึกเรื่องราวและความคิดของวัฒน์ขณะลี้ภัยอยู่ใน สปป.ลาว ถูกฉายให้เห็นภาพชีวิตซึ่งชวนตั้งคำถามถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้นเพียงเพราะ ‘เห็นต่าง’ การไม่ยอมศิโรราบอำนาจอันไม่ชอบธรรมของเผด็จการ

Advertisement

จากนั้น เข้าสู่วงเสวนา “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world

3 บรรณาธิการ บุคคลในวงการนักคิดนักเขียนผู้สัมผัสชีวิตและผลงานของ วัฒน์ วรรลยางกูร ขึ้นเวทีพินิจวรรณคดีภาคประชาชนบนเส้นทางการต่อสู้ทางความคิดของ ‘สหายร้อย’, ‘วัฒน์ ท่าเสา’ และอื่นๆ รวมถึง ‘นายวีรวัฒน์ วรรลยางกูร’ ชื่อจริงบนบัตรประชาชนไทยที่ได้กลับบ้านในวันที่เหลือเพียงเถ้ากระดูก

  • หวังความเจ็บปวด ขมขื่น เป็นบทเรียนมิตรน้ำหมึกแห่ง ‘โลกคู่ขนาน’

สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ ‘สิงห์สนามหลวง’ ผู้ถูกกรมส่งเสริมวัฒนธรรมปลดจาก ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 เอ่ยบนเวที เล่าชีวิต วัฒน์ ตั้งแต่วัยเด็กที่ลพบุรี ก่อนย้ายมาอยู่ที่เชียงราก ปทุมธานี โดยเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารยานเกราะ นั่นคือเรื่อง ‘คนหากิน’ ต่อมา เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นช่วงที่ตนได้รู้จักกับวัฒน์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

“พ.ศ.2515 คือช่วงที่เขาอยู่ชั้นมัธยม 5 ส่งงานเขียนไปหลายที่ เช่น ฟ้าเมืองไทย ชัยพฤกษ์ แต่เรื่องแรกได้ลงในนิตยสารยานเกราะ ซึ่งย้อนแย้งว่า บก.นิตยสารนี้มีส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่อมา ช่วง 14 ตุลา มีผลสะเทือนกับวัฒน์มาก งานเขียนของเขาเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเข้ามาเขียนประจำที่ นสพ.อธิปัตย์ หลัง 14 ตุลา มีผลงานเรื่องสั้น นกพิราบสีขาว ปี 2518 ช่วงที่อยู่ในป่า เขียนเรื่อง ใต้เงาปืน ก่อนออกจากป่า ในปี 2524 วัฒน์พยายามทำงานเขียนเป็นอาชีพ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ที่ลงในนิตยสารบางกอก วัฒน์พยายามใช้งานเขียนในการแสดงออกสถานะทางชนชั้นของเขา ขณะที่โดนวิจารณ์ว่าไม่สนุก พอเป็นหนังขึ้นมา ผมก็พูดยั่วเย้าว่า หนังดีกว่าหนังสือ” สิงห์สนามหลวงย้อนความทรงจำ

จากนั้น วิเคราะห์ถึงชีวิตและผลงานว่า ‘วัฒน์ไม่ตามใคร แต่ก็ไม่นำใคร ทั้งเรื่องงานและชีวิต’ ความเป็นอิสรชนในหลายรูปแบบทำให้เขามีผลงานหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากนักเขียนในช่วงเดือนตุลาที่ค่อนข้าง ‘เป็นสูตรสำเร็จ’ คือ แม่เจ็บ ลูกตาย ควายหาย ข้าราชการทุจริต แต่เป้าหมายของวัฒน์ต้องการสื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ ต่อมา วัฒน์ต้องลี้ภัยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไปอยู่ สปป.ลาวหลายปี ก่อนมุ่งหน้าสู่แดนไกลอย่าง สาธารณรัฐฝรั่งเศส

“พอเขาไปถึงฝรั่งเศส ผมมีความสุขมาก หลังจากนั้นก็คุยทางกล่องข้อความและโทรศัพท์ทางไกล ก่อนที่ผมจะมีปัญหาเรื่องถูกปลดจากศิลปินแห่งชาติ วัฒน์บอกผมว่า พี่อยู่มาป่านนี้แล้วไม่ต้องเอาไปแลก มันเป็นความห่วงใยที่ผมไม่ลืม กรณีที่เกิดกับผมเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวเมื่อทราบว่าเขาป่วย

