เปิดกรุอมตะ ‘ประพันธ์สาส์น’ ย้อนผลงานขึ้นหิ้ง 6 ทศวรรษ ในยุคที่ ‘พิมพ์ครั้งละเป็นหมื่นเล่ม’

เปิดกรุอมตะ ‘ประพันธ์สาส์น’ ย้อนผลงานขึ้นหิ้ง 6 ทศวรรษ ในยุคที่ ‘พิมพ์ครั้งละเป็นหมื่นเล่ม’

“ผมขอท้าให้คุณไปเสิร์ชในเว็บไซต์ ถ้าคุณเจอ มาหยิบฟรีไปได้เลย! แต่ถ้าคุณไม่เจอ ก็มาประมูลกับผม”

อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ป่าวประกาศอย่างอาจหาญ วางหนังสือเล่มระดับตำนานเป็นเดิมพัน ในวาระครบรอบ 60 ปี สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเมื่อไม่นานมานี้ ครั้งปล่อยประมูลให้ผู้ที่หลงใหลในกลิ่นน้ำหมึกครอบครอง รวม 82 ปก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ณ สถานีกลางบางซื่อ

ไม่ว่าจะเป็นผลงานทรงคุณค่าของ พญาอินทรีแห่งสวนอักษร žรงค์ วงษ์สวรรค์Ž ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2538 ทั้งเล่มใต้ถุนป่าคอนกรีต, หัวใจที่มีตีน, บันทึกเผยใจนางกระต่าย Playboy, ลมหายใจของสงคราม, หนังสือชุดเดินเคียงกัน, บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า, น้ำค้างเปื้อนแดด, ผู้มียี่เกในหัวใจ, บางลําภูสแควร์ รวมเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์Ž อาทิ เฒ่าเสเพล, เฒ่าโลกีย์, เหยื่อโลกีย์, ชายเฟือย, ยาสั่ง, ซึงผี หรือนิยายอมตะของ ยาขอบŽ หนังสือ เลือดในดิน ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์Ž, จอมทรนง ของ ประมูล อุณหธูป, พรูควั่งถั่งนรกแลสวรรค์ ของ อุษณา เพลิงธรรม ไปจนถึง รัตติกาลยอดรัก ของพนมเทียน สำหรับ ณรงค์ จันทร์เรือง นักเขียนคนสำคัญที่ยืนเคียงข้างประพันธ์สาส์นมาโดยตลอด ได้เขียนเรื่องผีอยู่หลายร้อยเรื่อง แต่งานเขียนดราม่าอันเป็นที่กล่าวขวัญ กระทั่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ สร้างรายได้ถล่มทลาย อย่าง วิมานสลัมŽ ก็ถูกนำมาปล่อยประมูลในครั้งนี้ด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดกรุ นำเล่มชั้นครูออกจำหน่ายให้ผู้สนใจซื้อหาไปอ่าน รำลึกความทรงจำ กระทั่งเก็บสะสม อาทิ หนังสือหายากของ วสิษฐ เดชกุญชร, อิงอร, ต๊ะ ท่าอิฐ, จันทร์หอม พ็อคเก็ตบุ๊กรวมเรื่องสั้น ครึ่งรักครึ่งใคร่Ž ที่สองกุมารสยาม สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน ทำกับประพันธ์สาส์น ครั้งยังหนุ่มแน่น

เตะตาด้วยสีสันลวดลายที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ทั้งหมดนี้เป็นผลงานเล่มแรก เล่มเดียวที่ถูกเก็บไว้ภายในห้องสมุดศูนย์ข้อมูลของประพันธ์สาส์น หลักฐานคือ เลขเรียกหนังสือŽ ยังติดหราอยู่บนหน้าปก

