ครบรสดราม่า 5 ทศวรรษ ‘บ้านเชียง’ อภิมหาตำนานที่ไม่ต้องการตอนจบ

2688_1500x2241 (1)ยังแทบไม่ทันสิ้นเสียงเฮจากการรับมอบโบราณวัตถุล็อตใหญ่กว่า 500 รายการคืนจากอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 เพียง 1 ปีเศษถัดมา คือช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ Mingei International ในประเทศมหาอำนาจเจ้าเดิม ก็ส่งโบราณวัตถุ 76 รายการ ขึ้นเครื่องบินมาคืนแแก่ชาวไทยอีกครั้ง โดยโบราณวัตถุจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมด ล้วนมาจาก “บ้านเชียง” แหล่งโบราณคดีสำคัญระดับตำนาน ที่ทำให้อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นที่กล่าวถึงไปทั่วโลก ด้วยการค้นพบอารยธรรมที่ในขณะนั้นเชื่อกันว่าเก่าแก่อันดับต้นๆ ของโลก (ซึ่งต่อมาพบว่าไม่จริง)

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ครบรอบ 50 ปีของการค้นพบแหล่งโบราณคดีดังกล่าว ซึ่งล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีแย้มว่าจะจัดงานฉลองใหญ่ ฝ่ายสถาบันการศึกษา ก็เริ่มจัดงานเสวนาวิชาการย้อนรอยกันแล้ว

เรียกได้ว่า แววคึกคักทยอยมาเป็นระลอก

ช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ล่วงผ่าน ความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับบ้านเชียงแทบไม่เคยเลือนหาย หากแต่กลายเป็นเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยสีสัน ราวกับภาพยนตร์ครบรส ทั้งสุข เศร้า ระทึกขวัญ ส่วนไคลแมกซ์นั้นก็ชวนติดตามอย่างห้ามกะพริบตา

Advertisement

และต่อไปนี้คือฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ไม่อิงบทหนัง!

เปิดเรื่องด้วยปริศนา
อารยธรรมล้ำค่าที่สาบสูญ

อาจฟังเหมือนนิยายขายดีที่ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ แต่นี่คือเรื่องจริงของการค้นพบอันเหลือเชื่อเมื่อ สตีเฟน ยัง นักศึกษา ม.ฮาร์วาร์ด บุตรชายเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตลาวพวนที่

ชุมชนเล็กๆ ชื่อว่า บ้านเชียง เมื่อ พ.ศ.2509 แล้วสังเกตเห็นเศษหม้อเขียนสีกระจายบนผิวดิน จึงเก็บไปให้ ศ.ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ช่วยตรวจสอบ ก่อนจะทราบคำตอบอันน่าตื่นตะลึงว่า มันคือภาชนะดินเผายุคหินใหม่

Advertisement

ในปีต่อมา กรมศิลปากรจึงเข้าไปขุดค้นอย่างจริงจัง พบชุมชนใหญ่ที่กลายเป็นโครงกระดูกทอดกายใต้ผืนดิน รายล้อมด้วยภาชนะดินเผาหลากรูปแบบ เครื่องใช้สัมฤทธิ์ กระดูกสัตว์ เครื่องประดับงดงามอย่างลูกปัดหิน แก้ว ชวนตื่นตาตื่นใจและกระหายใคร่รู้ข้อมูลเชิงวิชาการ

ครั้นส่งโบราณวัตถุไปตรวจค่าอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่ ม.เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ก็ได้ตัวเลขออกมาถึง 5,600 ปี

หลังจากนั้น มีการขุดค้นบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งต่อมาได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของเมืองไทย

 

บ้านเชียง หมู่บ้านลาวพวนในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการค้นพบแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ (ภาพถ่ายเมื่อราว 30 ปีก่อน)
บ้านเชียง หมู่บ้านลาวพวนในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการค้นพบแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ (ภาพถ่ายเมื่อราว 30 ปีก่อน)

 

พล็อตการเมือง เรื่องโบราณคดี
ปมค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ

ไม่เพียงนักโบราณคดีทั้งไทยและเทศที่จับมือกันร่วมเปิดตำนานแห่งอารยธรรมอย่างขยันขันแข็ง แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ร่วมแรงกันขุดใต้ถุนบ้านเพื่อขายให้นายทุนซึ่งมากว้านซื้อถึงที่ บ้างก็ว่ามีใบสั่งจากคนมีสี ที่หนักกว่านั้นคือ การขนเป็นล็อตใหญ่ส่งไปต่างแดน นำมาซึ่งเหตุการณ์ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ต่างกับภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนฝั่งฮอลลีวู้ด

ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ มีบทบาทต่อการขุดค้นที่บ้านเชียง เคยเปิดเผยถึงเรื่องราวของเศรษฐีต่างชาติที่จงใจควักกระเป๋าซื้อแล้วมอบให้พิพิธภัณฑ์โดยตั้งราคาสูงเกินจริงเพื่อ “โกงภาษี” ในมูลค่าที่สร้างความเสียหายทางการเงินให้สหรัฐ ถึงขนาดส่งเอฟบีไอมาสืบข้อมูลถึงเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน

 

พิสิฐ เจริญวงศ์เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเชียงไว้ในหนังสือ 'ปล้นอดีตที่บ้านเชียง' ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518 , ภาชนะดินเผาเขียนสีแดง พบที่บ้านเชียง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
พิสิฐ เจริญวงศ์เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเชียงไว้ในหนังสือ ‘ปล้นอดีตที่บ้านเชียง’ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518 , ภาชนะดินเผาเขียนสีแดง พบที่บ้านเชียง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ส่วนเส้นทางการขนย้าย ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อดีต ผอ.ศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมือง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคนั้น ภาคอีสานของไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญของอเมริกา โบราณวัตถุส่วนหนึ่งจึงถูกนำออกนอกประเทศทางเครื่องบิน แต่ยังน้อยกว่า “ทางเรือ” ซึ่งไม่ค่อยเข้มงวดในการตรวจตรา โดยร่ำลือกันว่ามีปริมาณและมูลค่ามหาศาล

เมื่อเวลาผ่านไป มีการ “ทวงคืน” โบราณวัตถุไทยในต่างประเทศ ซึ่งปฐมฤกษ์มองว่า “การเมือง” มีส่วนเกี่ยวข้องและส่งอิทธิพลต่อการดำเนินการ โดยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปพบเศียรพระนารายณ์ที่พิพิธภัณฑ์ที่กรุงเบอร์ลิน ได้กลับมากราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ครั้นเสด็จประพาสยุโรป จึงตรัสแก่ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ต่อมาจึงมีการส่งคืนสยามในที่สุด

นอกจากนี้ บางประเทศมีหน่วยงานแบบเดียวกับกรมศิลปากร การขอคืนโบราณวัตถุก็อาจไม่ยากนัก อีกทั้ง หากเป็นพิพิธภัณฑ์ของราชการ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้นโยบายรัฐซึ่งเคารพกติการะหว่างประเทศ คือ “ไม่เก็บของโจร” แต่บางประเทศที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมคือ หากเจอของอยู่ในที่ดินของใคร คนนั้นเป็นเจ้าของ ก็ยากจะทวงคืน

ใครว่าโบราณคดีไม่มีการเมือง อาจต้องทบทวนใหม่

กำไลสัมฤทธิ์และลูกปัดแก้ว พบที่บ้านเชียง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
กำไลสัมฤทธิ์และลูกปัดแก้ว พบที่บ้านเชียง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

คนดีไม่มีวันตาย
หมู่มารพ่ายฝ่ายธรรมะ

ผ่านฉากเข้มข้นระคนโศกเศร้ากับการลักลอบขุดแล้ว ก็ถึงเวลาเปิดตัวพระเอกสั่งสอนตัวโกง จรรโลงคติธรรม

ศ.เกียรติคุณ ปรีชา กาญจนาคม อดีตหัวหน้าภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดใจในงานเสวนา “บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย” ซึ่งจัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลังจากมีการค้าโบราณวัตถุขนานใหญ่ ในที่สุดรัฐบาลก็ออกประกาศว่า ผู้ครอบครองโบราณวัตถุบ้านเชียงต้องแจ้งกรมศิลปากร ปรากฏว่า ได้รับแจ้งเกือบ 100 ราย รวมถึงนายแพทย์ท่านหนึ่ง ซึ่งกว้านซื้อไม่อั้น

“ผมไปถ่ายรูป เตรียมยึดคืน หมอยืนร้องไห้หน้าประตู เพราะของเยอะมาก ต้องใช้รถกระบะขน 2 วัน ตอนแรกเขาจะไม่ยอม ผมเลยถามว่า ระหว่างคืนสมบัติชาติกับติดคุก จะเอาอย่างไหน ส่วนชาวบ้านที่ขายให้ ผมไม่โทษเขา เพราะทำงานทั้งปีได้ 2,000 ขายหม้อใบเดียวได้ 3,000 อาจารย์มหาวิทยาลัย พระ นายทหาร มีสะสมไว้ทั้งนั้น”

