วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู หัวเรือใหญ่ ‘ซีพีแรม’ ลุยโปรเจ็กต์ ‘ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย’

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู หัวเรือใหญ่ ‘ซีพีแรม’ ลุยโปรเจ็กต์ ‘ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย’

‘เรามุ่งมั่นในการส่งมอบอาหาร เพื่อความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน’

คือวิสัยทัศน์องค์กรของ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งมี วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ

ผู้มีความเชี่ยวชาญในระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ (Modern Management) และวิศวกรรมศาสตร์ในธุรกิจอาหาร

ดีกรีปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตอาร์ลิงตัน และปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

Advertisement

คว้ารางวัลดีเด่น การันตีองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนหมาดๆ เมื่อปี 2564 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ด้วยเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม การันตีคุณภาพด้วยยอดขายและการส่งออกในระดับนานาชาติ ‘ซีพีแรม’ จึงสร้างสรรค์โปรเจ็กต์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารตามแนวทาง FOOD 3S (Food Safety, Food Security and Food Sustainability) จัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ได้แก่ ชาวประมง, บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด (ผู้แปรรูปเนื้อปู), บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ผู้ผลิตอาหาร) และผู้บริโภค รวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้การจัดการอนุรักษ์คุ้มครอง และการพัฒนาการประมงปูม้าในท้องทะเลไทย

เป็นโครงการน่าสนใจที่ต้องขอเจาะลึกถึงที่มาที่ไปและความในใจจาก วิเศษ กรรมการผู้จัดการผู้สวมชูชีพลงพื้นที่เกาะเสร็จ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่ามกลางแสงแดดสดใสในฤดูร้อนปลายเมษายน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเปิดใจพูดคุยถึงการบริหารจัดการในวันที่ต้นทุนทางพลังงานสูงขึ้นอย่างยากปฏิเสธ ไหนจะสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องหลากหลายสายพันธุ์สู่โอมิครอนในวันนี้

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู หัวเรือใหญ่ ‘ซีพีแรม’ ลุยโปรเจ็กต์ ‘ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย’

⦁ ก่อนอื่นอยากให้เล่าถึงแนวคิดของโครงการ “ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร?

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความห่วงใยของบริษัทซีพีแรมซึ่งเห็นว่าในห่วงโซ่อุปทานที่เป็นต้นน้ำตั้งแต่วัตถุดิบ ผลิต จนถึงปลายน้ำถึงผู้บริโภคจะต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัย ความยั่งยืน ความมั่นคง ในส่วนนี้จะเห็นว่าปูม้าเป็นสัตว์ที่เราเลี้ยงไม่ได้ในไร่ปศุสัตว์ทั้งหลาย แต่เป็นปูม้าที่จับจากทะเล ถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติให้อยู่คู่ทะเลไทยต่อไป เราจึงส่งเสริมด้วยการให้ทุนสนับสนุนศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 สุราษฎร์ธานีในการพัฒนาปูม้าตัวเล็กๆ ที่เพิ่้งออกจากแม่ซึ่งมีโอกาสรอดทางธรรมชาติต่ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่น ทำอย่างไรจะมีอาหารเพียงพอให้เขาได้เติบโต

ดังนั้น ปูจะอยู่ในศูนย์เพาะเลี้ยงจนกระทั่งได้ระยะ Young Crab ซึ่งขนาดตัวเท่ากระดุม โอกาสรอดเกือบเต็มร้อย สามารถปล่อยลงทะเล เติบโตขึ้นสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้เรามีปูม้ารับประทานได้อีกเรื่อยๆ ถึงแม้เราไม่ได้เลี้ยงเอง แต่เขาเติบโตในธรรมชาติได้อย่างแข็งแรง โดยจะปล่อยบริเวณเกาะเสร็จ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัยในน้ำที่ไม่ลึกนัก ปูม้าสามารถว่ายน้ำออกมาหาอาหารแล้วก็ซุกตัวอยู่ในทรายได้ ซึ่งเป็นโอกาสให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

⦁ ในการปล่อยปูยังต้องรอผลในระยะยาว ในเบื้องต้นมีแนวทางที่จะทำให้ได้ผลที่เร็วกว่านี้ หรือหนทางอื่นอย่างไรในอนาคต?

