เก้าอี้ดนตรีแห่งการลงทัณฑ์ ‘ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์’ เปลื้องอำนาจนิยมบนเรือนร่าง จารีตนครบาลฉบับ‘โรงเรียน’

เก้าอี้ดนตรีแห่งการลงทัณฑ์

‘ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์’

เปลื้องอำนาจนิยมบนเรือนร่าง จารีตนครบาลฉบับ‘โรงเรียน’

มองย้อนกลับไป ประสบการณ์อะไรในรั้วโรงเรียนที่คุณจำได้ไม่รู้ลืม?

Advertisement

ถูกเรียกเข้าห้องปกครอง วิ่งหนีครูระเบียบ โดนไม้เรียวฟาดสุดแรงแขน แต่พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร

เมื่อไหร่กันที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในกิจหลักของครู รองจากผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้

ดุด่า ชี้หน้า เฆี่ยนตี กล้อนผม จนเป็นเรื่องปกติ ก็เห็นอยู่ว่านักเรียน “ทำผิด”?

“เราอยากพานักเรียนไทยไปเป็นพลเมืองโลก ถามจริง เอาอะไรมาโลก? ครูเองยังไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนเลย ครูจะไปสอนให้เด็กเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร นี่เป็นปัญหามากๆ ที่หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงการเข้าไปควบคุมประวัติศาสตร์ กับบทสุดท้าย น้อยที่สุด แต่ผมชอบที่สุด คือบทที่เด็กลุกขึ้นมาสู้”

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ขยี้ปมปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในไทยมาช้านาน ผ่านเวทีเสวนาเนื้อหาเข้มข้น “เป็นนักเรียนไทยจึงเจ็บปวด เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว” กลางงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2

พร้อมเปิดตัวผลงานล่าสุด เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธงไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน ไปเมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนกลายเป็นเล่มจ่าฝูงในงานนี้ครองอันดับขายดียืนหนึ่งประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน การันตีด้วยนักเรียน นักคิด นักเขียน และผู้ปกครอง ที่แห่ไปอุดหนุนแบบไม่มีแผ่ว

“ภิญญพันธุ์” คือครูผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์สังคม การศึกษา การกระจายอำนาจ พื้นที่เมือง ชนบท และแรงงาน ผ่านประสบการณ์การศึกษาระดับปริญญาโทและเอก จากภาคประวัติศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก่อนเปลี่ยนสายมาเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบัน หันมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา

งานของ “ภิญญพันธุ์” มุ่งเน้นไปที่การอ่านประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านวรรณกรรมภาพยนตร์โทรทัศน์ และสื่อประชานิยมทั้งหลาย นอกจากเล่มใหม่เล่มฮิตปกนี้ ยังมีผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน อย่าง ประวัติศาสตร์สําเหนียก, กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ ไปจนถึงเขียนงานคอลัมน์ให้กับ เว็บไซต์ The 101 World

หนนี้ “ภิญญพันธุ์” จับปากกา ตีแผ่ความไม่สมเหตุสมผลของระเบียบวินัย และการลงทัณฑ์ที่ล่วงละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเด็ก เพื่อทำความเข้าใจถึงรากลึกในโรงเรียน หวังให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียนไทย ได้อย่างแท้จริง

แล้วสิ่งที่ “ผิด” หรือ “ถูกต้อง” กำหนดจากอะไร จากความเห็นพ้องต้องกันระหว่างนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือต้องเป็นไปตามความเห็นของใคร

ในขณะที่นานาอารยชาติ โฟกัสเรื่องสุขภาวะ (Well Being) มากกว่ายึดในกรอบของ “ยูนิฟอร์ม” เราจึงเห็นการให้สิทธิเด็กหญิงตัดสกินเฮดได้ เด็กชายไว้ผมยาวตามใจชอบ แม้มีข้อเห็นแย้งว่าต่างบริบท ต่างพื้นที่ ย่อมมีความ “ยูนีค” ในแบบของตนแต่อย่าลืมว่าสังคมประกอบสร้างด้วยผู้คนที่แตกต่าง ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ตลอดจนวิธีคิด

ถ้าเช่นนั้น สังคมไทยก็คงต้องพัฒนาตามวิสัยทัศน์ของท่านผู้บริหาร ที่จะกำหนดบริบท สโคปความเป็นไปได้ใหม่ๆ ภายใต้กรอบของกะลาแลนด์ ต่อไป?

