เสียงจาก ‘กัญชาชน’ จับตาอนาคตกัญชาไทย นับถอยหลังปลดล็อก 9 มิถุนา

แสดงออกเชิงสัญลักษณ์พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อหลัก เพื่ออนาคตกัญชาไทย

เข็มนาฬิกาแตะที่ 4 โมงเย็น 20 นาที ดนตรีเร็กเก้รูท เปิดเคล้า

กลิ่นควันจากพันธุ์พืช ถูกจุดให้เผาไหม้อย่างพร้อมใจ คลุ้งไปทั่วถนนข้าวสารและหน้าสหประชาชาติ

กัญชาจำลอง ทั้งบรรจุถุง อัดแท่ง ทั้งพันลำขนาดยักษ์ และธงสัญลักษณ์หลากหลายกลุ่ม ชูสะบัด พลิ้วไหว

โบกไม้มือโยกเย้าเข้าทำนองเริงร่า สลับเสียงกู่ร้องรหัสลับบอกรักกัญชา ว่า “420”

Advertisement

วันกัญชาโลกในปี 65 เกิดปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ชาวไทยเชื้อสายเขียวลุกฮือขึ้นเทสต์ระบบ ‘นโยบายกัญชาเสรี’ เมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา เดินขบวนทวงกัญชาประชาชนถึง 2 จุดใหญ่ ใจกลางมหานคร

เริ่มด้วย เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ่านแถลงการณ์ หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนเดินไปปักหลักสร้างรอยยิ้มที่หน้า UN ภายใต้ชื่องาน “รักกัญ รู้กัญ เติมกัญ เจอกัญ” หวังแสดงเจตจำนงร่วมกันเขียนอนาคตกัญชาไทย โดยเปิดรับฟังความเห็นผ่านวงเสวนา และปิดจบด้วยดนตรีจากดีเจ-ศิลปินเร็กเก้ชื่อดังวง ‘ศรีราชา ร็อคเกอร์ส’ เป็นเซอร์ไพรส์ที่ดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมเอ็นจอยได้ยันเที่ยงคืนโดยไร้ซึ่งการวิวาท

ขณะที่ “สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน” และแนวร่วมที่ขับเคลื่อนประเด็นกัญชา อย่าง พรรคเขียวจรรโลงโลก, หนัดกินผัก, บุญเติมสายเขียว, กัญชาชน, Highland ฯลฯ จัดงาน “420 เราพวกกัญ” ตั้งขบวนหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โชว์พาเหรดสายเขียว เลี้ยวเข้า “ข้าวสาร” ฝ่าวงนักท่องเที่ยวเทศ-ไทย ไปหยุดที่มิจฉาชีพบาร์ (Mischa Cheap)

Advertisement

เสรีกัญชา, เราต้องการกัญชาถูกกฎหมาย, สนับสนุนยกเลิกซองเขียว ยกเลิกด่านตรวจ THC, กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด, พืชที่มีแต่รอยยิ้ม, กัญชาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คือส่วนหนึ่งของบรรดาป้ายผ้าที่นำมาเรียกร้อง

กัญชา ‘ไม่แบ่งชนชั้น’ นโยบายขายฝันที่รากหญ้าคว้าไม่ถึง?

หลากเสียงวิพากษ์ ถึงการปลูกกัญชาแบบ ‘วิสาหกิจชุมชน’ เมื่อโรงเรือนปลูกของชาวบ้านที่ลงแรงสร้าง ทุนกลับจมยับ บ้างกู้สหกรณ์ เป็นหนี้ธนาคาร ด้วยมูลค่าใบอนุญาตปลูก-ใบแปรรูป อยู่ที่ครึ่งแสน ตรวจอาคารครั้งหนึ่งเสีย 5 หมื่นบาท หรือถ้าจะนำเข้าส่งออกได้ ต้องมีใบอนุญาตหลักแสน

กลุ่มเขียนอนาคตกัญชาไทย อ่านแถลงการณ์ “กฎหมายกัญชาเพื่อประชาชน” หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนตั้งวงเสวนาหน้า UN

นำมาซึ่งข้อสงสัย “หรือนี่แค่นโยบายขายฝัน?” ที่ปลายทางชนรากหญ้าตาดำๆ ต้องแบกภาระเพิ่ม

จากที่แทบจะหมดตัวเป็นทุนเดิม ด้วยขายพืชผลเกษตรอื่นก็ไม่ได้ราคาพอยังชีพ

“ใบกัญชาราคาเหลือแค่ 500 บาทต่อกิโลกรัม จะเป็นพืชเศรษฐกิจได้จริงหรือ?” คือหนึ่งในคำถามที่สะท้อนผ่านโซเชียล