ปิดท้ายความวุ่นวายด้วยการตัดไฟแต่ต้นลมโดยการออกกฎหมายห้ามการลักลอบขุด มีโทษจำคุก และมาตรการต่างๆ สืบมาถึงทุกวันนี้

(จากซ้าย) เอิบเปรม วัชรางกูร, ปฐมฤกษ์ เกตุทัต, สุมิตร ปิติพัฒน์, ปรีชา กาญจนาคม, และ พจนก กาญจนจันทร ในเสวนา ‘บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย’

 

อวสานโลกสวย

หลังความร้อนแรงด้านการลักลอบค้าซาลงไป บ้านเชียงก็ผงาดขึ้นอีกครั้งหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535 แต่ความคืบหน้าในการศึกษาไม่ค่อยมีมากนัก จะมีบ้างก็เป็นของ รศ.สุรพล นาถะพินธุ ซึ่งมุ่งมั่นค้นคว้าเรื่องโลหกรรมดึกดำบรรพ์ โดยต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานในโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เปลี่ยนชื่อมาจากโครงการโบราณคดีบ้านเชียง ก่อนจะพบความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณอีกหลายแห่งที่เชื่อมโยงกับแหล่งถลุงโลหะในอีสาน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง

ตัดฉากมายังช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ไทยได้รับคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศ รวมถึงคืนโบราณวัตถุให้ประเทศอื่นด้วยเช่นกัน อันเป็นแนวคิดในโลกปัจจุบัน ที่เขาทยอยส่งข้าวของกลับบ้านเกิด หากเรื่องนี้คือภาพยนตร์ ก็เหมือนจะใกล้ถึงตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ความเป็นจริง (ยัง) ไม่ใช่!

สหวัฒน์ แน่นหนา อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ไทยยังไม่ได้ลงนามสนธิสัญญา THE 1970 UNESCO Convention อันว่าด้วยการมอบคืนโบราณวัตถุสู่ประเทศต้นกำเนิด เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกหลายฉบับ และหลายฝ่าย เช่น ศุลกากร เป็นต้น แม้จะเป็นประเด็นที่พูดกันมาหลายปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

อย่างไรก็ตาม ไทยเรามีการทำสัญญากับกัมพูชา ซึ่งไทยคืนโบราณวัตถุให้แล้ว 2 ครั้ง ใน พ.ศ.2552 และ 2558 อีกทั้ง มีการลงนามความร่วมมือกับเปรู หากฝ่ายใดพบโบราณวัตถุของอีกแห่ง ให้ส่งคืน

ขวานสัมฤทธิ์แบบมีบ้องและหินดุ เครื่องมือสำหรับขึ้นรูปภาชนะดินเผา พบที่บ้านเชียง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ขวานสัมฤทธิ์แบบมีบ้องและหินดุ เครื่องมือสำหรับขึ้นรูปภาชนะดินเผา พบที่บ้านเชียง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

บ้านเชียงอายุเท่าไหร่?
ดราม่าที่ต้องฉายซ้ำ

อีกหนึ่งประเด็นที่กลายเป็นฉากดราม่าขึ้นมาทุกครั้งก็คือ อายุสมัยของบ้านเชียงที่ถกเถียงกันมายาวนาน และทุกครั้งที่มีการวิเคราะห์ใหม่ ความเก่าแก่ขรึมขลังของบ้านเชียงก็ค่อยๆ ลดลงไปทุกที

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนไว้ในหนังสือ “เหล็ก โลหะปฏิวัติ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2548 โดยระบุว่า การกำหนดอายุสัมฤทธิ์ด้วยคาร์บอน 14 ที่เชื่อว่าดีที่สุดนั้น พบว่าบ้านเชียงมีอายุถึง 5,600 ปี เก่าแก่กว่าตะวันออกกลาง จีน และอินเดีย ซึ่ง ศ.เชสเตอร์ กอร์แมน หัวหน้าทีมขุดค้น ได้ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์เผยแพร่ไปทั่วโลก สร้างความตื่นเต้นกับความเป็นยุคสัมฤทธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก กระทั่งเมื่อการขุดค้นและศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีในเวียดนามและจีนตอนใต้ พบว่าอายุของยุคสัมฤทธิ์ที่บ้านเชียงลดเหลือเพียง 3,500-3,000 ปี

 

ทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จาก ม.เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา (คนยืนขวาสุดคือ เชสเตอร์ กอร์แมน ผู้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับบ้านเชียงจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก)
ทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จาก ม.เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา (คนยืนขวาสุดคือ เชสเตอร์ กอร์แมน ผู้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับบ้านเชียงจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก)

ล่าสุด เมื่อต้นปี 2557 ศ.ชาร์ล ไฮแอม จาก ม.โอทาโก นิวซีแลนด์ และ ศ.โทมัส ไฮแอม บุตรชาย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรดิโอคาร์บอน ที่ ม.ออกซ์ฟอร์ด ได้กำหนดอายุใหม่โดยใช้กระดูกมนุษย์โดยตรง ได้ผลว่า ยุคเก่าสุดของบ้านเชียงคือ หินใหม่ อายุราว 3,500 ปีมาแล้วนี้เอง ยุคสัมฤทธิ์อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว และยุคเหล็กราว 2,500 ปีมาแล้ว ค้านกับอายุที่ ดร.จอยซ์ ไวท์ เคยเสนออายุไว้ว่า ยุคเก่าสุดของบ้านเชียงอยู่ที่ 4,300 ปี โดยใช้ตัวอย่างจากภาชนะดินเผา

ค่าอายุดังกล่าว ถูกนำเสนอต่อนักวิชาการและผู้สนใจที่เนืองแน่นห้องประชุมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร รวมถึงการให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เวลาคนพูดว่า บ้านเชียงเป็นชุมชนยุคสัมฤทธิ์แรกเริ่มของโลกนั้น มันเป็นเรื่องเหลวไหล” เรียกเสียงครางฮือจากประชาชนชาวไทยที่ยังมีความทรงจำเดิมเกี่ยวกับความเก่าแก่ของบ้านเชียง

นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อายุบ้านเชียงที่ปรากฏในซีดีรอมความรู้ต่างๆ ที่ทำขายทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีแต่ในเมืองไทยที่ยังตรึงไว้ 5,600 ปีเหมือนเดิม แม้กระทั่งวันนี้

ทิ้งท้ายภาคต่อ
วิเคราะห์รหัสลับ

สิ่งที่ยังแปลความไม่แตก เช่น ลวดลายหมุนวน ซึ่งบ้างก็สันนิษฐานว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ บ้างก็ว่า อาจสะท้อนความเชื่อที่เป็นนามธรรม อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เชื่อว่าเป็นลาย “ขวัญ” เพราะซ้อนวนหลายชั้นเหมือนขวัญบนศีรษะ อีกทั้งการฝังร่วมกับศพ อาจเป็นการเรียกขวัญคนตายคืนร่างก็เป็นได้

นี่คือเหตุการณ์เพียงส่วนหนึ่งของบ้านเชียง ที่คงไม่ได้ต้องการตอนจบ หากแต่การค้นพบ ศึกษา ตีความ และตั้งคำถามใหม่ๆ ยังต้องดำเนินต่อไป ภายใต้หลักฐานทางวิชาการที่คงไม่มีใครจงใจใช้ลบล้างความน่าเชื่อถือในตัวบุคคลของอีกฝ่าย ทว่า เป็นการล้มล้างความน่าเชื่อถือของหลักฐานและการตีความต่างหาก

 

(จากซ้าย) รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ ปรีชา กาญจนาคม อดีตหัวหน้าภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้มีบทบาทในการยึดคืนโบราณวัตถุจากบ้านเชียงซึ่งเอกชนกว้านซื้อ
(จากซ้าย) รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ ปรีชา กาญจนาคม อดีตหัวหน้าภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้มีบทบาทในการยึดคืนโบราณวัตถุจากบ้านเชียงซึ่งเอกชนกว้านซื้อ

 

(จากซ้าย) สุมิตร ปิติพัฒน์ ผู้มีอุปการคุณต่อพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขุดค้นที่บ้านเชียง , พจนก กาญจนจันทร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีโบราณวัตถุจากบ้านเชียงให้ชมจำนวนมาก
(จากซ้าย) สุมิตร ปิติพัฒน์ ผู้มีอุปการคุณต่อพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขุดค้นที่บ้านเชียง , พจนก กาญจนจันทร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีโบราณวัตถุจากบ้านเชียงให้ชมจำนวนมาก

ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลบางส่วนจากเอกสารประกอบงานเสวนา ‘บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย’ โดย พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 02 – 564-4440 – 50 ต่อ 1752-54

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image