(จากซ้าย) วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์, รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว
ร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือ เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน
เมื่อ 7 พ.ค. ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022

⦁ทำไมถึงเลือกเขียนเกี่ยวกับการศึกษาไทย จุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือเล่มนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากอะไร?

เอาเข้าจริงแล้ว มี 2 ประเด็นใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจ ด้านหนึ่งคือ “มิติของครู” และ “มิติของนักเรียน” ผมเชื่อว่าเราทุกคนได้เติบโตมาในโรงเรียน ได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์ และมีความ ‘อิหยังวะ?’ ในโรงเรียนมาแตกต่างกันมาก บางคนก็มาก บางคนก็น้อยหน่อย แต่ใครที่อยู่ใกล้อำนาจอย่าง ‘ลูกครู’ ก็จะมีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างไปจากคนที่ไม่ใช่ลูกครู คนที่อยู่ชายขอบของอำนาจจะถูกอำนาจของครูและโรงเรียนกระทำมากกว่า

อีกด้านหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องเขียน คือการลุกขึ้นสู้ของนักเรียนในปี 2563 ผมอยู่ต่างจังหวัด เราช่วยอะไรเขาไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่ถนัดในฐานะนักวิชาการและเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ คือการส่งเสียงออกไปสนับสนุนเหล่านักเรียน ให้ได้ทำสิ่งที่เราอยากจะทำแต่ทำไม่ได้ ดังนั้น หนังสือเล่มนี้บอกได้เลยว่าเกิดจากการจุดประกายของการต่อสู้ของนักเรียน ไม่ใช่เฉพาะการต่อสู้ในปี 2563 แน่นอนว่าเกิดจากงานวิจัยมาก่อน แต่ต้นตอจริงๆแล้วเกิดจากประสบการณ์วัยเด็กของ ‘พวกเรา’ เป็นความ “อิหยังวะ?” ร่วมกันในโรงเรียน คือด้านที่เรารู้สึกอึดอัดแต่ไม่รู้จะไปอย่างไร ประสบการณ์ของนักเรียนทั้งหลายที่ลุกขึ้นมา มันยิ่งใหญ่มาก จนเราละเลยสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ จึงออกมาเป็นผลงานนี้

⦁จากงานเขียนหลายชิ้น ได้ชี้ให้เห็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น แล้วใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ที่พยายามทำความเข้าใจกับผู้อ่าน คืออะไร?

ชื่อหนังสือคือ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ เป็นชื่อที่เหมือนจะเรียงตามบทด้วยซ้ำ ด้านหนึ่งแล้วมันคือเรื่องนอกกายอย่างการดูระเบียบทรงผม การแต่งกาย แต่ความจริงแล้วถูกควบคุมไว้ด้วยไอเดียที่ผมพยายามจะเสนอคือ ‘ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม’ ซึ่งผมยืมไอเดีย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ขึ้นมาว่า แม้เราจะเขียนรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ ก็ถูกฉีกทิ้งและไม่ถูกเชื่อฟัง แต่ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” มันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบหนึ่งที่อยู่ในสังคมไทย ที่ควบคุม บงการ หรืออะไรก็ตาม

เราสงสัยมากว่า ในระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะออกระเบียบ คำสั่งว่า “ผมไว้ยาวได้นะ” แต่คุณเชื่อไหมว่า บางโรงเรียนก็กล้าจะขัดคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน โดยอ้างว่าระเบียบทรงผม อะไรก็แล้วแต่ “เป็นจารีต” เป็นความเก่าแก่ที่มีอยู่มานานแล้ว มันจริงหรือเปล่า? คือคำถามในการวิจัยด้วย ซึ่งไม่จริงดังนั้น ปัญหาสำคัญคือ ‘ระเบียบวินัยเชิงวัฒนธรรม’ ที่เข้ามาเป็นแกนกลาง จัดการความจริง ให้ความชอบธรรมของครูและโรงเรียนในการเข้าไปควบคุมโดยอ้างสิ่งเหล่านี้

⦁ ภายใต้การขมวดคิ้ว ก็มีบาดแผลให้เราเห็น มองเจตจำนงที่ซ่อนอยู่ในระเบียบวินัยเหล่านี้ คืออะไร?