เราศึกษามาเยอะมาก ว่าถ้าเราจับปูม้ามาเป็นอาหารต่อไปต่อไปเรื่อยๆ จะพอเป็นอาหารให้มนุษย์รับประทานได้ไหม แล้วถ้าไม่ทัน ก็เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการไร้ซึ่งความยั่งยืน จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีได้ต่อเนื่อง เราพบว่าปูม้าที่อยู่ในทะเล สิ่งแรกก่อนเลยโดยธรรมชาติมันแพร่พันธุ์ได้ แต่มันแพร่พันธุ์แล้ว มันสูญหายไประหว่างที่อยู่ในระยะที่เรียกว่า zoea คือออกเป็นไข่มาตัวเล็กๆ ยังไม่เป็นรูปร่างของปูเต็มตัว ตัวมันจะยาวๆ แล้วก็มีแขนขาแล้วมันจะหดสั้นจนเป็นตัวปู ช่วงนั้นมันเป็นอาหารของคนอื่น ปลาก็กินเขา ปูตัวใหญ่ด้วยกันยังกินเขา ก็เป็นอาหาร และจะน้อยลง และมีอย่างหนึ่งที่เราจะทำได้คือ ถ้าเราขังเขาอยู่ในที่ที่ไม่ถูกตัวอะไรกินเลย ตรงนี้เราถึงหาวิธีป้องกันเขา แล้ววิธีป้องกันเขาวันนี้ ดีที่สุดคือมนุษย์ต้องไปสภาวะนั้น ผมคิดว่ามาวันนี้เราต้องปล่อย Young Crab เพื่อการันตีความอยู่รอดของปู แต่ถามว่าเราปล่อยแค่ไหนถึงจะชดเชยที่เรากินคงจะไม่ใช่ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ พอถึงเวลานั้นเราก็ไปตามจับแม่ปูด้วย มันก็เป็นไปไม่ได้อีก เกิดด้วยความบังเอิญว่า เวลาชาวประมงจับปูมา พอพบแม่ปูที่มีไข่จะรีบคัดออกเพื่อนำเข้าศูนย์วิจัยเพื่อให้ลูกปูออกมา ลูกปูพวกนี้เยอะมาก ตัวหนึ่งมี 5 หมื่นถึง 1 ล้านตัว ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่ปูที่ใหญ่ที่เจริญพันธุ์แล้ว

เรื่องความยั่งยืน ผมคิดว่าเราต้องร่วมมือกันทั้งหมดทุกคน ไม่ใช่เพียงแต่ซีพีแรมกับทางศูนย์วิจัยเท่านั้น ถ้าเรามีความเข้าใจถึงวงจรชีวิตของมัน เราต้องทำมากกว่านั้น เช่น ชาวประมงพอลากอวนขึ้นมาแล้วติดแม่ปู ปล่อยมันลงไปเลย อย่างน้อยมันจะไม่มาขึ้นฝั่งแล้วตายก่อน อันนี้คือความร่วมมือทีละเล็กทีละน้อยที่ต้องช่วยกันด้วย

⦁ นอกจากโครงการปูม้าฯแล้ว เห็นได้ว่าโรงงานซีพีแรม สาขาสุราษฎร์ธานี ใช้แผงโซลาร์ค่อนข้างเยอะ สะท้อนการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สำหรับพลังงานทดแทนที่นำมาใช้ในโรงงานมีสัดส่วนมากน้อยขนาดไหนและคิดว่าทิศทางจะเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง?

โซลาร์รูฟเป็นความมุ่งมั่นของเราตั้งแต่สมัยที่คิดเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด เราคิดอยู่ตลอดว่างานอุตสาหกรรมทุกแห่งใช้ไฟฟ้าแล้วก็ต้องใช้พลังงานอื่น เช่น เราใช้น้ำมันใน Boiler (เตาต้ม) ในการทำให้เกิดเป็น Steam (ไอน้ำ) คิดว่าทำอย่างไรให้พลังงานเหล่านี้ใช้พลังงานสะอาดทดแทนเพื่อไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาสู่ภายนอก แสงแดดเป็นสิ่งที่เรามีสม่ำเสมอ แต่ดวงอาทิตย์ไม่แน่ไม่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะใช้แสงแดดต้องทำโซลาร์ฟาร์ม เราต้องมีที่มาตั้งแผงโซลาร์ แต่พื้นที่ตรงนั้นที่เราได้ฟรี และเกิดขึ้นได้ทันที คือหลังคาของเราเอง พอเราได้ตรงนี้เลยมีนโยบายติดตั้งโซลาร์รูฟทุกแห่งในโรงงานซีพีแรม เรามี 7 โลเกชั่นทุกแห่งเต็มไปด้วยโซลาร์รูฟ