ก่อนปิดจบไปอย่างงดงาม โดยมี ภราดาหลุยส์ วิริยะ ฉันทวโรดม อัสสัมชัญรุ่น 67 ที่ปรึกษาโรงเรียนอัสสัมชัญ และ ศุภกิจ ลิ่วเฉลิมวงศ์ ศิษย์เก่ารุ่น 86 ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประมูลหนังสือหายากท่ามกลางผู้เข้าร่วมคึกคัก นำเชียร์ประมูลโดย ทรงวิทย์ หรือหมอซ้ง และชมพู Pink Radio เพื่อนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับ มูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ ซึ่งสุดท้ายได้ยอดประมูลและบริจาคสมทบมูลนิธิ รวมเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท

Advertisement

ผู้เข้าร่วมการสนับสนุนการประมูลหนังสือหายาก มีทั้งคนรักหนังสือ มีทั้งศิษย์เก่าจาก ร.ร.อัสสัมชัญลำปาง, ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย และศิษย์เก่า ร.ร.อัสสัมชัญ อาทิ พลเรือเอก ประพฤติพร อักษรมัต นายกสมาคมอัสสัมชัญ พร้อมด้วยเพื่อนรุ่น 89 อาทิ วศิน ถาวรธวัช จากบริษัท ซี.ที.แลนด์, สุเมธ กองพัฒนากูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีเคชูส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ไปจนถึง ยงยุทธ ธีระวิทยภิญโญ รุ่น 90 เลขาธิการสมาคมอัสสัมชัญ, ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล อย่าง พิชัย จิราธิวัฒน์ อสช.รุ่น 94 และอัสสัมชนิกอีกหลายรุ่น

จากผดุงศึกษา ถึงประพันธ์สาส์น
พิมพ์ (แทบจะรายวัน) แต่ละครั้งนับหมื่นเล่ม

ในวาระ 60 ปีของสำนักพิมพ์ระดับตำนาน ต้องขอย้อนบรรยากาศและเรื่องราวของวงการหนังสือในยุคนั้น ผ่านปากคำของ อาทร เอ็มดีประพันธ์สาส์น ซึ่งเล่าว่า ก่อนจะเป็น ประพันธ์สาส์นž ในปี 2498 มีสำนักพิมพ์รุ่นแรกของปู่ คือ ผดุงศึกษาž ต่อมา บิดา คือ สุพล เตชะธาดา หรือ เฮียชิวž ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ออกมาเปิดสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในปี 2504 ดังนั้น กรุหนังสือที่มีอยู่จึงมีทั้ง 2 สำนักพิมพ์ซึ่งมีอายุเท่ากับ 66 ปี

อาทรเล่าอีกว่า ยุคนั้นหนังสือขายดีมาก เพราะเป็นสิ่งบันเทิงเพียงไม่กี่อย่าง

โทรทัศน์ก็มีแค่สองช่อง คือช่อง 4 กับ 7 ไม่ต้องพูดถึงเกม โซเชียลมีเดีย อินเตอร์เน็ตไม่มีเลย วิทยุก็มีแค่ 2 ช่อง AM กับ FM ช่องละไม่เกิน 2 สถานี สิ่งบันเทิงที่หาง่ายอย่างโรงภาพยนตร์แบบโบราณที่มีอยู่นานๆ ถึงจะเปลี่ยนเรื่องที ไม่เหมือนหนังสือ พ็อคเก็ตบุ๊ก ที่เรียกว่าออกกันรายวัน แถมยังมีนักเขียนเกิดใหม่เยอะ ไม่ต้องพยายามมากเกินไป ส่งสำนักพิมพ์แล้วก็พิมพ์ เพราะหนังสือขายได้อยู่แล้ว นักเขียนใหม่ก็ไม่ลำบากยากเย็นมากที่จะเกิด

คนที่เกิดแล้วมีแฟนติดตามประจำ ก็มักจะได้รับการพิมพ์ซ้ำ อย่างคุณžรงค์ วงษ์สวรรค์ เรื่องหนาวผู้หญิง ที่มาพิมพ์กับเรา ครั้งแรกพิมพ์ 20,000 เล่ม ก็หมดในพริบตาเดียว แล้วพิมพ์ซ้ำอีก หลังจากนั้นหนังสือของ žรงค์ ก็ขายประเภทพิมพ์กันเป็นหลักหมื่นขึ้นตลอด ไม่ค่อยมีหนังสือพิมพ์หลักพัน มาเจอเอาปี 2523 ที่ผมเริ่มดูแลเป็นรุ่นที่ 3Ž อาทรย้อนความหลัง