เครื่องแบบ ทรงผม คือสิ่งที่ถูกจับต้องได้ง่ายที่สุด ซึ่งไม่ได้ควบคุมอย่างเดียว แต่ยังตามมาด้วยการลงโทษ อย่างเบาที่สุดคือ ตักเตือนให้ไปตัดผมซะ อย่างร้ายแรงคือ ใช้ปัตตาเลี่ยนไถแล้วตีซ้ำ วันนี้เพื่อนโดน วันหน้าไม่แน่ว่าเราจะโดนหรือเปล่า ระเบียบเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ผมอาจจะไม่ยาวมากในสายตาเรา แต่ครูแต่ละคนมีวิจารณญาณที่ต่างกันมากว่าแค่ไหนยาว ทุกคนมีสิทธิจะนั่ง “เก้าอี้ดนตรีแห่งการลงทัณฑ์” ของครูในโรงเรียนได้เสมอ เป็นการปรามไม่ให้เด็กกล้า หรือกลัวอยู่ในกรงแห่งทรงผม เช่นเดียวกับเครื่องแบบ

เป็นวิธีการต่อสู้ สัปดาห์ต่อสัปดาห์ก็ว่าได้ มันเป็นการจับจ้องบนเรือนร่าง “มายบอดี้ มายช้อยส์” เด็กๆ เก็ท แต่สมัยผม “บอดี้ไม่ใช่ของเรา” เป็นของโรงเรียน ของครู นั่นหมายความว่าเราถูกริบตัวตนของเราเข้าไปอยู่ใน “โรงงานโรงเรียน” กลายเป็นสมบัติของรัฐ ผลิตพลเมืองที่เชื่อฟังรัฐ แต่เข้าไปยึดกุมจิตใจ ทำลายความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อตัวเอง อย่างโฆษณายาสระผมโดฟ เป็นคำถามที่ทรงพลังมาก โดยเฉพาะกับรุ่นผมที่กล้าคิดและคุยกับเพื่อน แต่ไม่มีใครออกมาทำอะไร อย่างมากก็โดดเรียน หนีครูหน้าเสาธง

อีกเรื่องที่ใหญ่มาก คือ ‘สเปซ’ การยืนหน้าเสาธง ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ ในกรุงเทพฯยังมีหลังคาปิด แต่โรงเรียนต่างจังหวัดจำนวนมาก หน้าเสาธงคือที่ ที่เด็กต้องไปกรำแดด กรำฝน หรือลมหนาว คือไปรับเอาทุกอย่างที่ไม่เป็นผลดีกับนักเรียน “แค่นี้คุณทนไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร?” แต่ครูอยู่ใต้ต้นไม้ ยืนกลางร่ม ยิ่งไปกว่านั้น หน้าเสาธง คือพื้นที่ของการประจาน ซึ่งไอเดียการลงทัณฑ์สมัยใหม่ การประจานเขาไม่ทำกันแล้ว นี่คือการกลับไปยืนยันว่าเรายังอยู่ในยุคก่อนสมัยใหม่ เป็น “จารีตนครบาลฉบับโรงเรียน” การลงทัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้คำนึงสิทธิมนุษยชน หรือความเป็นสมัยใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น

⦁ มองย้อนกลับไป บริบทการเมืองและสังคมไทย มีส่วนกำหนดเรื่องวินัย หรือการลงทัณฑ์ในโรงเรียนมากแค่ไหน ?