สิ่งที่ได้กลับคืนมานอกเหนือจากที่คิดในตอนแรกว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก คือค่าไฟถูกลง

ในขณะที่ค่าไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่แน่ไม่นอน ตอนนี้ราคาก็ขึ้นไม่ว่าน้ำมันหรือก๊าซ แต่แผงโซลาร์ที่เราลงทุนในครั้งเดียว ตอนนี้ถูกที่สุด เราได้ 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน คือได้พลังงานสะอาดและได้พลังงานที่ถูกกว่าเดิมด้วย เราสามารถเซฟเงินทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้าปีละ 9 ล้านบาท จากโซลาร์รูฟท็อป ต่อทั้งหมด 7 โรงงานที่เราทำได้ในวันนี้ ประเทศไทยโชคดีที่เรามีแสงอาทิตย์ที่ค่อนข้างดีในการทำพลังงานไฟฟ้าก็ลงทุนได้อยู่บ้าง คุ้มค่าและเป็นพลังงานที่สะอาดมาก

⦁ ในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการลอยตัวขึ้นราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซลต่างๆ ที่จะปรับราคาขึ้น มองเป็นจุดตัดสำคัญหรือไม่ในเรื่องราคาสินค้า

เรารู้ว่าอะไรควบคุมได้ เราก็ควบคุมให้ต้นทุนเราต่ำ อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องรับสภาพนั้น เช่นน้ำมันขึ้นราคา เราควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องรับสภาพของการที่เรากำไรน้อยลง ต้องพยุงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ แต่ถ้าวันหนึ่งมันขึ้นจนหมด ก็จำเป็นต้องขึ้นจริงๆ แต่ก็จะรอดูเวลานั้นก่อน เราจะต้องเป็นรายสุดท้ายที่คิดว่าขยับตัวขึ้นเพื่อความอยู่รอดของห่วงโซ่อุปทาน

⦁ ปัจจุบันเครื่องจักรมีบทบาทอย่างมากในโรงงานอุตสาหกรรม มีแนวทางบริหารจัดการอย่างไรระหว่างแรงงานคนและเทคโนโลยี

แรงงานตรงไหนที่เหนื่อย ที่ต้องทำซ้ำๆ และหนัก เราพยายามจะใช้ Robotic Process Automation (RPA) โรงงานตรงที่ร้อนจัดๆ หรือหนาว เช่น ที่หน้าเตาร้อนมาก ก็ใช้เครื่องจักรกลเข้าไปผัดข้าว ข้าวผัดปูเมื่อก่อนเราใช้คนผัด ใช้เครื่องกวนปกติไม่ได้ เพราะมันไม่ได้จดจำแอ๊กชั่นของมนุษย์ มันจะกวนอย่างเดียวซึ่งไม่ทั่วถึง แต่พอเรามาศึกษาเรื่องหุ่นยนต์ว่าสามารถจำลอง Robot arm (แขนกลอุตสาหกรรม) ทำงานแทนคนได้โดยผัดได้ทั่วถึงและมีกลิ่นกระทะด้วย ในที่สุด Robot arm ก็มาแทนที่คน

งานที่เหนื่อยมาก งานหนักมาก สิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยสบายกับมนุษย์ เราใช้ Automation เป็น Robotic ในส่วนที่มีคนทำงานก็จะเริ่มเป็นการทำงานแบบ Co-Bot คือมนุษย์กับหุ่นยนต์ทำด้วยกัน ซึ่งมีการช่วยให้คนทำงานง่ายยิ่งขึ้น เรายังใช้คนงานอยู่ คนไม่ได้ลดเลย แต่สวิตช์ไปงานอื่น ไปงานง่าย งานสบาย ในโซนที่ไม่อันตราย คนเราเวลาทำงานไปหลายๆ ชั่วโมงจะเหนื่อย ความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น

นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่เจริญก้าวหน้าทุกแห่งในโลกนี้ วันหนึ่งอุตสาหกรรมก็จะเจริญด้วยการใช้คนน้อยลง แม่นยำขึ้น คุณภาพดีขึ้น

สำหรับเรื่องค่าแรง ก็มีการปรับขึ้น ถ้าเราไม่ขึ้นเงินเดือน คนก็ต้องซื้อของชิ้นเดิมในราคาแพงขึ้น ทุกประเทศมีการเพิ่มรายได้จากการชดเชยเงินเฟ้อ ซีพีแรมไม่เคยกำหนดค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ มีแต่มากกว่าอย่างมากมาย

⦁ ขอย้อนถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง และแก้ไขปัญหาอย่างไร?

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เรารู้ว่าการขายจะต่ำลงเพราะคนออกนอกบ้านไม่ได้ ไม่เดินทาง จะทำอย่างไรให้กระตุ้นการขายได้ เราต้องลดราคาขายลงไป จำได้ไหมว่าเรามีข้าวกล่องขาย 4 กล่อง 100 บาท หรือ 3 กล่อง 100 บาท ราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เราทำอย่างนี้เพื่อให้ทุกคนยืนหยัดเดินต่อไปได้

บางห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่ารองจากเรา Second tier (ลำดับ 2) หรือ Third tier (ลำดับ 3) ทุกคนมีงานทำ ไม่มีใครถูก เลิกจ้างเลย มีการแก้ไขปัญหาโดยการตัดส่วนที่คิดว่าเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายที่สูงออก แล้วก็เลี้ยงดูตามห่วงโซ่อาหาร นี่คือวิธีการควบคุมให้ต้นทุนของเราไม่กระโดดไปกระโดดมา เพราะฉะนั้นกลับมาถึงวันนี้เมื่อมันมีต้นทุนที่แข็งขึ้น ต้นทุนของวันนี้มาจากพลังงานส่วนหนึ่ง ทุกคนเจอค่าพลังงาน น้ำมัน ขนส่ง ไฟฟ้า ก็ต้องรู้ว่ากำไรจะตกลง แต่ถ้ามันยังไม่เกิดกระตุกทันทีทันใด เราจะแบ่งกันแต่ละส่วนว่าเราเองก็ไม่ขึ้นราคา เขาเองก็ยังไม่ขึ้นราคา แล้วดูว่าระยะยาวเราควรจะกลับคืนมาได้อย่างไร นั่นเป็นสิ่งแรกที่เราควบคุม

ทีนี้กลับมาที่โรงงานของแต่ละคน โรงงานของซีพีแรม เรามีค่าใช้จ่ายมากมาย ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอาจจะต้องมีการรวบเป็นค่าใช้จ่ายเดียวกัน มีการทำทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนซึ่งเป็นการช่วยผู้บริโภคให้มีโอกาสได้ซื้อของถูกลง ในระยะหลังสังเกตได้ว่าอาหารการกินเริ่มขึ้นราคา แต่จะเห็นได้ว่าอาหารการกินในเซเว่นอีเลฟเว่นยังไม่ขึ้นราคา

เราอั้นไว้มากที่สุด เพื่อช่วยผู้บริโภค แต่ถ้าวันหนึ่งทุกอย่างขึ้นจนเราไม่ไหว เราจะค่อยขึ้นเป็นรายสุดท้าย จะไม่ขึ้นในทันที และเป็นการขึ้นราคาเพื่อให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานสามารถยืนหยัดต่อไปได้

……..

โรงงานของ ‘ซีพีแรม’ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง และภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ ลำพูน ขอนแก่น ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

สำหรับ ซีพีแรม สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหัวควาย อำเภอพุนพิน เปิดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ภายใต้นวัตกรรมสุดไฮเทค โรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่ รองรับการเติบโตของตลาดในภาคใต้ของประเทศไทย และช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการสร้างงาน สร้างรายได้ในภูมิภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image