แม็ก เปื้อนยิ้ม รองหัวหน้าพรรคเขียวจรรโลงโลก ศิษย์ลุงตู้ ผู้ทําน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งยังเป็นพืชเสพติด บอกว่า ไม่ใช่แค่มาดูดกัญชาเล่นๆ แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มาทวงถามและอ้อนวอนให้รัฐบาลหันมาร่วมมือกับภาคประชาชนในการกำหนดนโยบาย เพราะขนาดกระท่อมยังปลดล็อกได้ กัญชาก็ไม่น่ายาก

แม็ก เปื้อนยิ้ม รองหัวหน้าพรรคเขียวจรรโลงโลก

“ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมาย ชาวบ้านจับต้องยากเพราะใช้เงิน คนสายเขียวไม่เคยมีสิทธิมีเสียง”

แม็ก เปื้อนยิ้มยืนยันว่า คนดูดกัญชาไม่ใช่คนโง่ ทุกคนมีความคิดดี มีอาชีพ ที่มาวันนี้มีแต่ดารา นักแสดง นักกล้าม อย่าไปมองแค่ปกหนังสือ

“มันเป็นต้นไม้ ถูกต้องของมันอยู่ดีๆ ก็ไปตีโจทย์มันให้ผิด” แม็ก เปื้อนยิ้มว่าอย่างนั้น ก่อนแนะให้ใช้วิธีเก็บภาษี ต้นเท่าไหร่ก็ว่าไป ทำให้ถูกต้อง ให้ชนพื้นดินได้แตะต้อง ไม่ใช่แค่คนรวย”

ผนึกกำลัง รอวันปลดล็อก วอนกางกติกาบนโต๊ะ

“เป็นวันประวัติศาสตร์ ที่มีขบวนแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่คิดว่าจะยิ่งใหญ่อลังการแบบนี้”

ไกด์ จาก Highland ลั่นวาจา กลางวงเสวนาสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน

แกนนำจากหลายกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องกัญชา ร่วมถกเข้มถึงประเด็น ‘กัญชาเสรี’ ก่อนลงลึกถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ฉบับที่เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ

“ไกด์” เล่าที่มาของการก่อตั้ง “สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน” ว่าเกิดจากการรวมตัวของหลายกลุ่ม โดย ด.เดี่ยว จรรโลงโลก คือผู้ริเริ่มไอเดียในการต่อสู้เรื่องกัญชา เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เริ่มรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์กัญชาฯ เพื่อเป็นโต๊ะกลมสำหรับแชร์ไอเดีย ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้ารวมพลังกัน น่าจะทำให้วงการไปได้ไกลขึ้น

ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดัน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง บนความเห็นที่แตกไปหลายเสียง ทั้งควรคว่ำร่าง บ้างก็ว่าควรปรับปรุงใหม่

หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน ที่จะบังคับใช้ ไกด์ ชวนหลับตานึกตาม พ.ร.บ.นี้ ชี้ข้อดีคือ 1.นิยามหลักในการใช้ จากคำว่า ‘เสพ’ เปลี่ยนเป็น ‘บริโภค’ ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง เปลี่ยนมุมมองเรื่องกัญชาได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องที่ไม่โอเค คือ กฎในการปลูก การใช้ และขออนุญาต ที่หวั่นว่าจะมีการไปออกกฎกระทรวงอะไรอีกหรือไม่ เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้าน เหมือนเบียร์ เป็นต้น ต้องเอามากางบนโต๊ะ ถึงจะยอมรับได้

“ประเด็นย่อยๆ คือ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าบ้านได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ถ้าไปลงทะเบียนปลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เมื่อกติกาไม่ได้กางมาทั้งหมด จึงง่ายมากที่จะผูกขาด” ไกด์ให้ความเห็น

ปิดช่องหากินคนไม่รู้กฎหมาย ชู 3 ข้อ ขอสิทธิ ผลิต-ใช้เอง

ขณะที่ ‘เสก’ จากกลุ่ม ‘บุญเติมสายเขียว’ บอกว่า นอกจากการแสดงออกเฉลิมฉลองเชิงสัญลักษณ์ เรายังมีหลักการที่ยึดถือ เป็นแนวทางเรียกร้องต่อไป หลักๆ 3 ข้อ คือ

1.เราต้องการให้ประชาชน ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ เข้าถึงกัญชาได้เสรี โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก

“เรายอมรับกติกาควบคุมที่ ‘แฟร์’ แต่ไม่ต้องการ ‘การกดขี่’ มีแค่คนบางกลุ่มที่เข้าถึงและปลูกได้ แต่ไม่ใช่กับประชาชนทั่วไป”

2.ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ให้ประชาชนไทยสามารถปลูกกัญชาได้เองที่หลังบ้าน เหมือนกะเพรา หรือพืชผักสวนครัวทั่วไป โดยไม่ต้องไปโควกับหน่วยงานรัฐ

“เพราะชาวบ้านตาสีตาสา ไม่รู้ว่า MOU คืออะไร อยากจะปลูก แต่มีขั้นตอนมากมาย ต้องทำวิสาหกิจชุมชน ต้องขออนุญาต 1 2 3 4 ซึ่งเปิดโอกาสให้เข้าไปหาประโยชน์กับคนที่ไม่รู้กฎหมายได้ และเกิดเช่นนี้หลายประเทศทั่วโลก เมื่อประชาชน มีอิสรภาพในการนำกัญชามาบริบาลตัวเองได้ วันนั้นจะไม่มีการหลอกสร้างโรงเรือน หรือหลอกสกัดสาร เพราะทุกคนทำเองได้ในครัวเรือน เราแค่ต้องการผลิตและใช้เอง แค่ต้องการสิทธิตรงนี้”

3.ต้องการหน่วยงานอิสระ ที่ร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นกัญชาได้อย่างถูกต้องตามระบบ

“ถ้าองค์กรนี้เกิดจากการร่วมมือ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังช่วยเรื่องการจัดการกัญชาในประเทศให้เป็นระบบ ไม่สะเปะสะปะ พยายามตั้งกฎขึ้นมา โดยคิดไปเองว่า สมควรจะเป็นแบบนี้ โดยไม่ได้ถามสายเขียวที่ใช้กัญชาในชีวิตประจำวันว่า เขาต้องการกฎกติกาการควบคุมแบบไหน ต้องฟังเสียงผู้ใช้ นำไปพิจารณา และร่วมขัดเกลา พ.ร.บ.ที่จะออกมา ต้องช่วยกันเคาะทีละก้าว แนวทางวันข้างหน้ายังตอบไม่ได้ แต่จะทำทุกอย่างเพื่อให้กัญชาถูกกฎหมาย ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น” เสกทิ้งท้าย

ด้าน ‘นัท’ จาก ‘บ้องปาร์ตี้’ มอง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีปัญหาค่อนข้างมาก ถ้าหากผ่าน เหมือนวงการเหล้า ที่เริ่มเปิดให้สกัดใช้เองในบ้านได้ แต่ก็ยังปิดกั้นการขาย

“เราไม่สนับสนุนให้ผูกขาดการค้า ควรเปิดให้เข้าถึงได้โดยตรง ไม่ใช่ต้องไปร่วมมือรัฐ ทำวิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ.นี้กำจัดสิทธิผู้คน กัญชาจะไม่เป็นยาเสพติด ยส.5 แล้ว แต่ทำไมเราต้องมีกฎหนึ่งข้อเขียนขึ้นมาครอบให้มันผิด โดยใช้หลักการเดิมสมัยที่ยังเป็นยาเสพติด ขอให้คุยกันจากปัญหา ว่ามีส่วนไหนผิด เช่น เด็กไม่ควรเข้าถึง แล้วร่วมกันเขียนขึ้นมา การเขียนกฎหมายลักษณะนี้ ปิดกั้นโอกาสของประชาชน ยืนยันว่า ผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ถามว่าจดแจ้งได้ แล้วสกัดเองได้หรือไม่? หากชาวบ้านมีศักยภาพทำเองได้โดยไม่ต้องผ่านนายทุน” คือคำถามที่นัททิ้งไว้

หวั่นใจอกหักซ้ำ เมื่อ ‘ศีลธรรม’ ต้องมาก่อนกฎหมาย?