มันเป็นผลกระทบโดยตรง โรงเรียนคือแบบจำลองที่รัฐต้องการจะสร้างพลเมืองที่พึงประสงค์ สร้างนักเรียนที่ตัวเองอยากได้ ถ้าเราดูวิธีคิด หรือโครงสร้างทางการเมือง คิดว่าหลังปฏิวัติ 2475 เราอยู่ภายใต้การปกครองรัฐประหารกี่ปี่? เราสลับระหว่างรัฐทหาร กับรัฐประชาธิปไตยมาตลอดเวลา เราอยู่ในสังคมเผด็จการครึ่งใบ พร้อมจะรัฐประหารตลอดเวลา เมื่ออุดมการณ์ของรัฐไม่จงรักต่อระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายก็ต้องกลับมาเป็นเผด็จการอยู่ดี เมื่อประชาธิปไตยไม่มีวันชนะ คิดว่าโรงเรียนหรือครู เขาจะอยากอยู่ฝั่งแพ้ หรือฝั่งชนะ นี่คือภาพรวมที่สร้างสังคม ก่อนหน้านี้การเฆี่ยนตีเด็กก่อนปี 2475 เป็นเรื่องปกติ ตอนนั้นครูเทพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ สมัยคณะราษฎร เขียนกลอนที่พูดถึงการใช้ไม้เรียวว่า ‘เป็นวิธีที่สิ้นคิด’ ทันสมัยมาก ซึ่งท่านจบอังกฤษมาด้วย หมายความว่าปี 2475 เริ่มมีไอเดียว่าควรเลิกใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

ภายใต้บรรยากาศทางการเมือง หนังสือ อ.ณัฐพล ใจจริง เล่ม “แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” บอกเราว่า ยุคนั้นคณะราษฎรเข้าไปใกล้กับญี่ปุ่น แล้วนำนโยบายการพัฒนาประเทศแบบญี่ปุ่นเข้ามา ทิ้งวิธีการพัฒนาแบบอาณานิคมอังกฤษ มีนักเรียนไทยไปดูงานที่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งทรงผมสมัยก่อนของนักเรียนญี่ปุ่น คือ โกน เข้าใจว่าน่าจะได้วิธีการใช้ทรงผมจากญี่ปุ่น ก็มีการอธิบายว่าเพื่อกันเหา การเข้าแถวหน้าเสาธงก็จากญี่ปุ่นเหมือนกัน ซึ่งญี่ปุ่นเลิกไปแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไทยยังเก็บไว้เป็นมรดก มันคือการเข้าแถวแบบทหาร คือการรวมพล (Assimbly) เพื่อรับคำสั่งไปรบ หรือฝึกรบ สุดท้ายแล้วก็ถูกนำมาผนวกกับวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม”

ราษฎรอยู่ไม่นาน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการช่วงชิงอำนาจ หนังสือพิมพ์พูดถึงว่า มีการกล้อนผมนักเรียน แต่ตอนนั้นยังไม่ชัด เข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2500 ที่รู้อยู่ว่าเป็นเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือเผด็จการกลัวเด็กจะใจแตก กลัวเด็กไปเที่ยว ตอนนั้นมีหนังฮอลลีวู้ดมีการเต้นทวิสต์แบบเอลวิส ซึ่งถูกมองว่าเป็นการยั่วยวนทางเพศในสมัยสฤษดิ์ ทั้งที่มีอนุภรรยาจำนวนมาก แต่เป็นรัฐบาลที่เคร่งครัดกับศีลธรรมเสียเหลือเกิน