ผมคิดว่าเราเคลื่อนไหวมาด้วยกัน เราอยู่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จะเกิด เรารู้ว่าพัฒนาการสังคมจะไปทางไหน

วัฒน์อยู่ในขบวนเพื่อชีวิต วัฒน์รับรู้ว่าควรขยายศิลปะอย่างไรให้มีชีวิต แต่เพื่ออะไรช่างมัน ที่สำคัญคือต้องมีอิสระ มีเสรีภาพ และมีนัยยะเดิมเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่วัฒน์พูดมาตลอดคือคนเหมือนกันแต่ทำไมจึงมีอะไรไม่เหมือนกัน นี่คือจุดยืนการเลือกข้างของเขามาตั้งแต่ปี 2518”
สุชาติกล่าว ก่อนทิ้งท้ายไว้ให้คิด ว่า ขอให้สิ่งที่วัฒน์ได้สร้างไว้ในความหลากหลายของงานเขียน รวมถึงบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับรู้จากความเจ็บปวดและความขมขื่นของเขา ทำให้แวดวงที่เหมือนเป็นโลกคู่ขนานได้มีความชัดเจน อย่างน้อยก็ชัดเจนในฐานะที่เป็นมิตรน้ำหมึก ในฐานะที่ร่วมอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแต่แยกกันรบ

  • สร้างผลงานจาก ‘น้ำเนื้อของชีวิต’ ฝากรอยจารึกจากเสียงจริงของชาวบ้าน

จากรุ่นใหญ่ ถึงคิว รวี สิริอิสสระนันท์ หรือ ‘วาด รวี’ นักเขียนชื่อดัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ ซึ่งเจาะลึกถึงอุดมการณ์ในการสร้างงานของวัฒน์ โดยมองว่า ‘ไม่ได้เดินในทางเดียวตลอด’ กล่าวคือ ในช่วงแรกที่วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือ ไม่นานก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต วัฒน์จึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรก และเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เพื่อชีวิต’ ก็ว่าได้ เป็นงานเขียนที่มีธงชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เพื่อประชาชน ตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น

ต่อมามีกวีที่ชื่อว่า ‘ทางสายใหม่’ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้วัฒน์เกิดอุดมการณ์การเขียนเป็นต้นมา หลังจากปี 2523 เมื่อ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แตกสลาย ฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ อุดมการณ์นี้สลายลง วัฒน์ต้องปรับตัวหลังออกจากป่าเพราะออกมาแบบ ‘คนพ่ายแพ้’ ขณะที่ภายในเมืองเกิดกระแส ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ขึ้นมาแล้ว และมี ‘รางวัลซีไรต์’ ตั้งแต่วัฒน์ยังอยู่ในป่า เขาจึงต้องปรับตัว

“งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือนิยาย ตำบลช่อมะกอก ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม และหากมาคิดถึงเรื่อง ฉากและชีวิต ปี 2539 ที่ไม่มีความขัดแย้ง หรือเรื่องชนชั้น สะท้อนว่าบางอย่างเปลี่ยนไปในงานของวัฒน์ เหมือนกับมาตั้งสติใหม่ว่างานเขียนเขาจะมุ่งสู่อะไร
แต่พูดเรื่องของจิตใจกวี และคุณค่าของงานเขียน อุดมคติในงานเขียนของวัฒน์เปลี่ยนไป หากเทียบกับ วิสา คัญทัพ หรือคนอื่นๆ วัฒน์คือคนที่ปรับตัวไวสุด

มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืองานเขียนชิ้นแรกหลังออกจากป่าที่ไม่ได้พูดถึงการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นอย่างไรต่อ มาถึงจุดพีคในเรื่อง ฉากและชีวิต ถือว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการปรับตัวเข้ากับบรรยากาศหลังการพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย เพื่ออยู่กับสังคมแบบนี้ที่ไม่พูดถึงเรื่องเก่า 14 ตุลา,
6 ตุลา ในแง่การต่อสู้เหมือนเดิม และมาเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้งหลัง 2549 ที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนอีกครั้ง” วาด รวี ฉายพัฒนาการผลงานของวัฒน์ที่ควบคู่เหตุการณ์ชีวิต