ด้าน ‘ออฟ’ ตัวแทนจากพรรคเขียวจรรโลงโลก จับไมค์เปิดใจว่า เราไม่รู้ว่าความถูกต้องคืออะไร ใช้คำว่า ‘ศีลธรรมมาก่อนกฎหมาย’ คนป่วยก็รอใช้ยา อยากได้น้ำมัน เรื่องกัญชาทางการแพทย์เหมือนจะดี แต่ก็ยังไม่ถูกใจประชาชน

ขบวน 420 เราพวกกัญ แน่นถนนข้าวสาร เมื่อ ‘วันกัญชาโลก’ 20 เมษายนที่ผ่านมา

“ผมรู้สึกว่าทำไมมันยากเย็น เห็นคนใกล้ตัวเราป่วยเยอะ ไม่รู้ว่าหลังจากวันที่ 9 มิถุนายนจะเกิดอะไรขึ้น ขยับมาขนาดนี้ คงถอยไม่ได้แล้ว แต่จะไปบังคับอะไรตรงไหน เหมือนจะจ่อเปิด แต่ไม่ได้เปิดเสรีแบบสูบได้ เชื่อว่าการแพทย์จะง่ายขึ้น แต่เรื่องการใช้ เจ้าของกระทรวงดูเหมือนไม่เห็นด้วย เราควรทำความเข้าใจกันใหม่ และขับเคลื่อนต่อไป ให้ผู้ป่วยได้ใช้ก่อน” ออฟระบุ

ตัดภาพมาที่ ‘ซิดนีย์’ จากสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน ที่มองว่าระเบียบส่วนใหญ่มีไว้เพื่อกีดกัน เหมือน เบียร์ เหล้า ซึ่งผูกขาดกันมานาน ยิ่งเป็นเรื่องกัญชา ผลประโยชน์มหาศาล พ.ร.บ.นี้ไม่น่าเสร็จทัน 120 วันแน่นอน

“ผมไม่คิดบวก จากที่ขับเคลื่อนมา ยากไปหมด ณ ปัจจุบันกัญชากำลังจะถูกกฎหมาย แต่ในส่วนภาครัฐ หากดูในอำนาจ ต้องมีระเบียบมาคุมภายใต้ พ.ร.บ.อีกชั้น ไม่อยากให้ฝันหวาน ถ้าทำได้ ผมก็พร้อมปรบมือหนุน แต่ถ้าไม่ได้ โดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็อกหักแล้วอกหักอีก เทใจให้ไปแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้ นี่คือก้าวแรก ขอให้ร่วมจับตาดูว่า เราจะมีสิทธิใช้ได้มากแค่ไหน ไม่อย่างนั้น เผลอแป๊บเดียวร่วง” ซิดนีย์ระบุ

บทเรียน ‘กฎหมายผูกขาด’ เสรีที่ไม่จริง?

อีกหนึ่งกลุ่มที่ส่งเสียง หวั่นว่าอนาคตกัญชาในภาคธุรกิจ จะถูกผูกขาดยิ่งกว่าเหล้าเบียร์

“กัญชาชน” มองว่า ในประเทศไทย ถ้าจะผลิตและบรรจุเบียร์มาขายอย่างถูกกฎหมายได้ ต้องมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และต้องผลิตมากกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ทั้งยังมีกฎหมายปิดปากห้ามโฆษณา ห้ามโพสต์รูปเบียร์ ห้ามพูดถึง ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดสินค้าใหม่ในตลาดได้ง่าย ทำให้มีเบียร์อยู่เพียงไม่กี่เจ้าในประเทศไทย รวยอยู่แค่ไม่กี่คน นี่คือ บทเรียนและความน่ากลัวของกฎหมายผูกขาด ที่เอาสุขภาพของประชาชนมาแอบอ้าง

ด้าน กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายกัญชา อย่าง “ปลดปล่อยกัญชา” (Cannabis Liberation) ชี้ว่า กัญชายังผิดกฎหมายเพราะ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ.2561 ซึ่งยังปรากฏชื่อสาร THC อยู่ จึงประกาศจุดยืนเมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา ให้ ยกเลิกประกาศ สธ.เกี่ยวกับกัญชาทุกฉบับ และไม่รับ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยให้เหตุว่า ปัจจุบันกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดตามอำนาจของประมวลกฎหมายยาเสพติด 2565 และการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26

ควันยังไม่ทันจาง ล่าสุด 25 เมษา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ออกประกาศใหม่ ลงในราชกิจจานุเบกษา กำหนดหลักเกณฑ์ การสารเสพติดในร่างกาย ปรากฏชัดในข้อ 10.3 กลุ่มกัญชา (Cannabis) หากตรวจพบในปัสสาวะ ตั้งแต่ 50 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ขึ้นไป = เสพยาเสพติด

นำมาซึ่งเสียงอุบพ้อ ตัวตั้งตัวตี ผลสุดท้ายคดีพลิก ‘เสรีที่ไม่เสรี’ สรุปว่า หลัง 9 มิถุนา ยังตรวจฉี่กัญชา มีบัตรอะไรก็ยังสูบไม่ได้ เพราะไม่เอาสันทนาการ