ภูมิใจ แต่ไม่กอดอดีตž
ขอเดินไปข้างหน้า ส่งไม้ต่อผู้บริหารยุคใหม่

สำหรับการประมูลในวาระ 60 ปีที่ผ่านไปแล้วนั้น ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อครั้งครบรอบกึ่งศตวรรษ คือ 50 ปีประพันธ์สาส์น ก็เคยจัดงานในลักษณะนี้เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุน ครูเกษียณ สมาคมอัสสัมชัญž ด้วยความเป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญรุ่น 90 ที่ยังคงไม่ลืมบุญคุณครู จึงร่วมมือกับศิษย์เก่าจัดงานขึ้น โดยรอบนี้มอบให้ มูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ž สมาคมอัสสัมชัญ เพื่อเป็นทุนทำการ์ตูนแอนิเมชั่นสดุดี ประกาศเกียรติคุณครูผู้เป็นนักปราชญ์อย่าง ฟ. ฮีแลร์ž (F. Hilaire) นักบวชชาวฝรั่งเศสผู้แต่ง ดรุณศึกษาž หนังสือเรียนภาษาไทยให้เด็กไทยได้ร่ำเรียน

อดถามไม่ได้ว่า เสียดายž หรือไม่ กับการเปิดจำหน่ายเล่มหายากจากกรุหนังสือทรงคุณค่าเช่นนี้

ผมกำลังจะเกษียณปีหน้า เปิดตัวผู้บริหาร ยุคใหม่แล้ว เราไม่อยากกอดอยู่กับอดีต ตอนนี้เกิด Digital Disruption ขึ้น หนังสือเก่าบางเล่ม บางสำนักพิมพ์เอาไปก๊อบปี้ พิมพ์ใหม่ พยายามทำให้เหมือนดั้งเดิม แต่ทำอย่างไรก็ไม่เหมือน เราอยากให้คนทั่วไปได้เห็นค่าของแรร์ไอเทม เพื่อ 1.ส่งเสริมประวัติศาสตร์ แต่ไม่ยึดติดอยู่กับอดีต 2.ส่งเสริมเจตนารมณ์ของศิษย์เก่าอัสสัมชัญซึ่งบูชาคุณครู ฟ. ฮีแลร์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเมืองไทย พัฒนาการศึกษาไทย จึงคิดว่าคุ้มค่าแล้วที่จะปล่อยเพื่อบูชาคุณของครูŽ อาทรเปิดใจ

จากนั้นเล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานชุดต่างๆ อย่างภาคภูมิ

วัฒน์ วรรลยางกูร ก็พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกกับเรา เป็นรวมบทกวีนิพนธ์ พิมพ์ครั้งแรก และปกเดียว หรืออย่างชุดเสือดำ-เสือใบ ของ ป. อินทรปาลิต ก็จะเห็นว่าพอหมดลิขสิทธิ์แล้ว มีสำนักพิมพ์นู่น นี่ นั่น เอามาพิมพ์ใหม่ แต่คุณไม่มีปกแรกพิมพ์ครั้งแรกแน่นอน ซึ่งเรามีอยู่ที่นี่เหมือนกับคนสะสมแสตมป์ ที่หาแสตมป์เก่า พิมพ์ครั้งแรก แถมยังรักษาดีอีก เรามีเลขระบบห้องสมุดศูนย์ข้อมูล จ้างบรรณารักษ์มาทำเป็นเรื่องเป็นราว ยกมาจากห้องสมุดเพราะเราต้องการเก็บให้ดีŽ

