คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สรรเสริญพระบารมี

ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วซาบซึ้งมากๆ

บทเพลงนี้มีทำนองที่ได้ยินการบรรเลงบ่อยๆ

ทุกครั้งที่วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า หรือทีพีโอ เปิดแสดง ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

บทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่บรรเลง ฟังแล้วไพเราะกินใจ

Advertisement

ไพเราะทั้งที่วงออเคสตราบรรเลงทั้งวง ไพเราะทั้งที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีเดี่ยว อาทิ เปียโน โซโล

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฝากบอกมาว่าวงทีพีโอขอแสดงความอาลัยในหลวง รัชกาลที่ 9

ของดการแสดงดนตรีในเดือนพฤศจิกายน 2559 ทั้งเดือน

Advertisement

ส่วนฤดูกาลแสดงที่ 12 ของวงทีพีโอ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 2-3 ธันวาคม 2559

โดยอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ประกอบสารคดี “สายธารพระราชไมตรี” มาบรรเลง

สำหรับรายการการแสดงอื่นๆ หลังจากนั้น …ยังเหมือนเดิม

ย้อนกลับมาที่บทเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกครั้ง

บทเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ มีผู้นำไปทำเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ หลายเวอร์ชั่น

แต่ละเวอร์ชั่น ล้วนแล้วแต่ขับเน้นความไพเราะให้ผู้ฟังซาบซึ้งในพระบารมี

วันก่อนเปิดเฟซบุ๊ก วงทีพีโอได้นำบทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่วงทีพีโอบรรเลงมาโพสต์

อีกวัน “วงคลาสสิค จีบ คนกรุงเทพ” โพสต์บทเพลงสรรเสริญพระบารมี

มีทั้งทำนอง มีทั้งคำร้อง ฟังแล้วน้ำตาไหล

พลิกหาประวัติของบทเพลง พบว่า บทเพลงนี้มีพัฒนาการ

จากเดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 นำเพลง “ก็อดเซฟเดอะคิง” ของอังกฤษมาใช้

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนมาใช้บทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

เป็นทั้งเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี

หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับพระประดิษฐไพเราะ (มี) โดยมีทำนองทางไทย

ต่อมา บทเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ใช้ทำนองดนตรีตะวันตกโดย ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) ชาวรัสเซีย

เนื้อร้องของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเมื่อ พ.ศ.2456

กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎร์ให้ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อถวายความเคารพพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นเพลงชาติอีกต่อไป

บทเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ เชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้จักอย่างลึกซึ้ง

แต่ยังอยากนำเสนอความหมายที่หนังสือ “คุณานุคุณไตรภาค” ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ระบุไว้

เริ่มจาก…

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน

หมายถึง ข้าพระพุทธเจ้า ขอกราบถวายบังคมด้วยหัวใจและด้วยเศียรเกล้า

นบพระภูมิบาล บุญดิเรก

แปลว่า แด่พระผู้อภิบาลรักษาแผ่นดิน ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญ คุณความดีอันรุ่งเรือง

เอกบรมจักริน พระสยามินทร์ พระยศยิ่งยง

คือ ทรงเป็นที่หนึ่ง และทรงเป็นที่สุดในบรรดาพระราชาทั้งปวง

ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในสยาม

มีพระเกียรติยศอย่างยอดยิ่งและยั่งยืน

เย็นศิระเพราะพระบริบาล

หมายถึง ความร่มเย็นที่อยู่เหนือหัว เพราะพระองค์ทรงดูแลรักษา

ผลพระคุณ ธ รักษา

แปลว่า ผลแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้รักษาป้องกัน

ปวงประชาเป็นสุขศานต์

คือ ประชาชนทั้งปวงให้เป็นสุขและสันติ

ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย

ดุจจะถวายชัย ชโย

หมายถึง ขอจงดลบันดาลให้สิ่งที่พระองค์ต้องพระราชประสงค์ สำเร็จผลสมดังที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย

เหมือนชัยมงคลที่ถวายมานี้เทอญ

อ่านคำแปลของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พระผู้อภิบาลแผ่นดิน ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดีอันรุ่งเรือง

พระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในสยาม ทรงดูแลรักษาจนปวงประชาร่มเย็น

ผลแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ปวงประชาชนทั่วหล้าสุขและสันติ…

ทุกถ้อยทุกความที่ปรากฏในบทเพลงสรรเสริญพระบารมี

พสกนิกรล้วนสัมผัสได้จากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พสกนิกรสัมผัสได้ตลอด 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์

สัมผัสได้ว่าพระองค์ทำให้พสกนิกร “เย็นศิระ เพราะพระบริบาล”

พระองค์ทรงทำให้ “ปวงประชาเป็นสุขศานต์”

ดังนั้น เมื่อวันเวลาที่ไม่อยากมาถึง แต่ก็ยังมาถึง

วันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันสวรรคต

ปวงชนชาวไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและพำนักอยู่ต่างประเทศ จึงโศกเศร้าอาลัย

เมื่อได้ฟังบทเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วเห็นภาพพระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกร

น้ำตาแห่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจึงรินไหล

ซาบซึ้งในพระบารมีอย่างสุดจะบรรยาย

วันนี้พระองค์สวรรคตแล้ว

พสกนิกรของพระองค์จึงพร้อมใจกัน “สรรเสริญพระบารมี”

ด้วยความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image