ช่วงสำคัญคือ ปี 2515 ช่วงของ ‘พระถนอม’ ซึ่งมีการออกกฎหมายถี่มาก พูดถึงเรื่องทรงผมที่ปัจจุบันถูกนำมาอ้าง มาจากฉบับนี้ ก่อนหน้านั้นทรงผมไม่เคยถูกระบุในราชกิจจานุเบกษาเลย แต่มีระบุในประกาศคณะปฏิวัติ กล่าวคือปี 2515 เป็นการสถาปนา “ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม” ขึ้นมาอย่างเข้มแข็งและถูกอ้างอิงกลับไปเสมอ ถามว่าเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร หลัง 14 ตุลา 2516 มีการเรียกร้องให้ไว้ผมยาวได้ ตอนนั้นพลังนักเรียน-นักศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก ปี 2518 ก็มีการออกระเบียบว่า ไม่ต้องตัดผมเกรียนแล้ว เพื่อล้มล้างฉบับ 2515 แต่ตอนนี้เรากลับไปยึดฉบับปี 2515 ที่ต้องกลับไปตัดเกรียน นี่คือปัญหาสำคัญที่อย่างไรก็ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เห็นว่าระเบียบวินัยหนีไม่พ้นกับ ‘รัฐบาลอำนาจนิยม’

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือปี 2540 ที่ทำให้เกิดการเปิดโลกใหม่ ไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กฎปี 2515 ถูกโละ เกิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน เริ่มคิดเรื่องการห้ามเฆี่ยนตีเด็ก นี่คือหมุดหมายสำคัญที่สังคมไทยเริ่มเรียกร้องประชาธิปไตย พ่วงสิทธิมนุษยชน แต่หลังเผด็จการปี 2549 และ 2557แน้วโน้มก็จะวนกลับมาอีกครั้ง ตามไอเดียประเทศเผด็จการครึ่งใบ ชัดๆ

⦁ จากประสบการณ์ในวัยเด็ก เคยเจอการลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างไรบ้าง?

เมื่อเป็นลูกครู ก็อาจจะไม่โดนอะไรมาก แต่แน่นอนว่าผู้ชายก็จะมีเรื่องทรงผม ซึ่งครูจะตัดข้างๆ หรือข้างล่างก็ได้ แต่เลือกโกนตรงกลาง ซึ่งผมว่าไม่สมเหตุสมผลมาก มีคนมาเล่าในเฟซบุ๊กว่า เวลาตัดผมจะไม่มีตังค์ ต้องให้หลวงตาตัดให้ วันหนึ่งหลวงตามีธุระไม่ได้ตัดให้ ครูจับขึ้นประจานหน้าเสาธง แล้วก็บอกว่า “การมีเงิน-ไม่มีเงิน อ้างไม่ได้ มันเป็นกฎของโรงเรียน” ก็ถูกจับตัดประจานหน้าเสาธง

ในระเบียบเก่า ศาลเด็กและเยาวชนให้เฆี่ยนได้ แต่คุณจะต้องให้หมอตรวจก่อนว่า นักเรียนคนนี้สุขภาพอ่อนแอเกินกว่าจะเฆี่ยนหรือไม่ ก็จะให้ใช้วิธีการอื่นลงโทษอื่น รวมถึงมีการระบุด้วยซ้ำว่าไม้เรียวมีขนาดไม่เกินเท่าไหร่ เฆี่ยนเสร็จหมอต้องตรวจอีกที นี่คือกระบวนการควบคุมเพื่อจำกัดน้ำหนักในการลงโทษ แต่ทุกวันนี้ครูอยากทำอะไร ทำได้ทุกอย่างจนกลายเป็นเรื่องวิปริต วิปลาส เห็นได้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีให้อมชอล์ก ปาแปรงลบกระดาน คาบรองเท้า คาบผ้าขี้ริ้ว คือประสบการณ์ร่วมที่หลายคนนึกอออก ตอนเด็กทำได้ พอโตมาก็ย้อนคิด “เฮ้ย! ทำอะไรกับกู กับเพื่อนกู”

สังคมบ้านเรา เอื้อให้คนมีอำนาจ ทำอะไรก็ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ ถ้านักเรียนเป็นชนชั้น ก็คงเป็นชนชั้นต่ำสุดในโรงเรียน ที่ครูเลือกจะหยิบมาลงทัณฑ์อย่างไรก็ได้ โดยอ้างว่า “ต้องการสร้างพลเมืองที่ดี” ที่ผ่านมาผู้ปกครองก็คิดเช่นเดียวกันว่า โรงเรียน ครู ไม้เรียว คือความรุนแรงแบบเดียวที่จะทำให้เด็กดีขึ้นได้ เด็กต้องฝึกระเบียบวินัยสิ ไปเรียนลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด เรียน รด.