ช่อขวัญ คิตตี้ ช่อผกา ผู้ก่อตั้ง บริหาร บริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด ผู้นำด้านองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมกัญชาของไทย ให้ความเห็นบนเฟซบุ๊ก หลังทราบข่าวประกาศฉบับใหม่ ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายในเชิงสันทนาการ แปลว่าไม่ได้ต้องการให้มีการค้าขายอย่างถูกกฎหมาย

“คิดง่ายๆ ถ้าไม่ให้ใช้ ปลูกแล้วไปไหน? เพราะถ้าไม่มีผู้ใช้ ก็แปลว่าไม่มีผู้ซื้อ ขนาดเด็ก ป.3 ยังรู้เลย” ช่อขวัญชี้ ก่อนนัดหมาย 9 มิถุนายนนี้ พร้อมระบุว่า “เจอกัญอีก ไม่ใช่งานตี้ แต่ขอจัดหนักๆ หน่อย”

วงเสวนาของเหล่า ‘กัญชาชน’

กฎกัญชา ลอกจาก ‘เบียร์’? เดินหน้าล่าชื่อ ดัน พ.ร.บ.ประกบ

“ผมคือ ส.ส.เท่า ที่ทำเบียร์แล้วโดนจับ ผมใช้กัญชาสันทนาการมาตั้งแต่อายุ 15 เกินครึ่งชีวิต

ไม่มีภาวะการแพทย์อะไรหรอก ไม่รู้เรียนจบธรรมศาสตร์มาได้อย่างไร ในฐานะผู้แทนราษฎร ฟังตั้งแต่เวทีนู้น มาเวทีนี้ เห็นด้วยทุกเรื่อง มันไม่น่าใช่เรื่องอะไรที่ยาก เข้าใจทุกคนจริงๆ”

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล พูดไว้ในเวทีเสวนาของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ก่อนตอบข้อสงสัยว่า การออกกฎหมายแต่ละฉบับมาควบคุมการผลิต ต้องมีที่มาสมเหตุสมผลหรือไม่?

“กฎหมายต้องมีความสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นใครจะเชื่อฟังกฎหมาย ห้ามทำเหล้าปั่น ห้ามดองเหล้าบ๊วย อธิบายได้หรือไม่ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมพูดคุย”

เท่าพิภพมองว่า กฎกระทรวงทุกอย่างของกัญชา ลอกมาจาก ‘เบียร์’ ทั้งยังเอาขึ้นมาเป็น พ.ร.บ.ในบางส่วนด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีกฎหมายมาควบคุม แต่ต้องทำให้ชัดเจน ทั้งเบียร์ และกัญชา ความฝันของเราสุดท้าย คือสันทนาการ ในแง่เศรษฐกิจ ที่เข้าถึงได้ทุกคนโดยมีมาตรฐานบางอย่างร่วมกัน

“เอาอย่างนี้หรือไม่ ทำเป็น sandbox ใน จ.นครพนม หนองคาย ที่ดังเรื่องไทยสติ๊ก ชูให้นักท่องเที่ยวไปภาคอีสาน ไม่ต้องไปภูเก็ตก็ได้ นี่คือการกระจายรายได้และสร้างกิมมิกของแหล่งท่องเที่ยว ทำสัก 1 ปีแล้วศึกษา เมาแล้วขับเป็นอย่างไร รายได้ท้องถิ่นเป็นอย่างไร เชื่อเถิดว่าถ้าทำได้เปลี่ยนทั้งประเทศ จ.หนองคาย อาจจะมี BTS ก่อนเชียงใหม่ได้ด้วยวิธีนี้ เรามีความฝันเหมือนกันหมด แต่ต้องเดินขึ้นบันไดไปด้วยกัน

เขาพยายามกัดเซาะเราไปเรื่อยๆ ให้ทุกอย่างเป็นของพวกเขา ทั้งที่มันเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นของเรา เรื่องเล็กๆ แค่นี้ยังให้ไม่ได้เรามีความหมายในประเทศนี้จริงหรือ?” ส.ส.เท่าพิภพสงสัย

ก่อนเดินหน้าชวนกัญชาชน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฉบับประชาชน โดยลง 10,000 รายชื่อออนไลน์ เพื่อเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาก้าวไกล เข้าสภา เพื่อพิจารณา ประกบกับร่าง พ.ร.บ.กัญชาของพรรคภูมิใจไทย ก่อนปิดท้ายว่า

“เเล้ววันนั้นเรามารอดูกันว่า สภาที่มักพูดว่าเป็นผู้เเทนของประชาชน จะว่ากันอย่างไร?”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image