ถ้าเปิดดู มีแต่ปี พ.ศ.ที่ไม่ถึง 2500 แล้วใครจะไปนึกว่า ป. อินทรปาลิตไม่ได้เขียนแค่ พล นิกร กิมหงวน แต่เป็นนักเขียนที่ครบเครื่อง เรื่องรักก็เขียนได้ เขียนให้คนเศร้าน้ำตาซึมทั่วประเทศก็เขียนได้ หรืออย่าง ลืมไม่ลง ก็เป็นเรื่องขบขันที่ควรจะรู้ เรามีพล นิกร กิมหงวน ปกแรกๆ ตั้งแต่ครั้งพิมพ์กับผดุงศึกษาŽ อาทรชี้ชวนให้ชมหลากปกหลากผลงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเกร็ดน่าสนใจของนักเขียนชั้นครูมาให้จดบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการหนังสือ

กัญญ์ชลา คือนามปากกาดั้งเดิมของ กฤษณา อโศกสิน ซึ่งเมื่อใช้นามปากกานี้แล้วขายดีกว่าสมัยที่ใช้นามปากกาว่ากัญญ์ชลา ผลงาน ตะวันตกดิน เป็นเล่มปกแข็ง ที่ได้รางวัล สปอ. ประจำปี 2515 ซึ่งเปรียบเหมือนกับรางวัลซีไรต์ในยุคนั้น สำหรับเล่มที่ทำให้ประพันธ์สาส์นยิ่งกว่าถูกหวย คือ เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา ซึ่งขายดีระเบิด แถมถูกสร้างเป็นละคร พิมพ์เป็นปกแข็ง ไม่มีปกอ่อนขายŽ อาทรเล่า

žรงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์อย่างไรก็ขายหมด

ด้าน โชติรวี โสภณสิริ กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเล่าเสริมถึงที่มาของหนังสือซึ่งขุดจากคลังสำนักพิมพ์รุ่นปู่ อย่าง ผดุงศึกษาžบอกว่าหนังสือที่พิมพ์ให้ในยุคแรกคืองานของ žรงค์ วงษ์สวรรค์ และกฤษณา อโศกสิน นอกจากนี้ยังมีหนังสือของ ป. อินทรปาลิต ซึ่งวันนี้ยังหลงเหลือรอดมาอยู่ เก็บไว้ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่เขียน 3 เกลอ

เท่าที่เรามีตอนนี้ คือ 3 เกลอ มีครบทั้ง 45 เล่ม, พล นิกร กิมหงวน,วัยหนุ่ม, มีศาลาโกหกที่รวบรวมมาจากนิตยสาร ลงเป็นเรื่องสั้นหรือคอลัมน์ โดย ป. อินทรปาลิต ซึ่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นได้นำ 3 เกลอมารวมเป็นเล่มเป็นตอนๆ โดยเฉพาะหนังสือของ žรงค์ ขายดีมาก พิมพ์ออกมาอย่างไรก็ขายได้หมด เล่มที่ขายดีที่สุดของ žรงค์ คือ หนาวผู้หญิงบางลําภูสแควร์, ใต้ถุนป่าคอนกรีต, น้ำค้างเปื้อนแดด นอกจากนี้ ยังมีของ มนัส จรรยงค์ž ที่พิมพ์ออกมา แต่ไม่ได้พิมพ์เพิ่มแล้ว เป็น Editionเก่าสุด ชุดปกแข็ง ส่วนชุดรองลงมาจะเป็นปกอ่อนŽ กอง บก.ประพันธ์สาส์นเล่า

นับเป็นภาพความรุ่งโรจน์ในวันวานที่สร้างความภูมิใจมาถึงวันนี้แต่ประพันธ์สาส์นยืนยันขอเดินไปข้างหน้า ส่งไม้ต่อผู้บริหารรุ่น 4 ในวันที่สิ่งพิมพ์ถูกดิสรัปต์ เพราะตัวอักษรยังคงเป็นสิ่งล้ำค่าของสังคมไทยและมนุษยชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image