ตอนนี้ใครเป็นข่าวบ้าง พระสงฆ์ ตำรวจ ทหาร เกรียน 3 ด้าน มีอำนาจมีหน้าตาในสังคม ซึ่งควรจะอยู่ในระเบียบวินัยที่สุด แต่กลับกลายเป็นพวกคุณล้ำเส้นจนเป็นอาชญากรด้วยซ้ำ ซึ่งมีเหตุผลในการดำรงอยู่เหมือนกัน ด้านหนึ่งจะเห็นว่า มีเด็กเลว เด็กก่ออาชญากรรม การจะทำให้สังคมดีก็ต้องทำให้เด็กเข้ามาอยู่ในกรอบของตัวเอง ซึ่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรมมี 2 ด้าน คือ 1.ด้านเหตุผล และ 2.ด้านอารมณ์ของสังคม ลองนึกถึง 2499 อันธพาลครองเมือง มีแดงไบเล่ย์ มีปุ๊ระเบิดขวด ก่อนหน้านั้นเด็กตีกัน “มี” คือความสยองขวัญของชนชั้นกลาง ว่าเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นอาชญากรเข้าสักวัน จึงเกิดความชอบธรรมกับสฤษดิ์ หลังรัฐประหาร ในการควบคุม ส่งเข้าเรือนจำ ส่งไปฝึกอาชีพ ด้านหนึ่งแล้วคือมรดกไอเดียการปกครองสมัยสงครามเย็น ที่จะควบคุมเด็กและเยาวชน ควบคุมสัญชาตญาณ ผ่านความรุนแรง

หลัง 2557 เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลพยายามใช้โมเดลแบบนี้ เมื่อก่อนมีบทอาขยาน ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’ ยุคนี้มี ‘ค่านิยม 12 ประการ’ รุ่นเราจะไม่เข้าใจเพราะเพลงนี้เกิดขึ้นหลัง คสช.ยึดอำนาจ 8 ปีผ่านไป นักศึกษาทุกคนร้องได้หมด เป็นอะไรที่ฝังในหัวเด็กแล้วว่า ต้องมีวินัยอย่างนั้นอย่างนี้ ท่องได้ แต่ทำไม่ได้หรอก

⦁ ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง เราจะควบคุมพฤติกรรมของคนที่มีความแตกต่างได้อย่างไร?

ถ้ามองในระดับสังคม เราจะใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างไร หรือเอาเข้าจริงเราไม่ได้ถูกสอนเรื่องระเบียบวินัยส่วนรวม อยู่แต่ในคอกว่าต้องดูหน้า-ผม เสื้อผ้าให้เรียบร้อย เราต้องมีระเบียบวินัยในสังคม จะซื้อของร้านนี้ เปิดไฟจอด แล้วรถติดเป็นแถบ ได้หรือไม่? หรือการไม่หยุดตรงทางข้ามม้าลาย กลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ระเบียบวินัยในสังคมมีหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ใช่โยนบาปมาให้นักเรียน หรือครูที่ตั้งใจ

ในฐานะคนเขียน ผมไม่เชื่อว่ากระทรวงศึกษาฯ หรือนายกฯ คนไหนจะมาเปลี่ยนการศึกษาในเร็ววัน แต่ต้องช่วยกัน ใส่พลังเข้าไป เราต้องยึดสมาคมผู้ปกครองมาเป็นปากเป็นเสียง ช่วยดูแล แต่ทุกวันนี้สมาคมผู้ปกครองเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับโรงเรียนในการกดขี่นักเรียนด้วยซ้ำ ต้องเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง จากสมรภูมิโรงเรียน ไกลกว่านั้น คือกระจายอำนาจการศึกษาที่ต้องคุยกันอีกยาว

ขอให้หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือน “บัตรเชิญ” ให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพื่ออนาคตของพวกเรา

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image