จากนั้น ยังอธิบายต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม วัฒน์ยังอยู่ในภวังค์ความคิดแบบนักเขียนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่ใช้เวลาพอสมควร เขาแสดงบทบาทอยู่ข้างคนเสื้อแดงชัดเจนในปี 2552 ขณะที่ปี 2549 ยังงงๆ อยู่

“จากอุดมการณ์เพื่อชีวิต จนป่าแตก ปรับตัวใหม่ วัฒน์เคยให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบปัจจุบัน เขาบอกตอนนั้นยังมึนงงอยู่ ไม่เหมือนตอนนี้ หลังปี 2549 เหมือนเขาค้นพบความจริงใหม่ ก่อตัวอุดมการณ์ใหม่อีกครั้ง ที่เห็นได้ชัดหลังปี 2549 วัฒน์ไม่มีนิยายออกมาเลย เพราะงานในช่วงพีคของเขาไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว สถานการณ์สะวิง ทำให้นักเขียนคนหนึ่งโดนเหวี่ยงไปมาระหว่าง 2 ฝั่ง เหมือนลูกปิงปอง” วาด รวี วิเคราะห์ และบอกด้วยว่า ก่อนวัฒน์ออกจากป่ายังไม่มีลักษณะปัจเจกนิยม ซึ่งมาเกิดหลังจากวัฒน์ออกจากป่าแล้ว หากอ่านงานให้ละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่าง ลักษณะที่คงเส้นคงวาคือ อารมณ์ โรแมนติกกับความยากจนที่เห็นตั้งแต่เรื่อง ‘คนหากิน’ ในนิตยสารยานเกราะที่สื่อว่าผู้หญิงหากินก็มีศักดิ์ศรี มองแง่งามของชนชั้นล่าง แต่หลังออกจากป่า สิ่งที่ไม่มีคือ ‘ปัจเจกนิยม’ ซึ่งผนวกกับ ‘ความโรแมนติก’ ประเด็นกดขี่ชนชั้นไม่ชัด มีลักษณะประนีประนอมมากขึ้น แต่วัฒน์มีท่าทีรับฟังและปรับตัวเร็วกว่า ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับนักเขียนหลายคนที่อกหักจากอุดมการณ์ล่มสลาย จึงหันไปลงลึกกับภาวะภายใน ‘ความเป็นมนุษย์’ ซึ่งก็ช่วยให้วรรณกรรมพัฒนา ตัวละครสมจริงขึ้น

“ผมคิดว่าจักรวาลทางการเมืองของคนในสังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองแตกกระจาย ผนวกการมีโซเชียลศูนย์กลางในการอธิบาย จึงหลากหลาย และต่างมองจากศูนย์กลางของตัวเอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ ความเคยชินกับคำว่าชุมชนวรรณกรรม ยุคหลังไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ยังมีความหมายสำหรับคนรุ่นใหม่หรือไม่ เพราะผิดหวังกับสังคมนักเขียน ซึ่งตอนนี้อาจจะไม่มีสังคมนั้นแล้ว

“งานสไตล์วัฒน์คืองานที่ไม่ค่อยมีคนเขียนอีกแล้ว มีตอนหนึ่งที่เล่าว่า หลานเขาเป็นนักเขียน เอางานมาให้อ่าน ในงานนี้บรรยายว่ามีหิมะตกด้วย ซึ่งวัฒน์บอกว่าเขียนไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน นี่เป็นลักษณะที่แทบไม่มีในนักเขียนปัจจุบัน งานที่เขาผลิต ผลิตจากน้ำเนื้อของชีวิต มีปูมหลังแบบชีวิตลูกชาวบ้าน ต้องให้เครดิตกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่หลังปี 2540 คนที่จะมาเป็นนักเขียนได้คือชนชั้นกลาง ซึ่งสไตล์ของวัฒน์จะเป็นรอยจารึก บางอย่างเราก็อยากได้เสียงจริงจากชาวบ้าน และไม่ง่ายที่จะมี” บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ไชน์ระบุ

  • ‘ต้องเนรเทศ’ ผลงานสุดท้าย ยิ่งใหญ่กว่าที่หวัง ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนแพ้แต่ยังสู้’

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ซึ่งกล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายผู้ตีพิมพ์ ‘ต้องเนรเทศ’ ผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของวัฒน์ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ปก

ไอดา เล่าถึงความรู้สึกของตนเองว่า เมื่ออ่านต้นฉบับของวัฒน์จบลงในท่อนที่ว่า ‘ไม่กลับ การลาลับ คงอยู่’ ก็หวั่นใจ เพราะไม่รู้จะขอร้องอย่างไร ว่าอย่าเขียนราวกับเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต และเป็นต้นฉบับที่ยิ่งใหญ่กว่าที่หวังไว้ โดยวัฒน์ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนที่แพ้แต่ยังสู้ต่อ’

‘ต้องเนรเทศ’ เริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมของเส้นทางจากหุบเขาถึงปารีส นกปีกหัก ต่อมาบทที่ 2 คือ บ้านท่าเสา กาญจนบุรี ที่อบอวลด้วยความรัก ความผูกพัน ไม่ใช่เพียงที่พักเหนื่อย แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต บทที่ 3-4-5 คือมหากาพย์ช่วงลี้ภัย ในภาวะที่ไม่อาจกำหนดอะไรได้ สำหรับบทที่ 9 กล่าวถึงดินแดนฝรั่งเศส ที่ให้สิทธิมนุษยชนและรัฐสวัสดิการ

“การออกมารอบนี้ของเขา ไม่ใช่การเข้าป่าดูทัศนศึกษา เขาไม่หันหลังกลับ แต่ยืนยันความเป็นอิสระที่จะไม่กลับมาอยู่ในกะลา ซึ่งในภาวะที่เปราะบาง อ่อนไหว เขาเปลี่ยนจาก ผม เป็น ฉัน” ไอดากล่าว

จากนั้น ไอดาอ่านเนื้อหาที่วัฒน์เขียนไว้ใน ‘ต้องเนรเทศ’ ใจความกล่าวถึงตัวตนความเป็นนักเขียนที่ยังคงประคองไว้ด้วยมิตรน้ำหมึกที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือด้วยสำนึกเสรีชนร่วมอาชีพและนักมนุษยนิยมโดยไม่ต้องป่าวประกาศ หนึ่งในนั้นที่ต้องเอ่ยชื่อคือ บินหลา สันกาลาคีรี

จากนั้น ในช่วงท้ายของเสวนามีการอ่านบทกวี ‘เมื่อฟ้าค่ำ’ เพื่อแสดงความเคารพต่อ วัฒน์ วรรลยางกูร ท่ามกลางเสียงปรบมือกระหึ่ม ก่อนที่กำหนดการหลังตะวันตกดิน ยิ่งทวีความเข้มข้นผ่านละคร ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ โดยเยาวชนและนักโทษคดี 112 อีกทั้งเหล่ากวีผู้เป็น เพื่อน พี่ น้อง อีกทั้ง ของวัฒน์ที่
ต่อคิวร้อยเรียงถ้อยคำอาลัย

หนึ่งในนั้น คือ ‘รอนฝัน ตะวันเศร้า’ ซึ่งเอ่ยในตอนหนึ่งว่า

“พี่วัฒน์ พี่วัฒน์ พี่วัฒน์ พี่คือขวานด้ามแรกที่จามไม้ใหญ่ คือไม้ขีดที่ถูกจุดในผนังถ้ำอันมืดมิด พี่วัฒน์ ไวน์ขวดสุดท้ายยังไม่ได้เปิด พี่ล่วงหน้าไปก่อนนะครับ ไม่แน่หรอก ผมอาจเห็นไวน์ขวดสุดท้ายที่ถูกเปิดในการเฉลิมฉลองของพวกเรา เราจะยังกวนตีนอยู่ เรายังเดินต่อไป เห็นรอยเท้าที่ชัดของพี่…ผมอยากเป็นปากกาที่ตั้งตรง ถ้อยคำชัดเจน ไม่ต้องประดิษฐ์คำหวานให้ชนชั้นหรือใครหน้าไหน ขอเป็นคนเถื่อนที่
สันหลังตรงตลอดกาล”

เป็นบทกวีอาลัยที่บ่งบอกมุมมองของผู้เขียนต่อผู้ ‘ล่วงหน้าไปก่อน’ สะท้อนการต่อสู้บนเส้นทางทั้งชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร ในความทรงจำจากเมื่อวานสู่ห้วงเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image